สรุปคำบรรยาย กฎหมายล้มละลาย (ครั้งที่ 6)


สรุปคำบรรยาย
วิชากฎหมายล้มละลาย LAW3010
ครั้งที่ 6 :: วันที่ 24 เมษายน 2562 ภาคเรียน summer/2561
บรรยายโดยท่านอาจารย์ ภัทรวรรณ ทองใหญ่ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง


เนื้อหาในส่วนที่อาจารย์จะบรรยาย และเป็นข้อสอบ 1 ข้อ
   1. การขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้
   2. การหลุดพ้นจากการเป็นบุคคลล้มละลาย
       2.1 การประนอมหนี้หลังล้มละลาย
       2.2 การปลดจากล้มละลาย
       2.3 การยกเลิกการล้มละลาย
   3. ภาพรวมของกฎหมายฟื้นฟูกิจการ

สรุป กระบวนการประนอมหนี้ก่อนล้มละลาย
   ในคดีล้มละลายจะมีกระบวนการหนึ่งที่เรียกว่าการประนอมหนี้ คือ การที่ลูกหนี้ขอทำความตกลงเรื่องของหนี้สินกับบรรดาเจ้าหนี้ทั้งหลาย โดยขอชำระหนี้แต่เพียงบางส่วนหรือขอชำระหนี้ด้วยวิธีการอื่น กฎหมายล้มละลายพยายามจะหาทางออกซึ่งเป็นทางสายกลางให้กับบรรดาเจ้าหนี้ทั้งหลายที่อยากได้รับชำระหนี้ของตน ในขณะที่ตัวลูกหนี้เองมีปัญหาทางการเงิน มีหนี้สินล้มพ้นตัวหรือว่ามีหนี้สินมากกว่าทรัพย์สิน ฉะนั้นจึงเป็นไปไม่ได้ที่ลูกหนี้จะชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ทั้งหลายทุกคนได้ครบเต็มจำนวน 100% กฎหมายเลยหาทางออกสายกลาง คือ การให้ลูกหนี้ได้เสนอคำขอประนอมหนี้
   โดยในคดีล้มละลาย การประนอมหนี้จะมีด้วยกัน 2 ระยะ คือ การประนอมหนี้ก่อนล้มละลาย และการประนอมหนี้หลังล้มละลาย ซึ่งกระบวนการจะเชื่อมโยงกันหมด ไม่ได้เรียงมาตรา โดยเริ่มจากจุดที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด (มาตรา 14) ลูกหนี้ยื่นคำขอประนอมหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ (มาตรา 45 + มาตรา 30 (2)) (เป็นสิทธิของลูกหนี้ กฎหมายไม่ได้บังคับให้ลูกหนี้ยื่นคำขอประนอมหนี้) เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ก็จะเรียกประชุมเจ้าหนี้ครั้งแรก (มาตรา 45 วรรคท้าย + มาตรา 31) ว่าจะยอมรับคำขอประนอมหนี้หรือจะขอให้ศาลพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลาย โดยใช้มติพิเศษ 
   ถ้ามติพิเศษไม่ยอมรับในคำขอประนอมหนี้ ศาลจะพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลาย หรือมติพิเศษยอมรับในคำขอประนอมหนี้ ยังไม่ผูกมัดเจ้าหนี้ทั้งหลาย จนกว่าศาลจะเห็นชอบด้วย ถ้าศาลไม่เห็นชอบ 

มาตรา 61 
   เมื่อศาลได้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาดแล้ว และเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์รายงานว่า 
      1. เจ้าหนี้ได้ลงมติในการประชุมเจ้าหนี้ครั้งแรก (มาตรา 31) หรือในคราวที่ได้เลื่อนไป ขอให้ศาลพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลายก็ดี หรือ
      2. ไม่ลงมติประการใดก็ดี + รวมถึงลงมติแล้วแต่ไม่ได้มติพิเศษ หรือ
      3. ไม่มีเจ้าหนี้ไปประชุมก็ดี หรือ
      4. การประนอมหนี้ไม่ได้รับความเห็นชอบก็ดี (ไม่ได้รับความเห็นชอบจากศาล) 
      ให้ศาลพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลาย และเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีอำนาจจัดการทรัพย์สินของบุคคลล้มละลายเพื่อแบ่งแก่เจ้าหนี้ทั้งหลาย
   ดังนั้น การประนอมหนี้ก่อนล้มละลาย ยื่นได้เพียงครั้งเดียวเท่านั้น

ผลของการที่ศาลเห็นชอบกับคำขอประนอมหนี้ 
   1. ผลต่อตัวลูกหนี้ 
       - ลูกหนี้หลุดพ้นจากหนี้สินเดิม และผูกพันตามข้อตกลงในการประนอมหนี้ 
       - ถ้าชำระหนี้ครบตามคำขอประนอมหนี้ ลูกหนี้จะหลุดพ้นจากหนี้สินทั้งหมดและไม่ต้องถูกพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลาย โดยลูกหนี้สามารถยื่นคำร้องขอให้ศาลสั่งยกเลิกการล้มละลาย ตามมาตรา 135 (3)
       - ถ้าชำระหนี้ไม่ครบตามคำขอประนอมหนี้ ถือเป็นเหตุที่ศาลจะมีคำสั่งยกเลิกการประนอมหนี้ และศาลจะต้องพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลายเท่านั้น ตามมาตรา 60 
   2. ผลต่อบรรดาเจ้าหนี้ทั้งหลาย (มาตรา 56)
       - คำว่า "ผูกมัดเจ้าหนี้ทั้งหมดในเรื่องหนี้ซึ่งอาจขอรับชำระได้" คือ เจ้าหนี้ทุกคนของลูกหนี้ไม่ว่าจะมาประชุมเจ้าหนี้ครั้งแรกหรือไม่ก็ตาม แม้จะเป็นเจ้าหนี้ฝ่ายข้างน้อยที่ไม่ยอมรับคำขอประนอมหนี้ ทั้งนี้มูลแห่งหนี้ต้องเกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ (มาตรา 94)
       - เมื่อผูกมัดเจ้าหนี้แล้ว คำถามต่อมาคือจะผูกมัดอย่างไร ก็คือ หากเจ้าหนี้มายื่นขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลาย เจ้าหนี้จะมีสิทธิได้รับชำระหนี้ตามสัดส่วนที่ลูกหนี้ขอประนอมหนี้ แต่ถ้าเจ้าหนี้ที่อาจขอรับชำระหนี้ได้ไม่มายื่นขอรับชำระหนี้ ก็จะถูกผูกมัดโดยจะนำมูลหนี้ดังกล่าวไปฟ้องร้องให้ลูกหนี้รับผิดอีกไม่ได้ (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 177/2532 และที่ 1001/2509)
       - ข้อยกเว้น คำขอประนอมหนี้ที่ศาลเห็นชอบ ไม่ผูกมัดเจ้าหนี้ 2 ประเภท ตามมาตรา 77 เจ้าหนี้ตามมาตรา 77 ยังมีสิทธิได้รับชำระหนี้เต็มจำนวน เว้นแต่จะได้ยินยอมด้วยในการประนอมหนี้นั้น
       - ตัวอย่าง คดีล้มละลายเรื่องหนึ่ง เมื่อลูกหนี้มาขอประนอมหนี้ที่ประชุมเจ้าหนี้มีมติพิเศษยอมรับคำขอประนอมหนี้ของลูกหนี้ 50% และศาลสั่งเห็นชอบด้วยแล้ว เจ้าหนี้ที่มาขอรับชำระหนี้ต่อไปนี้ถูกผูกมัดเพียงใด
          -- นาย ก. ขอรับชำระหนี้เงินกู้ 1 ล้านบาท
          -- นาย ข. ขอรับชำระหนี้เงินกู้ 2 ล้านบาท
          -- กรมสรรพากร ขอรับชำระหนี้ภาษีอากร 1 ล้านบาท ข้อเท็จจริงปรากฏว่ากรมสรรรพากรไม่ยินยอมด้วยในการขอประนอมหนี้ของลูกหนี้
          -- นาย ค. ไม่ได้ยื่นขอรับชำระหนี้
          คำตอบ ประนอมหนี้ 50% นาย ก. จะมีสิทธิได้รับ 5 แสนบาท , นาย ข. มีสิทธิได้รับ 1 ล้านบาท ส่วนกรมสรรพากรมีสิทธิได้รับชำระหนี้ 1 ล้านบาท เต็มจำนวน , ส่วนนาย ค. จะนำหนี้ไปฟ้องเป็นคดีแพ่งอีกไม่ได้
   3. ผลต่อบุคคลภายนอกที่ต้องร่วมรับผิดกับลูกหนี้ (มาตรา 59) บุคคลภายนอกไม่ได้ถูกฟ้องล้มละลาย
       - การประนอมหนี้มีผลเฉพาะตัวลูกหนี้เท่านั้นที่จะหลุดพ้นจากหนี้เดิม และมาผูกพันตามข้อตกลงในคำขอประนอมหนี้ 
       - บุคคลภายนอกยังไม่หลุดพ้นจากการประนอมหนี้ เช่น หนี้ 3 ล้าน ลูกหนี้ขอประนอมหนี้ 2.4 ล้าน ชำระครบ ลูกหนี้หลุดพ้น แต่ผู้ค้ำประกันไม่ได้รับประโยชน์จากข้อตกลง ยังต้องรับผิดในหนี้ที่เหลืออีก 6 แสน ที่ต้องชำระให้แก่เจ้าหนี้ 
   4. ผลต่อคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด (ไม่ได้อยู่ในตัวบท แต่เป็นแนวคำพิพากษาศาลฎีกา)
       เมื่อศาลเห็นชอบด้วยกับคำขอประนอมหนี้ จะส่งผลให้คำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดถูกยกเลิกเพิกถอนไปทันที ศาลไม่ต้องสั่งยกเลิกอีก เพื่อให้ลูกหนี้กลับมามีอำนาจในการจัดการกิจการและทรัพย์สินของตนได้ และจะได้ดำเนินการชำระหนี้ตามสัดส่วนที่ขอประนอมหนี้กับเจ้าหนี้ได้ (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2649/2541)
   5. ผลต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์
       เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์หมดอำนาจในการจัดการกิจการและทรัพย์สินแทนลูกหนี้ เว้นแต่ในกิจการบางอย่างตามที่ระบุไว้ในคำขอประนอมหนี้ที่ยังคงให้อำนาจเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ดำเนินการ เช่น ในคำขอประนอมหนี้ระบุว่า ลูกหนี้ขอโอนทรัพย์สินตีใช้หนี้ให้กับเจ้าหนี้ทั้งหลาย โดยให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ทำหน้าที่นำทรัพย์สินออกขายทอดตลาดและนำเงินที่ได้มาแบ่งเฉลี่ยให้แก่เจ้าหนี้

   จากหลักซึ่งออกข้อสอบบ่อย*** คือ ถ้าลูกหนี้ผิดนัดข้อตกลงในการประนอมหนี้ หรือมีเหตุอย่างอื่นตามมาตรา 60 ศาลจะสั่งยกเลิกการประนอมหนี้และพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลายเท่านั้น
   เมื่อลูกหนี้เป็นบุคคลล้มละลายแล้ว จะหลุดพ้นจากการล้มละลายได้ 3 กรณี (ประนอมหนี้หลังล้มละลาย , ปลด , ยกเลิก) กรณีแรก การประนอมหนี้หลังล้มละลายตามมาตรา 63
   "เมื่อศาลพิพากษาให้ล้มละลายแล้ว ลูกหนี้จะเสนอคำขอประนอมหนี้ก็ได้ ในกรณีนี้ให้นำบทบัญญัติของส่วนที่ 6 การประนอมหนี้ก่อนล้มละลาย ในหมวด 1 กระบวนพิจารณาตั้งแต่ขอให้ล้มละลายจนถึงปลดจากล้มละลาย มาใช้บังคับโดยอนุโลม แต่ถ้าลูกหนี้ได้เคยขอประนอมหนี้ไม่เป็นผลมาแล้ว ห้ามมิให้ลูกหนี้ขอประนอมหนี้ภายในกำหนดเวลาหกเดือนนับแต่วันที่การขอประนอมหนี้ครั้งสุดท้ายไม่เป็นผล
   การขอประนอมหนี้ตามวรรคหนึ่ง ไม่เป็นเหตุให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ต้องเลื่อนหรืองดการจำหน่ายทรัพย์สิน เว้นแต่กรณีมีเหตุอันสมควรที่อาจเป็นประโยชน์แก่การขอประนอมหนี้
   ถ้าศาลเห็นชอบด้วยการประนอมหนี้ ศาลมีอำนาจสั่งให้ยกเลิกการล้มละลาย และจะสั่งให้ลูกหนี้กลับมีอำนาจจัดการเกี่ยวกับทรัพย์สินของตนหรือจะสั่งประการใดตามที่เห็นสมควรก็ได้"
      - การประนอมหนี้หลังล้มละลาย ลูกหนี้จะยื่นกี่ครั้งก็ได้ แต่ถ้าครั้งก่อนหน้านั้นไม่เป็นผล หากจะยื่นครั้งต่อไป ลูกหนี้ต้องเว้นวรรค 6 เดือน
       - การไม่เป็นผลของคำขอประนอมหนี้ อาจเป็นเพราะที่ประชุมเจ้าหนี้ไม่ยอมรับ ไม่ลงมติหรือไม่มาประชุม หรือศาลไม่เห็นชอบ หรือศาลสั่งยกเลิกการประนอมหนี้
   
---จบคำบรรยาย ครั้งที่ 6---
#นักเรียนกฎหมาย
27 เมษายน 2562

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมประจำสัปดาห์

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 (55 ข้อ)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. 2566 (30 ข้อ)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539

สาระสำคัญ พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. 2566 (ฉบับเตรียมสอบ)

กฎกระทรวงกำหนดกรณีอื่นที่เจ้าหน้าที่จะทำการพิจารณาทางปกครองไม่ได้ พ.ศ. 2566

การส่งเด็กเข้าเรียนตามกฎหมาย

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 (ชุดที่ 1)

แนวข้อสอบ ระเบียบฯ พนักงานราชการ

แนวข้อสอบ ระเบียบฯ สารบรรณ (ชุดที่ 3)