สาระสำคัญ พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. 2566 (ฉบับเตรียมสอบ)

1. พระราชบัญญัติส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. 2566 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 140/ตอนที่ 20 ก/หน้า 71/19 มีนาคม 2566 ประกอบด้วยบทบัญญัติ 36 มาตรา มีผลใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด 60 วันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา (ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 18 พฤษภาคม 2566 เป็นต้นไป)

2. พระราชบัญญัตินี้ ยกเลิกพระราชบัญญัติส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย พ.ศ. 2551 และมีผลดังนี้
  - เปลี่ยนสำนักงาน กศน. ในสำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงศึกษาธิการ เป็นกรมส่งเสริมการเรียนรู้ มีฐานะเป็นนิติบุคคล และเป็นกรมในกระทรวงศึกษาธิการ อยู่ในบังคับบัญชาของรัฐมนตรีและปลัดกระทรวงศึกษาธิการ
  - โอนกิจการ อำนาจหน้าที่ ทรัพย์สิน งบประมาณ สิทธิ หนี้ ภาระผูกพันทั้งปวง และอัตรากำลังของสำนักงาน กศน. ไปเป็นของกรมส่งเสริมการเรียนรู้
  - บรรดาคดีของสำนักงาน กศน. ที่ฟ้องหรือถูกฟ้อง ให้ถือว่ากรมส่งเสริมการเรียนรู้เป็นผู้ฟ้องหรือถูกฟ้อง

3. นิยาม/คำจำกัดความ
  "หน่วยจัดการเรียนรู้" หมายถึง
    - ศูนย์ส่งเสริมการเรียนรู้ระดับอำเภอ
    - ศูนย์การเรียนรู้ระดับตำบล
    - ศูนย์การเรียนรู้ในพื้นที่
    - ศูนย์หรือสถาบันการเรียนรู้เฉพาะด้านหรือเฉพาะกิจการ
    - หน่วยงานที่เรียกชื่ีออย่างอื่นที่ทำหน้าที่จัดการเรียนรู้ในสังกัดกรมส่งเสริมการเรียนรู้
    สถานศึกษาและศูนย์การเรียนรู้ชุมชนตามกฎหมาย กศน. เดิม ให้เป็น "หน่วยจัดการเรียนรู้" ตามกฎหมายใหม่นี้ไปพลางก่อน จนกว่าจะมีการจัดตั้งหน่วยจัดการเรียนรู้ขึ้นใหม่ ซึ่งต้องดำเนินการให้เสร็จภายใน 90 วันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ หรือภายในวันที่ 15 สิงหาคม 2566

  "ภาคีเครือข่าย" หมายความว่า หน่วยงานของรัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หน่วยงานเอกชน ชุมชน ครอบครัว สถาบันทางศาสนา และบุคคลอื่นใด ที่ประสงค์จะจัด ร่วมจัด ส่งเสริมหรือสนับสนุนการดำเนินงานของกรมส่งเสริมการเรียนรู้หรือหน่วยจัดการเรียนรู้

  "สถานศึกษา" หมายถึง สถานศึกษาตามกฎหมายว่าด้วยการศึกษาแห่งชาติ

  "สถาบันพัฒนาหลักสูตรและการเรียนรู้" หมายถึง สถาบันพัฒนาหลักสูตรและการเรียนรู้ตามกฎหมายว่าด้วยการศึกษาแห่งชาติ 
  (ในระหว่างที่ยังไม่ได้จัดตั้งสถาบันนี้ ให้สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ตามกฎหมายว่าด้วยสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ทำหน้าที่เป็นสถาบันตามพระราชบัญญัตินี้)

  "กรม" หมายถึง กรมส่งเสริมการเรียนรู้

  "อธิบดี" หมายถึง อธิบดีกรมส่งเสริมการเรียนรู้ 
  ผู้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการสำนักงาน กศน. ตามกฎหมายเก่า เป็นอธิบดีกรมส่งเสริมการเรียนรู้ตามกฎหมายใหม่นี้

  "จังหวัด" / "อำเภอ" / "ตำบล" หมายความรวมถึง กรุงเทพมหานคร / เขต / แขวง ตามลำดับ

  "รัฐมนตรี" หมายถึง รัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ (มาตรา 36 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเป็นผู้รักษาการ)

4. วัตถุประสงค์ของการส่งเสริมการเรียนรู้ 
  - เพื่อพัฒนาบุคคลให้มีความสมบูรณ์ ทั้งร่างกาย จิตใจ อารมณ์ สังคมและสติปัญญา 
  - เป็นคนดี มีวินัย รู้จักสิทธิควบคู่กับหน้าที่และความรับผิดชอบ 
  - ภูมิใจและตระหนักในความสำคัญของชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข 
  - รู้จักรักษาประโยชน์ส่วนรวมและของประเทศชาติ 
  - รู้จักความพอเพียง มีเหตุผล มีภูมิคุ้มกันในตัวที่ดี 
  - ใฝ่เรียนรู้ มีความรอบรู้ รอบคอบ ระมัดระวัง 
  - มีคุณธรรม และมีความซื่อสัตย์สุจริต รวมทั้งมีสำนึกในความรับผิดชอบทั้งต่อตนเอง ครอบครัว ชุมชน สังคม และประเทศชาติ 
  - มีความเป็นพลเมืองที่สามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคมไทยและสังคมโลกได้อย่างผาสุก 
  - กับเพื่อให้บุคคลมีทักษะการเรียนรู้ ทักษะอาชีพ และทักษะชีวิตที่สอดคล้องและเท่าทันพัฒนาการของโลก และมีโอกาสพัฒนาหรือเพิ่มพูนทักษะของตนให้สูงขึ้นหรือปรับเปลี่ยนทักษะของตนตามความถนัดหรือความจำเป็น

5. กรมส่งเสริมการเรียนรู้ มีหน้าที่จัด ส่งเสริม และสนับสนุนการเรียนรู้ 3 รูปแบบ (กฎหมายบังคับ) และอาจเพิ่มอีก 1 รูปแบบ ถ้ามีประกาศรัฐมนตรีกำหนดไว้ (กฎหมายเปิดช่อง) โดยทั้ง 4 รูปแบบนี้ จะต้องคำนึงถึงความหลากหลายและความต้องการของผู้เรียน และเปิดโอกาสให้ประชาชนทุกเพศทุกวัยมีโอกาสเรียนรู้และเข้าถึงแหล่งเรียนรู้ได้อย่างทั่วถึง เท่าเทียม และเป็นธรรมโดยไม่เลือกปฏิบัติ

รูปแบบที่ 1 การเรียนรู้ตลอดชีวิต
เป้าหมาย 
  - เพื่อจัดให้มีระบบกระตุ้น ชี้แนะ หรืออำนวยความสะดวกด้วยวิธีการใด ๆ
  - ให้บุคคลสามารถเรียนรู้ได้ด้วยตนเองในเรื่องที่สนใจหรือตามความถนัด
  - สามารถเข้าถึงแหล่งเรียนรู้ทุกประเภทได้ในเวลาใด ๆ ที่สะดวก โดยไม่มีภาระค่าใช้จ่ายเกินสมควร
  - และเพิ่มพูนความรู้ให้กว้างขวาง รู้เท่าทันพัฒนาการของโลกอย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต
  - นำความรู้ไปเติมเต็มชีวิตให้แก่ตนเองหรือเกิดประโยชน์ต่อสังคม
  โดยอาจได้รับการรับรองคุณวุฒิตามความเหมาะสมด้วยก็ได้ ซึ่งหน่วยจัดการเรียนรู้มีอำนาจรับรองคุณวุฒิให้แก่ผู้เรียนเมื่อสำเร็จการศึกษา โดยออกเป็นประกาศนียบัตรหรือวุฒิบัตร หรือออกหนังสือรับรองความรู้ เพื่อนำไปสะสมในการได้รับการรับรองคุณวุฒิ ตามหลักเกณฑ์ที่อธิบดีกรมส่งเสริมการเรียนรู้กำหนด

แนวทางดำเนินการ ต้องคำนึงถึง
  - การดำเนินการเพื่อกระตุ้นให้บุคคลใฝ่หาความรู้ในเรื่องที่ตนสนใจ และสร้างสมรรถนะในการเรียนรู้โดยผ่านระบบเทคโนโลยีสารสนเทศที่เป็นปัจจุบันได้ด้วยตนเองในทุกเวลาอย่างรู้เท่าทัน และเข้าถึงแหล่งเรียนรู้ทุกประเภทได้โดยง่ายในเวลาที่ตนสะดวกโดยไม่มีภาระค่าใช้จ่ายเกินสมควร
  - จัดให้มีและพัฒนาแหล่งเรียนรู้ เพื่อให้บุคคลสามารถเรียนรู้ตลอดชีวิตได้โดยสะดวก ไม่มีข้อกำหนดหรือเงื่อนไขใด ๆ ที่เป็นอุปสรรคต่อการเรียนรู้หรือมีลักษณะเป็นการไม่เกื้อหนุนให้มีการเรียนรู้ตลอดชีวิต
  - จัดหรือส่งเสริมให้ภาคีเครือข่าย ช่วยจัดหรือร่วมกันจัดให้บุคคลในครอบครัวและชุมชน มีนิสัยรักการอ่านหรือการเรียนรู้ รวมทั้งจัดให้มีแหล่งส่งเสริมการอ่านและการเรียนรู้ในชุมชน
  - ส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้ชำนาญการในภูมิปัญญาท้องถิ่นและภาคีเครือข่ายมีส่วนร่วมในการจัดการเรียนรู้และเผยแพร่ภูมิปัญญาท้องถิ่น เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ตลอดชีวิต

รูปแบบที่ 2 การเรียนรู้เพื่อการพัฒนาตนเอง
เป้าหมาย
  - เพื่อพัฒนาศักยภาพ ทักษะ และความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านตามความถนัดของตน การประกอบอาชีพ การพัฒนาอาชีพ
  - การยกระดับคุณภาพชีวิตของตน ครอบครัว ชุมชน หรือสังคม
  - หรือเพื่อประโยชน์แห่งความรอบรู้ของตน
  โดยอาจได้รับการรับรองคุณวุฒิตามความเหมาะสม ซึ่งหน่วยจัดการเรียนรู้มีอำนาจรับรองคุณวุฒิให้แก่ผู้เรียนเมื่อสำเร็จการศึกษา โดยออกเป็นประกาศนียบัตรหรือวุฒิบัตร หรือออกหนังสือรับรองความรู้ เพื่อนำไปสะสมในการได้รับการรับรองคุณวุฒิ ตามหลักเกณฑ์ที่อธิบดีกรมส่งเสริมการเรียนรู้กำหนด
  โดยจะต้องมีระบบแนะแนวการเรียนและการประกอบอาชีพ เพื่อให้ผู้เรียนมีโอกาสได้ทราบล่วงหน้าหรือวางแผนให้สอดคล้องกับความถนัดของตนด้วย

แนวทางดำเนินการ ต้องคำนึงถึง
  - การดำเนินการ เพื่อกระตุ้นให้บุคคลทุกช่วงวัยทุกอาชีพใฝ่เรียนรู้หรือฝึกฝนในเรื่องที่ตนถนัดหรือสนใจ เพื่อการพัฒนาศักยภาพ ทักษะ และความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน สำหรับการประกอบอาชีพ การพัฒนาอาชีพ การดำเนินชีวิตอย่างผาสุก หรือการร่วมกันพัฒนาชุมชนของตน
  - ส่งเสริม สนับสนุน ช่วยเหลือหรือร่วมมือกับภาคีเครือข่ายในการดำเนินการดังกล่าว

รูปแบบที่ 3 การเรียนรู้เพื่อคุณวุฒิตามระดับ
เป้าหมาย
  - เพื่อจัดการเรียนรู้ให้แก่ผู้ซึ่งอยู่ในวัยเรียนแต่ไม่ได้รับการศึกษาในสถานศึกษา หรือผู้ซึ่งพ้นวัยที่จะศึกษาในสถานศึกษา หรืออยู่ในพื้นที่ห่างไกลหรือทุรกันดาร หรือไม่มีหน่วยงานอื่นใดไปดำเนินการ เพื่อให้ได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐาน
  - ตลอดจนส่งเสริม สนับสนุน เพื่อให้ได้รับการศึกษาสูงกว่าระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานตามศักยภาพของผู้เรียน
  โดยต้องดำเนินการเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์และเป้าหมายตามกฎหมายว่าด้วยการศึกษาแห่งชาติ โดยปรับอายุและระยะเวลาที่กำหนดไว้ ให้สอดคล้องกับสภาพความจำเป็นของผู้เรียน
  โดยจะต้องมีระบบแนะแนวการเรียน เพื่อให้ผู้เรียนมีโอกาสได้ทราบล่วงหน้าหรือวางแผนการศึกษาของตนด้วย

แนวทางดำเนินการ ใต้องคำนึงถึง
  - การจัดการเรียนรู้สำหรับกลุ่มเป้าหมายที่เป็นผู้ซึ่งมิได้ศึกษาอยู่ในสถานศึกษาไม่ว่าด้วยเหตุใด เพื่อให้ได้รับคุณวุฒิระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานด้านสามัญศึกษาหรืออาชีวศึกษา
  - วิธีการจัดการเรียนรู้และการจัดทำหรือพัฒนาหลักสูตร ต้องสอดคล้องกับพัฒนาการของโลก และสอดคล้องกับความต้องการของผู้เรียน เพื่อให้ผู้เรียนสามารถเรียนรู้ได้ตามความถนัดหรือความสนใจของตน โดยวิธีการและหลักสูตรเป็นไปตามที่กรมส่งเสริมการเรียนรู้และสถาบันพัฒนาหลักสูตรและการเรียนรู้ร่วมกันกำหนด
  - การประเมินผลเพื่อให้ได้รับคุณวุฒิทางการศึกษา ให้ใช้วิธีการที่หลากหลาย เพื่อใช้กับผู้เรียนซึ่งมีความแตกต่างกันได้อย่างเหมาะสม ต้องไม่ใช่วิธีการทดสอบความรู้ในทางวิชาการแต่เพียงด้านเดียว
  - ร่วมกับสถาบันอุดมศึกษา เพื่อจัด ส่งเสริม และสนับสนุนให้ผู้ซึ่งได้รับคุณวุฒิระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานด้านสามัญศึกษาหรืออาชีวศึกษา เพื่อให้ได้รับการศึกษาสูงกว่าระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน
  - กรณีเด็กเข้ารับการเรียนรู้เพื่อคุณวุฒิตามระดับกับหน่วยการเรียนรู้ตามกฎหมายนี้ ให้ถือว่าผู้ปกครองได้ปฏิบัติหน้าที่ถูกต้องตามกฎหมายว่าด้วยการศึกษาภาคบังคับแล้ว (กฎหมายการศึกษาภาคบังคับ มีโทษทางอาญาหากผู้ปกครองไม่ส่งเด็กเข้ารับการศึกษาภาคบังคับ) โดยการจัดการเรียนรู้สำหรับเด็กดังกล่าว ต้องจัดกระบวนการเรียนรู้ หลักสูตร และระยะเวลาการเรียนให้สอดคล้องกับความจำเป็นและความต้องการของผู้เรียน โดยให้กรมส่งเสริมการเรียนรู้และสถาบันพัฒนาหลักสูตรและการเรียนรู้ร่วมกันออกแบบให้เหมาะสมและมีประสิทธิภาพ

รูปแบบอื่น กรมส่งเสริมการเรียนรู้อาจจัด ส่งเสริมหรือสนับสนุนการเรียนรู้ที่จะก่อให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชน ตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด

6. บุคคลและคณะบุคคลมีสิทธิดำเนินการเกี่ยวกับการส่งเสริมการเรียนรู้ตามกฎหมายนี้ เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์และเป้าหมายในการจัดการศึกษาตามกฎหมายว่าด้วยการศึกษาแห่งชาติ

7. กรมส่งเสริมการเรียนรู้มีหน้าที่ร่วมกับสถาบันพัฒนาหลักสูตรและการเรียนรู้ จัดให้มีระบบงานเพื่อประโยชน์ในการส่งเสริมการเรียนรู้ดังนี้
  - ระบบการเทียบระดับการศึกษา เทียบเคียงหรือเทียบโอนผลการเรียน ทักษะ ความรู้ ประสบการณ์ สมรรถนะ เพื่อประโยชน์ในการเรียนรู้จากรูปแบบหนึ่งไปสู่อีกรูปแบบหนึ่ง หรือจากหน่วยจัดการเรียนรู้หนึ่งไปยังอีกหน่วยจัดการเรียนรู้หนึ่ง หรือจากหน่วยจัดการเรียนรู้หนึ่งไปยังสถานศึกษา หรือจากสถานศึกษามายังหน่วยจัดการเรียนรู้ หรือเพื่อประโยชน์ในการสะสมความรู้
  - ระบบนำผลการเทียบเคียงดังกล่าว ไปสะสมเพื่อประโยชน์ในการได้รับการรับรองคุณวุฒิหรือเพื่อประโยชน์ในการประกอบอาชีพหรือวิชาชีพ

8. กรมส่งเสริมการเรียนรู้ มีหน้าที่และอำนาจดังนี้
  - จัดให้มี ส่งเสริม และสนับสนุนให้มีการผลิตและพัฒนาหลักสูตร โปรแกรมการเรียนรู้ สื่อการเรียนรู้ และวิธีการจัดกระบวนการเรียนรู้ที่อยู่ในความรับผิดชอบของกรมฯ รวมทั้งนำหลักสูตร โปรแกรมการเรียนรู้ สื่อการเรียนรู้ และวิธีการจัดกระบวนการเรียนรู้ที่หน่วยงานอื่นจัดทำไว้มาใช้ประโยชน์ได้ ทั้งนี้ในการผลิตและพัฒนาหลักสูตร จะต้องหารือกับสถาบันพัฒนาหลักสูตรและการเรียนรู้ก่อนดำเนินการ
  - จัดทำแผนการส่งเสริมการเรียนรู้ให้สอดคล้องกับแผนการศึกษาแห่งชาติ รวมทั้งร่วมกับภาคีเครือข่ายในการติดตาม ตรวจสอบ ให้คำแนะนำ และประเมินผลสัมฤทธิ์ในการส่งเสริมการเรียนรู้
  - จัดให้มี ส่งเสริม และสนับสนุนให้มีระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ในการส่งเสริมการเรียนรู้
  - จัด ส่งเสริม และสนับสนุน การเรียนการสอน สภาพแวดล้อง ตลอดจนเทคโนโลยี สิ่งอำนวยความสะดวก สื่อ บริการและความช่วยเหลืออื่นใด เพื่อให้คนพิการหรือบุคคลซึ่งมีความต้องการจำเป็นพิเศษ สามารถเรียนรู้ได้โดยสะดวกและเข้าถึงแหล่งเรียนรู้ทุกประเภทได้อย่างเท่าเทียม ทั่วถึง และเป็นธรรม โดยไม่เลือกปฏิบัติและไม่มีภาระค่าใช้จ่ายเกินสมควร
  - ร่วมมือกับภาคีเครือข่าย เพื่อจัดให้มีสิ่งอำนวยความสะดวกและแหล่งเรียนรู้ เพื่อให้ผู้เรียนสามารถเข้าถึงการเรียนรู้ได้ทุกรูปแบบ ทุกที่ และทุกเวลา รวมทั้งประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบเป็นการทั่วไป
  - กำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการออกประกาศนียบัตร วุฒิบัตร หรือหนังสือรับรองความรู้ให้แก่ผู้เรียน
  - ดำเนินการเทียบระดับการศึกษา การเทียบเคียงหรือเทียบโอนผลการเรียน
  - จัดทำหลักเกณฑ์การประเมินผลสัมฤทธิ์ในการจัดการเรียนรู้ เพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษาของหน่วยจัดการเรียนรู้หรือภาคีเครือข่าย ทั้งนี้ในการจัดทำหลักเกณฑ์การประเมินผลสัมฤทธิ์ จะต้องหารือกับสถาบันพัฒนาหลักสูตรและการเรียนรู้ก่อนดำเนินการ
  - ส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนาทักษะ ความรู้ ความสามารถ และสมรรถนะของบุคลากรซึ่งทำหน้าที่ส่งเสริมการเรียนรู้ เพื่อให้สามารถส่งเสริมการเรียนรู้และแนะแนวการเรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนสามารถสร้างนวัตกรรมทางการศึกษาได้
  - ปฏิบัติหน้าที่อื่นใดตามกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่นกำหนด

9. คณะกรรมการส่งเสริมการเรียนรู้จังหวัด
กรุงเทพมหานคร คณะกรรมการมีองค์ประกอบดังนี้
  1) ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานกรรมการ
  2) ปลัดกรุงเทพมหานคร ผู้แทนกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ผู้แทนกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ผู้แทนกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ผู้แทนกระทรวงแรงงาน ผู้แทนกระทรวงศึกษาธิการ ผู้แทนกระทรวงสาธารณสุข เป็นกรรมการ (โดยตำแหน่ง)
  3) ผู้แทนภาคีเครือข่ายซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้ง ไม่เกิน 8 คน เป็นกรรมการ 
  โดยต้องแต่งตั้งจากผู้แทนหน่วยงานของรัฐหรือหน่วยงานเอกชนที่จัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน อาชีวศึกษา และอุดมศึกษา อย่างน้อยด้านละ 1 คน (ในวาระเริ่มแรก ให้แต่งตั้งผู้แทนภาคีเครือข่าย ให้เสร็จภายใน 90 วัน นับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ หรือภายในวันที่ 15 สิงหาคม 2566)
  4) ผู้ชำนาญการในภูมิปัญญาท้องถิ่นแต่ละด้านตามความเหมาะสม เป็นกรรมการ
  5) ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการเรียนรู้ประจำกรุงเทพมหานคร เป็นกรรมการและเลขานุการ

จังหวัดอื่น คณะกรรมการมีองค์ประกอบดังนี้
  1) ผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นประธานกรรมการ
  2) ปลัดจังหวัด เกษตรและสหกรณ์จังหวัด พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด แรงงานจังหวัด ศึกษาธิการจังหวัด นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด เป็นกรรมการ
  3) ผู้แทนภาคีเครือข่ายซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งจำนวนไม่เกิน 8 คน เป็นกรรมการ โดยต้องแต่งตั้งจากภาคีเครือข่ายในพื้นที่ของจังหวัด และเป็นผู้แทนหน่วยงานของรัฐหรือหน่วยงานเอกชนที่จัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน อาชีวศึกษา และอุดมศึกษา อย่างน้อยด้านละ 1 คน
  4) ผู้ชำนาญการในภูมิปัญหาท้องถิ่นแต่ละด้านตามความเหมาะสม
  5) ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการเรียนรู้ประจำจังหวัด เป็นกรรมการและเลขานุการ
  ให้รัฐมนตรีประกาศกำหนดคุณสมบัติอื่น การแต่งตั้ง วาระการดำรงตำแหน่ง การพ้นจากตำแหน่งของผู้แทนภาคีเครือข่าย และการประชุมของคณะกรรมการส่งเสริมการเรียนรู้จังหวัด

10. คณะกรรมการส่งเสริมการเรียนรู้จังหวัด มีหน้าที่และอำนาจดังนี้
  - พิจารณา ให้ข้อเสนอแนะในการจัดทำ และให้ความเห็นชอบแผนการส่งเสริมการเรียนรู้ของจังหวัด
  - ส่งเสริมและสนับสนุนการดำเนินงานของหน่วยจัดการเรียนรู้ ให้บรรลุวัตถุประสงค์และเป้าหมายตามแผนการส่งเสริมการเรียนรู้ของจังหวัด
  - ส่งเสริมและสนับสนุนภาคีเครือข่ายในการส่งเสริมการเรียนรู้ การจัดให้มีและพัฒนาแหล่งเรียนรู้ภายในพื้นที่จังหวัดให้สอดคล้องกับแผนการส่งเสริมการเรียนรู้ของจังหวัด
  - ติดตามการดำเนินงานในการส่งเสริมการเรียนรู้ของหน่วยจัดการเรียนรู้และภาคีเครือข่าย ให้มีคุณภาพและสอดคล้องกับแผนการส่งเสริมการเรียนรู้ของจังหวัด
  - เสนอแนะให้มีการจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้
  - เสนอแนะให้มีการจัดตั้งศูนย์หรือสถาบันการเรียนรู้เฉพาะด้านหรือเฉพาะกิจการ
  - ปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่อธิบดีกรมส่งเสริมการเรียนรู้มอบหมาย

11. ให้มีสำนักงานส่งเสริมการเรียนรู้ประจำจังหวัด 
  - ทำหน้าที่เป็นหน่วยงานธุรการของคณะกรรมการส่งเสริมการเรียนรู้จังหวัด 
  - เพื่อกำกับ ดูแล ช่วยเหลือ ส่งเสริม สนับสนุน อำนวยความสะดวก และแนะนำการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ในศูนย์ส่งเสริมการเรียนรู้ระดับอำเภอ ศูนย์การเรียนรู้ระดับตำบล และศูนย์การเรียนรู้ในพื้นที่ ทั้งในด้านวิชาการ เทคโนโลยีที่จำเป็นในการส่งเสริมการเรียนรู้ การบริหารงาน และการปฏิบัติงานให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด 
  - รวมตลอดทั้งการจัดทำแผนการส่งเสริมการเรียนรู้ของจังหวัด ซึ่งต้องสอดคล้องกับแผนการส่งเสริมการเรียนรู้ของกรม บริบทของท้องถิ่นและแผนการศึกษาแห่งชาติ และปฏิบัติหน้าที่ีอื่นตามที่อธิบดีมอบหมาย
  ในการปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าว สำนักงานส่งเสริมการเรียนรู้ประจำจังหวัดมีหน้าที่และอำนาจในการประสาน สนับสนุน และร่วมมือ หรือมอบหมายให้ภาคีเครือข่ายเข้ามามีส่วนร่วมหรือเป็นผู้ดำเนินการส่งเสริมการเรียนรู้ได้
  การจัดทำแผนการส่งเสริมการเรียนรู้ของจังหวัดดังกล่าว ต้องรับฟังความคิดเห็นหรือข้อเสนอแนะของภาคีเครือข่ายประกอบด้วย และเมื่อจัดทำร่างแผนการส่งเสริมการเรียนรู้แล้วเสร็จ ให้เสนอคณะกรรมการส่งเสริมการเรียนรู้จังหวัดเพื่อพิจารณา ให้ความเห็นชอบและใช้บังคับต่อไป

12. ให้มีศูนย์ส่งเสริมการเรียนรู้ระดับอำเภอ มีสถานะเป็นสถานศึกษา 
  - เพื่อจัดการเรียนรู้ 
  - กำกับ ดูแล ช่วยเหลือ ส่งเสริม สนับสนุน อำนวยความสะดวก และแนะนำในการปฏิบัติหน้าที่ของศูนย์การเรียนรู้ระดับตำบลและศูนย์การเรียนรู้ในพื้นที่ ทั้งในด้านวิชาการและเทคโนโลยีที่จำเป็นในการส่งเสริมการเรียนรู้ให้เป็นไปตามแผนการส่งเสริมการเรียนรู้ของจังหวัด 
  - รวมทั้งประสานความร่วมมือและแนะนำการจัดการเรียนรู้ของภาคีเครือข่ายในพื้นที่ 
  - และทำหน้าที่เป็นศูนย์การเรียนรู้ของตำบลอันเป็นที่ตั้งของศูนย์ส่งเสริมการเรียนรู้ระดับอำเภอหรือตำบลใกล้เคียงตามที่อธิบดีกำหนด และปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่อธิบดีมอบหมาย
  (สำหรับหน่วยจัดการเรียนรู้อื่นจะมีสถานะเป็นสถานศึกษา ให้เป็นไปตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด)
  ในกรณีจำเป็น ศูนย์ส่งเสริมการเรียนรู้ระดับอำเภอ จะจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ขึ้น ณ ที่ใดที่เห็นสมควรหรือตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการส่งเสริมการเรียนรู้จังหวัดก็ได้
  ในการปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าว ศูนย์ส่งเสริมการเรียนรู้ระดับอำเภอมีหน้าที่และอำนาจในการประสาน สนับสนุน และร่วมมือ หรือมอบหมายให้ภาคีเครือข่ายเข้ามามีส่วนร่วมหรือเป็นผู้ดำเนินการส่งเสริมการเรียนรู้ได้

13. กรมส่งเสริมการเรียนรู้ อาจจัดให้มีศูนย์การเรียนรู้ระดับตำบล สำหรับพื้นที่ของตำบลหนึ่งหรือหลายตำบลตามความจำเป็นและเหมาะสมของแต่ละพื้นที่ก็ได้
  ในกรณีที่เป็นพื้นที่ห่างไกล ทุรกันดาร พื้นที่เสี่ยงภัย หรือพื้นที่ที่มีความยากลำบากในการปฏิบัติงาน กรมจะประกาศจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ในพื้นที่นั้นก็ได้

14. ให้หน่วยจัดการเรียนรู้สร้างการมีส่วนร่วมของคนในชุมชนและสังคม รวมทั้งร่วมมือกับผู้ชำนาญการในภูมิปัญญาท้องถิ่น ภาคีเครือข่าย และสถานศึกษา ในการส่งเสริมการเรียนรู้ การถ่ายทอดประสบการณ์ ความรู้ หรือภูมิปัญญาให้แก่ผู้เรียนหรือประชาชนด้วย

15. อธิบดีโดยความเห็นชอบของรัฐมนตรีจะจัดตั้งศูนย์หรือสถาบันการเรียนรู้เฉพาะด้านหรือเฉพาะกิจการขึ้น ตามที่เห็นสมควรหรือตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการส่งเสริมการเรียนรู้จังหวัดก็ได้

16. กรมมีอำนาจเชิญบุคคลผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญอย่างแท้จริงตามความถนัดของตนหรือในการประกอบอาชีพที่หลากหลายซึ่งไม่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูตามกฎหมายว่าด้วยการศึกษาแห่งชาติมาให้ความรู้แก่ผู้เรียนได้ และให้บุคคลดังกล่าวจัดการเรียนรู้ การถ่ายทอดประสบการณ์ ความรู้ หรือภูมิปัญญาให้แก่ผู้เรียนได้โดยไม่ต้องมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู*** ทั้งนี้ กรมอาจมอบอำนาจดังกล่าว ให้หน่วยจัดการเรียนรู้ก็ได้
  กรณีหน่วยงานของรัฐเป็นผู้ดำเนินการในการจัดการเรียนรู้ตลอดชีวิตและการเรียนรู้เพื่อการพัฒนาตนเอง อำนาจตามมาตรานี้ ให้เป็นอำนาจของหน่วยงานของรัฐนั้น

17. บุคลากรซึ่งปฏิบัติหน้าที่ในกรมและในหน่วยจัดการเรียนรู้ จะเป็นข้าราชการประเภทใด ให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น 
  (และให้นำกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา หรือกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการพลเรือน มาใช้บังคับแก่การบริหารงานบุคคลของข้าราชการในสังกัดกรมส่งเสริมการเรียนรู้ แล้วแต่กรณี)

18. ให้นำกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน (พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534) มาใช้บังคับแก่การบริหารราชการของกรมส่งเสริมการเรียนรู้โดยอนุโลมไปพลางก่อน จนกว่าจะมีการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ (พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ. 2546)

19. บรรดากฎหมาย กฎ ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง และมติคณะรัฐมนตรีใดที่อ้างถึง สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย หรือ เลขาธิการสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย ให้ถือว่าอ้างถึง กรมส่งเสริมการเรียนรู้ หรือ อธิบดีกรมส่งเสริมการเรียนรู้ แล้วแต่กรณี

20. ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี


ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมประจำสัปดาห์

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 (55 ข้อ)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. 2566 (30 ข้อ)

การส่งเด็กเข้าเรียนตามกฎหมาย

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539

แนวข้อสอบ ระเบียบฯ พนักงานราชการ

แนวข้อสอบ ระเบียบฯ สารบรรณ (ชุดที่ 3)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 (ชุดที่ 1)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561 (ชุดที่ 1)