ค่าเสียหายจากการทำลายทรัพยากรธรรมชาติ (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1347/2564)


การกำหนดจำนวนค่าเสียหาย จากการทำลายหรือทำให้ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสียหายในเรื่องนี้ เป็นประเด็นหนึ่งจากคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1347/2564 

คดีนี้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ยื่นฟ้องว่าจำเลยบุกรุกยึดถือครอบครองที่ดินภายในเขตห้ามล่าสัตว์ป่า โดยทำการปรับพื้นที่ใช้เครื่องจักรขุดร่องน้ำ ยกคัน ปลูกไม้ยืนต้นจำนวนมากหลายชนิด มิใช่พันธุ์ไม้ตามธรรมชาติ และมีบ้านพัก 1 หลัง เป็นการทำลาย ทำให้เสียหาย หรือเปลี่ยนแปลงทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อม และระบบนิเวศ จึงต้องรับผิดตามมาตรา 97 แห่ง พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 คิดเป็นมูลค่าความเสียหายไร่ละ 78,202 บาท รวมเป็นเงิน 11,496,280.51 บาท พร้อมดอกเบี้ย

ศาลฎีกาแผนกคดีสิ่งแวดล้อมวินิจฉัยว่า ที่ดินพิพาทยังมีสภาพเป็นทุ่งหญ้าและคูน้ำ อันเป็นพื้นที่ที่มีน้ำท่วมขังเช่นเดียวกับสภาพก่อนที่มีการบุกรุก และทางนำสืบไม่ปรากฏว่าพื้นที่ทุ่งหญ้าและคูน้ำมีเนื้อที่จำนวนเท่าใด เกิดความเสียหายหรือส่งผลกระทบต่อการใช้ประโยชน์โดยตรง และการใช้ประโยชน์โดยอ้อม ซึ่งเป็นฐานในการกำหนดมูลค่าความเสียหายทางสิ่งแวดล้อมทั้งหมดหรือบางส่วนเพียงใด 

เมื่อที่ดินพิพาทบางส่วนยังมีสภาพเดิมอยู่ และไม่อาจทราบได้แน่นอนว่ามีเนื้อที่จำนวนเท่าใด อีกทั้งในพื้นที่พิพาทมิได้มีสิ่งปลูกสร้างขนาดใหญ่ หรือโรงงานอุตสาหกรรม หรือมีการทำการเกษตรในลักษณะที่มีการทำลายสิ่งแวดล้อมให้เสียหายผิดเพี้ยนไปจากธรรมชาติที่มีอยู่เดิม 

ดังนั้น การเรียกค่าเสียหายไร่ละ 78,202 บาท เท่ากับมูลค่าที่เกิดจากการใช้ประโยชน์โดยตรง และการใช้ประโยชน์โดยอ้อมของพื้นที่บริเวณที่ดินพิพาททั้งหมด จึงเป็นจำนวนที่สูงเกินไป ซึ่งตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 มาตรา 97 ก็ไม่ได้บัญญัติหลักเกณฑ์ในการกำหนดค่าเสียหายไว้โดยละเอียด การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 กำหนดให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน 3,000,000 บาท เป็นค่าเสียหายที่สมควรแล้ว

จากคำพิพากษาดังกล่าว จะเห็นได้ว่า นอกจากการนำสืบจะมีความสำคัญต่อผลคดีแล้ว การแก้ไขปรับปรุง พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ความเสียหายที่ชัดเจน ก็จะทำให้กฎหมายมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

ที่มา
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1347/2564. เนติบัณฑิตยสภา, หนังสือคำพิพากษาฎีกา ประจำพุทธศักราช 2564 ตอนที่ 2

- พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535
มาตรา 97 บัญญัติว่า "ผู้ใดกระทำ หรือละเว้นการกระทำด้วยประการใด โดยมิชอบด้วยกฎหมายอันเป็นการทำลาย หรือทำให้สูญหาย หรือเสียหายแก่ทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งเป็นของรัฐหรือเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน มีหน้าที่ต้องรับผิดชอบชดใช้ค่าเสียหายให้แก่รัฐ ตามมูลค่าทั้งหมดของทรัพยากรธรรมชาติที่ถูกทำลาย สูญหาย หรือเสียหายไปนั้น"

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมประจำสัปดาห์

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. 2566 (30 ข้อ)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542

สาระสำคัญ พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. 2566 (ฉบับเตรียมสอบ)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.การบริหารงานและการให้บริการภาครัฐผ่านระบบดิจิทัล พ.ศ. 2562 (20 ข้อ)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 (55 ข้อ)

แนวข้อสอบ ระเบียบฯ การลาของข้าราชการ (ชุดที่ 2)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ. 2546 (20 ข้อ)

การส่งเด็กเข้าเรียนตามกฎหมาย

แนวข้อสอบ ระเบียบฯ พนักงานราชการ

แนวข้อสอบ ระเบียบฯ การลาของข้าราชการ (ชุดที่ 1)