สรุปคำบรรยาย กฎหมายล้มละลาย (ครั้งที่ 1)


สรุปคำบรรยาย 
วิชากฎหมายล้มละลาย LAW3010 
ครั้งที่ 1 :: วันที่ 5 เมษายน 2562 ภาคเรียน summer/2561
บรรยายโดยท่านอาจารย์ นันทรัตน์ เตชะมา คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง

คำถาม หากเรามีฐานะเป็นเจ้าหนี้ เราจะฟ้องลูกหนี้เป็นคดีแพ่ง หรือคดีล้มละลาย

ลักษณะทั่วไปของคดีล้มละลาย 
   - เจ้าหนี้ฟ้องเพื่อจัดการชำระสะสางหนี้ของลูกหนี้ ซึ่งลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัว คือ มีหนี้สินมากกว่าทรัพย์สิน (หนี้ท่วมหัว หรือทรัพย์สินที่มีไม่พอชำระหนี้) ตอนฟ้องคดีจะต้องแสดงให้เห็นว่า ลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัว
   - ฟ้องเพื่อรวบรวมทรัพย์สินของลูกหนี้ แม้จะไม่พอชำระหนี้ก็ตาม เมื่อรวบรวมแล้ว จะแบ่งชำระให้แก่เจ้าหนี้ทั้งหลาย (เป็นการฟ้องเพื่อประโยชน์แก่เจ้าหนี้ทั้งหลายทุกคนซึ่งสามารถมายื่นคำขอรับชำระหนี้)

ลักษณะทั่วไปของคดีแพ่ง
   -ฟ้องเพื่อต้องการบังคับให้ลูกหนี้ชำระหนี้แก่เรา (ไม่ได้ฟ้องเพื่อประโยชน์แก่เจ้าหนี้ทั้งหลาย)
   -หนี้ถึงกำหนดชำระแล้ว จึงจะฟ้องได้ (สิทธิของเจ้าหนี้ถูกโต้แย้งแล้ว)
ตัวอย่าง ลูกหนี้มีหนี้เงินกู้ 5 ล้านบาท ถึงกำหนดชำระ ไม่ยอมจ่าย แต่มีทรัพย์สินมากกว่า 5 ล้านบาท เจ้าหนี้ต้องฟ้องเป็นคดีแพ่ง

ประโยชน์ของการฟ้องคดีล้มละลาย มีประโยชน์แก่บุคคล 3 คน ได้แก่
   1. เจ้าหนี้ ช่วยให้เจ้าหนี้ทุกคนได้รับชำระหนี้โดยเสมอภาคกัน เป็นส่วนเท่าๆ กัน (เฉลี่ยได้กี่เปอร์เซ็นของมูลหนี้)
   2. ลูกหนี้ ลูกหนี้ที่สุจริตแต่ไม่มีทรัพย์สินพอชำระหนี้ ลูกหนี้สามารถยื่นขอประนอมหนี้ หรือขอชำระหนี้เพียงบางส่วน เช่น มีหนี้ 100 บาท แต่ไม่สามารถจ่ายได้ ขอประนอมหนี้โดยขอจ่าย 50 บาท หากเจ้าหนี้ยินยอมและจ่าย 50 บาทเสร็จสิ้น ถือว่าจบ ไม่ต้องล้มละลาย
   3. บุคคลภายนอก คดีล้มละลายจะมีการประกาศโฆษณาคำสั่งของศาลเรื่อยๆ เช่น คำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ชั่วคราว คำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด เห็นชอบด้วยกับการประนอมหนี้ พิพากษาล้มละลาย เพื่อป้องกันการที่ลูกหนี้จะไปทำการทุจริตฉ้อโกงบุคคลภายนอก (คดีทั่วไปไม่มีการประกาศโฆษณาคำสั่งของศาล แต่คดีล้มละลายมีผลต่อบุคคลภายนอกด้วย จึงต้องประกาศโฆษณา)

มาตรา 6 บทนิยามศัพท์
"รัฐมนตรี" หมายความว่า รัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ ซึ่งมาตรา 5 ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมรักษาการตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช 2483

"เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์" หรือ จ.พ.ท. (ทำข้อสอบไม่ควรย่อ) คือ 1. เจ้าพนักงานของศาลซึ่งถูกแต่งตั้งโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม มีอำนาจหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ และ 2. บุคคลที่ได้รับมอบหมายจากเจ้าพนักงานของศาลให้ปฏิบัติการแทน เพื่อประโยชน์ในการดำเนินคดีล้มละลาย 
(เนื่องจาก จ.พ.ท. มีหน้าที่หลายอย่าง อาจทำการไม่ทัน ก่อให้เกิดความเสียหาย จึงมีอำนาจมอบให้บุคคลอื่น ช่วยกระทำการบางอย่าง ผู้ได้รับมอบหมาย จึงมีอำนาจกระทำการเฉพาะการที่ได้รับมอบหมายเท่านั้น)

***"เจ้าหนี้มีประกัน" กาดอกจันไว้ 500 ดวงเลย สำคัญมาก คือ เจ้าหนี้ผู้มีสิทธิเหนือทรัพย์สินของลูกหนี้ ในทางจำนอง จำนำ สิทธิยึดหน่วง บุริมสิทธิที่บังคับได้ทำนองเดียวกับผู้รับจำนำ รวมถึงเจ้าหนี้ที่กฎหมายอื่นให้หมายถึงเจ้าหนี้มีประกัน เจ้าหนี้มีประกันจะมีเงื่อนไขดังนี้ (จำเงื่อนไขให้ได้)
   1. มีสิทธิเหนือทรัพย์สินเท่านั้น คือมีสิทธิบังคับชำระหนี้เอากับทรัพย์สินได้ก่อนเจ้าหนี้คนอื่น
   2. ทรัพย์สินที่เป็นหลักประกัน จะต้องเป็นทรัพย์สินของลูกหนี้เท่านั้น เป็นของคนอื่นไม่ได้
   (เจ้าหนี้มีประกันตามกฎหมายล้มละลาย จะต่างจากเจ้าหนี้มีประกันตามกฎหมายแพ่งตามเงื่อนไข 2 ข้อดังกล่าว)
   สิทธิเหนือทรัพย์สินของลูกหนี้ มีได้ 4 สิทธิ เท่านั้น คือ
     - จำนอง 
     - จำนำ
     - สิทธิยึดหน่วง
     - บุริมสิทธิที่บังคับได้ทำนองเดียวกับผู้รับจำนำ มีเจ้าหนี้ 2 ประเภท คือ เจ้าสำนักโรงแรม (ยึดทรัพย์ที่ตัวคนพัก เพื่อขายนำเงินมาชำระหนี้) และเจ้าหนี้ผู้มีสิทธิในมูลเช่าอสังหาริมทรัพย์ (ลูกหนี้เช่าอสังหาริมทรัพย์ ไปทำอะไร เจ้าหนี้มีสิทธิในมูลหนี้เช่าอสังหาริมทรัพย์)
   สรุป เจ้าหนี้ในคดีล้มละลาย มีอยู่ 2 ประเภท คือ 1. เจ้าหนี้ไม่มีประกัน 2. เจ้าหนี้มีประกัน ซึ่งเจ้าหนี้มีประกัน มีอยู่ 4 ประเภท คือ เจ้าหนี้จำนอง เจ้าหนี้จำนำ เจ้าหนี้ผู้มีสิทธิยึดหน่วง และเจ้าหนี้ผู้มีบุริมสิทธิที่บังคับได้ทำนองเดียวกับผู้รับจำนำ ดูตอนยื่นฟ้องล้มละลาย ว่าเจ้าหนี้มีิสิทธิในทางใดทางหนึ่งใน 4 ทาง ถ้ามี จะต้องฟ้องอย่างเจ้าหนี้มีประกัน แต่ถ้าตอนฟ้องไม่มีสิทธิในทางใดใน 4 ทางนี้ จะต้องฟ้องแบบเจ้าหนี้ไม่มีประกัน (ดูตอนฟ้องล้มละลายเท่านั้น) *หากไม่ใช่เจ้าหนี้มีประกัน ต้องฟ้องแบบเจ้าหนี้ไม่มีประกัน

***"พิทักษ์ทรัพย์" คือ พิทักษ์ทรัพย์สินไม่ว่าเด็ดขาดหรือชั่วคราว ในพระราชบัญญัตินี้จะปรากฏคำว่าพิทักษ์ทรัพย์ 3 คำ คือ
   - พิทักษ์ทรัพย์ชั่วคราว มาตรา 17 
   - พิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด มาตรา 14
   - พิทักษ์ทรัพย์ เป็นคำรวม หมายความถึง พิทักษ์ทรัพย์ชั่วคราวและพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด

"มติ" คือ มติของเจ้าหนี้ฝ่ายที่มีจำนวนหนี้ข้างมากซึ่งได้เข้าประชุมด้วยตนเองหรือมอบฉันทะให้ผู้อื่นเข้าประชุมแทนในที่ประชุมเจ้าหนี้ และได้ออกเสียงลงคะแนนในมตินั้น ซึ่งมติที่ได้ จะผูกพันเจ้าหนี้ทุกคนไม่ว่าจะเข้าประชุมหรือไม่ก็ตาม
   จะเป็นมติได้ ให้ดูที่จำนวนเงิน (จำนวนหนี้) ฝ่ายข้างมากที่เข้าประชุมและออกเสียงลงคะแนนในมตินั้น (คนที่ไม่เข้าประชุมหรือไม่ออกเสียง จะไม่นับ)
   *ถ้าแต่ละข้าง มีจำนวนหนี้เท่ากัน ก็ไม่ใช่หนี้ข้างมาก ถือว่าไม่มีมติ ต้องประชุมกันใหม่

***"มติพิเศษ" คือ มติของเจ้าหนี้ฝ่ายข้างมากซึ่งมีจำนวนหนี้เท่ากับ 3 ใน 4 แห่งจำนวนหนี้ทั้งหมดของเจ้าหนี้ ซึ่งได้เข้าประชุมด้วยตนเองหรือมอบฉันทะให้ผู้อื่นเข้าประชุมแทนในที่ประชุมเจ้าหนี้ และได้ออกเสียงลงคะแนนในมตินั้น มีเงื่อนไข 2 ข้อ
   1. จำนวนคน ตัวเจ้าหนี้ต้องเป็นฝ่ายข้างมาก และ
   2. จำนวนเงิน จำนวนหนี้ต้องมากกว่าหรือเท่ากับ 3 ใน 4 (ดูจากคนที่เข้าประชุมและออกเสียง)
   *ถ้าไม่ครบเงื่อนไขทั้ง 2 ข้อ ก็ไม่เป็นมติพิเศษ

คำว่า "มติ" กับ "มติพิเศษ" จะใช้ต่างกัน
มติ ใช้ในการประชุมเรื่องทั่วๆไป เรื่องอะไรก็ได้ (ที่ไม่ใช่เรื่องการประนอมหนี้) ที่ต้องได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมเจ้าหนี้
มติพิเศษ ใช้เพียงเรื่องเดียว คือ การประนอมหนี้ 
***หากในการประชุมเรื่องการประนอมหนี้ แต่ไม่สามารถมีมติพิเศษออกมาได้ จะไม่กลายเป็นมติ (มติธรรมดา) เพราะเป็นการประชุมคนละเรื่องกัน

***"บุคคลล้มละลายทุจริต" คือ บุคคลล้มละลายที่ถูกศาลพิพากษาว่ามีความผิด ตามมาตรา 163-170 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลายฯ หรือเป็นบุคคลล้มละลายอันเนื่องมาจากหรือเกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดฐานยักยอกหรือฉ้อโกงตามประมวลกฎหมายอาญา หรือการกระทำความผิดอันมีลักษณะเป็นการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนตามกฎหมายว่าด้วยการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน แบ่งออกเป็น 4 คน ดังนี้
   1. ศาลพิพากษาว่าผิด ตามมาตรา 163-170 คือ ศาลพิพากษาให้ล้มละลายแล้ว แต่ไปกระทำความผิดตามมาตรา 163-170 และถูกฟ้องเป็นอีกคดีหนึ่ง
   2. ยักยอก
   3. ฉ้อโกง
   4. กู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน (พระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ.2527)

มูลเหตุการฟ้องคดีล้มละลาย
   มาตรา 7  “ลูกหนี้ที่มีหนี้สินล้นพ้นตัวอาจถูกศาลพิพากษาให้ล้มละลายได้ ถ้าลูกหนี้นั้นมีภูมิลำเนาในราชอาณาจักร หรือประกอบธุรกิจในราชอาณาจักรไม่ว่าด้วยตนเองหรือโดยตัวแทนในขณะที่มีการขอให้ลูกหนี้ล้มละลาย หรือภายในกำหนดเวลาหนึ่งปีก่อนนั้น” 
   หลักเกณฑ์มี 5 ข้อ   1. ลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัว คือ มีหนี้สินมากกว่าทรัพย์สิน และ
   2. ลูกหนี้มีภูมิลำเนาในราชอาณาจักร ในขณะที่มีการขอให้ลูกหนี้ล้มละลาย หรือ
   3. ลูกหนี้ประกอบธุรกิจในราชอาณาจักร ไม่ว่าด้วยตนเองหรือโดยตัวแทน ในขณะที่มีการขอให้ลูกหนี้ล้มละลาย หรือ
   4. ลูกหนี้เคยมีภูมิลำเนาในราชอาณาจักรภายในกำหนดเวลาหนึ่งปีก่อนฟ้อง หรือ
   5. ลูกหนี้เคยประกอบธุรกิจในราชอาณาจักรไม่ว่าด้วยตนเองหรือโดยตัวแทน ภายในกำหนดเวลาหนึ่งปีก่อนฟ้อง
   (คำว่า การขอให้ลูกหนี้ล้มละลาย คือ การฟ้อง ส่วนคำว่าภายในกำหนดเวลาหนึ่งปีก่อนนั้น หมายถึง หนึ่งปีย้อนหลังไป ก่อนวันฟ้อง หนึ่งปีเต็ม ไม่นับวันฟ้อง เช่น ฟ้องล้มละลายวันที่ 5 เมษายน 2562 ภายในกำหนดเวลาหนึ่งปีก่อนนั้น ก็คือ ระหว่างวันที่ 4 เมษายน 2561 ถึงวันที่ 4 เมษายน 2562)


---จบคำบรรยาย ครั้งที่ 1--- 
#นักเรียนกฎหมาย
18 เมษายน 2562

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมประจำสัปดาห์

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 (55 ข้อ)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. 2566 (30 ข้อ)

สาระสำคัญ พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. 2566 (ฉบับเตรียมสอบ)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539

การส่งเด็กเข้าเรียนตามกฎหมาย

แนวข้อสอบ ระเบียบฯ พนักงานราชการ

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 (ชุดที่ 1)

แนวข้อสอบ ระเบียบฯ สารบรรณ (ชุดที่ 3)

กฎกระทรวงกำหนดกรณีอื่นที่เจ้าหน้าที่จะทำการพิจารณาทางปกครองไม่ได้ พ.ศ. 2566