เหตุผลที่นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย


   โดยปกติ เมื่อนายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างที่ทำงานติดต่อกันครบ 120 วันขึ้นไป นายจ้างจะต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างตามอัตราที่กำหนด จะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับระยะเวลาการทำงานของลูกจ้าง ตาม พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 118

   อย่างไรก็ตาม หากนายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างโดยอาศัยเหตุผล ตามมาตรา 119 ก็ไม่จำต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้าง ดังนี้
   1. ทุจริตต่อหน้าที่ การกระทำใดๆ ที่เป็นการประพฤติชั่ว โกง หรือไม่ซื่อตรงในการปฏิบัติงาน เช่น
- เบียดบัง ยักยอกเงินไว้เป็นของตนเอง
- เบิกค่าใช้จ่ายเท็จ โดยรู้ว่าตนเองไม่มีสิทธิเบิก
- มีหน้าที่รับเงินและนำส่งนายจ้าง แต่ไม่นำส่ง
- แสวงหาประโยชน์ทำให้นายจ้างสูญเสียรายได้
- เบียดบังเวลาและทรัพย์สินของนายจ้าง

   2. กระทำความผิดอาญาโดยเจตนาแก่นายจ้าง โดยลูกจ้างตั้งใจกระทำความผิดกฎหมายอาญาต่อนายจ้างหรือบุคคลที่ถือว่าเป็นนายนายหรือกระทำต่อกิจการงานของนายจ้าง เช่น
- แก้ไขใบรับรองแพทย์ให้หยุดเพิ่มขึ้น เป็นความผิดอาญาฐานปลอมเอกสารและใช้เอกสารปลอม
- รู้เห็นหรือสนับสนุนการลักทรัพย์ของนายจ้าง อันเป็นความผิดอาญาฐานลักทรัพย์หรือรับของโจร
- ยื่นใบลาออกแล้ว ต่อมาฉีกใบลาออกทิ้ง ผิดฐานทำให้เสียทรัพย์

   3. จงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย ลูกจ้างมีเจตนาให้เกิดความเสียหาย โดยไม่ต้องดูว่าจะเกิดความเสียหายขึ้นจริงหรือไม่ และจะเกิดความเสียหายมากน้อยเพียงใดก็ตาม เช่น
- ขัดขวางไม่ให้มีการทำงานให้แก่นายจ้าง
- นัดหยุดงานโดยไม่ปฏิบัติขั้นตอนของกฎหมาย
- ลูกจ้างตั้งบริษัทแข่งขันกับนายจ้าง โดยมีลูกค้ากลุ่มเดียวกัน 

   4. ประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้นายจ้างได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง ลูกจ้างปฏิบัติงานโดยประมาทเลินเล่อและทำให้นายจ้างได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง เช่น
- มีหน้าที่ตรวจสอบแต่ไม่ตรวจสอบ กลับเสนอข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อลูกค้า จนนายจ้างได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง
- สินค้าคงคลังที่อยู่ในความรับผิดชอบหายไปโดยไม่ทราบสาเหตุ มูลค่า 6 ล้านกว่าบาท
- ไม่ควบคุมลูกน้องให้จัดทำบัญชีคุมทรัพย์สิน ทำให้ทรัพย์สินหายไป 3 แสนกว่าบาท

   5. ฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน หรือระเบียบหรือคำสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรม และนายจ้างได้ตักเตือนเป็นหนังสือแล้ว เว้นแต่กรณีที่ร้ายแรงไม่ต้องตักเตือน
กรณีนี้จะต้องมีข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานซึ่งกำหนดให้ลูกจ้างต้องปฏิบัติหรือไม่ปฏิบัติ เช่น
- คำสั่งให้ไปทำงานไกลขึ้นโดยไม่จัดที่พักหรือรถรับส่ง แม้คำสั่งจะชอบด้วยกฎหมายและไม่เป็นธรรม
- คำสั่งเปลี่ยนตำแหน่งหัวหน้ายามให้ไปเป็นยาม คำสั่งไม่เป็นคุณ ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
- คำสั่งลดตำแหน่งลูกจ้างลง แม้ค่าจ้างเท่าเดิม ก็ไม่ชอบด้วยกฎหมายและไม่เป็นธรรม
- คำสั่งเปลี่ยนหน้าที่ลูกจ้างเนื่องจากเจ็บป่วย อาจชอบด้วยกฎหมายได้
   ในเรื่องการฝ่าฝืนข้อบังคับนี้ หากเป็นกรณีร้ายแรง นายจ้างเลิกจ้างได้ทันที เช่น
- เล่นการพนันบริเวณที่ทำงาน
- ตอกบัตรทำงานแทนกัน
- สูบบุหรี่ข้างกล่องกระดาษซึ่งกองไว้เป็นจำนวนมาก
- เมาสุราขณะทำงาน
- ฉีกทำลายประกาศเตือนว่ากระทำผิดวินัย
- เรียกรับเงินเข้าทำงาน
   แต่หากเป็นกรณีไม่ร้ายแรง นายจ้างจะต้องตักเตือนลูกจ้างเป็นหนังสือก่อนและหากลูกจ้างกระทำผิดในเรื่องเดียวกันอีกภายใน 1 ปี นับแต่วันที่กระทำความผิดครั้งแรก จึงจะเลิกจ้างโดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยได้ เช่น
- ผู้ออกหนังสือเตือนต้องมีอำนาจว่าจ้างหรือเลิกจ้างหรือได้รับมอบหมายให้มีอำนาจออกหนังสือเตือนด้วย
- หัวหน้าแผนกซึ่งไม่ได้รับมอบหมายให้ออกหนังสือเตือน ไม่ถือว่าเป็นหนังสือเตือนที่ชอบด้วยกฎหมาย
- ครั้งแรกเตือนเรื่องลากิจ ต่อมาเป็นเรื่องลาป่วย ถือว่าเป็นคนละเรื่องกัน

   6. ละทิ้งหน้าที่เป็นเวลา 3 วันทำงานติดต่อกัน ไม่ว่าจะมีวันหยุดคั่นหรือไม่ก็ตามโดยไม่มีเหตุอันสมควร เช่น
- ไม่ไปทำงาน 2 วันครึ่ง ไม่ใช่กรณีนี้ ซึ่งกำหนดว่า 3 วันทำงานติดต่อกัน
- หากนายจ้างลงโทษลูกจ้างเรื่องใดแล้ว ไม่สามารถนำมากล่าวอ้างว่าลูกจ้างทำผิดซ้ำคำเตือนในเรื่องเดิมได้อีก
- การนัดหยุดงานโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายเป็นเวลา 3 วันทำงานติดต่อกัน ถือเป็นการละทิ้งหน้าที่กรณีนี้แล้ว
- ลงเวลาทำงานแต่ไม่ทำงาน ถือเป็นการละทิ้งหน้าที่
- ลูกจ้างแจ้งการลาออกด้วยวาจาต่อหัวหน้าซึ่งไม่ใช่ผู้มีอำนาจกระทำการแทนนายจ้าง สัญญาจ้างยังไม่สิ้นสุดลง เมื่อลูกจ้างไม่ไปทำงาน จึงเป็นการละทิ้งหน้าที่โดยไม่มีเหตุอันสมควร
- ไม่ไปทำงานเพราะถูกตำรวจจับกุม ถือว่ามีเหตุอันสมควรที่ทำให้ไปทำงานไม่ได้

   7. ได้รับโทษจำคุกตามคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก แต่ถ้าเป็นความผิดที่กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ ต้องเป็นกรณีที่เป็นเหตุให้นายจ้างได้รับความเสียหายด้วย
- ลูกจ้างจะกระทำผิดก่อนหรือขณะเป็นลูกจ้างก็ได้ แต่ขณะเป็นลูกจ้างจะต้องได้รับโทษจำคุกตามคำพิพากษาถึงที่สุดและต้องมิใช่ความผิดที่เกิดจากการประมาทหรือความผิดลหุโทษ

อ้างอิง 
ศาสตราจารย์เกษมสันต์ วิลาวรรณ. คำบรรยายเนติบัณฑิต ภาคหนึ่ง สมัยที่ 72 ปีการศึกษา 2562
#นักเรียนกฎหมาย
25 พฤศจิกายน 2562

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมประจำสัปดาห์

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 (55 ข้อ)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. 2566 (30 ข้อ)

สาระสำคัญ พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. 2566 (ฉบับเตรียมสอบ)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539

การส่งเด็กเข้าเรียนตามกฎหมาย

แนวข้อสอบ ระเบียบฯ พนักงานราชการ

กฎกระทรวงกำหนดกรณีอื่นที่เจ้าหน้าที่จะทำการพิจารณาทางปกครองไม่ได้ พ.ศ. 2566

แนวข้อสอบ ระเบียบฯ สารบรรณ (ชุดที่ 3)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 (ชุดที่ 1)