ลักษณะของสัญญาจำนอง


ความหมายของสัญญาจำนอง ปรากฏอยู่ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 702 ที่บัญญัติว่า 
   "อันว่าจำนองนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่ง เรียกว่าผู้จำนอง เอาทรัพย์สินตราไว้แก่บุคคลอีกคนหนึ่ง เรียกว่าผู้รับจำนอง เป็นประกันการชำระหนี้ โดยไม่ส่งมอบทรัพย์สินนั้นให้แก่ผู้รับจำนอง
   ผู้รับจำนองชอบที่จะได้รับชำระหนี้จากทรัพย์สินที่จำนองก่อนเจ้าหนี้สามัญ มิพักต้องพิเคราะห์ว่ากรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินจะได้โอนไปยังบุคคลภายนอกแล้วหรือหาไม่" 

จากบทบัญญัติดังกล่าว สามารถแยกพิจารณาลักษณะสำคัญได้ 5 ประการดังนี้
1. ผู้จำนองอาจเป็นลูกหนี้ชั้นต้นหรือบุคคลที่สามก็ได้ 
    - การจำนองเป็นการประกันการชำระหนี้ด้วยทรัพย์สิน ไม่ใช่การเอาบุคคลมาเป็นประกันการชำระหนี้ ดังนั้น ผู้จำนองจึงอาจเป็นลูกหนี้ชั้นต้นหรือเป็นบุคคลที่สามก็ได้ 
    - หนี้ประธานที่มีอยู่ระหว่างเจ้าหนี้กับลูกหนี้ชั้นต้น จะเกิดจากสัญญาหรือละเมิดก็ได้
    - หนี้ประธานจะเป็นหนี้ที่มีอยู่แล้วในขณะทำสัญญาจำนอง หรือจะเป็นหนี้ที่จะมีขึ้นในอนาคตก็ได้

2. เป็นการเอาทรัพย์สินตราไว้เป็นประกันการชำระหนี้ 
    - เป็นการนำเอกสารที่แสดงถึงสิทธิในทรัพย์สิน ไปจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ เพื่อให้ทรัพย์สินนั้นผูกพันเป็นประกันการชำระหนี้ประธาน กฎหมายจึงกำหนดให้สัญญาจำนองต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ตามมาตรา 714 ซึ่งบัญญัติว่า "อันสัญญาจำนองนั้น ท่านว่าต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่"
    - เจ้าพนักงานจะต้องบันทึกการจำนองไว้ในเอกสารที่แสดงถึงสิทธิในทรัพย์สินนั้นด้วย เช่น เจ้าพนักงานที่ดินต้องจดทะเบียนสัญญาจำนอง และบันทึกไว้ในสารบัญจดทะเบียนหลังโฉนดที่ดิน ว่าเจ้าของที่ดินจำนองต่อผู้ใด เมื่อวันที่เท่าไหร่ ส่วนผู้ใดจะเป็นผู้เก็บรักษาโฉนดที่ดินแล้วแต่คู่สัญญาจะตกลงกัน
    - ผู้จำนองไม่ต้องส่งมอบทรัพย์สินที่จำนอง แต่ถ้าจะตกลงกันว่าจะต้องส่งมอบทรัพย์สินที่จำนองให้แก่ผู้รับจำนอง ข้อตกลงนี้ก็ใช้บังคับได้ ไม่มีผลกระทบถึงสิทธิและหน้าที่อื่นตามสัญญาจำนอง 
    - ผู้รับจำนองต้องเป็นเจ้าหนี้ เพราะมาตรา 702 ใช้คำว่า "ตราไว้แก่บุคคลอีกคนหนึ่ง เรียกว่าผู้รับจำนอง เป็นประกันการชำระหนี้" 
    - ถ้าลูกหนี้มอบโฉนดที่ดิน หรือ น.ส. 3 ให้เจ้าหนี้ยึดไว้เป็นประกันการชำระหนี้ แต่ไม่ได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ตามมาตรา 714 ก็ไม่เป็นการตราไว้เป็นประกันการชำระหนี้ ตามมาตรา 702 จึงไม่เป็นการจำนองและไม่เป็นการจำนำ เพียงแต่เจ้าหนี้ยังคงมีสิทธิตามสัญญาที่จะยึดเอกสารนั้นไว้จนกว่าจะได้รับชำระหนี้ 
    - สัญญาจะจำนอง ไม่มีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ 

3. หนี้ที่จำนองเป็นประกันต้องเป็นหนี้ที่สมบูรณ์ 
    มาตรา 707 บัญญัติว่า "บทบัญญัติมาตรา 681 ว่าด้วยค้ำประกันนั้น ท่านให้ใช้ได้ในการจำนองอนุโลมตามควร"
    - การจำนองเพื่อประกันจะทำได้เฉพาะหนี้ที่สมบูรณ์ 
    - ถ้าทำสัญญาจำนองเป็นประกันหนี้ที่ไม่สมบูรณ์ การจำนองนั้นไม่มีผลบังคับให้ผู้จำนองต้องรับผิดตามสัญญาจำนอง เช่น สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินตกเป็นโมฆะ เพราะกฎหมายห้ามโอนภายใน 10 ปี เมื่อทำสัญญาจำนองเป็นประกันหนี้ตามสัญญาจะซื้อจะขายดังกล่าว สัญญาจำนองจึงไม่อาจบังคับได้ เพราะสัญญาจำนองจะมีได้เฉพาะเพื่อหนี้อันสมบูรณ์ ดังนั้นจึงไม่อาจบังคับตามสัญญาจะซื้อจะขายและสัญญาจำนองได้ 
    - กรณีที่หนี้สมบูรณ์แล้ว แม้ขาดหลักฐานที่จะฟ้องร้อง ก็สามารถจำนองประกันหนี้นั้นได้ โดยไม่ต้องคำนึงว่าเจ้าหนี้จะฟ้องตามหนี้ประธานนั้นได้หรือไม่ เช่น การกู้ยืมเงิน 1,500,000 บาท ขาดหลักฐานการฟ้องร้อง ซึ่งหนี้จำนวนนี้มีอยู่จริงและสมบูรณ์แล้ว เพียงแต่กฎหมายห้ามมิให้ฟ้องร้องบังคับเท่านั้น หนี้ดังกล่าวจึงสามารถมีการจำนองเป็นประกันได้ และฟ้องบังคับผู้จำนองได้ 
    - หนี้ในอนาคตหรือหนี้ที่มีเงื่อนไขจะทำจำนองประกันไว้ก็ได้ เช่น การจำนองประกันหนี้สัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชี การจำนองประกันหนี้อันเกิดจากการกระทำของลูกจ้าง 
    - กรณีนี้ที่เกิดแต่สัญญาซึ่งลูกหนี้กระทำโดยสำคัญผิด ตามมาตรา 681 จะต้องเป็นเรื่องผู้จำนองเป็นบุคคลที่สามไม่ใช่ตัวลูกหนี้ 

4. สัญญาจำนองเป็นสัญญาที่ก่อให้เกิดหนี้อุปกรณ์ 
    - หนี้จำนองต้องอยู่ในกรอบของหนี้ประธาน
    - ถ้าหนี้ประธานไม่ผูกพัน สัญญาจำนองก็ไม่ผูกพันให้ผู้จำนองต้องรับผิดไปด้วย 
    - หนี้กู้ยืมเงินซึ่งเป็นหนี้ประธานกำหนดอัตราดอกเบี้ยเท่าใด หนี้จำนองซึ่งเป็นหนี้อุปกรณ์ จึงคงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยได้เพียงเท่าดอกเบี้ยที่คิดได้จากหนี้ตามสัญญากู้เงินให้เป็นหนี้ประธาน 
    - เมื่อหนี้ตามสัญญากู้ซึ่งเป็นหนี้ประธานระงับ เพราะลูกหนี้ชำระหนี้ให้ครบถ้วนแล้ว สัญญาจำนองซึ่งเป็นหนี้อุปกรณ์ย่อมระงับไปด้วย ตามมาตรา 744 (1)
    - สัญญาที่ก่อหนี้ประธานไม่ได้ให้ปรับเพิ่มดอกเบี้ย แต่สัญญาจำนองให้ปรับเพิ่มดอกเบี้ยได้ 
    - ถ้ามีการลดดอกเบี้ยในหนี้ประธาน เจ้าหนี้ก็ไม่อาจคิดดอกเบี้ยตามสัญญาจำนองให้สูงกว่าอัตราดอกเบี้ยในหนี้ประธานได้

5. ผู้รับจำนองมีสิทธิ์ได้รับชำระหนี้จากทรัพย์สินที่จำนองก่อนเจ้าหนี้สามัญ
    ตามมาตรา 702 วรรคสอง บัญญัติว่า "ผู้รับจำนองชอบที่จะได้รับชำระหนี้จากทรัพย์สินที่จำนองก่อนเจ้าหนี้สามัญ มิพักต้องพิเคราะห์ว่ากรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินจะได้โอนไปยังบุคคลภายนอกแล้วหรือหาไม่"
    - เจ้าหนี้สามัญ คือ เจ้าหนี้ที่ไม่มีหลักประกันอะไรเป็นพิเศษ ที่จะทำให้มีสิทธิ์ได้รับชำระหนี้ก่อนเจ้าหนี้อื่น 
    - ผู้รับจำนองจะยึดหน่วงโฉนดที่ดินที่จำนองไว้จนกว่าผู้จำนองจะชำระหนี้ อันเป็นการกระทบสิทธิของโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาในอีกคดีหนึ่งที่จะบังคับคดียึดที่ดินแปลงนั้นเพื่อขายทอดตลาดไม่ได้

ที่มา อาจารย์ปัญญา ถนอมรอด. รวมคำบรรยายเนติบัณฑิตภาค 1 สมัยที่ 72 ปีการศึกษา 2562 เล่มที่ 9 วิชายืมค้ำประกันจำนองจำนำ

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมประจำสัปดาห์

การส่งเด็กเข้าเรียนตามกฎหมาย

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 (ชุดที่ 1)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542

แนวข้อสอบ ระเบียบฯ สารบรรณ (ชุดที่ 3)

แนวข้อสอบ พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ. 2546

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 (ชุดที่ 1)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ. 2546 (20 ข้อ)

สาระสำคัญ พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 (ฉบับเตรียมสอบ)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.มาตรฐานทางจริยธรรม พ.ศ. 2562