การบูรณาการเพื่อพัฒนาความเสมอภาคและความเท่าเทียมทางสังคม


ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการบูรณาการเพื่อพัฒนาความเสมอภาคและความเท่าเทียมทางสังคม พ.ศ. 2563 ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 18 กรกฎาคม 2563 เป็นต้นไป โดยมีสาระสำคัญดังนี้

1.หลักการ ระเบียบฯ ฉบับนี้ มีหลักการสำคัญเพื่อให้การพัฒนาความเสมอภาคและความเท่าเทียมทางสังคม เป็นไปอย่างบูรณาการ มีประสิทธิภาพ และยั่งยืนตามแนวทางการพัฒนาประเทศ การกำหนดนโยบายและยุทธศาสตร์ การพัฒนาความเสมอภาคและความเท่าเทียมทางสังคม มีความครอบคลุมทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุลและบูรณาการ สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ แผนการปฏิรูปประเทศ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ นโยบายรัฐบาล และการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน อันจะส่งผลให้การพัฒนาประเทศบรรลุตามวิสัยทัศน์ ประเทศไทยมีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เป็นประเทศพัฒนาแล้ว ด้วยการพัฒนาตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

2.วัตถุประสงค์ การบูรณาการเพื่อพัฒนาความเสมอภาคและความเท่าเทียมทางสังคม ต้องเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการดำเนินการใดๆ ที่จะให้เกิดความร่วมมือกันของภาคส่วนต่างๆ อันจะเป็นการลดหรือแก้ไขปัญหาความไม่เท่าเทียมกันจากสถานะ สิทธิ โอกาส และการเข้าถึงด้านต่างๆ ไม่ว่าด้านเศรษฐกิจ สังคม ทรัพยากร สิ่งแวดล้อม กระบวนการยุติธรรม และด้านอื่นใดที่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของคนในสังคม เพื่อให้การพัฒนาประเทศเป็นไปอย่างยั่งยืนและสมดุล

3.กลไกสำคัญ ระเบียบฯ ดังกล่าว กำหนดให้มี "คณะกรรมการบูรณาการเพื่อพัฒนาความเสมอภาคและความเท่าเทียมทางสังคม" หรือ "กบสท." เพื่อดำเนินการและอำนวยการ ให้เกิดการบูรณาการ เพื่อพัฒนาความเสมอภาคและความเท่าเทียมทางสังคม ที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ แผนการปฏิรูปประเทศ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และนโยบายรัฐบาล โดยคำนึงถึงแผนอื่นๆ ที่มีเป้าหมายในการพัฒนาความเสมอภาคและความเท่าเทียมทางสังคม และสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ รวมทั้งให้มีหน้าที่และอำนาจ ดังนี้

    1) วางแนวทางและวิธีการดำเนินการระหว่างหน่วยงานของรัฐ เพื่อให้เกิดการบูรณาการร่วมกัน ในการกำหนดแผนงาน โครงการ และการบริหารจัดการงบประมาณและทรัพยากรที่เกี่ยวข้อง เพื่อการพัฒนาความเสมอภาคและความเท่าเทียมทางสังคม
    กบสท. ต้องเสนอแนวทางและวิธีการต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อให้ความเห็นชอบ เมื่อคณะรัฐมนตรีเห็นชอบแล้ว หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องมีหน้าที่ต้องปฏิบัติ ให้ความร่วมมือ และสนับสนุน ให้เป็นไปตามที่กำหนดไว้ในแนวทางและวิธีการดำเนินการดังกล่าว

    2) ส่งเสริม สนับสนุน และประสานการดำเนินงานตามภารกิจ แผนงาน หรือโครงการของหน่วยงานของรัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง ในการพัฒนาความเสมอภาคและความเท่าเทียมทางสังคม

    3) พิจารณากำหนดแผนงานหรือโครงการ เกี่ยวกับการพัฒนาความเสมอภาคและความเท่าเทียมทางสังคมที่จำเป็น เพื่อให้เป็นไปตามยุทธศาสตร์ชาติ แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ แผนการปฏิรูปประเทศ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และนโยบายรัฐบาล

    กบสท. ต้องเสนอแผนงานหรือโครงการต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อให้ความเห็นชอบ เมื่อคณะรัฐมนตรีเห็นชอบแล้ว หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องมีหน้าที่ต้องปฏิบัติ ให้ความร่วมมือ และสนับสนุน ให้เป็นไปตามที่กำหนดไว้ในแผนงานหรือโครงการดังกล่าว

    4) เสนอแนะและให้คำปรึกษาแก่หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง ในการกำหนดแผนงาน โครงการ และงบประมาณ เพื่อให้สอดคล้องและต่อเนื่องกันในการพัฒนาความเสมอภาคและความเท่าเทียมทางสังคม

    5) เสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรีในการจัดทำ แก้ไขเพิ่มเติม หรือปรับปรุงกฎหมาย กฎ และมาตรการต่างๆ เพื่ออำนวยความสะดวกให้เกิดการบูรณาการระหว่างหน่วยงานของรัฐ หรือหน่วยงานของรัฐและเอกชน เพื่อการพัฒนาความเสมอภาคและความเท่าเทียมทางสังคม

    6) ติดตามและประเมินผลการดำเนินการของหน่วยงานต่างๆ ทั้งหน่วยงานของรัฐและเอกชน ปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินการ และข้อเสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรีในการพัฒนาความเสมอภาคและความเท่าเทียมทางสังคม

    7) ปฏิบัติการอื่นใด เพื่อให้เป็นไปตามระเบียบนี้ หรือตามที่นายกรัฐมนตรีหรือคณะรัฐมนตรีมอบหมาย

4. หน่วยธุรการและอำนวยการ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ จะทำหน้าที่เลขานุการของ กบสท. รับผิดชอบในงานธุรการและอำนวยการในการปฏิบัติหน้าที่ของ กบสท. และปฏิบัติการอื่นใดตามที่ กบสท. มอบหมาย รวมทั้งดำเนินการในเรื่องต่อไปนี้

    1) ศึกษาวิจัย พัฒนาองค์ความรู้ จัดทำและวิเคราะห์ข้อมูลเกี่ยวกับการพัฒนาความเสมอภาคและความเท่าเทียมทางสังคม เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของ กบสท. และหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง

    2) เสนอแนะต่อ กบสท. ในการกำหนดแนวทางและวิธีการดำเนินงาน รวมทั้งแนวทางการขับเคลื่อน และแผนงานหรือโครงการในการพัฒนาความเสมอภาคและความเท่าเทียมทางสังคม

    3) รับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอ จากหน่วยงานของรัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง ซึ่งรวมถึงปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินงาน เพื่อนำข้อมูลมาประกอบการดำเนินงานตามหน้าที่และอำนาจของ กบสท.

5. มาตรการสำคัญ หน่วยงานของรัฐ จะต้องให้ความร่วมมือและสนับสนุนการดำเนินงานของ กบสท. และการดำเนินงานของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติตามระเบียบนี้ เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ในการพัฒนาความเสมอภาคและความเท่าเทียมทางสังคม

ที่มา ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการบูรณาการเพื่อพัฒนาความเสมอภาคและความเท่าเทียมทางสังคม พ.ศ. 2563 (คลิกดาวน์โหลดไฟล์)
#นักเรียนกฎหมาย
8 พฤษภาคม 2564

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมประจำสัปดาห์

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 (ชุดที่ 1)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 (55 ข้อ)

สาระสำคัญ พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. 2566 (ฉบับเตรียมสอบ)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. 2566 (30 ข้อ)

การส่งเด็กเข้าเรียนตามกฎหมาย

แนวข้อสอบ ระเบียบฯ พนักงานราชการ

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 (ชุดที่ 3)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 (ชุดที่ 2)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 (ชุดที่ 5)