ความผิดฐานฉ้อโกง


          ความผิดฐานฉ้อโกงตามประมวลกฎหมายอาญา มีตัวอย่างคดีที่ขึ้นโรงขึ้นศาล รวมทั้งมีหลักกฎหมายจากคำพิพากษาเป็นจำนวนมาก ผู้เขียนจึงสรุปสาระสำคัญสั้นๆ เพื่อให้เข้าใจได้ง่าย 

          ความผิดฐานฉ้อโกง ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 บัญญัติว่า 
          "ผู้ใดโดยทุจริต หลอกลวงผู้อื่นด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้งและโดยการหลอก ลวงดังว่านั้นได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้ถูกหลอกลวง หรือบุคคลที่สามหรือ ทำให้ผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สามทำ ถอนหรือทำลายเอกสารสิทธิ ผู้นั้นกระทำความผิดฐานฉ้อโกง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือ ปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ"

          การฉ้อโกง เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย ซึ่งผู้กระทำมีเจตนาทุจริตหลอกลวงผู้เสียหายตั้งแต่แรก โดยการแสดงข้อความเท็จ หรือปกปิดข้อความจริง ทำให้ผู้ถูกหลอกลวง ทำ ถอน หรือทำลายเอกสารสิทธิ และผลของการหลอกลวงนั้นได้ไปซึ่งทรัพย์สินของผู้เสียหายหรือบุคคลที่สาม ผู้กระทำจะต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 6 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

          สาระสำคัญของความผิดฐานฉ้อโกง มีดังนี้
          1. ผู้ใดหลอกลวงผู้อื่นด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้ง
              1.1 ข้อความเท็จจะต้องเป็นเหตุการณ์ในอดีตหรือปัจจุบัน ไม่ใช่เหตุการณ์ในอนาคต 
              1.2 ข้อความเท็จแค่เพียงบางส่วนก็ได้ 
              1.3 ผู้กระทำต้องรู้ว่าเป็นเท็จ ไม่ใช่การแสดงความคิดเห็นหรือคาดคะเน 
              1.4 วิธีการแสดงโดยใช้อุบายต่างๆ นาๆ อาจทางวาจา พูดจาหว่านล้อม หรือแสดงกิริยา ท่าทาง ลายลักษณ์อักษร หรือวิธีอื่นๆ ก็ได้ หรือปกปิดความจริง คือ เพื่อจะให้ได้ทรัพย์สินผู้กระทำจึงปกปิด ไม่ยอมบอก

          2. การหลอกลวงดังกล่าว ได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม หรือ
ทำให้ผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม ทำ ถอน หรือทำลายเอกสารสิทธิ
              2.1 การหลอกลวงต้องกระทำก่อนที่จะได้ทรัพย์สิน 
              2.2 หากผู้ถูกหลอกลวงไม่หลงเชื่อ แต่ให้ทรัพย์สินเพราะสงสาร หรือเพื่อจะใช้เป็นพยานหลักฐาน เป็นเพียงความผิดฐานพยายามฉ้อโกง 
              2.3 ถ้าผู้ถูกหลอกลวง ไม่เชื่อจึงไม่ให้ทรัพย์ หรือเชื่อแต่ไม่ให้ทรัพย์หรือไม่มีทรัพย์จะให้ ผิดฐานพยายามฉ้อโกง 
              2.4 กรณีทำ ถอน หรือทำลายเอกสารสิทธิ คือ เอกสารที่เป็นหลักฐานแห่งการก่อสิทธิ เปลี่ยนแปลงสิทธิ โอนสิทธิ สงวนสิทธิ หรือระงับสิทธิ อย่างใดอย่างหนึ่ง ตามมาตรา 1 (9) แห่งประมวลกฎหมายอาญา ถ้าไม่ใช่เอกสารสิทธิ ไม่ผิดฉ้อโกง
              2.5 ต้องเป็นทรัพย์สินของผู้อื่น ไม่ใช่ทรัพย์สินของตนเอง

          
3. มีเจตนาทุจริต 
              ต้องมีเจตนาทุจริตก่อนหรือขณะหลอกลวง เพื่อให้ส่งทรัพย์สินหรือให้กระทำการใดๆ ดังกล่าว

          นอกจากมาตรา 341 ดังกล่าว ยังปรากฏความผิดเกี่ยวกับฉ้อโกงในลักษณะอื่น ตามาตรา 342 ถึงมาตรา 348 มีสาระสำคัญดังนี้
          1. ถ้าการกระทำความผิดฐานฉ้อโกง ผู้กระทำ
              (1) แสดงตนเป็นคนอื่น หรือ
              (2) อาศัยความเบาปัญญาของผู้ถูกหลอกลวงซึ่งเป็นเด็ก  หรืออาศัยความอ่อนแอแห่งจิตของผู้ถูกหลอกลวง
          ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (มาตรา 342)
          2. ถ้าการกระทำความผิดตามมาตรา 341 โดยแสดงข้อความอันเป็นเท็จต่อประชาชน หรือด้วยการปกปิดความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้งแก่ประชาชน ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
          ถ้าการกระทำความผิดดังกล่าว กระทำโดยแสดงตนเป็นคนอื่น หรือ อาศัยความเบาปัญญาของผู้ถูกหลอกลวงซึ่งเป็นเด็ก หรืออาศัยความอ่อนแอแห่งจิตของผู้ถูกหลอกลวง ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือน ถึง 7 ปี และปรับตั้งแต่ 10,000 บาท ถึง 140,000 บาท (มาตรา 343)
          3. ถ้ามีเจตนาทุจริต หลอกลวงบุคคลตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ให้ประกอบการงานอย่างใดๆ แก่ตนหรือให้แก่บุคคลที่สาม โดยจะไม่ใช้ค่าแรงงานหรือค่าจ้างแก่บุคคลเหล่านั้น หรือโดยจะใช้ค่าแรงงานหรือค่าจ้างแก่บุคคลเหล่านั้นต่ำกว่าที่ตกลงกัน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (มาตรา 344)
          4. ผู้ใดสั่งซื้อและบริโภคอาหารหรือเครื่องดื่ม หรือเข้าอยู่ในโรงแรม โดยรู้ว่าตนไม่สามารถชำระเงินค่าอาหาร ค่าเครื่องดื่ม หรือค่าอยู่ในโรงแรมนั้น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับไม่เกิน 5,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (มาตรา 345)
          5. ผู้ใดเพื่อเอาทรัพย์สินของผู้อื่นเป็นของตนหรือของบุคคลที่สาม ชักจูงผู้หนึ่งผู้ใดให้จำหน่ายโดยเสียเปรียบซึ่งทรัพย์สิน โดยอาศัยเหตุที่ผู้ถูกชักจูงมีจิตอ่อนแอ หรือเป็นเด็กเบาปัญญา และไม่สามารถเข้าใจตามควรซึ่งสาระสำคัญแห่งการกระทำของตน จนผู้ถูกชักจูงจำหน่ายซึ่งทรัพย์สินนั้น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (มาตรา 346)
          6. ผู้ใดเพื่อให้ตนเองหรือผู้อื่นได้รับประโยชน์จากการประกันวินาศภัย แกล้งทำให้เกิดเสียหายแก่ทรัพย์สินอันเป็นวัตถุที่เอาประกันภัย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (มาตรา 347)
          7. ความผิดตามมาตรา 341 , มาตรา 342 , มาตรา 344 , มาตรา 345 , มาตรา 346 และมาตรา 347 เป็นความผิดอันยอมความได้ (มาตรา 348)

     

#นักเรียนกฎหมาย

14 สิงหาคม 2561



ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมประจำสัปดาห์

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 (55 ข้อ)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. 2566 (30 ข้อ)

สาระสำคัญ พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. 2566 (ฉบับเตรียมสอบ)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539

การส่งเด็กเข้าเรียนตามกฎหมาย

แนวข้อสอบ ระเบียบฯ พนักงานราชการ

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 (ชุดที่ 1)

แนวข้อสอบ ระเบียบฯ สารบรรณ (ชุดที่ 3)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561 (ชุดที่ 1)