คำพิพากษาศาลฎีกาเกี่ยวกับการถอนฟ้องคดีแพ่ง และความรับผิดทางละเมิด


          ตัวอย่างคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2416/2561 จากเว็บไซต์ศาลฎีกา
          ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 176 บัญญัติถึงผลการถอนฟ้อง ว่าโจทก์อาจนำฟ้องมายื่นใหม่ได้ แสดงว่าการถอนฟ้องไม่ได้ทำให้หนี้ระงับ จึงไม่ใช่การปลดหนี้ อันเป็นเรื่องความระงับแห่งหนี้
          จำเลยที่ 1 และที่ 2 ต่างคนต่างทำละเมิด ก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ สามารถแยกออกจากกันได้ ซึ่งต่างคนต่างต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามสมควรแก่พฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิดที่ตนกระทำ
          เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าความเสียหายตามฟ้องเกิดขึ้นจากความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 2 เท่านั้น มิได้เกี่ยวกับจำเลยที่ 1 การที่โจทก์ถอนฟ้องจำเลยที่ 1 จึงไม่ทำให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 หลุดพ้นจากความรับผิดต่อโจทก์
          สำหรับจำเลยที่ 3 เป็นนายจ้างของจำเลยที่ 2 ต้องร่วมกันรับผิดกับลูกจ้างในผลแห่งละเมิดซึ่งจำเลยที่ 2 ลูกจ้างได้กระทำไปในทางการที่จ้าง
          ส่วนจำเลยที่ 4 เป็นผู้รับประกันภัยค้ำจุน ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความวินาศภัยตามเงื่อนไขที่กำหนดในกรมธรรม์ประกันภัย ความรับผิดของจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ที่มีต่อโจทก์ จึงเป็นความรับผิดในหนี้จำนวนเดียวกันอันจะแบ่งกันชำระมิได้ ต้องร่วมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 301
          จำเลยที่ 4 ชำระเงินค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์ตามวงเงินในกรมธรรม์ประกันภัยแล้วส่วนหนึ่ง จำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงได้รับประโยชน์ในส่วนนี้ ไม่ต้องรับผิด ในค่าเสียหายส่วนที่โจทก์ได้รับจากจำเลยที่ 4 ไปแล้วอีก

หมายเหตุ
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
          มาตรา 176 บัญญัติว่า "การทิ้งคําฟ้องหรือถอนคําฟ้อง ย่อมลบล้างผลแห่งการยื่นคําฟ้อง
นั้น รวมทั้งกระบวนพิจารณาอื่นๆ อันมีมาต่อภายหลังยื่นคําฟ้อง และกระทําให้คู่ความกลับคืนเข้า
สู่ฐานะเดิม เสมือนหนึ่งมิได้มีการยื่นฟ้องเลย แต่ว่าคําฟ้องใดๆ ที่ได้ทิ้งหรือถอนแล้ว อาจยื่นใหม่
ได้ ภายใต้บังคับแห่งบทบัญญัติของกฎหมายว่าด้วยอายุความ"

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
          มาตรา 301 บัญญัติว่า "ถ้าบุคคลหลายคนเป็นหนี้อันจะแบ่งกันชำระมิได้ ท่านว่าบุคคลเหล่านั้นต้องรับผิดเช่นอย่างลูกหนี้ร่วมกัน"
          มาตรา 420 บัญญัติว่า "ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ทำต่อบุคคลอื่น โดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี แก่ร่างกายก็ดี อนามัยก็ดี เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี ท่านว่าผู้นั้นทำละเมิด จำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น"
          มาตรา 425 บัญญัติว่า "นายจ้างต้องร่วมกันรับผิดกับลูกจ้างในผลแห่งละเมิด ซึ่งลูกจ้างได้กระทำไปในทางการที่จ้างนั้น"

#นักเรียนกฎหมาย
2 ตุลาคม 2561


ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมประจำสัปดาห์

แนวข้อสอบ ระเบียบฯ พนักงานราชการ

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 (ชุดที่ 1)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 (55 ข้อ)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539

การส่งเด็กเข้าเรียนตามกฎหมาย

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. 2566 (30 ข้อ)

สาระสำคัญ พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. 2566 (ฉบับเตรียมสอบ)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561 (ชุดที่ 1)

แนวข้อสอบ ระเบียบฯ การลาของข้าราชการ (ชุดที่ 2)