สรุปคำบรรยายเนติบัณฑิต 1/78 ภาคค่ำ กฎหมายยืม ค้ำประกัน จำนอง จำนำ (ครั้งที่ 2-3)

สรุปคำบรรยายเนติบัณฑิต 1/78 ภาคค่ำ
กฎหมายยืม ค้ำประกัน จำนอง จำนำ (ครั้งที่ 2-3)
อาจารย์วิวัฒน์ ว่องวิวัฒน์ไวทยะ
วันจันทร์ที่ 9 มิถุนายน 2568
**********

1. กู้ยืมเงิน มีมาตราที่เกี่ยวข้อง คือ ม.650-656 มี 6 หัวข้อ ซึ่งหัวข้อที่ 2 กำหนดเวลาชำระหนี้เงินกู้ยืม อาจารย์พูดไปแล้ว จะไม่พูดซ้ำ เนื่องจากเวลามีจำกัด การบรรยายวันนี้เป็นพื้นฐานสำคัญ จะให้จบม.656 ครั้งหน้าจะขึ้นเรื่องค้ำประกัน และจะไปเร็วขึ้น

2. หัวข้อที่ 1 บริบูรณ์ต่อเมื่อส่งมอบเงินกู้ยืม ม.650 วรรคสอง "สัญญานี้ย่อมบริบูรณ์ต่อเมื่อส่งมอบทรัพย์สินที่ยืม" 
-ม.650 เป็นต้นทางของวิชานี้
2.1) สัญญากู้ยืมเงิน ย่อมบริบูรณ์ต่อเมื่อส่งมอบเงินที่กู้ยืม สัญญากู้ยืมเงินเป็นสัญญายืมใช้สิ้นเปลืองอย่างหนึ่ง ม.650 วรรคสอง จึงใช้บังคับกับสัญญากู้ยืมเงินด้วย ย่อมบริบูรณ์ต่อเมื่อส่งมอบเงินที่กู้ยืม 
-ตราบใดที่ยังไม่ส่งมอบเงินที่กู้ยืม ตราบนั้นก็ยังไม่บริบูรณ์ คือ ยังไม่เกิดผลผูกพัน ยังไม่เกิดสิทธิและหน้าที่ตามสัญญากู้ยืมเงิน (แต่ไม่เป็นโมฆะ) ถ้ามีการค้ำประกันด้วย ก็ทำให้ค้ำประกันไม่สมบูรณ์ หรือถ้ามีการจำนอง จำนองก็ไม่สมบูรณ์ตามไปด้วย
-จะใช้คำว่าบริบูรณ์ หรือ สมบูรณ์ ดูม.681 วรรคหนึ่ง อันค้ำประกัน จะมีได้แต่เฉพาะเพื่อหนี้อันสมบูรณ์ จะใช้คำไหนก็ความหมายเหมือนกัน คำพิพากษาศาลฎีกาก็มีใช้ทั้งสองคำ แต่ควรใช้ "บริบูรณ์" เมื่อพูดถึงเรื่องกู้ยืม และใช้ "สมบูรณ์" เมื่อพูดถึงค้ำประกัน
2.2) การไม่ส่งมอบเงินกู้ยืม เป็นคนละเรื่องกับการมีหลักฐานแห่งการกู้ยืมตามม.653 หมายความว่า ถ้ามีการส่งมอบเงินที่กู้ยืม สัญญากู้ยืมก็บริบูรณ์ ก็มีค้ำประกันได้ มีจำนอง จำนำได้ ส่วนจะฟ้องร้องกันได้หรือไม่ค่อยไปดูเรื่องหลักฐานการกู้ยืม ซึ่งเป็นคนละเรื่องกัน *****ทำความเข้าใจจุดนี้ให้ดี เคยออกข้อสอบมาแล้วหลายสมัย
-ถ้ามีข้อสอบ ให้ดูก่อนว่ามีการส่งมอบเงินกู้ยืมหรือยัง ถ้าส่งมอบเงินที่กู้ยืมแล้ว หนี้กู้ยืมสมบูรณ์ตามม.650 วรรคสอง ค้ำประกันได้ จำนองได้ จำนำได้ แม้จะไม่มีหลักฐานการกู้ยืมก็ไม่เกี่ยว (หนี้สมบูรณ์ แต่อาจฟ้องร้องบังคับคดีไม่ได้) , แต่ถ้าไม่มีการส่งมอบเงินกู้ยืม ก็ไม่มีผลผูกพันเลย ไม่ว่าจะค้ำประกัน จำนอง จำนำก็ไม่สมบูรณ์สักอย่าง ไม่มีความผูกพันใด ๆ จะมาอ้างได้เลย
-ฎ.9537/2557 เมื่อข้อเท็จจริงยังฟังไม่ได้ว่าจำเลยได้รับเงินตามหนังสือสัญญากู้เงิน หนังสือสัญญากู้เงินทั้งสองฉบับจึงไม่ชอบด้วยม.650 วรรคสอง (ไม่บริบูรณ์)
-ฎ.1340/2565 สัญญากู้ยืมเงินเป็นสัญญาที่ไม่บริบูรณ์ เพราะยังไม่ได้ส่งมอบเงินที่กู้ยืม และเมื่อสัญญากู้ยืมเงินเป็นหนี้ที่ไม่สมบูรณ์ มีผลให้สัญญาจำนำหุ้นซึ่งเป็นหนี้อุปกรณ์ของสัญญากู้ยืมเงินดังกล่าว เป็นหนี้ที่ไม่สมบูรณ์ด้วย
-คำถาม ส่งมอบเงินที่กู้ยืมหลังจากทำสัญญาได้หรือไม่? ฎ.10419/2557 แม้ขณะที่โจทก์กับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ทำสัญญาค้ำประกันหนี้เงินกู้ของจำเลยที่ 1 สัญญากู้เงินระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ยังไม่บริบูรณ์ เนื่องจากโจทก์ยังไม่ได้ส่งมอบเงินที่กู้ยืมให้แก่จำเลยที่ 1 ตามม.650 วรรคสอง ก็ตาม แต่เมื่อจำเลยที่ 2 และที่ 3 ยอมรับว่า ภายหลังต่อมาโจทก์ก็ได้ส่งมอบเงินที่กู้ยืมตามสัญญากู้ยืมเงินให้แก่จำเลยที่ 1 ครบแล้ว หนี้ตามสัญญากู้เงินจึงเป็นหนี้ที่สมบูรณ์ที่อาจทำสัญญาค้ำประกันได้แล้วตามม.650 วรรคสอง , ฎ.1579/2552 แม้การจดทะเบียนจำนองและจดทะเบียนขึ้นเงินจำนองเป็นประกันหนี้ จะทำขึ้นก่อนเวลาที่โจทก์จะส่งมอบเงินกู้ทั้งสองจำนวนแก่จำเลยที่ 1 ก็ตาม แต่เมื่อต่อมาโจทก์มอบเงินกู้ทั้งสองจำนวนแก่จำเลยที่ 1 หลังจากทำสัญญาจำนองกันดังกล่าว หนี้เงินกู้ในส่วนนั้นก็สมบูรณ์ การจำนองเป็นประกันการชำระหนี้ดังกล่าวล่วงหน้าจึงบังคับแก่กันได้
-คำถาม ผู้กู้ยินยอมลงลายมือชื่อในสัญญากู้ที่ระบุตัวเลขสูงเกินกว่ามูลหนี้เงินกู้จริงหรือที่ส่งมอบ ผลจะเป็นอย่างไร? ผลคือ สมบูรณ์ตามมูลหนี้จริงหรือเท่าที่ส่งมอบ ฎ.7229/2552 สัญญากู้ระบุ 5 แสนบาท ผู้กู้ยอมลงลายมือชื่อไว้ แต่มีมูลหนี้เดิมเพียง 1.9 แสนบาท สมบูรณ์ 1.9 แสนบาท , ฎ.8076/2556 สัญญากู้ระบุ 7 แสน ผู้กู้ยอมลงลายมือชื่อไว้ แต่มีการมอบเงินเพียง 4.3 แสน สัญญากู้ก็สมบูรณ์เพียง 4.3 แสน บังคับกันได้ 4.3 แสน (กรณีนี้ถ้ามีค้ำประกัน จำนอง จำนำ ถ้าระบุไว้เกิน 4.3 แสน ก็บังคับได้เพียง 4.3 แสน "เท่าที่มีเฉพาะเพื่อหนี้อันสมบูรณ์")
2.3) แม้ไม่มีการส่งมอบเงินกันจริง ๆ แต่ก็ถือว่าส่งมอบเงินกู้ยืมแล้ว
-ฎ.7275/2546 เดิม น. และจำเลยได้กู้ยืมเงิน ส. น้องโจทก์ ต่อมาโจทก์จำเลยตกลงกันให้โจทก์นำเงินกู้ยืมตามฟ้องไปชดใช้หนี้แก่ ส. โดยจำเลยยอมกู้ยืมเงินจากโจทก์และจดทะเบียนจำนองที่ดินเป็นประกันการชำระหนี้จำนวนดังกล่าวแก่โจทก์ แม้ในวันที่โจทก์และจำเลยทำสัญญาจำนองที่ดิน โจทก์จะไม่ได้ส่งมอบเงินกู้ยืมให้แก่จำเลย แต่เมื่อโจทก์ได้ชำระหนี้ที่จำเลยมีต่อ ส. แทนจำเลยไป และจำเลยยอมทำสัญญาจำนองที่ดินแทน ถือได้ว่าโจทก์ได้ส่งมอบเงินกู้ยืมให้แก่จำเลยแล้ว การกู้ยืมเงินและสัญญาจำนองที่ดินระหว่างโจทก์และจำเลยย่อมบริบูรณ์ใช้บังคับระหว่างกันได้
-ฎ.4684/2536 โจทก์เอาเงินฝากค้ำประกันการกู้เงินจำเลยที่ 1 ต่อธนาคาร โดยให้จำเลยที่ 1 ทำสัญญากู้เงิน 8 หมื่น เพื่อเป็นประกัน ถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้รับเงินตามหนังสือสัญญากู้นับแต่ธนาคารได้หักเงินจากบัญชีเงินฝากของโจทก์ชำระหนี้ของจำเลยที่ 1
-ฎ.4252/2528 จำเลยทำสัญญากู้ยืมไว้แก่โจทก์แทนการวางมัดจำ เป็นเงินสดตามสัญญาจะซื้อขายที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง สัญญากู้ยืมดังกล่าวจึงมีมูลหนี้มาจากการที่จำเลยมีหนี้ที่จะต้องวางมัดจำตามสัญญาจะซื้อขายที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เมื่อจำเลยผิดสัญญาจะซื้อขายดังกล่าวซึ่งโจทก์มีสิทธิริบเงินมัดจำ โจทก์ย่อมมีสิทธิฟ้องบังคับตามสัญญากู้ยืมได้เพราะมีมูลหนี้ต่อกัน และกรณีเช่นนีถือได้ว่าได้มีการส่งมอบเงินให้ผู้กู้แล้ว
-ฎ.3209/2550 หนี้เดิมเป็นการตกลงทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินกัน ฝ่ายจำเลยไม่มีเงินพอจะจ่ายในส่วนของเนื้อที่ดินที่เกิน จึงตกลงทำสัญญากู้ยืมเงินขึ้นเพื่อชำระหนี้ค่าที่ดินส่วนที่เกิน ถือว่าเป็นการแปลงสาระสำคัญแห่งหนี้ เป็นการแปลงหนี้ใหม่จากสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินมาเป็นสัญญากู้ยืมเงิน (แปลงหนี้ค่าซื้อขายเป็นสัญญากู้ยืม) (เทียบฎ.3103/2564)
-ฎ.10227/2551 โจทก์และจำเลยตกลงกันให้นำหนี้พร้อมดอกเบี้ยที่ค้างชำระที่ชอบด้วยกฎหมายมาเป็นต้นเงินทำสัญญากันใหม่ ย่อมถือว่าโจทก์ได้ส่งมอบเงินที่กู้ยืมตามสัญญาให้จำเลยโดยชอบแล้ว (ฎ.1003/2566)

3. หัวข้อที่ 3 หลักฐานแห่งการกู้ยืม ม.653 วรรคหนึ่ง "การกู้ยืมเงินกว่าสองพันบาทขึ้นไปนั้น ถ้ามิได้มีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสำคัญ จะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่" *เรียนวิชานี้ ต้องท่องมาตรานี้ให้ได้ เป็นหลักการสำคัญของเรื่องกู้ยืมเงิน
3.1) การจะนำม.653 มาใช้ ต้องเป็นเรื่องกู้ยืม ถ้าเป็นเรื่องอื่น อย่านำม.653 มาใช้ เรื่องต่อไปนี้ไม่ใช่กู้ยืมเงิน เช่น ยืมเงินทดรองจ่ายในหน่วยงาน (ฎ.1211/2529) , สัญญาเล่นแชร์ (ฎ.2013/2537 , 1361/2552) , สัญญาบัตรเครดิต (ฎ.7354/2546 (ป) , 1417/2550) ,
-ต้องระวัง ถ้าแปลงหนี้มาเป็นหนี้กู้ยืม (ฎ.2542/2521 , 4252/2528 , 4411/2555)
3.2) องค์ประกอบ ม.653 วรรคหนึ่ง องค์ประกอบแรก กว่า 2,000 บาท ไม่มีหลักฐานการกู้ยืมลงลายมือชื่อผู้ยืม จะฟ้องมูลหนี้เงินกู้ไม่ได้ 
  --กู้ยืม 2,000 บาท พอดี กู้ด้วยวาจา ไม่ต้องมีหลักฐานฯ ก็ฟ้องได้
  --ฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่ หมายถึง เฉพาะกรณีฟ้องเรียกมูลหนี้เงินกู้ตามสัญญากู้ยืมไม่ได้ แต่ถ้าอ้างมูลหนี้อื่นก็ฟ้องได้ 
  --ฎ.1150/2538 โจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ตามตั๋วสัญญาใช้เงิน ซึ่งมีมูลหนี้จากที่จำเลยที่ 1 กู้ยืมเงินจากโจทก์ หาใช่ฟ้องให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้กู้ยืมเงินโดยตรงไม่ จึงไม่จำต้องมีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสือลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสำคัญมาเป็นพยานต่อศาล (ฎ.2465/2559 , 8848/2559 , 5076/2560)
  --ไม่มีหลักฐานฯ ยกขึ้นต่อสู้คดีได้หรือไม่? ***เป็นประเด็นน่าสนใจ ฎ.1263/2567 ตามม.653 วรรคหนึ่ง รวมถึงการห้ามมิให้ยกขึ้นต่อสู้คดีด้วย เมื่อหนี้ที่โจทก์อ้างเป็นมูลหนี้ฟ้องร้องและยึดถือโฉนดไว้ เป็นหนี้เงินกู้ที่ฟ้องร้องบังคับไม่ได้ตามกฎหมาย โจทก์จึงไม่มีสิทธิยึดถือโฉนดที่ดินของจำเลยไว้ต่อไป
  --***ออกข้อสอบอยู่เนือง ๆ (เทียบข้อสอบเนติ 47,49) ฎ.1604/2536 ดำกู้เงิน 5 แสน เจ้าหนี้ส่งเงินกู้ แต่ไม่ได้ทำหลักฐานการกู้ โดยมีขาวมาทำสัญญาค้ำประกัน และเขียวทำสัญญาจดทะเบียนจำนองเป็นประกัน 5 แสน กรณีนี้เจ้าหนี้จะฟ้องใครได้บ้าง? กรณีดำ ได้รับเงินไปแล้ว หนี้สมบูรณ์ตามม.650 วรรคสอง จึงมีค้ำประกัน จำนองได้ แต่เมื่อไม่ได้ทำหลักฐานการกู้ฯ จึงฟ้องดำไม่ได้ตามม.653 วรรคหนึ่ง , กรณีขาว หนี้เงินกู้สมบูรณ์ มีค้ำประกันเพื่อหนี้อันสมบูรณ์ได้ จึงฟ้องขาวได้ แต่ขาวรอดตามม.694* (ผู้ค้ำฯ สามารถยกข้อต่อสู้ทั้งหลายซึ่งลูกหนี้มีต่อเจ้าหนี้ขึ้นต่อสู้ได้ จะเรียนกันในครั้งหน้า) , กรณีเขียว หนี้เงินกู้สมบูรณ์ มีจำนองได้ (ม.707 ให้นำม.681 ว่าด้วยค้ำประกัน มาใช้อนุโลม จึงหมายความว่า อันจำนองนั้นจะมีได้แต่เฉพาะเพื่อหนี้อันสมบูรณ์) เขียวจะยกข้อต่อสู้เหมือนขาวตามม.694 ไม่ได้ เพราะม.694 ไม่นำไปใช้กับเรื่องจำนอง ดังนั้น เจ้าหนี้จึงฟ้องเขียวให้รับผิดได้ ***ถ้านักศึกษาเข้าใจตัวอย่างนี้ จะทำให้เข้าใจวิชานี้ไปแล้วครึ่งหนึ่ง โอกาสตอบข้อสอบได้ 5 คะแนนแล้ว
  --ฎ.1604/2536 จำเลยที่ 2 และที่ 3 จดทะเบียนจำนองที่ดินเป็นประกันหนี้เงินกู้ของจำเลยที่ 1 แม้การกู้ยืมเงินขาดหลักฐานตามกฎหมาย ก็เพียงต้องห้ามมิให้ฟ้องร้องบังคับคดีเอากับจำเลยที่ 1 เท่านั้น เมื่อหนี้การกู้ยืมเงินระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 มีอยู่จริงและสมบูรณ์ตามกฎหมาย ย่อมมีการจำนองเป็นประกันได้ตามม.707 , 681 เมื่อโจทก์ยังไม่ได้รับชำระหนี้ โจทก์ย่อมบังคับเอากับผู้จำนองได้
-มีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสือ
-ผู้กู้ต้องลงลายมือชื่อ
-หลักฐาน ขอให้มีก่อนฟ้อง
-กรณีตัวเลขในสัญญากู้เงินสูงเกินกว่ามูลหนี้เงินกู้ที่ได้รับไปหรือกรณีแก้ไขตัวเลขเงินกู้ในสัญญา
3.3) องค์ประกอบ ม.653 วรรคหนึ่ง องค์ประกอบที่สอง มีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสือ
-หลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสือ หมายถึง เอกสารที่มีข้อความพอจะถือได้ว่ามีการกู้ยืมและมีผู้กู้ลงลายมือชื่อฝ่ายเดียว เช่น "จำเลยกู้ยืมเงินจากโจทก์ 5,000 บาท" หรือ "จำเลยรับเงินหรือเป็นหนี้โจทก์ 5,000 บาท และจะคืนให้" หรือ "จำเลยเป็นหนี้โจทก์ 5,000 บาท และยังไม่ได้ชำระหนี้ให้โจทก์"
-ถ้าคู่สัญญาลงลายมือชื่อครบทั้งสองฝ่ายและมีข้อความในการตกลงกู้ยืมครบถ้วน เรียกว่า หนังสือสัญญากู้ยืม
-ม.653 กำหนดว่า ถ้าไม่มีหลักฐานแห่งการกู้ยืมจะฟ้องไม่ได้ ทำให้ขณะฟ้องจึงต้องมีหลักฐานแห่งการกู้ยืมไว้อยู่แล้ว จึงจะมีอำนาจฟ้อง 
-ฎ.8752/2538 หลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสือตามม.653 วรรคหนึ่ง มิได้เคร่งครัดถึงกับว่าจะต้องมีถ้อยคำว่ากู้ยืมอยู่ในหนังสือนั้น เมื่อหนังสือมีข้อความระบุว่าจำเลยเป็นหนี้โจทก์ จำนวน 188,259 บาท และยังไม่ได้ชำระหนี้ให้โจทก์ กับมีลายมือชื่อจำเลยลงไว้ และมีตัวโจทก์มาสืบประกอบอธิบายว่าหนี้เงินจำนวนดังกล่าวเป็นหนี้ที่จำเลยได้กู้ยืมเงินโจทก์ไปซื้อกระดาษทำกล่องใส่เค้กมาขายให้โจทก์เพื่อหักหนี้กัน จึงเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมฟ้องร้องได้
-ฎ.1504/2531 ศาลฟังว่าจำเลยยืมเงินโจทก์ เมื่อเอกสารมีข้อความว่าจำเลยจะนำเงิน 50,000 บาท มาใช้ให้แก่โจทก์ภายใน พ.ค.2526 แสดงว่าจำเลยเป็นหนี้โจทก์ตามจำนววนที่ระบุไว้ ใช้เป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมเงินได้
-ฎ.2725/2526 , 11865/2555 , 4537/2553 แม้ระบุเพียงว่า "จำเลยกู้เงิน 5,000 บาท คืนวันที่ 1 ธ.ค.2560" แต่ได้ความว่าทำมอบให้โจทก์ก็มีความหมายในตัวว่ากู้ยืมเงินโจทก์ ใช้เป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมเงินได้
-ฎ.4306/2565 หลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสือตามม.653 วรรคหนึ่ง นั้น ต้องมีข้อความให้รับฟังได้ว่าผู้ยืมได้กู้ยืมเงินไปจากผู้ให้กู้ยืม หรือมีข้อความว่าจะใช้คืนให้ อันเป็นสาระสำคัญที่บ่งชี้ให้เห็นว่าผู้ยืมได้กู้ยืมเงินจากผู้ให้กู้ยืมหรือเป็นหนี้ผู้ให้กู้ยืม หากไม่มีข้อความดังกล่าวแล้ว ก็ไม่อาจเรียกได้ว่าเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมเงินได้ เพราะการที่บุคคลหนึ่งมอบหรือโอนเงินให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่ง ไม่จำเป็นว่าต้องเกิดจากการกู้ยืมกันเสมอไป อาจเป็นเรื่องการมอบหรือโอนเงินให้แก่กันด้วยมูลเหตุอย่างอื่นก็ได้
-ฎ.745/2565 ข้อความตามที่ระบุในสำเนาใบหุ้นกู้ มีสาระสำคัญว่าจำเลยที่ 1 ได้รับเงินไปจากโจทก์ 2,000,000 บาท และจะชำระคืนภายในวันที่ 25 เม.ย.2558 อันถือได้ว่ามีข้อความครบถ้วนเพียงพอให้รับฟังได้ว่าเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสือตามม.653 วรรคหนึ่ง
-ลำพังหลักฐานการรับเงิน หรือระบุว่า "รับเงิน 5,000 บาท" ไม่ใช่หลักฐานการกู้ (ฎ.1468/2511 , 14712/2551 , 13511/2556 , 15799/2557)
-หลักฐานแห่งการกู้ยืมไม่ระบุวันเดือนปี หรือไม่ระบุอัตราดอกเบี้ย ได้หรือไม่? ฎ.1883/2551 ม.653 วรรคหนึ่ง ไม่ได้บังคับว่าต้องระบุวันเดือนปีที่ทำสัญญาหรือวันเดือนปีที่ครบกำหนดชำระเงินและอัตราดอกเบี้ยไว้ (ม.203 หนี้ไม่มีกำหนดเวลา เจ้าหนี้เรียกให้ชำระได้โดยพลัน) , แต่ถ้าไม่ระบุจำนวนเงินอาจใช้เป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมไม่ได้ ฎ.2553/2525 ข้อความตามเอกสารในการขอผัดผ่อนการชำระหนี้ แต่จะเป็นหนี้เกี่ยวกับอะไร จำนวนเท่าใดไม่ปรากฏ และไม่มีข้อความตอนใดแสดงว่าจำเลยได้กู้เงินโ๗ทก์ตามฟ้อง จึงไม่ใช่หนังสืออันเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืม (ข้อสอบเนติ 47) (ฎ.823/2510)
-คู่สัญญากู้เงินจะตกลงระบุให้ถือสัญญาจำนองเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมได้หรือไม่? ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ถ้าตกลงกันเช่นนี้ สัญญาจำนองก็เป็นทั้งสัญญาจำนอง และสัญญาจำนองย่อมมีผลเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมด้วย (ฎ.3039/2543 , 2900/2550 , 2143/2566)
-ถ้าไม่ได้ตั้งใจทำขึ้นเพื่อเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืม แต่มีข้อความครบถ้วนจะถือเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมหรือไม่? แม้เอกสารที่ทำขึ้นจะฉบับเดียวหรือหลายฉบับ ไม่ได้ตั้งใจทำขึ้นเพื่อเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืม แต่ถ้าอ่านรวมกันแล้วพอได้ความ ก็ถือเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมแล้ว เช่น บันทึกแจ้งความ คำเบิกความในคดีอาญา คำฟ้องในคดีอาญา (ฎ.3003/2538 , 3498/2546) , ฎ.439/2493 ตั๋วสัญญาใช้เงินมีข้อความแสดงว่าจำเลยรับว่ามีหนี้ที่ต้องชำระแก่โจทก์ แม้จะไม่ได้ระบุว่าเป็นหนี้อะไร ก็เป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืม (กรณีตั้งใจให้เป็นหลักฐานฯ แต่ไม่มีข้อความว่ากู้ยืม ก็ไม่ถือเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืม) 
-ปกติเช็คไม่ใช่หลักฐานการกู้ (ฎ.11637/2556) เว้นแต่มีข้อความอื่นประกอบ (ฎ.439/2493 , 2405/2520)
-ฎ.11637/2556 เช็คไม่มีข้อความใดเลยที่ส่อแสดงให้รู้ได้ว่าเป็นการกู้ยืมเงินกัน อีกทั้งสภาพของเช็คก็เป็นการใช้เงิน ไม่ใช่การกู้หรือยืมเงิน เช็คจึงมิใช่หลักฐานแห่งการกู้ยืม (ข้อสอบผู้ช่วย 61)
-ฎ.3817/2563 สำเนารายงานประจำวัน ไม่มีข้อความใดที่ทำให้เข้าใจได้ว่าจำเลยยืมเงินโจทก์และตกลงจะใช้คืน ดังนี้ไม่ใช่หลักฐานแห่งการกู้ยืมม.653 วรรคหนึ่ง ที่โจทก์จะฟ้องร้องให้บังคับคดีแก่จำเลยได้
3.4) องค์ประกอบ ม.653 วรรคหนึ่ง องค์ประกอบที่สาม ผู้กู้ต้องลงลายมือชื่อ
-หลักฐานแห่งการกู้ยืม ไม่มีลายมือชื่อผู้ให้กู้ ฟ้องได้หรือไม่? หลักฐานเป็นหนังสือต้องลงลายมือชื่อผู้กู้ยืมเป็นสำคัญ ผู้ให้กู้ยืมมิได้ลงลายมือชื่อก็ฟ้องร้องบังคับคดีได้
-ฎ.6930/2537 แม้ลายมือชื่อผู้ให้กู้ ไม่ใช่ลายมือชื่อ ส. ผู้ให้กู้ แต่เป็นลายมือชื่อปลอม ก็หามีผลให้หลักฐานการฟ้องร้องบังคับแก่จำเลยเสียไปไม่ (ข้อสอบเนติ 48) (กรณีผู้ลงลายมือชื่อแทนผู้ให้กู้ ไม่มีอำนาจฟ้องได้ (เทียบ ฎ.9742/2539 ข้อสอบผู้ช่วย 45))
-ผู้กู้ลงลายมือชื่อในช่องผู้เขียนหรือช่องพยาน ผลเป็นอย่างไร? ถ้าชัดเจนว่าเป็นผู้กู้ ข้อความในสัญญาก็ชัดว่าเป็นผู้กู้ แต่ตอนที่ลงลายมือชื่อ เผลอไปลงชื่อในช่องผู้เขียนหรือช่องพยาน ไม่เป็นไร ก็ถือว่ามีลายมือชื่อผู้กู้แล้ว (ฎ.868/2506 ข้อสอบเนติ 41 , 58 , ฎ.3262/2535)
-ผู้อื่นลงลายมือชื่อผู้กู้แทนผู้กู้ ได้หรือไม่? ฎ.696/2522 จำเลยได้ทำสัญญากู้เงินโจทก์ โดยจำเลยยินยอมอนุญาตให้ ณ. บุตรจำเลย เป็นผู้ลงลายมือชื่อจำเลยในช่องผู้กู้แทนจำเลย ดังนี้หาผูกพันจำเลยไม่ (ข้อสอบเนติ 48) (แต่ถ้ามอบอำนาจให้ผู้อื่น เป็นผู้ทำสัญากู้แทนได้ ลงลายมือชื่อในฐานะผู้รับมอบอำนาจ แบบนี้ได้ มีผลเสมอกับลายมือชื่อของผู้มอบอำนาจให้ไปทำสัญญากู้ยืม เป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมผูกพันผู้มอบอำนาจ ฎ.3039/2543)
-ผู้กู้ลงลายมือชื่อด้วยชื่อเล่น ได้หรือไม่? ได้ ฎ.3148/2530 (ป) เขียนชื่อเล่น ถือว่าเป็นการลงลายมือชื่อตามม.6533 วรรคหนึ่งแล้ว (เทียบ ฎ.11584/2554 ผู้กู้ลงลายมือชื่อด้วยนามสกุลเดิม ก็ไม่ได้ทำให้ไม่ใช่ลายมือชื่อผู้กู้)
-ผู้กู้เป็นนิติบุคคล กรรมการผู้มีอำนาจลงลายมือชื่อผู้กู้ไว้ แต่ไม่ได้ประทับตราที่ต้องลงไว้เพื่อผูกพันนิติบุคคล ผลเป็นอย่างไร? ฎ.15046/2557 แม้ บ. กรรมการผู้จัดการ ลงลายมือชื่อแต่ไม่ได้มีการประทับตราของลูกหนี้ก็ตาม แต่เมื่อได้รับเงินกู้จริงและจ่ายดอกเบี้ยให้แก่เจ้าหนี้ การกระทำของลูกหนี้จึงเป็นการให้สัตยาบัน ถือว่าลงลายมือชื่อของลูกหนี้ผู้ยืมแล้ว (ถ้าไม่มีฐานะเป็นนิติบุคคล ผู้ลงลายมือชื่อต้องรับผิดตามลำพัง ฎ.1759/2545)
-การลงลายมือชื่อด้วยวิธีอื่น ๆ อย่าลืม ม.9 วรรคสอง ลายพิมพ์นิ้วมือ ที่ทำลงในเอกสารแทนการลงลายมือชื่อ หากมีพยานลงลายมือชื่อรับรองไว้ด้วยสองคนแล้ว ให้ถือเสมอกับลงลายมือชื่อ
-หลักฐานแห่งการกู้ยืมเงินตามพ.ร.บ.ว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2544 
  --ฎ.1112/2566 แม้ข้อความสนทนาผ่านระบบแอปพลิเคชันไลน์ ระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 เป็นการสนทนาผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ถือว่าเป็นการส่งข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ ตามพ.ร.บ.ว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2544 และเป็นหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อจำเลยที่ 1 ก็ตาม แต่เมื่อข้อความสนทนานั้นยังฟังไม่ได้ว่าเงินจำนวน 7,800,000 บาท ที่โจทก์มอบให้แก่จำเลยที่ 1 ไป เป็นเงินกู้ยืม จึงไม่อาจถือเป็นหลักฐานกู้ยืมเงินเป็นหนังสือที่จำเลยที่ 1 ลงลายมือชื่อไว้แล้ว หรือเป็นหนังสือรับสภาพหนี้เงินกู้ยืมตามพ.ร.บ.ว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2544 ม.8 วรรคหนึ่ง และม.9 ที่จะนำมาฟ้องร้องให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 รับผิดตามม.653 วรรคหนึ่ง 
  --ฎ.2162/2567 การกู้ยืมเงินครั้งที่ 2 ถึง 18 ซึ่งโจทก์ส่งข้อความถึงจำเลยในทำนองเดียวกันว่า "ช. จะจัดทำธุรกรรมให้ยืมเงินจำนวน (ระบุจำนวนเงิน) ให้แก่ ฐ. เพื่อใช้ลงทุนในธุรกิจ การกู้ยืมเงินนี้ไม่คิดดอกเบี้ยและยังไม่บังคับวันกำหนดชำระเงินคืน ลงวันที่.... (พิมพ์ตกลงเพื่อยืนยัน)" ซึ่งจำเลยได้พิมพ์ข้อความว่า "ตกลง" ตอบกลับมาในโปรแกรมไลน์ การสนทนาทางโปรแกรมไลน์ เป็นการส่งข้อมูลผ่านระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์หรือเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ถือว่าเป็นการส่งข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ เมื่ออ่านข้อความสนทนาของโจทก์และจำเลยประกอบกันแล้ว ย่อมเป็นที่เข้าใจได้ว่าโจทก์และจำเลยตกลงกัน โดยโจทก์ให้จำเลยกู้ยืมเงิน และจำเลยตกลงกู้ยืมเงินแต่ละครั้งตามจำนวนที่ระบุในโปรแกรมไลน์ แม้ไม่มีการลงลายมือชื่อจำเลยไว้ แต่เมื่อจำเลยยอมรับว่าส่งข้อความตอบตกลง การที่โจทก์จะให้กู้ยืมเงินจริง ข้อความสนทนาทางโปรแกรมไลน์ จึงถือว่าเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อของจำเลยผู้กู้ยืมตามพ.ร.บ.ว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2544 ม.7 , 8 , 9 โจทก์จึงฟ้องร้องให้บังคับคดีได้ (อาจารย์อยากออกข้อสอบ แต่ยังติดที่พ.ร.บ.ว่าด้วยธุรกรรมฯ อยู่นอกขอบเขตเนติ แต่อนาคตก็ไม่แน่นอน) 
3.5) องค์ประกอบ ม.653 วรรคหนึ่ง องค์ประกอบที่สี่ หลักฐานฯ ขอให้มีก่อนฟ้อง
-ฎ.2280/2567 ม.653 วรรคหนึ่ง การกู้ยืมเงินที่ต้องการหลักฐานเป็นหนังสือในการฟ้องร้องบังคับคดี ต้องเป็นการกู้ยืมเงินเกินกว่า 2,000 บาท ขึ้นไป และหลักฐานเป็นหนังสือที่กฎหมายบังคับให้ต้องมี มิฉะนั้น จะฟ้องร้องบังคับคดีกันไม่ได้ โดยไม่จำต้องมีในขณะกู้ยืมกัน แม้จะมีหลักฐานเป็นหนังสือภายหลัง แต่ก่อนฟ้องร้องบังคับคดีก็เป็นอันใช้บังคับได้ 
3.6) องค์ประกอบ ม.653 วรรคหนึ่ง องค์ประกอบที่ห้า กรณีตัวเลขในสัญญากู้เงินสูงเกินกว่ามูลหนี้เงินกู้ที่ได้รับไป หรือกรณีแก้ไขตัวเลขเงินกู้ในสัญญา เรื่องนี้ออกข้อสอบมาทุกมุมแล้ว ไม่รู้ไม่ได้ อาจารย์แบ่งเป็น 3 กลุ่ม 1 เกิน , 2 กรอก , 3 แก้
-กลุ่ม 1 เกิน ผู้กู้ยินยอมลงลายมือชื่อในสัญญากู้ ที่ระบุตัวเลขสูงเกินกว่ามูลหนี้เงินกู้จริงหรือที่ส่งมอบ ก็สมบูรณ์เพียงเท่ามูลหนี้เงินกู้จริงหรือที่ส่งมอบ เช่น สัญญากู้ระบุ 7 แสน ส่งมอบจริง 4.3 แสน สมบูรณ์ 4.3 แสน (ฎ.7229/2552 , 8076/2556)
-กลุ่ม 2 กรอก 
  --ผู้กู้ลงลายมือชื่อในสัญญากู้ ที่ไม่มีการระบุตัวเลขเงินกู้และข้อความ แล้วผู้ให้กู้กรอกตัวเลขภายหลังตามจริง (สุจริต) ใช้บังคับได้ (ฎ.5685/2548 ข้อสอบเนติ 65)
  --ผู้กู้ลงลายมือชื่อในสัญญากู้ ที่ไม่มีการระบุตัวเลขเงินกู้และข้อความ แล้วผู้ให้กู้กรอกตัวเลขภายหลังสูงเกินจริง (ไม่สุจริต) กรอกสูงเกินจริงโดยไม่ได้รับความยินยอม เป็นเอกสารปลอม ถือว่าไม่มีหลักฐานการกู้ จึงไม่อาจฟ้องร้องได้ แม้ผู้กู้รับว่ากู้จริงบางส่วนก็ไม่ต้องรับผิด (ฎ.759/2557 , 14627/2557 , 2560/2559 , 5486/2564)
-กลุ่ม 3 แก้
  --ผู้ให้กู้แก้จำนวนเงินภายหลังผู้กู้ลงลายมือชื่อสูงเกินจริงโดยไม่ได้รับความยินยอม เป็นเอกสารปลอม แต่ไม่ทำให้หลักฐานที่ทำไว้เดิมที่มีผลสมบูรณ์ต้องเสียไป ผู้กู้ต้องรับผิดเท่าที่กู้ไปจริง (ฎ.1149/2552 ข้อสอบเนติ 68 , 407/2542)
  --ผู้ให้กู้แก้จำนวนเงินภายหลังผู้กู้ลงลายมือชื่อตามจำนวนเงินจริง เพราะมากู้เงินเพิ่ม และไม่ได้ให้ผู้กู้ลงลายมือชื่อกำกับไว้ ผู้กู้รับผิดเฉพาะตามจำนวนเดิม เช่น กู้เงิน 3,100 บาท ทำหนังสือกู้ไว้ ต่อมาขอกู้เงินอีก 1,400 บาท โดยผู้กู้ไม่ได้ลงลายมือชื่อกำกับไว้ เท่ากับไม่มีหลักฐานฯ ในส่วน 1,400 บาท ผู้ให้กู้ฟ้องเรียกเงินตามหนังสือกู้ที่ทำไว้เดิม (ฎ.326/2507 ข้อสอบเนติ 71) 
  --ผู้ให้กู้แก้จำนวนเงินตามจริงก่อนผู้กู้ลงลายมือชื่อ ใช้บังคับได้ (แม้ตัวเลขและตัวอักษรที่แก้ไป จะไม่ได้ลงลายมือชื่อกำกับ ก็ใช้เป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมโดยสมบูรณ์) (เทียบ ฎ.1154/2511)

4. หัวข้อที่ 4 การนำสืบการใช้เงินกู้ยืม ม.653 วรรคสอง "ในการกู้ยืมเงินมีหลักฐานเป็นหนังสือนั้น ท่านว่าจะนำสืบการใช้เงินได้ต่อเมื่อมีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ให้ยืมมาแสดง หรือเอกสารอันเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมนั้นได้เวนคืนแล้ว หรือได้แทงเพิกถอนลงในเอกสารนั้นแล้ว"
4.1) ผู้กู้จะนำสืบการใช้ต้นเงินกู้ยืมด้วยเงินสด คือนำเงินสดมามอบให้ผู้ให้กู้โดยตรงได้ก็ต่อเมื่อมีหลักฐานอย่างใดอย่างหนึ่งตามม.653 วรรคสอง (ถ้าไม่มีหลักฐานอย่างใดอย่างหนึ่งดังกล่าว นำสืบไม่ได้เลย (ฎ.36/2555) จะนำสืบพยานบุคคลไม่ได้เพราะต้องห้ามตามม.653 วรรคสอง ฎ.2615/2516)
-ฎ.3339/2532 (ป) ในการชำระหนี้เงินยืม ผู้ยืมให้ผู้ให้ยืมรับเงินเดือนแทนผู้ยืมแล้วหักเงินเดือนชำระหนี้ดังกล่าว สมุดเซ็นรับเงินเดือนของทางราชการที่ผู้ให้ยืมลงชื่อรับเงินเดือนแทนผู้ยืม จึงเป็นหลักฐานการใช้เงินตามม.653 วรรคสอง
-ฎ.6270/2539 การที่จำเลยอ้างว่ามีการชำระหนี้หมดสิ้นกันแล้ว แต่โจทก์ไม่ยอมคืนสัญญา โดยอ้างว่าหายนั้น มิใช่เหตุที่ทำให้จำเลยทั้งสองหลุดพ้นจากความรับผิดดังที่บัญญัติไว้ในม.653 วรรคสอง
-การเวนคืนสัญญากู้ ต้องคืนต้นฉบับ จะคืนสำเนาไม่ได้ หรือทำสัญญากู้โดยมอบโฉนดที่ดินให้ ตอนคืนจะคืนแต่โฉนดไม่ได้ ต้องคืนสัญญากู้ด้วย มิฉะนั้น จะนำสืบการใช้เงินไม่ได้
4.2) ถ้าเป็นการชำระหนี้อย่างอื่น หรือเป็นเรื่องตกลงระงับหนี้ ไม่อยู่ในบังคับม.653 วรรคสอง จึงนำสืบการชำระหนี้ได้ เช่น ตีทรัพย์ใช้หนี้ ม.321 , โอนเงินทางไปรษณีย์ธนาณัติ , นำเงินเข้าบัญชี , มอบให้ไปรับเงินบำนาญแทน , มอบสมุดคู่ฝากพร้อมใบถอนหรือบัตรเอทีเอ็ม , จ่ายด้วยเช็ค , หักค่าแชร์ชำระหนี้เงินกู้ (ฎ.1178/2510 ชำระหนี้เงินกู้ด้วยการโอนที่ดิน , ฎ.97/2561 , 10227/2551 ผู้กู้นำเงินฝากเข้าบัญชีเงินฝากของผู้ให้กู้)
-ฎ.3096/2565 จำเลยไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อโจทก์หรือหลักฐานแห่งการกู้ยืมได้เวนคืนหรือแทงเพิกถอนเป็นพยานหลักฐานในคดี จึงต้องห้ามมิให้นำสืบเรื่องการใช้เงินชำระหนี้กู้ยืม จึงไม่อาจรับฟังคำเบิกความของจำเลยที่อ้างตนเองเป็นพยานว่าจำเลยชำระหนี้เป็นเงินสดแก่โจทก์เป็นพยานหลักฐานได้ เพราะต้องห้ามตามม.653 วรรคสอง และป.วิ.พ. ม.94 แต่อย่างไรก็ตาม บทบัญญัติดังกล่าวห้ามการนำสืบเฉพาะกรณีการใช้เงิน ไม่ห้ามการนำสืบกรณีการชำระหนี้อย่างอื่นแทนการชำระหนี้ที่ได้ตกลงกันไว้ตามม.321 วรรคหนึ่ง ซึ่งการนำสืบพยานบุคคลและพยานเอกสารว่าจำเลยชำระหนี้อย่างอื่นแทนการชำระหนี้ที่ได้ตกลงกันไว้ตามม.321 วรรคหนึ่ง ไม่ต้องห้ามตามม.653 วรรคสอง และป.วิ.พ.ม.94(ก)
4.3) ม.653 วรรคสอง หมายความเฉพาะถึงการนำสืบใช้ต้นเงินที่กู้ยืมไปเท่านั้น ไม่รวมถึงการใช้ดอกเบี้ย การชำระดอกเบี้ยด้วยเงินสดย่อมนำสืบด้วยพยานบุคคลได้ (ฎ.243/2503 (ป) , 1332/2531)
-ฎ.670/2549 การนำสืบถึงการชำระดอกเบี้ยค้างชำระ มิใช่เป็นการนำสืบถึงการใช้ต้นเงิน จึงไม่ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือมาแสดงตามม.653 วรรคสอง
4.4) ข้อยกเว้นอีกเรื่องที่ต้องรู้ไว้ หากเป็นคดีผู้บริโภค จำเลยในฐานะผู้บริโภคมีสิทธินำสืบพยานบุคคลถึงการใช้เงินได้โดยไม่อยู่ในบังคับม.653 วรรคสอง
-ฎ.4594/2562 พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 ม.10 ใช้ถ้อยคำว่าในการฟ้องคดีผู้บริโภค ย่อมต้องหมายความรวมถึงการต่อสู้คดีของผู้บริโภคด้วย จำเลยในฐานะผู้บริโภคมีสิทธินำสืบพยานบุคคลถึงการใช้เงินได้ โดยไม่อยู่ในบังคับว่าด้วยการนำสืบการใช้เงินต้องมีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ให้ยืมมาแสดง หรือเอกสารอันเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมนั้นได้เวนคืนแล้ว หรือได้แทงเพิกถอนลงในเอกสารนั้นแล้วตามม.653 วรรคสอง

5. หัวข้อที่ 5 ดอกเบี้ยในการกู้ยืม ม.654 , 655 , พ.ร.บ.ห้ามเรียกฯ , พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติมป.พ.พ.)
5.1) ม.654 ห้ามมิให้คิดดอกเบี้ยเกินร้อยละ 15 ต่อปี *ให้จำแค่นี้พอ ประโยคต่อไปไม่ต้องจำ
-พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2560 ม.4(1) ถ้าบุคคลใดให้บุคคลอื่นกู้ยืมเงินโดยเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด (ร้อยละ 15 ต่อปี) ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (*พ.ร.บ.นี้ต้องรู้ ออกข้อสอบได้)
-หากไม่ใช่สัญญากู้ยืมเงิน ก็ไม่ตกอยู่ในบังคับเรื่องดอกเบี้ยในการกู้ยืมเงิน (ฎ.5102/2560 บันทึกข้อตกลงและสัญญาประนีประนอมยอมความระหว่างโจทก์กับจำเลย ไม่ใช่สัญญากู้ยืมเงิน ไม่ตกอยู่ในบังคับพ.ร.บ.ห้ามเรียกฯ และม.654 แม้จะกำหนดดอกเบี้ยเกินกว่าอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ก็ไม่ตกเป็นโมฆะ , 1050/2512)
-ผู้ประกอบกิจการธนาคารพาณิชย์ซึ่งเป็นสถาบันการเงิน มีสิทธิคิดดอกเบี้ยเงินกู้ได้เกินกว่าอัตราร้อยละ 15 ต่อปี โดยไม่อยู่ในบังคับม.654 (ฎ.930/2563 , 517/2565)
-พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติมป.พ.พ. พ.ศ.2564 ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 แก้ไข ม.7 , ม.224
  ม.7 "ถ้าจะต้องเสียดอกเบี้ยแก่กัน และมิได้กำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้โดยนิติกรรมหรือโดยบทกฎหมายอันชัดแจ้ง ให้ใช้อัตราร้อยละสามต่อปี
  อัตราตามวรรคหนึ่ง อาจปรับเปลี่ยนให้ลดลงหรือเพิ่มขึ้น เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจของประเทศได้ โดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกา โดยปกติให้กระทรวงการคลังพิจารณาทบทวนทุกสามปี ให้ใกล้เคียงกับอัตราเฉลี่ยระหว่างอัตราดอกเบี้ยเงินฝากกับอัตราดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของธนาคารพาณิชย์"
  ม.224 "หนี้เงินนั้นให้คิดดอกเบี้ยในระหว่างเวลาผิดนัดในอัตราที่กำหนดตามมาตรา 7 บวกด้วยอัตราเพิ่มร้อยละสองต่อปี ถ้าเจ้าหนี้อาจจะเรียกดอกเบี้ยได้สูงกว่านั้นโดยอาศัยเหตุอย่างอื่นอันชอบด้วยกฎหมาย ก็ให้คงส่งดอกเบี้ยต่อไปตามนั้น
  ห้ามมิให้คิดดอกเบี้ยซ้อนดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัด
  การพิสูจน์ค่าเสียหายอย่างอื่นนอกจากนั้น ให้พิสูจน์ได้"
*สรุป ปัจจุบันเรื่องดอกเบี้ยในการกู้ยืมเงินกรณีผู้ให้กู้ไม่ใช่สถาบันการเงิน จะเป็นดังนี้ 
  1. ถ้าตกลงไม่คิดดอกเบี้ย
    --ก่อนผิดนัด คิดดอกเบี้ยไม่ได้ 
    --หลังผิดนัด คิดดอกเบี้ยได้ 5% ต่อปี 
  2.ถ้าตกลงคิดดอกเบี้ย แต่ไม่ระบุอัตราหรือระบุว่าดอกเบี้ยตามกฎหมายอย่างสูง 
    --ก่อนผิดนัด คิดดอกเบี้ยได้ 3% ต่อปี ตามม.7 วรรคหนึ่ง 
    --หลังผิดนัด คิดดอกเบี้ยได้ 5% ต่อปี ตามม.224 วรรคหนึ่ง ประกอบม.7 วรรคหนึ่ง 
  3. ถ้าตกลงคิดดอกเบี้ยไม่เกิน 5% ต่อปี 
    --ก่อนผิดนัด คิดดอกเบี้ยได้ตามที่ตกลง 
    --หลังผิดนัด ถ้าไม่ได้ตกลงดอกเบี้ยผิดนัดไว้ ก็คิดดอกเบี้ยได้ 5% ต่อปี , แต่ถ้าตกลงดอกเบี้ยผิดนัดไว้ต่างหากด้วย เช่น ดอกเบี้ยผิดนัด 15% ต่อปี ถือว่าดอกเบี้ยผิดนัดในส่วนที่เพิ่มจากดอกเบี้ยเดิมเป็นเบี้ยปรับ หากศาลเห็นว่าเป็นเบี้ยปรับที่สูงเกินสมควร ย่อมใช้ดุลพินิจลดจำนวนเบี้ยปรับลงได้
  4. ถ้าตกลงคิดดอกเบี้ย 8% หรือ 10% ต่อปี
    --ก่อนผิดนัด คิดดอกเบี้ยได้ตามที่ตกลง
    --หลังผิดนัด ถ้าไม่ได้ตกลงดอกเบี้ยผิดนัดไว้ ก็คิดดอกเบี้ยได้ 8% หรือ 10% ต่อปี ตามม.224 วรรคหนึ่ง ตอนท้าย (ถือว่าเป็นกรณีที่เจ้าหนี้อาจจะเรียกดอกเบี้ยได้สูงกว่านั้นโดยอาศัยเหตุอย่างอื่นอันชอบด้วยกฎหมายก็ให้คงส่งดอกเบี้ยต่อไปตามนั้น) , แต่ถ้าตกลงดอกเบี้ยผิดนัดไว้ต่างหากด้วย เช่น ดอกเบี้ยผิดนัด 15% ต่อปี ถือว่าดอกเบี้ยผิดนัดในส่วนที่เพิ่มจากดอกเบี้ยเดิมเป็นเบี้ยปรับ หากศาลเห็นว่าเป็นเบี้ยปรับที่สูงเกินสมควร ย่อมใช้ดุลพินิจลดจำนวนเบี้ยปรับลงได้
  5. ถ้าตกลงคิดดอกเบี้ยเกินกฎหมาย หรือระบุดอกเบี้ยตามกฎหมายแต่เวลาคิดกันจริงเกินกฎหมาย
    --ดอกเบี้ยก่อนผิดนัด โมฆะทั้งหมด (ข้อสอบเนติ 47) แต่ถือว่าข้อตกลงดอกเบี้ยดังกล่าวเท่านั้นที่ตกเป็นโมฆะ (ข้อสอบเนติ 73) ส่วนต้นเงินยังสมบูรณ์ และแม้เอาดอกเบี้ยที่โมฆะรวมต้นเงินกรอกในสัญญากู้เฉพาะต้นเงินก็ยังสมบูรณ์ (ข้อสอบเนติ 65) 
    --หลังผิดนัด คิดดอกเบี้ยได้ 5% ต่อปี ตามม.224 วรรคหนึ่ง ประกอบม.7 วรรคหนึ่ง
*ฎ.5376/2560 (ป) ดอกเบี้ยที่เกินอัตราที่กฎหมายกำหนดที่ผู้ให้กู้เรียกไว้จากผู้กู้ แม้ผู้กู้ยอมชำระ ผู้ให้กู้ก็ไม่มีสิทธิได้ดอกเบี้ยดังกล่าว ต้องนำไปหักต้นเงิน (ข้อสอบเนติ 73) (ฎ.930/2561 , 6237/2561 , 5056/2562 , 2532/2565)
-ฎ.745/2565 (เป็นข้อเท็จจริงเฉพาะคดี ในส่วนของอาจารย์จะไม่ออกฎีกานี้ (ของอาจารย์ท่านอื่นไม่รู้) แต่ขอให้อ่าน) โจทก์และจำเลยที่ 1 ประสงค์จะก่อนิติสัมพันธ์กันในฐานะผู้ถือหุ้นกู้และผู้ออกหุ้นกู้ ซึ่งจำเลยที่ 1 ต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามบทกฎหมายในเรื่องการออกหุ้นกู้อันเป็นความรับผิดชอบและอยู่ในความรู้เห็นของจำเลยที่ 1 เพียงฝ่ายเดียว และไม่ปรากฏว่าโจทก์ซึ่งลงทุนในฐานะผู้ถือหุ้นกู้กระทำโดยไม่สุจริต แม้ผลตอบแทนที่จำเลยที่ 1 ชำระแก่โจทก์ จะถือเป็นดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดและตกเป็นโมฆะก็ตาม แต่จำเลยที่ 1 เป็นผู้กำหนดผลตอบแทนเอง ถือว่าจำเลยที่ 1 กระทำการตามอำเภอใจเหมือนหนึ่งว่าเพื่อชำระหนี้โดยรู้อยู่ว่าตนไม่มีความผูกพันที่จะต้องชำระตามม.407 จำเลยที่ 1 จึงไม่อาจเรียกร้องคืนด้วยการนำมาคิดหักกลบกับต้นเงินกู้ยืมที่จำเลยที่ 1 ต้องชำระแก่โจทก์ได้
5.2) ดอกเบี้ยทบต้น ม.655 
  ม.655 "ท่านห้ามมิให้คิดดอกเบี้ยในดอกเบี้ยที่ค้างชำระ แต่ทว่าเมื่อดอกเบี้ยค้างชำระไม่น้อยกว่าปีหนึ่ง คู่สัญญากู้ยืมจะตกลงกันให้เอาดอกเบี้ยนั้นทบเข้ากับต้นเงิน แล้วให้คิดดอกเบี้ยในจำนวนเงินที่ทบเข้ากันนั้นก็ได้ แต่การตกลงเช่นนั้นต้องทำเป็นหนังสือ
  ส่วนประเพณีการค้าขายที่คำนวณดอกทบต้นในบัญชีเดินสะพัดก็ดี ในการค้าขายอย่างอื่นทำนองเช่นว่านี้ก็ดี หาอยู่ในบังคับแห่งบทบัญญัติซึ่งกล่าวมาในวรรคก่อนนั้นไม่"
-การตกลงให้เอาดอกเบี้ยทบต้นตั้งแต่ขณะทำสัญญากู้ยืมเงิน ทำได้หรือไม่? ตกลงกันได้ตั้งแต่ขณะทำสัญญากู้ยืมเงิน หรือจะตกลงภายหลังทำสัญญากู้ยืมเงินก็ได้ โดยทำเป็นหนังสือ (ผู้กู้ลงลายมือชื่อฝ่ายเดียวก็พอ) แต่ต้องตกลงให้ชัดเจนว่าดอกเบี้ยที่ค้างชำระไม่น้อยกว่า 1 ปี จึงจะทบต้นได้ แต่ถ้าไปตกลงว่าผิดนัดไม่ส่งดอกเบี้ยรายเดือน ให้ทบต้นได้ เป็นโมฆะเฉพาะข้อตกลงเรื่องทบต้น (แต่ต้นเงินและอัตราดอกเบี้ยตามกฎหมาย ยังสมบูรณ์)
-ฎ.342/2540 ม.655 วรรคหนึ่ง ทำเป็นหนังสือลงลายมือชื่อผู้กู้ซึ่งเป็นผู้ได้รับผลเสีย ย่อมต้องตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย และไม่มีเหตุผลหรือความจำเป็นอย่างใดที่จะต้องบังคับให้ลงลายมือชื่อผู้ให้กู้อีก
-ฎ.1301/2566 ข้อตกลงตามสัญญากู้ ให้เอาดอกเบี้ยที่ค้างชำระไม่น้อยกว่า 1 ปี ทบเข้ากับต้นเงิน แล้วให้คิดดอกเบี้ยในจำนวนเงินที่ทบเข้ากัน มีลักษณะเป็นการเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนที่กำหนดในรูปดอกเบี้ยทบต้นไว้ล่วงหน้าเพื่อความเสียหายอันเกิดจากการที่จำเลยที่ 1 ไม่ชำระหนี้ จึงเป็นเบี้ยปรับตามม.379 หากสูงเกินส่วน ศาลมีอำนาจลดเบี้ยปรับลงเป็นจำนวนพอสมควรได้ตามม.383 วรรคหนึ่ง ที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าข้อตกลงดังกล่าวเป็นเบี้ยปรับที่สูงเกินส่วนและใช้ดุลพินิจลดเบี้ยปรับลงโดยกำหนดให้โจทก์คิดดอกเบี้ยทบต้นได้ครั้งเดียวชอบแล้ว (ฎ.2086/2566)

6. หัวข้อที่ 6 การรับหรือคืนทรัพย์สินแทนเงินกู้ยืม ม.656
  ม.656 "ถ้าทำสัญญากู้ยืมเงินกัน และผู้กู้ยืมยอมรับเอาสิ่งของหรือทรัพย์สินอย่างอื่นแทนจำนวนเงินนั้นไซร้ ท่านให้คิดเป็นหนี้ค้างชำระโดยจำนวนเท่ากับราคาท้องตลาดแห่งสิ่งของหรือทรัพย์สินนั้นในเวลาและ ณ สถานที่ส่งมอบ
  ถ้าทำสัญญากู้ยืมเงินกัน และผู้ให้กู้ยืมยอมรับเอาสิ่งของหรือทรัพย์สินอย่างอื่นเป็นการชำระหนี้แทนเงินที่กู้ยืมไซร้ หนี้อันระงับไปเพราะการชำระเช่นนั้น ท่านให้คิดเป็นจำนวนเท่ากับราคาท้องตลาดแห่งสิ่งของหรือทรัพย์สินนั้นในเวลาและ ณ สถานที่ส่งมอบ
  ความตกลงกันอย่างใด ๆ ขัดกับข้อความดังกล่าวมานี้ท่านว่าเป็นโมฆะ"
-ม.656 วรรคหนึ่ง เช่น สัญญากู้เงินระบุ 1 ล้านบาท แต่ส่งมอบรถแทนเงินกู้ ถ้าราคารถตามราคาท้องตลาดขณะนั้น 6 แสนบาท ถือว่ากู้กัน 6 แสนบาท เป็นหนี้เท่ากับราคาตามท้องตลาด (ถ้าคู่สัญญาตกลงเขียนสัญญาว่ารถราคา 1 ล้านบาท ทั้งที่ราคาท้องตลาด 6 แสนบาท เป็นโมฆะเฉพาะข้อตกลงตามม.656 วรรคสาม)
-ม.656 วรรคสอง เช่น หนี้กู้ 1 ล้าน ผู้กู้เอาที่ดิน 2 แปลงใช้หนี้ (ที่ดิน 2 ล้าน) เป็นโมฆะ ผู้กู้เอาที่ดินคืนได้ และก็ยังต้องรับผิดหนี้กู้ยืม 1 ล้าน
-ฎ.3437/2559 การที่จำเลยตกลงรับโอนที่ดินพิพาททั้งสองแปลงตีใช้หนี้จากโจทก์ ถือได้ว่าเป็นการที่จำเลยผู้ให้กู้ยอมรับเอาสิ่งของหรือทรัพย์สินอย่างอื่นเป็นการชำระหนี้แทนเงินกู้ ซึ่งไม่ปรากฏว่าไ้มีการตกลงว่ามีการคิดราคาที่ดินพิพาททั้งสองแปลงเป็นจำนวนเท่ากับราคาท้องตลาดในเวลาและ ณ สถานที่ส่งมอบ คือเวลาจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ ข้อตกลงจึงขัดต่อม.656 วรรคสอง ตกเป็นโมฆะตามม.656 วรรคสาม (เมื่อเป็นโมฆะแล้ว เรียกเอาที่ดินคืนได้)

ในส่วนของอาจารย์ ม.656 , 656 จะไม่ออกสอบ แต่มีอาจารย์ท่านอื่นอีกหลายท่าน อาจจะออกได้ ครั้งหน้าเป็นเรื่องค้ำประกัน

***จบการบรรยาย***

ความคิดเห็น

10 บทความยอดนิยมประจำสัปดาห์

แนวข้อสอบ พนักงานราชการ (ข้อ 1 - 10)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. 2566 (30 ข้อ)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 (55 ข้อ)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 (ชุดที่ 1)

แนวข้อสอบ ระเบียบฯ สารบรรณ (ชุดที่ 3)

สาระสำคัญ พ.ร.บ.สถิติ พ.ศ. 2550 (ฉบับเตรียมสอบ)

สาระสำคัญ พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. 2566 (ฉบับเตรียมสอบ)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.ผู้สูงอายุ พ.ศ. 2546 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (44 ข้อ)

แนวข้อสอบ ระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรองราชการ พ.ศ.2562