สาระสำคัญ ระเบียบว่าด้วยปีการศึกษา การเปิดและปิดสถานศึกษา


     สรุปสาระสำคัญของระเบียบว่าด้วยปีการศึกษา การเปิดและปิดสถานศึกษา เป็นไปตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยปีการศึกษา การเปิดและปิดสถานศึกษา พ.ศ. 2549 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2558) เป็นระเบียบที่บังคับใช้ภายในหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยไม่พบว่ามีการประกาศในราชกิจจานุเบกษาแต่อย่างใด

1. ขอบเขตการบังคับใช้
    1.1 ระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยปีการศึกษา การเปิดและปิดสถานศึกษา พ.ศ. 2549 ประกาศ ณ วันที่ 28 กันยายน 2549 และกำหนดให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 29 กันยายน 2549 เป็นต้นไป
    1.2 กรณีระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศและคำสั่งอื่นในส่วนที่กำหนดไว้ในระเบียบนี้หรือขัดแย้งกับระเบียบนี้ ให้ใช้ระเบียบนี้แทน
    1.3 กรณีสถานศึกษาที่มีกฎหมาย ข้อบังคับ และระเบียบกำหนดในเรื่องนี้ไว้เป็นการเฉพาะแล้ว ให้ถือปฏิบัติตามกฎหมาย ข้อบังคับ และระเบียบนั้น

2. นิยามความหมาย
    2.1 "กรณีพิเศษ" หมายความว่า กรณีจำเป็นต้องใช้สถานศึกษาเพื่อประชุม สัมมนา ฝึกอบรม จัดสอบ พักแรม จัดกิจกรรมเสริมหลักสูตรหรือกิจกรรมอื่นใดที่เป็นประโยชน์ต่อชุมชนหรือเหตุจำเป็นอื่นที่ไม่อาจเปิดเรียนได้ตามปกติ
    2.2 "เหตุพิเศษ" หมายความว่า สาธารณภัยอันมีผลกระทบต่อสาธารณชน ไม่ว่าจะเกิดจากธรรมชาติ มีผู้ทำให้เกิดขึ้น อุบัติเหตุ หรือเหตุอื่นใด ซึ่งก่อให้เกิดอันตรายแก่ชีวิต ร่างกายของประชาชน หรือความเสียหายแก่ทรัพย์สินของประชาชน หรือของรัฐ และให้หมายความรวมถึงภัยทางอากาศ และการก่อวินาศกรรมด้วย
    2.3 "เลขาธิการ" หมายความว่า เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา และหมายความรวมถึง เลขาธิการ กศน. เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชนด้วย
    2.4 "สถานศึกษา" หมายความว่า สถานพัฒนาเด็กปฐมวัย โรงเรียนศูนย์การศึกษาพิเศษ ศูนย์การเรียน วิทยาลัย หรือสถานศึกษาที่เรียกชื่ออย่างอื่นของรัฐหรือเอกชน ที่มีอำนาจหน้าที่หรือมีวัตถุประสงค์ในการจัดการศึกษาตามกฎหมายว่าด้วยการศึกษาแห่งชาติและตามประกาศกระทรวง
    2.5 "หัวหน้าสถานศึกษา" หมายความว่า ครูใหญ่ อาจารย์ใหญ่ ผู้อำนวยการ อธิการบดี หรือตำแหน่งที่เรียกชื่ออย่างอื่นในลักษณะเดียวกัน
    2.6 "นักเรียนและนักศึกษา" หมายความว่า บุคคลซึ่งกำลังรับการศึกษาอยู่ในสถานศึกษา

3. กำหนดปีการศึกษา
    ปีการศึกษาหนึ่ง วันเริ่มต้นปีการศึกษาคือวันที่ 16 พฤษภาคม และวันสิ้นปีการศึกษาคือวันที่ 15 พฤษภาคม ของปีถัดไป

4. การเปิดและปิดภาคเรียนตามปกติ
    4.1 ภาคเรียนที่หนึ่ง วันเปิดภาคเรียนวันที่ 16 พฤษภาคม วันปิดภาคเรียนวันที่ 11 ตุลาคม
    4.2 ภาคเรียนที่สอง วันเปิดภาคเรียนวันที่ 1 พฤศจิกายน วันปิดภาคเรียนวันที่ 1 เมษายน ของปีถัดไป
    สถานศึกษาใดประสงค์จะเปิดและปิดภาคเรียนแตกต่างไปจากที่กำหนด ให้ส่วนราชการเจ้าสังกัดเป็นผู้กำหนดตามที่เห็นสมควร

5. ผู้มีอำนาจสั่งปิดสถานศึกษากรณีพิเศษหรือเนื่องจากเหตุพิเศษ 
   การปิดสถานศึกษากรณีพิเศษ หรือการปิดสถานศึกษาเนื่องจากเหตุพิเศษ เพื่อระงับเหตุหรือเพื่อป้องกันภยันตรายอันอาจจะเกิดขึ้น ระเบียบได้กำหนดตัวบุคคลผู้มีอำนาจสั่งปิดและเงื่อนไขไว้เหมือนกัน คือ
    5.1 หัวหน้าสถานศึกษา สั่งปิดได้ไม่เกิน 7 วัน
    5.2 ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา สั่งปิดได้ไม่เกิน 15 วัน
    5.3 เลขาธิการ สั่งปิดได้ไม่เกิน 30 วัน
    5.4 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ หรือปลัดกระทรวงศึกษาธิการ สั่งปิดได้ตามความเหมาะสมและความจำเป็น
    เมื่อได้สั่งปิดสถานศึกษาไปแล้ว สถานศึกษาต้องทำการสอนชดเชยให้ครบตามจำนวนวันที่ปิดนั้น

6. รูปแบบคำสั่งปิดสถานศึกษา
    โดยหลักจะต้องทำคำสั่งเป็นหนังสือ เว้นแต่สั่งด้วยวาจาหรือสั่งโดยการสื่อความหมายในรูปแบบอื่น เมื่อผู้มีอำนาจได้สั่งปิดสถานศึกษาชั่วคราวแล้ว ให้ทำคำสั่งเป็นหนังสือภายใน 30 วัน นับแต่วันที่สั่งการด้วยวาจาหรือสั่งโดยการสื่อความหมายในรูปแบบอื่น

7. การขยายเวลาปิดสถานศึกษา
    เมื่อมีการสั่งปิดสถานศึกษากรณีพิเศษหรือปิดสถานศึกษาเนื่องจากเหตุพิเศษแล้ว แต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นยังไม่สงบ หรือมีเหตุจำเป็นที่จะต้องสั่งปิดต่อไปอีก ให้เป็นดุลยพินิจของผู้มีอำนาจสั่งปิดสถานศึกษาดังกล่าว

8. การปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ระหว่างปิดสถานศึกษากรณีพิเศษหรือเนื่องจากเหตุพิเศษ
    ในระหว่างปิดสถานศึกษาชั่วคราวเป็นกรณีพิเศษ หรือในระหว่างปิดสถานศึกษาชั่วคราวเนื่องจากเหตุพิเศษ หัวหน้าสถานศึกษาอาจสั่งให้ครู อาจารย์ และเจ้าหน้าที่ประจำสถานศึกษานั้นๆ มาปฏิบัติงานตามปกติหรือตามคำสั่งที่ได้รับมอบหมายก็ได้

อ้างอิง คลิกดาวน์โหลดไฟล์
#นักเรียนกฎหมาย
15 เมษายน 2563

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมประจำสัปดาห์

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. 2566 (30 ข้อ)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 (55 ข้อ)

แนวข้อสอบ ระเบียบฯ พนักงานราชการ

สาระสำคัญ พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. 2566 (ฉบับเตรียมสอบ)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561 (ชุดที่ 1)

การส่งเด็กเข้าเรียนตามกฎหมาย

สาระสำคัญ กฎกระทรวงการประกันคุณภาพการศึกษา พ.ศ. 2561

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.ผู้สูงอายุ พ.ศ. 2546 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (44 ข้อ)