6 ช่องทางชำระค่าธรรมเนียมศาลปกครอง

          โดยทั่วไปการฟ้องคดีต่อศาลปกครองไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียม ยกเว้นการฟ้องคดีเพื่อขอให้ศาลสั่งให้ใช้เงินหรือส่งมอบทรัพย์สินอันเนื่องมาจากคดีตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง (3) หรือ (4) โดยให้เสียค่าธรรมเนียมตามทุนทรัพย์ในอัตราตามที่ระบุไว้ในตาราง 1 ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง สำหรับคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ ซึ่งหากมีทุนทรัพย์ในคดีไม่เกิน 50 ล้านบาท ให้เสียค่าธรรมเนียมศาลในอัตราร้อยละ 2 แต่ไม่เกิน 200,000 บาท และสำหรับทุนทรัพย์ส่วนที่เกิน 50 ล้านบาท ให้เสียค่าธรรมเนียมศาลในอัตราร้อยละ 0.1           

          สำหรับวิธีการชำระค่าธรรมเนียมศาลนั้น ข้อ 34 แห่งระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2543 แก้ไขเพิ่มเติมโดยระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครอง (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2560 ได้กำหนดวิธีการชำระค่าธรรมเนียมศาลปกครอง ซึ่งสามารถชำระได้ถึง 6 วิธี ดังนี้
          1. ชำระเป็นเงินสด
          2. เช็คซึ่งธนาคารรับรอง หรือเช็คซึ่งส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจเป็นผู้สั่งจ่าย
          3. บัตรเครดิต บัตรเดบิต หรือบัตรอื่นใดในลักษณะเดียวกัน มีหลักเกณฑ์ดังนี้
              3.1 เป็นบัตรเครดิต บัตรเดบิตหรือบัตรอื่นใดในลักษณะเดียวกัน ที่ออกโดยธนาคารหรือสถาบันการเงินอื่นใดซึ่งได้ทำความตกลงกับสำนักงานศาลปกครอง
              3.2 กรณีบัตรที่ใช้ชำระมิใช่เป็นบัตรของผู้มีหน้าที่ต้องชำระค่าธรรมเนียมศาล หรือเป็นการชำระแทนในนามของผู้มีหน้าที่ต้องชำระค่าธรรมเนียมศาล สามารถดำเนินการได้โดยให้พนักงานเจ้าหน้าที่ของศาลออกใบรับเงินในนามของผู้มีหน้าที่ต้องชำระค่าธรรมเนียมดังกล่าว
          4. หักบัญชีธนาคาร หรือชำระผ่านธนาคาร สถาบันการเงิน นิติบุคคลที่ประกอบธุรกิจการบริการรับชำระหนี้แทน มีหลักเกณฑ์ ดังนี้
              4.1 การหักบัญชีธนาคารหรือสถาบันการเงิน ต้องได้รับอนุญาตจากศาลและผู้มีหน้าที่ต้องชำระค่าธรรมเนียมศาลได้แสดงเจตนาเป็นหนังสือยินยอมให้ธนาคารหรือสถาบันการเงินหักเงินจากบัญชีของตนเพื่อชำระค่าธรรมเนียมศาล ซึ่งธนาคารหรือสถาบันการเงินดังกล่าวได้อนุมัติและแจ้งผลให้ศาลทราบแล้ว โดยให้พนักงานเจ้าหน้าที่ของศาลออกใบรับเงินให้
              4.2 การชำระผ่านธนาคาร สถาบันการเงิน หรือนิติบุคคลที่ประกอบธุรกิจบริการรับชำระหนี้แทนได้ มีหลักเกณฑ์ดังนี้
                    (1) ธนาคารหรือสถาบันการเงินหรือนิติบุคคลนั้น ได้ทำความตกลงกับสำนักงานศาลปกครองแล้ว
                    (2) พนักงานเจ้าหน้าที่ของศาลต้องออกใบแจ้งการชำระค่าธรรมเนียมศาล เพื่อให้ผู้มีหน้าที่ต้องชำระค่าธรรมเนียมศาลใช้เป็นหลักฐานในการชำระ
                    (3) ผู้มีหน้าที่ต้องชำระค่าธรรมเนียมศาล ต้องนำหลักฐานการชำระเงินมาแสดงต่อศาลเพื่อออกใบรับเงิน
          5. ชำระด้วยเครื่องฝากถอนเงินสดอัตโนมัติ (ATM) ผู้มีหน้าที่ต้องชำระค่าธรรมเนียมศาล ต้องนำหลักฐานการชำระผ่านเครื่องดังกล่าวมาแสดงต่อศาลเพื่อออกใบรับเงิน
          6. ชำระทางอินเตอร์เน็ต มีหลักเกณฑ์ ดังต่อไปนี้
              6.1 จะต้องเป็นการชำระผ่านทางเว็บไซต์ของธนาคาร หรือสถาบันการเงินที่สำนักงานศาลปกครองกำหนดไว้
              6.2 การชำระผ่านทางอินเตอร์เน็ตด้วยบัตรเครดิต ธนาคารหรือสถาบันการเงินเจ้าของบัตรได้ทำความตกลงกับสำนักงานศาลปกครองแล้ว
              6.3 ผู้มีหน้าที่ต้องชำระค่าธรรมเนียมศาล ต้องนำหลักฐานการชำระค่าธรรมเนียมศาลมาแสดงต่อศาลเพื่อออกใบรับเงิน
          ทั้งนี้ การชำระค่าธรรมเนียมศาลทั้ง 5 วิธี ดังกล่าว จะต้องชำระภายในระยะเวลาที่กฎหมายหรือศาลกำหนดไว้ และหากมีค่าใช้จ่ายอย่างอื่นในการเรียกเก็บเงินตามวิธีการดังกล่าว ให้ผู้มีหน้าที่ต้องชำระค่าธรรมเนียมศาลเป็นผู้รับภาระ


#นักเรียนกฎหมาย
2 สิงหาคม 2561



อ้างอิง
พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 
          มาตรา 45 วรรคสี่ บัญญัติว่า "การฟ้องคดีไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมศาล เว้นแต่การฟ้องคดีขอให้สั่งให้ใช้เงินหรือส่งมอบทรัพย์สินอันสืบเนื่องจากคดีตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง (3) หรือ (4) ให้เสียค่าธรรมเนียมศาลตามทุนทรัพย์ในอัตราตามที่ระบุไว้ในตาราง 1 ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง สำหรับคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้"

ระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2543 แก้ไขเพิ่มเติมโดยระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครอง (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2560
          ข้อ 34 กำหนดว่า "คำฟ้องที่ขอให้ศาลสั่งให้ใช้เงินหรือส่งมอบทรัพย์สินอันสืบเนื่องจากคดีตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง (3) หรือ (4) ให้ชำระค่าธรรมเนียมศาลตามทุนทรัพย์เป็นเงินสด เช็คซึ่งธนาคารรับรองหรือเช็คซึ่งส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจเป็นผู้สั่งจ่าย โดยให้พนักงานเจ้าหน้าที่ของศาลออกใบรับให้หรือชำระค่าธรรมเนียมศาลโดยวิธีการอื่นดังต่อไปนี้ พร้อมทั้งค่าธรรมเนียมหรือค่าใช้จ่ายอย่างอื่นในการเรียกเก็บเงินตามวิธีการดังกล่าว ถ้ามี ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่ประธานศาลปกครองสูงสุดกำหนด
          (1) บัตรเครดิต บัตรเดบิต หรือบัตรอื่นใดในลักษณะเดียวกัน
          (2) หักบัญชีธนาคาร หรือชำระผ่านธนาคาร สถาบันการเงิน นิติบุคคลที่ประกอบธุรกิจการบริการรับชำระหนี้แทนหรือด้วยเครื่องฝากถอนเงินสดอัตโนมัติ (ATM)
          (3) ทางอินเทอร์เน็ต
          (4) วิธีการอื่นตามที่ประธานศาลปกครองสูงสุดกำหนด
          ในกรณีตามวรรคหนึ่งที่ผู้ฟ้องคดีหลายคนร่วมกันยื่นคำฟ้องเป็นฉบับเดียวกัน หากเป็นกรณีที่อาจแบ่งแยกได้ว่าทุนทรัพย์ของผู้ฟ้องคดีแต่ละคนเป็นจำนวนเท่าใด ให้ผู้ฟ้องคดีแต่ละคนชำระค่าธรรมเนียมศาลตามส่วนของตน
          ในการคำนวณทุนทรัพย์ ถ้าทุนทรัพย์ไม่ถึงหนึ่งร้อยบาทให้นับเป็นหนึ่งร้อยบาท เศษของหนึ่งร้อยบาท ถ้าถึงห้าสิบบาทให้นับเป็นหนึ่งร้อยบาท ถ้าต่ำกว่าห้าสิบบาท ให้ปัดทิ้ง
          เมื่อได้ชำระค่าธรรมเนียมศาลแล้ว ถ้าทุนทรัพย์แห่งคำฟ้องเพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะโดยการยื่นคำฟ้องเพิ่มเติมหรือโดยประการอื่น ให้ศาลมีคำสั่งให้ผู้ฟ้องคดีชำระค่าธรรมเนียมศาลเพิ่มภายในระยะเวลาที่กำหนด ถ้าผู้ฟ้องคดีไม่ดำเนินการตามคำสั่งศาลภายในระยะเวลาที่กำหนด ให้ศาลมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณา"

ประกาศประธานศาลปกครองสูงสุด เรื่อง การชำระค่าธรรมเนียมศาล พ.ศ. 2560
 (ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 134 ตอนที่ 73 ก เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2560)
          ข้อ 3 กำหนดว่า "การชำระค่าธรรมเนียมศาลอาจชำระได้โดยวิธีการ ดังต่อไปนี้
          (1) เงินสด
          (2) เช็คซึ่งธนาคารรับรอง หรือเช็คซึ่งส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจเป็นผู้สั่งจ่าย
          (3) บัตรเครดิต บัตรเดบิต หรือบัตรอื่นใดในลักษณะเดียวกัน
          (4) หักบัญชีธนาคาร หรือชำระผ่านธนาคาร สถาบันการเงิน นิติบุคคลที่ประกอบธุรกิจการบริการรับชำระหนี้แทนหรือด้วยเครื่องฝากถอนเงินสดอัตโนมัติ (ATM)
          (5) ทางอินเตอร์เน็ต
          การชำระค่าธรรมเนียมศาลตามวรรคหนึ่งจะต้องเป็นกรณีที่ชำระภายในระยะเวลาที่กฎหมายหรือศาลกำหนดไว้ และหากมีค่าธรรมเนียมหรือค่าใช้จ่ายอย่างอื่นในการเรียกเก็บเงินตามวิธีการดังกล่าว ให้ผู้มีหน้าที่ต้องชำระค่าธรรมเนียมศาลเป็นผู้รับภาระ
          ข้อ 4 การชำระค่าธรรมเนียมศาลโดยบัตรเครดิต บัตรเดบิตหรือบัตรอื่นใดในลักษณะเดียวกันให้อยู่ภายใต้หลักเกณฑ์ ดังต่อไปนี้
          (1) เป็นบัตรเครดิต บัตรเดบิตหรือบัตรอื่นใดในลักษณะเดียวกัน ที่ออกโดยธนาคารหรือสถาบันการเงินอื่นใดซึ่งได้ทำความตกลงกับสำนักงานศาลปกครอง
          (2) กรณีบัตรที่ใช้ชำระมิใช่เป็นบัตรของผู้มีหน้าที่ต้องชำระค่าธรรมเนียมศาลหรือเป็นการชำระแทนในนามของผู้มีหน้าที่ต้องชำระค่าธรรมเนียมศาล สามารถดำเนินการได้โดยให้พนักงานเจ้าหน้าที่ของศาลออกใบรับเงินในนามของผู้มีหน้าที่ต้องชำระค่าธรรมเนียมดังกล่าว
          ข้อ 5 การชำระค่าธรรมเนียมศาลโดยการหักบัญชีธนาคารหรือสถาบันการเงินต้องได้รับอนุญาตจากศาลและผู้มีหน้าที่ต้องชำระค่าธรรมเนียมศาลได้แสดงเจตนาเป็นหนังสือยินยอมให้ธนาคารหรือสถาบันการเงินหักเงินจากบัญชีของตนเพื่อชำระค่าธรรมเนียมศาล ซึ่งธนาคารหรือสถาบันการเงินดังกล่าวได้อนุมัติและแจ้งผลให้ศาลทราบแล้ว โดยให้พนักงานเจ้าหน้าที่ของศาลออกใบรับเงินให้
          ข้อ 6 การชำระค่าธรรมเนียมศาลโดยผ่านธนาคาร สถาบันการเงิน หรือนิติบุคคลที่ประกอบธุรกิจบริการรับชำระหนี้แทนได้ ให้อยู่ภายใต้หลักเกณฑ์ ดังต่อไปนี้
          (1) ธนาคารหรือสถาบันการเงินหรือนิติบุคคลนั้นได้ทำความตกลงกับสำนักงานศาลปกครองแล้ว
          (2) พนักงานเจ้าหน้าที่ของศาลต้องออกใบแจ้งการชำระค่าธรรมเนียมศาล เพื่อให้ผู้มีหน้าที่ต้องชำระค่าธรรมเนียมศาลใช้เป็นหลักฐานในการชำระ
          (3) ผู้มีหน้าที่ต้องชำระค่าธรรมเนียมศาลต้องนำหลักฐานการชำระเงินมาแสดงต่อศาลเพื่อออกใบรับเงิน
          สำหรับการชำระค่าธรรมเนียมศาลผ่านเครื่องฝากถอนเงินสดอัตโนมัติ (ATM) ผู้มีหน้าที่ต้องชำระค่าธรรมเนียมศาลต้องนำหลักฐานการชำระผ่านเครื่องดังกล่าวมาแสดงต่อศาลเพื่อออกใบรับเงิน
          ข้อ 7 การชำระค่าธรรมเนียมศาลโดยทางอินเตอร์เน็ตให้อยู่ภายใต้หลักเกณฑ์ ดังต่อไปนี้
          (1) การชำระค่าธรรมเนียมศาลโดยทางอินเตอร์เน็ตจะต้องเป็นการชำระผ่านทางเว็บไซต์ของธนาคาร หรือสถาบันการเงินที่สำนักงานศาลปกครองกำหนดไว้
          (2) การชำระค่าธรรมเนียมศาลโดยทางอินเตอร์เน็ตด้วยบัตรเครดิต ธนาคารหรือสถาบันการเงินเจ้าของบัตรได้ทำความตกลงกับสำนักงานศาลปกครองแล้ว
          (3) ผู้มีหน้าที่ต้องชำระค่าธรรมเนียมศาลต้องนำหลักฐานการชำระค่าธรรมเนียมศาลมาแสดงต่อศาลเพื่อออกใบรับเงิน


ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมประจำสัปดาห์

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 (ชุดที่ 1)

แนวข้อสอบ ระเบียบฯ พนักงานราชการ

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 (55 ข้อ)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542

การส่งเด็กเข้าเรียนตามกฎหมาย

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 (ชุดที่ 2)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.มาตรฐานทางจริยธรรม พ.ศ. 2562

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 (ชุดที่ 5)

แนวข้อสอบ ระเบียบฯ การลาของข้าราชการ (ชุดที่ 2)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 (ชุดที่ 6)