5 บุคคลที่ไม่มีสิทธิเรี่ยไร

          เป็นระยะเวลากว่า 74 ปี แล้ว ที่พระราชบัญญัติควบคุมการเรี่ยไร พุทธศักราช 2487 ยังคงมีผลบังคับใช้อยู่ โดยมิได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมแต่อย่างใด ซึ่งมาตรา 11 แห่งพระราชบัญญัติฉบับนี้ ได้กำหนดห้ามบุคคล 5 ประเภท ไม่ให้ทำการเรี่ยไร หรือจัดให้มีการเรี่ยไร ดังนี้ 

          1. บุคคลมีอายุต่ำกว่า 16 ปี แต่เดิมกฎหมายเก่า ฉบับพุทธศักราช 2480 กำหนดห้าม "ผู้เยาว์" ทำการเรี่ยไร ต่อมาได้มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์จาก "ผู้เยาว์" เป็น "บุคคลที่มีอายุต่ำกว่า 16 ปี" ซึ่งใช้เกณฑ์อายุเป็นสำคัญ โดยไม่จำต้องพิจารณาว่าจะบรรลุนิติภาวะหรือไม่ ถือเป็นการแก้ไขผ่อนปรนและรับรองสิทธิของผู้เยาว์เพิ่มขึ้น ดังนั้น ในปัจจุบันผู้เยาว์ซึ่งมีอายุไม่ต่ำกว่า 16 ปี จึงมีสิทธิทำการเรี่ยไรหรือจัดให้มีการเรี่ยไรได้ 

          2. บุคคลผู้มีจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ ผู้ไร้ความสามารถหรือเสมือนไร้ความสามารถ เดิมหลักเกณฑ์ตามกฎหมายฉบับพุทธศักราช 2480 กำหนดเฉพาะบุคคลผู้มีคำสั่งของศาลแสดงว่าเป็นผู้ไร้ความสามารถหรือเสมือนไร้ความสามารถเท่านั้นที่จะสิ้นสิทธิในการเรี่ยไร โดยพิจารณาจากผลทางกฎหมายหรือสถานะของบุคคลตามกฎหมายเป็นสำคัญ ต่อมากฎหมายฉบับปัจจุบันได้เปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์เดิม โดยกำหนดเพิ่มเติมให้ "ผู้มีจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ" ก็ถูกจำกัดสิทธิที่จะเรี่ยไร ซึ่งเป็นการคำนึงถึงข้อเท็จจริงจากความสามารถของบุคคลเป็นสำคัญ
          หลักเกณฑ์ตามข้อนี้ เป็นการกำหนดตัวบุคคลไว้ 3 ประเภท ที่ห้ามทำการเรี่ยไร หรือจัดให้มีการเรี่ยไร คือ
          (1) ผู้มีจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ ตามกฎหมายไม่ปรากฏบทนิยามหรือความหมายของคำว่า "จิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ" แต่อย่างใด นอกจากนี้ตามพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 ก็ไม่ได้กำหนดคำนิยามไว้เช่นกัน อย่างไรก็ตามถ้อยคำดังกล่าว ปรากฏอยู่ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 32 ว่าบุคคลที่มีจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ ซึ่งไม่สามารถจะจัดทำการงานโดยตนเองได้ หรือจัดกิจการไปในทางที่อาจจะเสื่อมเสียแก่ทรัพย์สินของตนเองหรือครอบครัว อาจถูกศาลมีคำสั่งให้เป็นคนเสมือนไร้ความสามารถ
          นอกจากนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 33 และมาตรา 28 สามารถอธิบายความหมายของบุคคลผู้มีจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบได้ กล่าวคือ ผู้มีจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ ต้องไม่ถึงขนาดวิกลจริต เนื่องจากผู้ที่มีจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ อาจตกเป็นคนเสมือนไร้ความสามารถ แต่บุคคลที่มีสภาพวิกลจริตอาจตกเป็นคนไร้ความสามารถ มิใช่คนเสมือนไร้ความสามารถ
          (2) ผู้ไร้ความสามารถ ตามพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 ได้ให้ความหมายคำว่า วิกลจริต หมายถึง "มีความประพฤติหรือกิริยาผิดปรกติเพราะสติวิปลาส เช่น เขาเป็นคนวิกลจริต ร้องไห้บ้างหัวเราะบ้างโดยไม่มีสาเหตุ, เป็นบ้า" ดังนั้น บุคคลวิกลจริตดังกล่าวเมื่อถูกศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถแล้วย่อมสิ้นสิทธิที่จะทำการเรี่ยไรตามหลักเกณฑ์ในมาตรานี้
          (3) คนเสมือนไร้ความสามารถ คือ บุคคลที่ไม่สามารถจัดการงานโดยตนเองได้ หรือจัดกิจการไปในทางที่อาจจะเสื่อมเสียแก่ทรัพย์สินของตนเองหรือครอบครัว เพราะกายพิการ หรือมีจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ หรือประพฤติสุรุ่ยสุร่ายเสเพลเป็นอาจิณ หรือติดสุรายาเมา หรือมีเหตุอื่นใดทำนองเดียวกันนั้น และศาลได้สั่งให้เป็นคนเสมือนไร้ความสามารถ

          3. บุคคลเป็นโรคติดต่อที่น่ารังเกียจ หลักเกณฑ์ในข้อนี้เป็นหลักเกณฑ์เดิมตามกฎหมายฉบับพุทธศักราช 2480 มิได้หมายถึงโรคติดต่อหรือโรคที่สังคมรังเกียจอย่างใดอย่างหนึ่งแต่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่หมายถึงจะต้องเป็นโรคติิดต่อที่น่ารังเกียจหรือที่สังคมรังเกียจด้วย โดยมิได้มีการกำหนดความหมายของโรคติดต่อที่น่ารังเกียจไว้ชัดเจน ในเบื้องต้นอาจพิจารณาจากกฎหมายที่เกี่ยวข้อง คือ พระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 ได้จำแนกประเภทของโรคติดต่อหลักไว้ 3 ประเภท คือ
          (1) โรคติดต่อ หมายความว่า โรคที่เกิดจากเชื้อโรคหรือพิษของเชื้อโรคซึ่งสามารถแพร่โดยทางตรงหรือทางอ้อมมาสู่คน
          (2) โรคติดต่ออันตราย หมายความว่า โรคติดต่อที่มีความรุนแรงสูงและสามารถแพร่ไปสู่ผู้คนได้อย่างรวดเร็ว 
          (3) โรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวังไว้ หมายความว่า โรคติดต่อที่ต้องมีการติดตาม ตรวจสอบ หรือจัดเก็บข้อมูลอย่างต่อเนื่อง
          จากการจำแนกประเภทของโรคติดต่อทั้ง 3 ประเภท ดังกล่าว ก็ไม่ปรากฏความหมายของ โรคติดต่อที่น่ารังเกียจ อีกทั้งตามกฎกระทรวงว่าด้วยสุขลักษณะของตลาด พ.ศ. 2551 ออกตามความในพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 ข้อ 24 (1) ก็ปรากฏว่ามีการใช้ถ้อยคำแยกจากกันชัดเจน ระหว่าง "โรคติดต่อ" กับ "โรคที่สังคมรังเกียจ" แต่ก็มิได้มีการให้ความหมายไว้แต่อย่างใด เป็นเพียงการกำหนดหลักเกณฑ์สุขอนามัยของผู้ขายของและผู้ช่วยขายของในตลาดเท่านั้น นอกจากนี้มีความเห็นทางวิชาการที่เกี่ยวข้องกับงานสุขาภิบาลอาหาร ว่า HIV/AIDS ไม่ใช่โรคติดต่อที่สังคมรังเกียจ 
          ในประเด็นนี้จึงน่าจะมีการศึกษาเพิ่มเติม เพื่อการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยควบคุมการเรี่ยไร โดยอาจกำหนดให้ห้ามบุคคลที่เป็น "โรคติดต่อร้ายแรง" ตามกฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุข ดำเนินการเรี่ยไร แทนคำว่า "โรคติดต่อที่น่ารังเกียจ" เพื่อหลีกเลี่ยงการตีความกฎหมายเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลที่ห้ามทำการเร่ี่ยไร

          4. บุคคลผู้เคยต้องโทษตามกฎหมายลักษณะอาญา และพ้นโทษมาแล้วยังไม่ครบ 5 ปี โดยได้กำหนดไว้ 10 ฐานความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาปัจจุบัน ได้แก่
          (1) ลักทรัพย์ 
          (2) วิ่งราวทรัพย์ 
          (3) ชิงทรัพย์ 
          (4) ปล้นทรัพย์ 
          (5) โจรสลัด 
          (6) กรรโชก 
          (7) ฉ้อโกง 
          (8) ยักยอกทรัพย์ 
          (9) รับของโจร 
          (10) ทุจริตต่อหน้าที่

          5. บุคคลที่พนักงานเจ้าหน้าที่เห็นว่ามีความประพฤติหรือหลักฐานไม่น่าไว้ใจ
เป็นการให้อำนาจพนักงานเจ้าหน้าที่ใช้ดุลพินิจ
(Discretionary Power) ในการพิจารณาคำขออนุญาตทำการเรี่ยไร

#นักเรียนกฎหมาย 
21 กรกฎาคม 2561


ที่มา
          1. พระราชบัญญัติควบคุมการเรี่ยไร พุทธศักราช 2487 
http://web.krisdika.go.th/data/law/law2/%a416/%a416-20-2487-001.pdf
          2. พระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 
http://law.ddc.moph.go.th/file/lawgcd/001.1.pdf
          3. พระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 
http://web.krisdika.go.th/data/law/law2/%a136/%a136-20-9999-update.pdf
          4. กฎกระทรวงว่าด้วยสุขลักษณะของตลาด พ.ศ. 2551 
http://web.krisdika.go.th/data/law/law2/%a136/%a136-2b-2551-a0001.pdf
          5. ความเห็นทางวิชาการที่เกี่ยวข้องกับงานสุขาภิบาลอาหาร 
http://foodsan.anamai.moph.go.th/ewt_dl_link.php?nid=527&filename=article
          6. เว็บไซต์ การควบคุมการเรี่ยไร กรมการปกครอง 
https://multi.dopa.go.th/omd2/laws/cate5

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมประจำสัปดาห์

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. 2566 (30 ข้อ)

สาระสำคัญ พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. 2566 (ฉบับเตรียมสอบ)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.การบริหารงานและการให้บริการภาครัฐผ่านระบบดิจิทัล พ.ศ. 2562 (20 ข้อ)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 (55 ข้อ)

แนวข้อสอบ ระเบียบฯ การลาของข้าราชการ (ชุดที่ 2)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ. 2546 (20 ข้อ)

การส่งเด็กเข้าเรียนตามกฎหมาย

แนวข้อสอบ ระเบียบฯ การลาของข้าราชการ (ชุดที่ 1)

กฎกระทรวงกำหนดกรณีอื่นที่เจ้าหน้าที่จะทำการพิจารณาทางปกครองไม่ได้ พ.ศ. 2566