แนวข้อสอบ พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539


***ปรับปรุงใหม่ 13ก.ค.2565 เพิ่มข้อสอบข้อ 16 - 31 ครับ***

ข้อ 1 นาย เอ ลูกจ้างประจำ ตำแหน่งพนักงานขับรถยนต์ของเทศบาลบี ปฏิบัติหน้าที่ขับรถเก็บขยะมูลฝอยด้วยความประมาทชนท้ายรถยนต์ของนาย ซี ทำให้รถยนต์ของนาย ซี เสียหาย จากข้อเท็จจริงดังกล่าว ข้อใดต่อไปนี้ไม่ถูกต้อง
ก. นาย เอ เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ
ข. การกระทำของนาย เอ เป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายในการให้บริการสาธารณะเกี่ยวกับการรักษาความสะอาด
ค. เทศบาลบี เป็นหน่วยงานของรัฐ ที่ต้องรับผิดต่อผู้เสียหายในผลแห่งละเมิดที่ นาย เอ ได้กระทำไปในการปฏิบัติหน้าที่
ง. นายซี มีอำนาจฟ้องเทศบาลบี ต่อศาลปกครอง

ข้อ 2 การกำหนดหน่วยงานอื่นของรัฐให้เป็นหน่วยงานของรัฐ ตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 ต้องออกเป็นกฎหมายใด
ก. พระราชบัญญัติ
ข. พระราชกฤษฎีกา
ค. พระราชกำหนด
ง. กฎกระทรวง

ข้อ 3 ข้อใดไม่ถูกต้อง
ก. การกระทำโดยจงใจ คือ รู้สำนึกถึงการกระทำว่าจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อบุคคลอื่น
ข. การกระทำโดยประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง คือ ไม่มีเจตนา แต่พึงคาดหมายได้ว่าอาจก่อให้เกิดความเสียหายขึ้น และหากใช้ความระมัดระวังเพียงเล็กน้อย ก็อาจป้องกันมิให้เกิดความเสียหายได้ แต่ไม่ได้ใช้ความระมัดระวังเลย
ค. ผู้เสียหายซึ่งไม่พอใจกับจำนวนค่าสินไหมทดแทนที่หน่วยงานของรัฐวินิจฉัย ต้องฟ้องคดีต่อศาลปกครอง
ง. เหตุละเมิดอันเกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่หลายคน ไม่ให้นำหลักลูกหนี้ร่วมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาใช้บังคับกับเจ้าหน้าที่

ข้อ 4 การขยายอายุความฟ้องผู้ที่ต้องรับผิดซึ่งมิได้ถูกเรียกเข้ามาในคดี มีระยะเวลาใด
ก. 3 เดือน นับแต่วันที่คำพิพากษาถึงที่สุด
ข. 90 วัน นับแต่วันที่คำพิพากษาถึงที่สุด
ค. 6 เดือน นับแต่วันที่คำพิพากษาถึงที่สุด
ง. 180 วัน นับแต่วันที่คำพิพากษาถึงที่สุด

ตัวเลือกต่อไปนี้ ตอบคำถามข้อ 5 - 7
ก. วันที่ 14 พฤศจิกายน 2539
ข. วันที่ 15 พฤศจิกายน 2539
ค. วันที่ 14 พฤศจิกายน 2540
ง. ไม่มีข้อใดถูกต้อง

ข้อ 5 วันใช้บังคับพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539

ข้อ 6 วันประกาศระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยหลักเกณฑ์การปฏิบัติเกี่ยวกับความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 ในราชกิจจานุเบกษา

ข้อ 7 วันใช้บังคับระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยหลักเกณฑ์การปฏิบัติเกี่ยวกับความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 

ข้อ 8 ผู้เสียหายมีสิทธิฟ้องคดีต่อผู้ใดในกรณีเจ้าหน้าที่ได้กระทำละเมิดในการปฏิบัติหน้าที่
ก. หน่วยงานของรัฐ
ข. เจ้าหน้าที่
ค. กรมบัญชีกลาง
ง. หน่วยงานตามพระราชกฤษฎีกา

ข้อ 9 กรณีหน่วยงานของรัฐได้ใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้เสียหายแล้ว สิทธิไล่เบี้ยของหน่วยงานของรัฐมีกำหนดเวลาตามข้อใด
ก. 1 ปี นับแต่ได้ใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้เสียหาย
ข. 1 ปี นับแต่มีคำสั่งตามความเห็นของกระทรวงการคลัง
ค. 2 ปี นับแต่หน่วยงานของรัฐทราบเหตุ
ง. 2 ปี นับแต่กระทรวงการคลังแจ้งผลการพิจารณา

ข้อ 10 การคิดดอกเบี้ยกรณีผู้เสียหายยื่นคำขอให้หน่วยงานของรัฐชดใช้ค่าสินไหมทดแทน ข้อใดถูกต้อง
ก. ตามอัตราดอกเบี้ยผิดนัด นับแต่วันทำละเมิดจนถึงวันที่หน่วยงานของรัฐได้รับคำขอ
ข. ตามอัตราดอกเบี้ยผิดนัด นับแต่วันทำละเมิดจนถึงวันที่ชำระค่าสินไหมทดแทน
ค. ตามอัตราดอกเบี้ยที่กฎหมายกำหนด นับแต่วันที่หน่วยงานของรัฐได้รับคำขอ
ง. ตามอัตราดอกเบี้ยที่กฎหมายกำหนด นับแต่วันที่หน่วยงานของรัฐได้รับคำขอจนถึงคดีถึงที่สุด

ข้อ 11 ผู้แต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิด ต้องส่งสำนวนการสอบสวนให้กระทรวงการคลังพิจารณาภายในเวลากี่วัน
ก. 7 วัน
ข. 15 วัน
ค. 30 วัน
ง. 60 วัน

ข้อ 12 หน่วยงานของรัฐต้องพิจารณาคำขอของผู้เสียหายที่ขอให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แล้วเสร็จภายในกำหนดกี่วัน
ก. 30 วัน
ข. 60 วัน
ค. 120 วัน
ง. 180 วัน

ข้อ 13 จากข้อ 12 หากพิจารณาไม่เสร็จตามกำหนดดังกล่าว ต้องขออนุมัติขยายระยะเวลาต่อใคร
ก. หัวหน้าหน่วยงานของรัฐ
ข. หัวหน้าส่วนราชการ
ค. รัฐมนตรี
ง. กระทรวงการคลัง

ข้อ 14 จากข้อ 13 บุคคลดังกล่าวมีอำนาจอนุมัติให้ขยายระยะเวลาได้ไม่เกินเท่ากี่วัน
ก. 60 วัน
ข. 120 วัน
ค. 180 วัน
ง. 240 วัน

ข้อ 15 ความเสียหายที่เกิดขึ้นกับทรัพย์สินของหน่วยงานของรัฐไม่เกินจำนวนครั้งละเท่าใด ที่ไม่ต้องรายงานความรับผิดทางละเมิดให้กระทรวงการคลังตรวจสอบ
ก. 200,000 บาท
ข. 500,000 บาท
ค. 1,000,000 บาท
ง. 10,000,000 บาท

ข้อ 16 ความเสียหายจากการทุจริตที่ไม่ต้องส่งให้กระทรวงการคลังตรวจสอบ 
ก. หน่วยงานของรัฐพิจารณาให้ผู้ทุจริตรับผิดชดใช้ตั้งแต่ร้อยละ 50 ของความเสียหายทั้งหมด 
ข. หน่วยงานของรัฐพิจารณาให้ผู้ทุจริตรับผิดชดใช้ตั้งแต่ร้อยละ 75 ของความเสียหายทั้งหมด 
ค. หน่วยงานของรัฐพิจารณาให้ผู้ทุจริตรับผิดชดใช้ตั้งแต่ร้อยละ 90 ของความเสียหายทั้งหมด 
ง. หน่วยงานของรัฐพิจารณาให้ผู้ทุจริตรับผิดชดใช้เต็มจำนวนความเสียหาย

ข้อ 17 สิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากเจ้าหน้าที่ซึ่งกระทำละเมิดต่อหน่วยงานของรัฐกรณีทั่วไป มีกำหนดอายุความในข้อใด
ก. 1 ปี นับแต่วันที่หน่วยงานของรัฐรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวเจ้าหน้าที่ผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน
ข. 2 ปี นับแต่วันที่หน่วยงานของรัฐรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวเจ้าหน้าที่ผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน
ค. 10 ปี นับแต่วันที่หน่วยงานของรัฐรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวเจ้าหน้าที่ผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน
ง. ถูกทุกข้อ

ข้อ 18 จากข้อ 17 "การรู้" สอดคล้องในข้อใด
ก. รู้ตามข้อเท็จจริง
ข. รู้จากรายงานผลการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิด
ค. รู้จากข้อเท็จจริงในส่วนที่เป็นประโยชน์ต่อหน่วยงานของรัฐ
ง. ถูกทั้งข้อ ก. และ ข.

ข้อ 19 จากข้อ 17 และ 18 อายุความทางแพ่งสูงสุดเป็นไปตามข้อใด
ก. ไม่เกิน 10 ปี นับแต่วันที่รู้
ข. ไม่เกิน 10 ปี นับแต่วันกระทำละเมิด
ค. ไม่เกิน 15 ปี นับแต่วันที่รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้ต้องรับผิด
ง. ไม่เกิน 20 ปี นับแต่วันที่รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้ต้องรับผิด

ข้อ 20 จากข้อ 19 หากสิทธิเรียกร้องมีมูลอันเป็นความผิดที่มีโทษทางอาญาและมีกำหนดอายุความอาญาที่ยาวกว่า ข้อใดถูกต้องที่สุด
ก. ต้องพิจารณาอายุความทางแพ่งเท่านั้น
ข. ต้องยึดถืออายุความทางแพ่งเป็นหลัก
ค. ต้องพิจารณาตามอายุความอาญา
ง. ถูกทุกข้อ

ข้อ 21 อายุความกรณีหน่วยงานของรัฐเห็นว่าเจ้าหน้าที่ผู้ใดไม่ต้องรับผิด แต่กระทรวงการคลังตรวจสอบแล้วเห็นว่าต้องรับผิดหรือต้องรับผิดเพิ่มขึ้น
ก. 1 ปี นับแต่วันที่กระทรวงการคลังมีความเห็น
ข. 1 ปี นับแต่วันที่ได้รับแจ้งความเห็นจากกระทรวงการคลัง
ค. 1 ปี นับแต่วันที่หน่วยงานของรัฐมีคำสั่งตามความเห็นของกระทรวงการคลัง
ง. ถูกทุกข้อ

ข้อ 22 จากข้อ 21 อายุความทางแพ่งสูงสุดเป็นไปตามข้อใด
ก. ไม่เกิน 10 ปี นับแต่วันที่รู้
ข. ไม่เกิน 10 ปี นับแต่วันกระทำละเมิด
ค. ไม่เกิน 15 ปี นับแต่วันที่รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้ต้องรับผิด
ง. ไม่เกิน 20 ปี นับแต่วันที่รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้ต้องรับผิด

ข้อ 23 สิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนกรณีเจ้าหน้าที่ผู้ต้องรับผิดถึงแก่ความตาย ข้อใดถูกต้องหากเหลืออายุความสั้นกว่า 1 ปี
ก. ต้องใช้สิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากทายาทของเจ้าหน้าที่ ภายในอายุความที่เหลืออยู่
ข. ต้องใช้สิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากทายาทของเจ้าหน้าที่ ภายใน 1 ปี นับแต่วันที่เจ้าหน้าที่ถึงแก่ความตาย
ค. ต้องใช้สิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากทายาทของเจ้าหน้าที่ ภายใน 1 ปี นับแต่เมื่อได้รู้หรือควรได้รู้ถึงความตายของเจ้าหน้าที่
ง. ถูกทุกข้อ

ข้อ 24 สิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนกรณีเจ้าหน้าที่ผู้ต้องรับผิดถึงแก่ความตาย ข้อใดถูกต้องหากเหลืออายุความยาวกว่า 1 ปี
ก. ต้องใช้สิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากทายาทของเจ้าหน้าที่ ภายในอายุความที่เหลืออยู่
ข. ต้องใช้สิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากทายาทของเจ้าหน้าที่ ภายใน 1 ปี นับแต่วันที่เจ้าหน้าที่ถึงแก่ความตาย
ค. ต้องใช้สิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากทายาทของเจ้าหน้าที่ ภายใน 1 ปี นับแต่เมื่อได้รู้หรือควรได้รู้ถึงความตายของเจ้าหน้าที่
ง. ถูกทุกข้อ

ข้อ 25 การแต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิด ข้อใดไม่สอดคล้อง
ก. มีเหตุอันควรเชื่อว่าเกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่
ข. บุคคลภายนอกทำให้เกิดความเสียหายโดยเจ้าหน้าที่ไม่มีส่วนร่วมกระทำความผิด
ค. เกิดความเสียหายแก่หน่วยงานของรัฐ
ง. ถูกทุกข้อ

ข้อ 26 ข้อใดถูกต้อง กรณีเจ้าหน้าที่ผู้กระทำละเมิดโอนย้ายไปสังกัดหน่วยงานของรัฐแห่งอื่น
ก. หัวหน้าหน่วยงานของรัฐในขณะมีการกระทำละเมิด ไม่มีอำนาจแต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิด
ข. หัวหน้าหน่วยงานของรัฐในขณะมีการกระทำละเมิด และหัวหน้าหน่วยงานของรัฐที่รับโอนย้ายเจ้าหน้าที่ผู้กระทำละเมิด มีอำนาจร่วมกันแต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิด
ค. หัวหน้าหน่วยงานของรัฐที่รับโอนย้ายเจ้าหน้าที่ผู้กระทำละเมิดเท่านั้น เป็นผู้มีอำนาจแต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิด
ง. หัวหน้าหน่วยงานของรัฐในขณะมีการกระทำละเมิดเท่านั้น เป็นผู้มีอำนาจแต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิด

ข้อ 27 กรณีหน่วยงานของรัฐหลายแห่งได้รับความเสียหายจากการทุจริตใช้เงินทดรองราชการ จะต้องถือว่าหน่วยงานใดได้รับความเสียหาย
ก. หน่วยงานที่จัดสรรงบประมาณ
ข. หน่วยงานที่ได้รับจัดสรรงบประมาณ
ค. กระทรวงการคลัง
ง. สำนักนายกรัฐมนตรี

ข้อ 28 ข้อใดคือ "หน่วยงานของรัฐ" ในราชการส่วนภูมิภาค ตามบทนิยามของกฎหมายว่าด้วยความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่
ก. จังหวัด
ข. อำเภอ
ค. จังหวัดและอำเภอ
ง. ไม่มีข้อใดถูก

ข้อ 29 กรณีรัฐวิสาหกิจถูกยุบเลิกโดยพระราชกฤษฎีกา ผู้ใดมีหน้าที่ติดตามให้เจ้าหน้าที่ผู้กระทำละเมิดต่อรัฐวิสาหกิจชดใช้ค่าสินไหมทดแทน
ก. นายกรัฐมนตรี
ข. กระทรวงการคลัง
ค. สำนักงบประมาณ
ง. ไม่มีข้อใดถูก

ข้อ 30 กรณีหน่วยงานของรัฐลงโทษไล่นาย เอ ออกจากราชการ ต่อมาศาลปกครองพิพากษาว่าคำสั่งไล่ออกไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงให้หน่วยงานของรัฐชดใช้เงินเดือนและเงินประจำตำแหน่งในระหว่างถูกไล่ออกจากราชการให้แก่นาย เอ ข้อใดถูกต้อง
ก. ไม่ใช่ค่าสินไหมทดแทนที่ต้องชดใช้อันเนื่องมาจากการกระทำละเมิด
ข. เป็นสิทธิของนาย เอ ที่พึงมีพึงได้ตามกฎหมาย
ค. ถูกทั้งข้อ ก. และ ข.
ง. ผิดทั้งข้อ ก. และ ข.

ข้อ 31 ผู้เสียหายที่ประสงค์จะยื่นคำขอต่อหน่วยงานของรัฐให้พิจารณาชดใช้ค่าสินไหมทดแทน จะต้องใช้สิทธิเรียกร้องตามข้อใด
ก. ภายใน 90 วัน นับแต่ได้รับแจ้งคำวินิจฉัย
ข. ภายใน 1 ปี นับแต่วันที่รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน
ค. ภายใน 1 ปี นับแต่วันที่รู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการฟ้องคดีต่อศาลปกครอง
ง. ถูกทุกข้อ

เฉลย
ข้อ 1 ตอบ ง. แม้มาตรา 14 พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดฯ บัญญัติให้ฟ้องคดีต่อศาลปกครอง แต่เนื่องจากการขับรถเก็บขยะมูลฝอย เป็นการละเมิดจากการปฏิบัติหน้าที่ธรรมดาทั่วไป การละเมิดไม่ได้เกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายที่จะอยู่ในอำนาจของศาลปกครอง ตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง (3) ประกอบกับมาตรา 106 พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 คดีดังกล่าวจึงอยู่ในอำนาจของศาลยุติธรรม (เทียบเคียงคำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ 278/2549)
ข้อ 2 ตอบ ข. มาตรา 4 "หน่วยงานของรัฐ" ...ให้หมายความรวมถึง หน่วยงานอื่นของรัฐที่มีพระราชกฤษฎีกากำหนดให้เป็นหน่วยงานของรัฐตามพระราชบัญญัตินี้ด้วย
ข้อ 3 ตอบ ค. ผู้เสียหายมีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลปกครองหรือศาลยุติธรรม แล้วแต่กรณี
ข้อ 4 ตอบ ค. มาตรา 7 วรรคสอง ถ้าศาลพิพากษายกฟ้อง เพราะเหตุที่หน่วยงานของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ที่ถูกฟ้องมิใช่ผู้ต้องรับผิด ให้ขยายอายุความฟ้องร้องผู้ที่ต้องรับผิดซึ่งมิได้ถูกเรียกเข้ามาในคดีออกไปถึง 6 เดือน นับแต่วันที่คำพิพากษานั้นถึงที่สุด
ข้อ 5 ตอบ ข. 15 พฤศจิกายน 2539 พระราชบัญญัติดังกล่าว ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2539 ซึ่งมาตรา 2 บัญญัติให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศฯ เป็นต้นไป
ข้อ 6 ตอบ ข. 15 พฤศจิกายน 2539 ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีดังกล่าว ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2539
ข้อ 7 ตอบ ง. ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีดังกล่าว ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 16 พฤศจิกายน 2539 เป็นต้นไป
ข้อ 8 ตอบ ก. มาตรา 5 วรรคหนึ่ง ต้องฟ้องหน่วยงานของรัฐ จะฟ้องเจ้าหน้าที่ไม่ได้
ข้อ 9 ตอบ ก. มาตรา 9 สิทธิไล่เบี้ยมีกำหนด 1 ปี นับแต่วันที่ได้ใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้เสียหาย
ข้อ 10 ตอบ ข. ข้อ 34 วรรคสอง แห่งระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยหลักเกณฑ์การปฏิบัติเกี่ยวกับความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 ให้คิดดอกเบี้ยตามอัตราดอกเบี้ยผิดนัด นับแต่วันทำละเมิดจนถึงวันที่ชำระค่าสินไหมทดแทน
ข้อ 11 ตอบ ก. 7 วัน ตามข้อ 17 วรรคสอง แห่งระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยหลักเกณฑ์การปฏิบัติเกี่ยวกับความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539
ข้อ 12 ตอบ ง. 180 วัน ตามมาตรา 11 วรรคสอง "ให้หน่วยงานของรัฐพิจารณาคำขอที่ได้รับ.. ให้แล้วเสร็จภายใน 180 วัน หากเรื่องใดที่ไม่อาจพิจารณาได้ทันในกำหนดนั้น จะต้องรายงานปัญหาและอุปสรรคให้รัฐมนตรีเจ้าสังกัดหรือกำกับหรือควบคุมดูแลหน่วยงานของรัฐแห่งนั้นทราบ และขออนุมัติขยายระยะเวลาออกไปได้ แต่รัฐมนตรีดังกล่าวจะพิจารณาอนุมัติให้ขยายระยะเวลาให้อีกได้ไม่เกิน 180 วัน
ข้อ 13 ตอบ ค. รัฐมนตรี ตามมาตรา 11 วรรคสอง ดังกล่าว
ข้อ 14 ตอบ ค. 180 วัน ตามมาตรา 11 วรรคสอง ดังกล่าว
ข้อ 15 ตอบ ค. 1,000,000 บาท ตามข้อ 5.1 ของประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ที่ไม่ต้องรายงานให้กระทรวงการคลังตรวจสอบ พ.ศ. 2562
ข้อ 16 ตอบ ง. ประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ที่ไม่ต้องรายงานให้กระทรวงการคลังตรวจสอบ พ.ศ. 2562 ข้อ 5.2.2 "หน่วยงานของรัฐไม่ต้องรายงานให้กระทรวงการคลังตรวจสอบ หากความเสียหายที่เกิดขึ้นกับทรัพย์สินของหน่วยงานของรัฐ ครั้งละเกินกว่า 1,000,000 บาท สำหรับความเสียหายที่มีสาเหตุจากการทุจริตและหน่วยงานของรัฐได้พิจารณาให้ผู้ทุจริตรับผิดชดใช้เต็มจำนวนความเสียหาย และ..."
ข้อ 17 ตอบ ข. มาตรา 10 วรรคสอง สิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากเจ้าหน้าที่ซึ่งกระทำละเมิดต่อหน่วยงานของรัฐกรณีทั่วไป มีกำหนดอายุความ 2 ปี นับแต่วันที่หน่วยงานของรัฐรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวเจ้าหน้าที่ผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน
ข้อ 18 ตอบ ง. "การรู้" เกิดขึ้นได้ 2 กรณี คือ 1. รู้ตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏขึ้น หรือ 2. รู้จากรายงานการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิด (ความเห็นคณะกรรมการกฤษฎีกา เรื่องเสร็จที่ 490/2549 , 301/2562)
ข้อ 19 ตอบ ข. สิทธิเรียกร้องฯ 2 ปี นับแต่วันที่หน่วยงานรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวเจ้าหน้าที่ผู้ต้องรับผิดดังกล่าว จะต้องไม่เกิน 10 ปี นับแต่วันกระทำละเมิดด้วย (ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448) (ความเห็นคณะกรรมการกฤษฎีกา เรื่องเสร็จที่ 1625/2564)
ข้อ 20 ตอบ ค. หากสิทธิเรียกร้องดังกล่าว มีมูลอันเป็นความผิดที่มีโทษทางอาญาและมีกำหนดอายุความอาญาที่ยาวกว่า จะต้องพิจารณาตามอายุความอาญา (ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448) (ความเห็นคณะกรรมการกฤษฎีกา เรื่องเสร็จที่ 33/2565)
ข้อ 21 ตอบ ค. มาตรา 10 วรรคสอง สิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากเจ้าหน้าที่ซึ่งกระทำละเมิดต่อหน่วยงานของรัฐกรณีที่หน่วยงานเห็นว่าไม่ต้องรับผิด แต่กระทรวงการคลังเห็นว่าต้องรับผิดหรือรับผิดเพิ่มขึ้น มีกำหนดอายุความ 1 ปี นับแต่วันที่หน่วยงานของรัฐมีคำสั่งตามความเห็นของกระทรวงการคลัง
ข้อ 22 ตอบ ข. สิทธิเรียกร้อง 1 ปี นับแต่วันที่หน่วยงานของรัฐมีคำสั่งตามความเห็นของกระทรวงการคลัง จะต้องไม่เกิน 10 ปี นับแต่วันกระทำละเมิดด้วย (ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448)
ข้อ 23 ตอบ ข. ตามหลักทั่วไป หน่วยงานของรัฐต้องใช้สิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากเจ้าหน้าที่ผู้ต้องรับผิด ภายในอายุความ 2 ปี นับแต่วันที่หน่วยงานของรัฐรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวเจ้าหน้าที่ผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน (ตามมาตรา 10 วรรคสอง พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดฯ) แต่หากเจ้าหน้าที่ผู้ต้องรับผิดดังกล่าวถึงแก่ความตาย และอายุความ 2 ปี นั้นเหลือสั้นกว่า 1 ปี หน่วยงานของรัฐต้องใช้สิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากทายาทของเจ้าหน้าที่ ภายใน 1 ปี นับแต่วันที่เจ้าหน้าที่ถึงแก่ความตาย ตามมาตรา 193/23 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ขยายอายุความเพราะเหตุเจ้าหนี้หรือลูกหนี้ถึงแก่ความตาย) 
ข้อ 24 ตอบ ค. ตามหลักทั่วไป หน่วยงานของรัฐต้องใช้สิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากเจ้าหน้าที่ผู้ต้องรับผิด ภายในอายุความ 2 ปี นับแต่วันที่หน่วยงานของรัฐรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวเจ้าหน้าที่ผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน (ตามมาตรา 10 วรรคสอง พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดฯ) แต่หากเจ้าหน้าที่ผู้ต้องรับผิดดังกล่าวถึงแก่ความตาย และอายุความ 2 ปี นั้นเหลือยาวกว่า 1 ปี หน่วยงานของรัฐต้องใช้สิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากทายาทของเจ้าหน้าที่ ภายใน 1 ปี นับแต่เมื่อได้รู้หรือควรได้รู้ถึงความตายของเจ้าหน้าที่ ตามมาตรา 1754 วรรคสาม แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ย่นอายุความเพราะเหตุลูกหนี้ถึงแก่ความตาย) 
*หมายเหตุ ข้อ 23 และข้อ 24 หากสิทธิเรียกร้อง อายุความ 2 ปี ตามพ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดฯ มาตรา 10 หรืออายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448 ขาดอายุความแล้ว ก็ไม่สามารถขยายหรือย่นอายุความได้
ข้อ 25 ตอบ ข. ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยหลักเกณฑ์การปฏิบัติเกี่ยวกับความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 ข้อ 8 วรรคหนึ่ง หัวหน้าหน่วยงานของรัฐ ต้องแต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิด เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่า เกิดความเสียหายแก่หน่วยงานของรัฐและมีเหตุอันควรเชื่อว่าเกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ ดังนั้น ข้อ ข. เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่าความเสียหายเกิดจากบุคคลภายนอกและเจ้าหน้าที่ไม่มีส่วนร่วมกระทำความผิด จึงไม่สอดคล้องกับหลักการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิด
ข้อ 26 ตอบ ง. กรณีเจ้าหน้าที่ผู้กระทำละเมิดโอนย้ายไปสังกัดหน่วยงานของรัฐอื่น หัวหน้าหน่วยงานของรัฐในขณะมีการกระทำละเมิดเท่านั้น เป็นผู้มีอำนาจแต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิด และไม่ใช่กรณีที่หน่วยงานของรัฐอื่นมีอำนาจร่วมกันแต่งตั้งคณะกรรมการฯ แต่อย่างใด (ไม่ใช่กรณีตามระเบียบฯ ข้อ 11) (ความเห็นคณะกรรมการกฤษฎีกา เรื่องเสร็จที่ 219/2550 , 959/2556)
ข้อ 27 ตอบ ข. หน่วยงานของรัฐที่ได้รับจัดสรรงบประมาณเพื่อจัดหาทรัพย์สิน ถือเป็นหน่วยงานของรัฐเจ้าของทรัพย์สินที่ได้รับความเสียหาย (ความเห็นคณะกรรมการกฤษฎีกา เรื่องเสร็จที่ 960/2556)
ข้อ 28 ตอบ ก. "หน่วยงานของรัฐ" ในราชการส่วนภูมิภาค หมายถึง จังหวัดซึ่งมีฐานะเป็นนิติบุคคลตาม พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 (ความเห็นคณะกรรมการกฤษฎีกา เรื่องเสร็จที่ 307/2541)
ข้อ 29 ตอบ ง. เมื่อมีการยุบเลิกรัฐวิสาหกิจ คณะกรรมการผู้ชำระบัญชีมีหน้าที่สะสางการงานของรัฐวิสาหกิจให้เสร็จสิ้นไป รวมถึงการดำเนินการให้มีการชำระหนี้สินทั้งหมดด้วย คณะกรรมการผู้ชำระบัญชีจึงมีหน้าที่ติดตามให้เจ้าหน้าที่ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้เสร็จสิ้นไป ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1259 (1) (4) โดยไม่ต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 (ความเห็นคณะกรรมการกฤษฎีกา เรื่องเสร็จที่ 174 - 175/2551)
ข้อ 30 ตอบ ค. เงินเดือนและเงินประจำตำแหน่งที่หน่วยงานของรัฐต้องจ่ายเพื่อเยียวยาหรือบรรเทาความเดือดร้อนในระหว่างถูกลงโทษทางวินัย เป็นเงินที่จ่ายตามสิทธิพึงมีพึงได้ตามกฎหมาย กฎ ระเบียบ ไม่ใช่ค่าสินไหมทดแทนที่ต้องชดใช้อันเนื่องมาจากการกระทำละเมิด (ความเห็นคณะกรรมการกฤษฎีกา เรื่องเสร็จที่ 1515/2560)
ข้อ 31 ตอบ ข. ผู้เสียหายจะใช้สิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทน โดยฟ้องคดีต่อศาล (มาตรา 5) หรือจะยื่นคำขอให้หน่วยงานของรัฐชดใช้ค่าสินไหมทดแทน (มาตรา 11) ก็ได้ ดังนี้
- การยื่นคำขอให้หน่วยงานของรัฐชดใช้ค่าสินไหมทดแทน ต้องกระทำภายใน 1 ปี นับแต่วันที่รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน แต่ไม่เกิน 10 ปี นับแต่วันทำละเมิด
- การฟ้องคดีต่อศาลยุติธรรม ต้องยื่นฟ้องภายใน 1 ปี นับแต่วันที่ผู้เสียหายรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน แต่ไม่เกิน 10 ปี นับแต่วันทำละเมิด
- การฟ้องคดีต่อศาลปกครอง ต้องยื่นฟ้องภายใน 1 ปี นับแต่วันที่รู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการฟ้องคดี แต่ไม่เกิน 10 ปี นับแต่วันที่มีเหตุแห่งการฟ้องคดี

***ขอให้ประสบความสำเร็จในการสอบครับ***

เนื้อหาที่น่าสนใจเพิ่มเติม

ความคิดเห็น

  1. ไม่ระบุชื่อ16 สิงหาคม 2566 เวลา 10:58

    ขอบคุณมากนะคะ แนวข้อสอบละเอียด และเป็นประโยชน์มากเลยค่ะ

    ตอบลบ

แสดงความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมประจำสัปดาห์

สาระสำคัญ พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. 2566 (ฉบับเตรียมสอบ)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. 2566 (30 ข้อ)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.การบริหารงานและการให้บริการภาครัฐผ่านระบบดิจิทัล พ.ศ. 2562 (20 ข้อ)

แนวข้อสอบ ระเบียบฯ การลาของข้าราชการ (ชุดที่ 2)

แนวข้อสอบ ระเบียบฯ พนักงานราชการ

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ. 2546 (20 ข้อ)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 (55 ข้อ)

แนวข้อสอบ ระเบียบฯ การลาของข้าราชการ (ชุดที่ 1)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 (ชุดที่ 1)