การจับกุม "เด็ก"


โดยหลักทั่วไป ห้ามจับกุมเด็ก (อายุไม่เกิน 15 ปีบริบูรณ์) เนื่องจากเป็นผู้มีอายุน้อย อ่อนด้อยประสบการณ์ เว้นแต่จะเข้าข้อยกเว้น 3 กรณีต่อไปนี้ ซึ่งตำรวจสามารถจับกุมได้โดยไม่ต้องมีหมายจับ ตามมาตรา 66 แห่งพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2553

1. กระทำความผิดซึ่งหน้า
กระทำความผิดซึ่งหน้า ตามความหมายในมาตรา 80 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา คือ
  1.1 ความผิดซึ่งเห็นกำลังกระทำ เช่น ตำรวจเห็นเด็กกำลังเอาไม้ตีศีรษะผู้อื่น
  1.2 พบในอาการซึ่งแทบจะไม่มีความสงสัยเลยว่าเขาได้กระทำผิดมาแล้วสด ๆ เช่น เห็นเด็กวิ่งมาในมือถือมีดมีเลือดติดมาสด ๆ และมีเสียงร้องว่าผู้ร้ายฆ่าคน
  1.3 ความผิดอาญาที่ระบุไว้ในบัญชีท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ให้ถือว่าเป็นความผิดซึ่งหน้า ในกรณีดังนี้
    (1) เมื่อบุคคลหนึ่งถูกไล่จับดั่งผู้กระทำ โดยมีเสียงร้องเอะอะ เช่น ตำรวจเห็นคนวิ่งผ่านหน้า แล้วมีคนวิ่งตามหลังร้องตะโกนเอะอะว่าผู้ร้ายวิ่งราว หรือลักทรัพย์ ชิงทรัพย์ ปล้นทรัพย์ หรือผู้ร้ายฆ่าคน
    (2) เมื่อพบบุคคลหนึ่งแทบจะทันทีทันใดหลังจากการกระทำผิด ในถิ่นแถวใกล้เคียงกับที่เกิดเหตุ และมีสิ่งของที่ได้มาจากการกระทำผิดหรือมีเครื่องมือ อาวุธ หรือวัตถุอย่างอื่นสันนิษฐานว่า ได้ใช้ในการกระทำผิด หรือมีร่องรอยพิรุธเห็นประจักษ์ที่เสื้อผ้าหรือเนื้อตัวของผู้นั้น เช่น เห็นไฟลุกพลุ่งที่ห้องแถว และสักครู่มีคนหิ้วกระป๋องน้ำมันวิ่งมาจากห้องแถวนั้น
   สำหรับบัญชีแนบท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ความผิดในกฎหมายลักษณะอาญา ที่มาตรา 79 อ้างถึง ซึ่งราษฎรมีอำนาจจับได้โดยไม่ต้องมีหมาย ดังนี้
   - ประทุษร้ายต่อพระบรมราชตระกูล มาตรา 97 และ 99
   - ขบถภายในพระราชอาณาจักร มาตรา 101 ถึง 104
   - ขบถภายนอกพระราชอาณาจักร มาตรา 105 ถึง 111
   - ความผิดต่อทางพระราชไมตรีกับต่างประเทศ มาตรา 112
   - ทำอันตรายแก่ธง หรือเครื่องหมายของต่างประเทศ มาตรา 115
   - ความผิดต่อเจ้าพนักงาน มาตรา 119 ถึง 122 และ 127
   - หลบหนีจากที่คุมขัง มาตรา 163 ถึง 166
   - ความผิดต่อศาสนา มาตรา 172 และ 173
   - ก่อการจลาจล มาตรา 183 และ 184
   - กระทำให้เกิดภยันตรายแก่สาธารณชน กระทำให้สาธารณชนปราศจากความสะดวกในการไปมาและการส่งข่าวและของถึงกัน และกระทำให้สาธารณชนปราศจากความสุขสบาย มาตรา 185 ถึง 194, 196, 197 และ 199
   - ปลอมแปลงเงินตรา มาตรา 202 ถึง 205 และ 210
   - ข่มขืนกระทำชำเรา มาตรา 243 ถึง 246
   - ประทุษร้ายแก่ชีวิต มาตรา 249 ถึง 251
   - ประทุษร้ายแก่ร่างกาย มาตรา 254 ถึง 257
   - ความผิดฐานกระทำให้เสื่อมเสียอิสรภาพ มาตรา 268, 270 และ 276
   - ลักทรัพย์ มาตรา 288 ถึง 296
   - วิ่งราว ชิงทรัพย์ ปล้นทรัพย์ และโจรสลัด มาตรา 297 ถึง 302
   - กรรโชก มาตรา 303

2. มีหมายจับ 
เป็นกรณีที่มีหลักฐานตามสมควร ว่าผู้นั้นน่าจะได้กระทำความผิดอาญาร้ายแรง ที่มีอัตราโทษตามที่กฎหมายบัญญัติ หรือมีหลักฐานตามสมควรว่าผู้นั้นน่าจะได้กระทำความผิดอาญา และมีเหตุอันควรเชื่อว่าผู้นั้นจะหลบหนี หรือจะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน หรือจะก่อเหตุร้ายประการอื่น ศาลได้ตรวจสอบแล้ว จึงออกหมายจับ

3. มีคำสั่งศาล
เป็นกรณีคล้ายกับกรณีที่ 2 ที่ศาลได้ตรวจสอบพยานหลักฐานแล้ว หรือกรณีขัดคำสั่งหรือหมายเรียกให้มาศาล

ที่มา อ.ประเทือง ธนิยผล. กฎหมายเกี่ยวกับการกระทำผิดของเด็กและเยาวชนและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว, (มหาวิทยาลัยรามคำแหง พ.ศ. 2562)

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมประจำสัปดาห์

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. 2566 (30 ข้อ)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 (55 ข้อ)

สาระสำคัญ พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. 2566 (ฉบับเตรียมสอบ)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539

แนวข้อสอบ ระเบียบฯ พนักงานราชการ

การส่งเด็กเข้าเรียนตามกฎหมาย

กฎกระทรวงกำหนดกรณีอื่นที่เจ้าหน้าที่จะทำการพิจารณาทางปกครองไม่ได้ พ.ศ. 2566

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 (ชุดที่ 1)

แนวข้อสอบ ระเบียบฯ สารบรรณ (ชุดที่ 3)