การทำงานโดยไม่อยู่ใต้อำนาจบังคับบัญชา-ลงโทษวินัย ไม่ใช่สัญญาจ้างแรงงาน ไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหาย (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2239/2564)


การพิจารณาสถานะความเป็นลูกจ้างนายจ้าง จะต้องพิจารณาถึงอำนาจบังคับบัญชา และอำนาจลงโทษวินัยด้วย ดังตัวอย่างคำพิพากษาศาลฎีกาในคดีนี้

ข้อเท็จจริงปรากฏว่า นาย อ. ทำงานในตำแหน่งผู้ช่วยบรรณาธิการข่าวของจำเลย ได้รับค่าจ้างเดือนละ 30,000 บาท กำหนดจ่ายทุกวันที่ 25 ของเดือน ต่อมาจำเลยเสนอให้ นาย อ. และเพื่อนร่วมงาน ทำสัญญาใหม่เป็นสัญญาจ้างทำของ นาย อ. และเพื่อนร่วมงานไม่ยินยอม เป็นเหตุให้จำเลยเลิกจ้างนาย อ. และเพื่อนร่วมงานดังกล่าว นาย อ. จึงฟ้องเรียกค่าเสียหาย ประกอบด้วย
  - ค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม 450,000 บาท
  - ค่าเสียหายจากการไม่ปฏิบัติตามกฎหมายประกันสังคม 32,250 บาท
  - ค่าเสียหายจากการไม่ปฏิบัติตามกฎหมายกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ 38,700 บาท
  - ค่าเสียหายจากการเสียสิทธิในการรักษาพยาบาลตามประกันภัยกลุ่ม 43,000 บาท
  - จ่ายเงินเพิ่มพิเศษหรือโบนัสประจำปี 90,000 บาท

จำเลยให้การว่า ไม่ได้ทำสัญญาจ้างนาย อ. เป็นลูกจ้าง เป็นการจ้างเหมาทำงานฟรีแลนซ์ (Freelance) การทำงานไม่อยู่ภายใต้ระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลย

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า การทำงานของนาย อ. ไม่ต้องมีการบันทึกเวลาเข้าออก นาย อ. ไม่มีบัตรประจำตัวพนักงานเช่นเดียวกับลูกจ้างของจำเลย นาย อ. จะมาทำงานหรือไม่ก็ได้ หากไม่มาก็ไม่ต้องยื่นใบลาตามระเบียบข้อบังคับการทำงานของจำเลย และไม่ต้องถูกลงโทษตามระเบียบข้อบังคับการทำงานของจำเลย แสดงว่า นาย อ. ไม่ได้อยู่ภายใต้อำนาจบังคับบัญชาของจำเลย นิติสัมพันธ์ระหว่าง นาย อ. และจำเลย ไม่ใช่สัญญาจ้างแรงงาน

ดังนี้ นาย อ. ไม่เป็นลูกจ้างของจำเลยที่จะมีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากการผิดสัญญาจ้าง อันเป็นค่าเสียหายจากการไม่ปฏิบัติตามกฎหมายประกันสังคม ค่าเสียหายจากการไม่ปฏิบัติตามกฎหมายกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ค่าเสียหายจากการเสียสิทธิได้รับการประกันภัยกลุ่ม และค่าเสียหายจากการไม่ได้รับเงินเพิ่มพิเศษหรือโบนัสประจำปี รวมทั้งค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม

ที่มา
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2239/2564. เนติบัณฑิตยสภา, หนังสือคำพิพากษาฎีกา ประจำพุทธศักราช 2564 ตอนที่ 4, หน้า 950 - 956

- ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ 
  มาตรา 575 บัญญัติว่า "อันว่าจ้างแรงงานนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่ง เรียกว่าลูกจ้าง ตกลงจะทำงานให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่ง เรียกว่านายจ้าง และนายจ้างตกลงจะให้สินจ้างตลอดเวลาที่ทำงานให้"

- พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 
  มาตรา 5 บัญญัติว่า ในพระราชบัญญัตินี้
  “สัญญาจ้าง” หมายความว่า สัญญาไม่ว่าเป็นหนังสือหรือด้วยวาจาระบุชัดเจน หรือเป็นที่เข้าใจโดยปริยาย ซึ่งบุคคลหนึ่งเรียกว่าลูกจ้างตกลงจะทำงานให้แก่บุคคลอีกบุคคลหนึ่งเรียกว่านายจ้าง และนายจ้างตกลงจะให้ค่าจ้างตลอดเวลาที่ทำงานให้

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมประจำสัปดาห์

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. 2566 (30 ข้อ)

สาระสำคัญ พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. 2566 (ฉบับเตรียมสอบ)

การส่งเด็กเข้าเรียนตามกฎหมาย

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 (55 ข้อ)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 (ชุดที่ 1)

แนวข้อสอบ ระเบียบฯ พนักงานราชการ

แนวข้อสอบ ระเบียบฯ สารบรรณ (ชุดที่ 3)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561 (ชุดที่ 1)