บรรยายฟ้องว่าทหารกับเอกชนกระทำผิดด้วยกัน เป็นคดีที่ไม่อยู่ในอำนาจศาลทหาร (คําวินิจฉัยชี้ขาดอํานาจหน้าที่ระหว่างศาลที่ 43/2566)

คดีนี้จําเลยที่ 1 และที่ 3 เป็นนายทหารประทวนประจําการ แม้จะเป็นบุคคลที่อยู่ในอํานาจศาลทหารตามมาตรา 16 (3) แห่งพระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ. 2498

แต่โจทก์ยื่นฟ้องจําเลยที่ 2 ซึ่งเป็นเอกชน โดยบรรยายฟ้องว่า จําเลยทั้งสามกับกลุ่มชายไทยไม่แน่ชัดว่าเป็นทหารหรือพลเรือนปะปนกันประมาณ 10 คน ได้ร่วมกันบุกรุกเข้ามาในพื้นที่เหมืองเขาวังปลา 1 และ 2 ซึ่งโจทก์เป็นผู้ครอบครองพื้นที่ดังกล่าวอยู่ อันเป็นการกระทําโดยไม่มีเหตุสมควร ไม่มีสิทธิและอํานาจตามกฎหมาย โดยจําเลยได้ร่วมกันนําลวดหนามซึ่งใช้ในราชการทหารหรือลวดหนามหีบเพลงกีดขวางปิดกั้นทางเข้าออก ทําให้ไม่สามารถเดินทางออกได้ ซึ่งภายในพื้นที่พิพาทมีทรัพย์สินของโจทก์และบ้านพักคนงานโจทก์ เป็นการรบกวนสิทธิการครอบครองพื้นที่ของโจทก์

ดังนี้ การฟ้องว่าจําเลยที่ 1 และที่ 3 ซึ่งเป็นบุคคลที่อยู่ในอํานาจศาลทหารกับบุคคลที่มิได้อยู่ในอํานาจศาลทหารกระทําผิดด้วยกัน คดีจึงไม่อยู่ในอํานาจศาลทหารตามพระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ. 2498 มาตรา 14 (1) แต่เป็นคดีที่อยู่ในอํานาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

ที่มา
- คําวินิจฉัยชี้ขาดอํานาจหน้าที่ระหว่างศาลที่ 43/2566 , เว็บไซต์สํานักงานเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล

- พระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ. 2498
  มาตรา 14 บัญญัติว่า "คดีที่ไม่อยู่ในอำนาจศาลทหาร คือ
  (1) คดีที่บุคคลที่อยู่ในอำนาจศาลทหารกับบุคคลที่มิได้อยู่ในอำนาจศาลทหารกระทำผิดด้วยกัน
  (2) คดีที่เกี่ยวพันกับคดีที่อยู่ในอำนาจศาลพลเรือน
  (3) คดีที่ต้องดำเนินในศาลเยาวชนและครอบครัว
  (4) คดีที่ศาลทหารเห็นว่าไม่อยู่ในอำนาจศาลทหาร"
  มาตรา 16 บัญญัติว่า "บุคคลที่อยู่ในอำนาจศาลทหาร คือ
  (1) นายทหารชั้นสัญญาบัตรประจำการ
  (2) นายทหารชั้นสัญญาบัตรนอกประจำการ เฉพาะเมื่อกระทำผิดต่อคำสั่งหรือข้อบังคับตามประมวลกฎหมายอาญาทหาร
  (3) นายทหารประทวนและพลทหารกองประจำการหรือประจำการ หรือบุคคลที่รับราชการทหารตามกฎหมายว่าด้วยการรับราชการทหาร
  (4) นักเรียนทหารตามที่กระทรวงกลาโหมกำหนด
  (5) ทหารกองเกินที่ถูกเข้ากองประจำการ ซึ่งเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารได้รับตัวไว้เพื่อให้เข้ารับราชการประจำอยู่ในหน่วยทหาร
  (6) พลเรือนที่สังกัดอยู่ในราชการทหาร เมื่อกระทำผิดในหน้าที่ราชการทหาร หรือกระทำผิดอย่างอื่นเฉพาะในหรือบริเวณ อาคาร ที่ตั้งหน่วยทหาร ที่พักร้อน พักแรม เรือ อากาศยาน หรือยานพาหนะใด ๆ ในความควบคุมของเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหาร
  (7) บุคคลซึ่งต้องขังหรืออยู่ในความควบคุมของเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารโดยชอบด้วยกฎหมาย
  (8) เชลยศึกหรือชนชาติศัตรูซึ่งอยู่ในความควบคุมของเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหาร"

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมประจำสัปดาห์

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. 2566 (30 ข้อ)

สาระสำคัญ พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. 2566 (ฉบับเตรียมสอบ)

การส่งเด็กเข้าเรียนตามกฎหมาย

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 (55 ข้อ)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 (ชุดที่ 1)

แนวข้อสอบ ระเบียบฯ พนักงานราชการ

แนวข้อสอบ ระเบียบฯ สารบรรณ (ชุดที่ 3)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561 (ชุดที่ 1)