การเรียกดอกเบี้ยจากเจ้าหน้าที่ทุจริต


การเรียกดอกเบี้ยจากเจ้าหน้าที่ทุจริตในเรื่องนี้ เกิดขึ้นจากเจ้าหน้าที่ทุจริตยักยอกเงิน ต่อมาได้นำเงินที่ยักยอกมาชำระคืนแก่ทางราชการแล้ว หน่วยงานของรัฐเห็นว่าไม่ได้รับความเสียหาย เห็นสมควรยุติเรื่อง และเป็นเรื่องที่ไม่ต้องรายงานให้กระทรวงการคลังตรวจสอบ (แต่ได้รายงานให้ทราบ) กระทรวงการคลังโดยกรมบัญชีกลางตรวจสอบและแจ้งให้หน่วยงานของรัฐเรียกดอกเบี้ยตามหลักเกณฑ์ของกระทรวงการคลัง ซึ่งคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะพิเศษ) ได้วินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายที่น่าสนใจไว้หลายประเด็น ดังนี้

ประเด็นที่ 1 การที่เจ้าหน้าที่ยักยอกเงินของหน่วยงานของรัฐไป ต่อมาได้ชำระคืนแล้ว จะมีผลทำให้หนี้เป็นอันระงับและไม่อาจเรียกให้ชำระดอกเบี้ยหรือไม่

คณะกรรมการกฤษฎีกาเห็นว่า กรณีความรับผิดในมูลหนี้ละเมิด มีความรับผิดในส่วนของดอกเบี้ยที่เกิดขึ้น ตามบทบัญญัติของกฎหมายในมาตรา 224 และมาตรา 206 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่ให้คิดดอกเบี้ยในหนี้เงินอันเกิดแต่มูลละเมิดนับแต่เวลาที่ทำละเมิด ประกอบกับหลักเกณฑ์ที่กระทรวงการคลังกำหนด ตามหนังสือกระทรวงการคลัง ที่ กค 0418.7/ว 105 ลงวันที่ 24 ตุลาคม 2545 เรื่อง การกำหนดหลักเกณฑ์การคิดดอกเบี้ยกรณีเบิกจ่ายไม่ถูกต้องและกรณีกระทำผิดทางละเมิด กำหนดให้ส่วนราชการเรียกให้เจ้าหน้าที่ซึ่งจงใจทุจริตยักยอกเงินหรือทรัพย์สินของทางราชการไปและมีมูลความผิดทางอาญาด้วย ชำระดอกเบี้ยของเงินหรือทรัพย์สินที่ต้องชดใช้ตั้งแต่วันที่กระทำการทุจริต ความรับผิดในการชำระดอกเบี้ยในมูลละเมิด จึงเป็นไปโดยผลของกฎหมายและหลักเกณฑ์ของทางราชการ ซึ่งหน่วยงานของรัฐที่เสียหายไม่อาจใช้ดุลพินิจพิจารณาเป็นอย่างอื่นได้

ดังนั้น แม้ว่าเจ้าหน้าที่จะนำเงินมาชำระคืนครบตามจำนวนเงินที่ได้ยักยอกไปแล้ว และหน่วยงานของรัฐเห็นควรให้ยุติเรื่อง แต่ก็ยังไม่อาจถือว่าเป็นการชำระหนี้ครบถ้วน และไม่มีผลทำให้หนี้เป็นอันระงับและความรับผิดในมูลละเมิดสิ้นสุดลง เพราะยังไม่มีการชำระในส่วนของดอกเบี้ยตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายและหลักเกณฑ์ของทางราชการ หน่วยงานของรัฐจึงต้องเรียกให้ชำระดอกเบี้ยของเงินที่ทุจริต โดยคิดดอกเบี้ยจากจำนวนเงินที่ทุจริตไปตั้งแต่วันที่นำเงินไปจนถึงวันที่นำเงินมาชำระคืน

ประเด็นที่ 2 อายุความการใช้สิทธิเรียกร้องให้ชำระดอกเบี้ย

คณะกรรมการกฤษฎีกาเห็นว่า พระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 มิได้กำหนดอายุความการใช้สิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากเจ้าหน้าที่ ในกรณีที่หน่วยงานของรัฐเห็นว่าเจ้าหน้าที่ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทน แต่กระทรวงการคลังตรวจสอบแล้วเห็นว่าเจ้าหน้าที่ต้องรับผิดเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมากกว่าที่หน่วยงานของรัฐกำหนดไว้เป็นการเฉพาะ 

จึงต้องนำบทบัญญัติมาตรา 10 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว ที่กำหนดให้การใช้สิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากเจ้าหน้าที่ ในกรณีหน่วยงานของรัฐเห็นว่าเจ้าหน้าที่ไม่ต้องรับผิด แต่กระทรวงการคลังเห็นว่าต้องรับผิด ให้มีอายุความ 1 ปี นับแต่วันที่หน่วยงานของรัฐมีคำสั่งตามความเห็นของกระทรวงการคลัง มาใช้บังคับในฐานะเป็นบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่ง โดยการออกคำสั่งให้ชำระเงินเพิ่มขึ้นตามความเห็นของกระทรวงการคลัง มีกำหนดอายุความ 1 ปี นับแต่วันที่หน่วยงานของรัฐมีคำสั่งตามความเห็นของกระทรวงการคลัง ดังนั้น หน่วยงานของรัฐจึงต้องเรียกให้ชำระดอกเบี้ยภายในอายุความ 1 ปี นับแต่ได้รับแจ้งความเห็นของกระทรวงการคลัง และโดยหลักแล้ว การใช้สิทธิเรียกร้อง 1 ปี ดังกล่าว ต้องกระทำภายในอายุความ 10 ปี นับแต่วันทำละเมิด ตามมาตรา 448 วรรคหนึ่ง แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ในฐานะกฎหมายทั่วไปในเรื่องละเมิดด้วย

อย่างไรก็ดี เมื่อปรากฏว่ามีการฟ้องคดีอาญาเจ้าหน้าที่ ในฐานความผิดปลอดเอกสารสิทธิอันเป็นเอกสารราชการ และใช้เอกสารสิทธิอันเป็นเอกสารราชการปลอม ตามมาตรา 266 (1) และมาตรา 268 แห่งประมวลกฎหมายอาญา โดยทั้งสองฐานความผิด มีระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1 ปี ถึง 10 ปี และปรับตั้งแต่ 20,000 บาทถึง 200,000 บาท ซึ่งมาตรา 95 วรรคหนึ่ง (2) แห่งประมวลกฎหมายอาญา ได้กำหนดอายุความไว้ 15 ปี ดังนั้น การใช้สิทธิเรียกร้องให้ชำระดอกเบี้ยในมูลละเมิดจึงกระทำได้ภายในอายุความ 15 ปี ซึ่งเป็นอายุความอาญาที่ยาวกว่า ตามที่กำหนดในมาตรา 448 วรรคสอง แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ 

เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า เจ้าหน้าที่ได้กระทำการยักยอกเงินในระหว่างปี พ.ศ. 2546 ถึง 2553 หลายครั้ง ต่างกรรมต่างวาระกัน ปัจจุบันการใช้สิทธิเรียกร้องให้ชำระดอกเบี้ยสำหรับการกระทำละเมิดส่วนหนึ่งจึงยังไม่ขาดอายุความ (แต่สำหรับการกระทำละเมิดอีกส่วนหนึ่ง การใช้สิทธิเรียกร้องได้ขาดอายุความแล้ว จึงไม่อาจเรียกให้ชำระดอกเบี้ยได้)

ที่มา ความเห็นคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะพิเศษ) เรื่องเสร็จที่ 1619/2563 เรื่อง การเรียกให้เจ้าหน้าที่ผู้ทุจริตยักยอกเงินชำระดอกเบี้ยของเงินที่ยักยอก กรณีเจ้าหน้าที่ได้นำเงินที่ยักยอกมาคืนแก่ทางราชการครบถ้วนแล้ว และเป็นสำนวนที่ไม่ต้องส่งให้กระทรวงการคลังตรวจสอบ

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมประจำสัปดาห์

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. 2566 (30 ข้อ)

สาระสำคัญ พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. 2566 (ฉบับเตรียมสอบ)

การส่งเด็กเข้าเรียนตามกฎหมาย

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 (55 ข้อ)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 (ชุดที่ 1)

แนวข้อสอบ ระเบียบฯ พนักงานราชการ

แนวข้อสอบ ระเบียบฯ สารบรรณ (ชุดที่ 3)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561 (ชุดที่ 1)