สรุปสาระสำคัญ วิชาความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับกฎหมายทั่วไป (ครั้งที่ 2)


สรุปสาระสำคัญ
วิชา LAW1004 ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับกฎหมายทั่วไป
(ครั้งที่ 2 :: วันที่ 26 พฤศจิกายน 2561)
บรรยายโดยท่านอาจารย์ ดร. พรพรหม อินทรัมพรรย์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง

----------หัวข้อ ผู้เยาว์----------
1. ผู้เยาว์ คือ บุคคลที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ

2. เหตุที่ทำให้ผู้เยาว์บรรลุนิติภาวะ มี 2 กรณี คือ
    2.1 อายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ (มาตรา 19)
    2.2 ทำการสมรสโดยชอบด้วยกฎหมาย*** (มาตรา 20) คือ ชายและหญิงอายุครบ 17 ปีบริบูรณ์โดยความยินยอมของผู้แทนโดยชอบธรรม เว้นแต่มีเหตุอันควร ศาลอาจจะอนุญาตให้ทำการสมรสก่อนได้
    ตัวอย่าง อายุ 17 ปีบริบูรณ์ได้จดทะเบียนสมรสโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว ต่อมาอายุ 18 ได้จดทะเบียนหย่า ถือว่าบรรลุนิติภาวะแล้ว ไม่กลับมาเป็นผู้เยาว์อีก (บรรลุแล้ว บรรลุเลย)

3. ผู้แทนโดยชอบธรรมของผู้เยาว์
    3.1 ผู้ใช้อำนาจปกครอง มาตรา 1566 วรรคแรก โดยทั่วไปอยู่ใต้อำนาจปกครองของบิดามารดาร่วมกัน
    ยกเว้นบางกรณี ที่อำนาจปกครองอยู่กับบิดาหรือมารดาฝ่ายเดียว ได้แก่
        - มารดาหรือบิดาตาย
        - ไม่แน่นอนว่ามารดาหรือบิดามีชีวิตหรือตาย
        - มารดาหรือบิดาถูกศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ
        - มารดาหรือบิดาต้องรักษาตัวในโรงพยาบาลเพราะจิตฟั่นเฟือน
        - ศาลสั่งให้อำนาจปกครองอยู่กับมารดาหรือบิดา
        - มารดาหรือบิดาตกลงกันตามที่กฎหมายบัญญัติให้ตกลงกันไว้
    3.2 ผู้ปกครอง มาตรา 1585 ผู้ปกครองที่ศาลตั้งขึ้นมี 3 กรณี (ต้องให้ศาลมีคำสั่งตั้ง)
        - ผู้เยาว์มีบิดามารดาแต่ได้ตายแล้วทั้ง 2 คน
        - ผู้เยาว์มีบิดามารดาซึ่งยังมีชีวิตอยู่ แต่บิดามารดาถูกศาลสั่งถอนอำนาจปกครอง
        - บุคคลที่เข้ามาเป็นผู้ปกครองได้โดยพินัยกรรมของบิดามารดาที่ตายทีหลังระบุไว้

4. สิทธิและหน้าที่ของผู้ใช้อำนาจปกครองและผู้ปกครอง
    4.1 ในเรื่องทั่วไปเกี่ยวกับผู้เยาว์
    4.2 ในเรื่องเกี่ยวกับทรัพย์สินของผู้เยาว์
    ความสำคัญ คือ ผู้เยาว์ทำนิติกรรมมีผลทางกฎหมายอย่างไรบ้าง นิติกรรมสมบูรณ์ หรือนิติกรรมเป็นโมฆะ หรือนิติกรรมเป็นโมฆียะ***

5. ความสามารถในการทำนิติกรรมของผู้เยาว์
    มาตรา 21 โดยทั่วไป ต้องได้รับความยินยอมของผู้แทนโดยชอบธรรมก่อน ถ้าไม่ได้รับความยินยอม นิติกรรมนั้นเป็นโมฆียะ เว้นแต่จะบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น
    การให้ความยินยอมของผู้แทนโดยชอบธรรม ต้องให้ความยินยอมก่อนหรือขณะที่ผู้เยาว์ทำนิติกรรม โดยจะให้ความยินยอมเป็นลายลักษณ์อักษรหรือโดยวาจาก็ได้ หรือจะให้ความยินยอมโดยชัดแจ้งหรือโดยปริยายก็ได้

6. นิติกรรมที่ผู้เยาว์ทำได้เองโดยลำพัง ไม่ต้องขอความยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรม มี 3 ประการ
    6.1 กรณีการได้สิทธิ์หรือหลุดพ้นจากหน้าที่โดยไม่มีเงื่อนไข มาตรา 22
    6.2 กรณีการทำเองเฉพาะตัว มาตรา 23 เช่น การทำพินัยการรมเมื่ออายุ 15 ปีบริบูรณ์ ถ้าไม่ถึง 15 ปีบริบูรณ์ แม้จะได้รับความยินยอม พินัยกรรมก็เป็นโมฆะ ตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ , หรือการรับรองบุตร ตามมาตรา 1547
    6.3 กรณีการกระทำที่ทำลงให้สมแก่ฐานานุรูป และจำเป็นต่อการเลี้ยงชีพ มาตรา 24

7. นิติกรรมบางประเภทต้องได้รับความยินยองจากผู้แทนโดยชอบธรรม และต้องได้รับอนุญาตจากศาลด้วย ตามมาตรา 1574 (หากฝ่าฝืนมาตรา 1574 นิติกรรมเป็นโมฆะ)

8. มาตรา 26 ผู้แทนโดยชอบธรรมอนุญาตให้ผู้เยาว์จำหน่ายทรัพย์สินต่างๆ โดยกำหนดวิธีการจำหน่ายเอาไว้ ถ้าไม่ได้กำหนดวิธีการจำหน่ายไว้ ก็จำหน่ายตามความสมัครใจ

9. มาตรา 27 ผู้แทนโดยชอบธรรม ยินยอมให้ผู้เยาว์ประกอบธุรกิจทางการค้าหรือเป็นลูกจ้างในสัญญาจ้างแรงงาน
    ผู้แทนโดยชอบธรรมยินยอมเพียงครั้งเดียว ผู้เยาว์ก็สามารถทำการต่างๆ ที่เกี่ยวเนื่องทางการค้า ได้เสมือนว่าตนเป็นผู้ที่บรรลุนิติภาวะแล้ว
    หากผู้แทนโดยชอบธรรม ไม่ให้ความยินยอมโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร ผู้เยาว์อาจร้องขออนุญาตต่อศาลได้

----------หัวข้อ คนไร้ความสามารถ มาตรา 28-30----------
10. บุคคลวิกลจริตที่ถูกศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ มาตรา 28
    10.1 คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 490/2509 คนวิกลจริต หมายรวมถึง บุคคลที่มีอาการผิดปกติเพราะสติวิปลาสขาดจิตรำลึก ขาดความรู้สึกและรับผิดชอบ (อาจเป็นเพราะจิตผิดปกติหรือร่างกายป่วยก็ได้)
    10.2 อาการวิกลจริตจะต้องมีอาการอยู่เป็นประจำ แต่อาจไม่ตลอดเวลาก็ได้ (คุ้มดีคุ้มร้าย) และต้องเป็นอาการที่หนัก คือ ไม่สามารถรู้ว่าอะไรเป็นอะไร ไม่รู้สึกผิดชอบ

11. ผู้ร้องขอต่อศาล มาตรา 28
    11.1 คู่สมรส
    11.2 บุพการี
    11.3 ผู้สืบสันดาน
    11.4 ผู้ปกครอง
    11.5 ผู้พิทักษ์ (กรณีคนเสมือนไร้ความสามารถ)
    11.6 ผู้ซึ่งปกครองดูแล (ตามความเป็นจริง)
    11.7 พนักงานอัยการ
    ผลของการที่ถูกศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ ต้องจัดให้อยู่ในความดูแลของผู้อนุบาล ซึ่งผู้อนุบาลจะทำนิติกรรมต่างๆ แทนคนไร้ความสามารถ

12. การทำนิติกรรมของคนไร้ความสามารถ มาตรา 29
    12.1 มีผลเป็นโมฆียะเสมอ
    12.2 ไม่รวมถึงการกระทำที่มิใช่นิติกรรม เช่น นิติเหตุ หรือเหตุที่กฎหมายกำหนดให้เกิดสิทธิและหน้าที่ระหว่างกันแม้ไม่ได้เกิดจากการสมัครใจ (ละเมิด) คนไร้ความสามารถยังต้องรับผิด ตามมาตรา 429

13. การสิ้นสุดการเป็นคนไร้ความสามารถ
    เมื่อเหตุที่เป็นคนไร้ความสามารถ ได้สิ้นสุดลง โดยร้องขอต่อศาลให้สั่งเพิกถอนคำสั่งและประกาศในราชกิจจานุเบกษา

----------หัวข้อ คนเสมือนไร้ความสามารถ มาตรา 32-36----------
14. บุคคลที่มีเหตุบกพร่องต่างๆ 5 ประการ ตามมาตรา 32 อาจตกเป็นคนเสมือนไร้ความสามารถได้
    14.1 กายพิการ คือ ร่างกายส่วนหนึ่งได้ขาดไปหรือไม่สมประกอบ เช่น ตาบอด หูหนวก เป็นใบ้ อัมพาต ซึ่งอาจเป็นตั้งแต่กำเนิดหรือเกิดขึ้นภายหลังก็ได้
    14.2 จิตฟั่นเฟือน คือ จิตใจไม่ปกติ เป็นโรคจิต แต่ไม่ถึงกับวิกลจริต คือ มีเวลาที่รู้สึกผิดชอบธรรมดา แต่บางครั้งก็เลอะเลือนบ้าง เช่น ความจำเสื่อม สมองเสื่อม อัลไซเมอร์
    14.3 ประพฤติสุรุ่ยสุร่ายเสเพลเป็นอาจิณ ใช้จ่ายทรัพย์สินโดยไม่จำเป็น และไร้ประโยชน์ เป็นค่าใช้จ่ายเกินกว่ารายได้เป็นประจำ
    14.4 ติดสุรายาเมา เสพสุราหรือของมึนเมาต่างๆ เป็นอาจิณ ขาดเสียมิได้
    14.5 มีเหตุอื่นทำนองเดียวกัน เช่น งมงายไสยศาสตร์จนผิดปกติ
    โดยเหตุต่างๆ ดังกล่าว ต้องทำให้ไม่สามารถจัดการงานโดยตนเองได้ หรือจัดกิจการไปในทางที่เสื่อมเสียแก่ทรัพย์สินของตนเองหรือครอบครัว บุคคลตามมาตรา 28 ร้องขอให้ศาลสั่งให้เป็นคนเสมือนไร้ความสามารถได้
    แต่ถ้ายังสามารถจัดการงานได้ ไม่เสียหาย บุคคลตามมาตรา 28 จะร้องขอต่อศาลไม่ได้

15. เมื่อถูกศาลสั่งเป็นคนเสมือนไร้ความสามารถแล้ว ต้องจัดให้อยู่ในความดูแลของผู้พิทักษ์ (การแต่งตั้งผู้พิทักษ์ เป็นไปตามบรรพ 5)

16. การทำนิติกรรมของคนเสมือนไร้ความสามารถ
    โดยทั่วไป สามารถทำนิติกรรมได้ตามปกติ ทำได้เอง มีผลสมบูรณ์
    ยกเว้น นิติกรรม ตามมาตรา 34 (1) - (11) ต้องได้รับความยินยอมจากผู้พิทักษ์ หากไม่ได้รับความยินยอม นิติกรรมตกเป็นโมฆียะ

17. การสิ้นสุดการเป็นคนเสมือนไร้ความสามารถ 
    17.1 เหตุบกพร่องที่ทำให้เป็นคนเสมือนไร้ความสามารถตามมาตรา 32 สิ้นสุดลง 
    17.2 คนเสมือนไร้ความสามารถ มีอาการวิกลจริตหนักขึ้น จนถูกศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถตามมาตรา 33
    17.3 คนเสมือนไร้ความสามารถตาย
    คำสั่งของศาลที่ถอนคำสั่งเดิม ต้องประกาศในราชกิจจานุเบกษาด้วย

----------หัวข้อ นิติบุคคล----------
18. เมื่อเป็นนิติบุคคลแล้ว ก็จะมีสิทธิหน้าที่ต่างๆ ตามกฎหมายได้ แต่ต้องอยู่ภายใต้ขอบวัตถุประสงค์ของนิติบุคคล

19. ประเภทของนิติบุคคล
    19.1 นิติบุคคลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
        - สมาคม 
        - มูลนิธิ
        - หุ้นส่วนบริษัท (ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล , ห้างหุ้นส่วนจำกัด , บริษัทจำกัด)
    19.2 นิติบุคคลตามกฎหมายอื่น เช่น
        - พ.ร.บ.บริษัทมหาชนจำกัด
        - พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน
        - องค์การบริหารส่วนจังหวัด
        - เทศบาล
        - มหาวิทยาลัยรามคำแหง
        - วัด
        - บริษัทที่จดทะเบียนต่างประเทศ (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2357/2520)

20. สิทธิหน้าที่ของนิติบุคคล
    20.1 ตามที่กฎหมายกำหนด
    20.2 ตามข้อบังคับหรือตราสารจัดตั้งนิติบุคคล

21. ภูมิลำเนาของนิติบุคคล
    21.1 ถิ่นที่ตั้งสำนักงานใหญ่ หรือที่ตั้งที่ทำการ
    21.2 ภูมิลำเนาเฉพาะการตามข้อตกลงหรือตราสาร
    21.3 ถิ่นของสำนักงานสาขาที่กิจการนั้นได้ทำขึ้น
    กรณีที่ไม่มีสาขาในประเทศ มีแต่ตัวแทนของตัวการซึ่งอยู่ต่างประเทศ ไม่ถือว่าที่อยู่ของตัวแทนเป็นภูมิลำเนาของนิติบุคคล (รับผิดด้วยตนเอง ตามมาตรา 824)

22. การจัดการนิติบุคคล การแสดงเจตนาต่างๆ ของนิติบุคคล ต้องผ่านบุคคลธรรมดา อาจเป็นคนเดียวหรือหลายคนก็ได้ ซึ่งเรียกว่า ผู้แทนของนิติบุคคล

23. กิจการที่ผูกพันนิติบุคคล
    23.1 กระทำตามหน้าที่ภายใต้ขอบวัตถุประสงค์ของนิติบุคคล
    23.2 แม้การกระทำดังกล่าวจะทำให้ผู้อื่นเสียหาย
    23.3 นิติบุคคลต้องผูกพันต่อการกระทำนั้น
    23.4 แต่สามารถไล่เบี้ยกับผู้ที่ก่อความเสียหายได้

----------หัวข้อ สิทธิ----------
24. สิทธิ หมายถึง ประโยชน์ที่ได้รับรองและคุ้มครองโดยกฎหมาย ซึ่งสามารถพิจารณาได้ 4 ลักษณะ คือ
    24.1 สิทธิในตัวบุคคล
    24.2 สิทธิในทรัพย์สิน
    24.3 สิทธิในครอบครัว
    24.4 สิทธิทางการเมือง

25. องค์ประกอบของสิทธิ
    25.1 มีบุคคลผู้เป็นเจ้าของสิทธิ
    25.2 มีบุคคลผู้มีหน้าที่
    25.3 มีเนื้อหาแห่งสิทธิ
    25.4 ต้องมีวัตถุแห่งสิทธิ 
        - บุคคลสิทธิ
        - ทรัพยสิทธิ (สิทธิเหนือทรัพย์)
    25.5 มีบ่อเกิดแห่งสิทธิหรือการได้มาซึ่งสิทธิ
        - นิติกรรมและสัญญา (สมัครใจ)
        - นิติเหตุ (เหตตามกฎหมาย ที่ไม่ต้องอาศัยความสมัครใจ ก็ก่อให้เกิดสิทธิหน้าที่ต่อกันได้)

----------หัวข้อ นิติกรรม----------
26. องค์ประกอบของนิติกรรม
    26.1 เป็นการกระทำ แสดงเจตนาโดยชัดแจ้ง โดยปริยาย และบางกรณีโดยการนิ่ง 
    26.2 เป็นการกระทำโดยชอบกฎหมาย ไม่ขัดต่อกฎหมาย ไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน
    26.3 ทำโดยความสมัครใจ (ไม่ถูกบังคับ ข่มขู่ หลอกลวง เป็นต้น)
    26.4 การกระทำนั้นมุ่งให้เกิดผลทางกฎหมาย ผูกพันทางกฎหมาย
    26.5 มีวัตถุประสงค์เพื่อจะก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวน หรือระงับซึ่งสิทธิ

27. ประเภทของนิติกรรม
    27.1 นิติกรรมฝ่ายเดียว และ นิติกรรมหลายฝ่าย
    27.2 นิติกรรมที่มีผลระหว่างผู้ทำมีชีวิตอยู่ และ นิติกรรมที่มีผลเมื่อผู้ทำเสียชีวิตแล้ว
    27.3 นิติกรรมที่มีค่าตอบแทน และ นิติกรรมที่ไม่มีค่าตอบแทน
    27.4 นิติกรรมที่มีเงื่อนไข เงื่อนเวลา และ นิติกรรมที่ไม่มีเงื่อนไขและเงื่อนเวลา
    27.5 นิติกรรมที่สมบูรณ์โดยการแสดงเจตนา และ นิติกรรที่ต้องทำตามแบบ


#นักเรียนกฎหมาย
28 ธันวาคม 2561

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมประจำสัปดาห์

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. 2566 (30 ข้อ)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 (55 ข้อ)

แนวข้อสอบ ระเบียบฯ พนักงานราชการ

สาระสำคัญ พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. 2566 (ฉบับเตรียมสอบ)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561 (ชุดที่ 1)

การส่งเด็กเข้าเรียนตามกฎหมาย

สาระสำคัญ กฎกระทรวงการประกันคุณภาพการศึกษา พ.ศ. 2561

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.ผู้สูงอายุ พ.ศ. 2546 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (44 ข้อ)