สรุปคำบรรยาย กฎหมายอาญา 3 (ครั้งที่ 3)


สรุปคำบรรยาย
วิชากฎหมายอาญา 3 LAW3101 (LAW3001 เดิม)
ภาคเรียน 2/2563
ครั้งที่ 3 : วันที่ 29 ธันวาคม 2563
บรรยายโดยท่านอาจารย์ มาโนช สุขสังข์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง

***************** 

1. ความผิดฐานลักทรัพย์ มีองค์ประกอบการกระทำคือ การเอาไปซึ่งทรัพย์ที่อยู่ในความครอบครองของผู้อื่น โดยผู้กระทำไม่มีส่วนในการครอบครอง ซึ่งเป็นจุดแบ่งแยกระหว่าง ความผิดฐานลักทรัพย์ กับ ฐานยักยอกทรัพย์***

ถ้าผู้กระทำไม่ได้ครอบครอง เมื่อเอาทรัพย์ไป ก็เป็นการแย่งทั้งกรรมสิทธิ์และการครอบครอง เป็นความผิดฐานลักทรัพย์ แต่ถ้าผู้กระทำได้ครอบครองแล้ว ก็มีเพียงการแย่งกรรมสิทธิ์อย่างเดียว เป็นความผิดฐานยักยอกทรัพย์ ดังนั้น การครอบครองอยู่กับใคร จึงเป็นเรื่องสำคัญ

การครอบครองอยู่กับใครนั้น ไม่ได้ดูว่าตัวทรัพย์อยู่ที่ใคร ซึ่งมาตรา 1367 ป.พ.พ. บุคคลยึดถือทรัพย์โดยมีเจตนายึดถือเพื่อตน มีสิทธิครอบครอง ดังนั้น ถ้ายึดถือแทนบุคคลอื่น จึงไม่มีการครอบครองแต่อย่างใด

ตัวอย่าง เอ และ บี นั่งเรือมาด้วยกัน เอจะเข้าห้องน้ำ จึงฝากกระเป๋าไว้กับบี บีเอากระเป๋าไป กรณีนี้ กระเป๋าอยู่กับบี แต่การครอบครองไม่ได้อยู่กับบี เพราะบียึดถือไว้แทนเอ ไม่ได้มีเจตนายึดถือเพื่อตนเอง บีจึงไม่มีการครอบครอง เมื่อบีเอากระเป๋าไป จึงเป็นการแย่งกรรมสิทธิ์และแย่งการครอบครอง ผิดฐานลักทรัพย์

ตัวอย่าง เอ และ บี ไปตลาดด้วยกัน บีเห็นกระเป๋าเงินของเอกำลังจะหล่น จึงหยิบกระเป๋าเงิน เอหันไปบอกบีว่าให้ถือกระเป๋าไว้ให้ดี อย่าให้หาย หลังจากนั้นบีเอากระเป๋าเงินไป กรณีนี้ บีไม่ได้มีเจตนายึดถือไว้เอง ความครอบครองจึงอยู่ที่เอ บีจึงผิดลักทรัพย์

ตัวอย่าง เอฝากเงินให้บี ให้เอาไปใส่ในตู้เสื้อผ้าที่อยู่ในบ้าน แต่บีเอาเงินไปใช้ ถือว่า บีไม่ได้รับเงินไว้เป็นของตนเอง เอยังมีความครอบครองอยู่ บีผิดลักทรัพย์

ตัวอย่าง พนักงานธนาคารรับฝากเงินไว้ กรรมสิทธิ์ในเงินโอนไปที่ธนาคารทันที แต่ตัวเงินอยู่ที่พนักงาน ถ้าพนักงานเอาเงินไป ถือว่าการครอบครองเป็นของธนาคาร พนักงานเพียงยึดถือไว้แทนธนาคาร พนักงานเอาไป ผิดลักทรัพย์ (มาตรา 335 (11) ลักทรัพย์นายจ้าง)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2250/2544 ลูกจ้างขายของในห้าง ขายสินค้าได้แล้ว แต่เก็บเงินไว้เอง ไม่นำเงินไปให้นายจ้าง ศาลวินิจฉัยว่า ลูกจ้างผิดยักยอก คือ ลูกจ้างรับเงินแทนนายจ้างและมีการครอบครองเงิน

ตัวอย่าง ผู้เสียหายให้จำเลยเก็บค่าเช่ารถ จำเลยเก็บเงินค่าเช่าได้ ไม่ส่งให้ผู้เสียหาย ผิดยักยอก

2 เรื่องข้างต้นนี้ ศาลถือว่า ตัวจำเลยได้ครอบครองเงินแล้ว จึงผิดยักยอก

กรณีทรัพย์ตกหล่นไปจากเจ้าของ การทำทรัพย์ตกหล่น ไม่ใช่เรื่องการสละกรรมสิทธิ์ ยังมีกรรมสิทธิ์อยู่ และเรื่องนี้ต้องดูว่า การครอบครองอยู่กับใคร ซึ่งเป็นจุดแบ่งแยกระหว่าง ความผิดฐานลักทรัพย์ กับ ฐานยักยอกทรัพย์สินหาย***

มาตรา 1377 วรรคหนึ่ง ป.พ.พ. ถ้ามีเหตุชั่วคราวมาขัดขวางการครอบครอง ถือว่าการครอบครองยังไม่สิ้นสุดลง

ตัวอย่าง ทหารนั่งรถบรรทุกเกิดอุบัติเหตุ ทำให้ปืนตกลงไปในแม่น้ำ งมหาในน้ำแล้ว แต่ไม่เจอ จึงไปแจ้งความ เอเห็นว่าทหารไปแล้ว จึงไปงมหาปืน จนเจอแล้วเอาปืนไป กรณีนี้เหตุที่งมหาปืนไม่เจอ เป็นเหตุชั่วคราว หากเอไม่เอาปืนไป ทหารอาจมาหาปืนเจอได้ จึงยังไม่ใช่ทรัพย์สินหาย เอเอาไป จึงผิดลักทรัพย์

ตัวอย่าง เอไปวัด แล้วทำสร้อยคอตกหน้ากุฏิ ระหว่างเอกำลังกลับมาหา บีมาเจอสร้อยก่อน จึงเอาไป กรณีนี้ถือเป็นเหตุชั่วคราว หากบีไม่เอาไป เอก็อาจเจอสร้อยที่ทำหล่นไว้ จึงถือว่าเอครอบครองสร้อยนี้อยู่ บีจึงผิดลักทรัพย์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5980/2540 เหตุทะเลาะหน้าเวทีหมอลำ ตำรวจเข้าระงับเหตุ จนทำให้วิทยุสื่อสารตก จำเลยเห็นจึงเอาไป จำเลยผิดลักทรัพย์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1628/2509 ผู้เสียหายเอากระเป๋าเงินเหน็บไว้ที่ชายผ้าระหว่างไปธุระ รู้สึกตัวว่ากระเป๋าเงินตก จึงเดินกลับมาหา แต่จำเลยพบก่อนจึงเก็บกระเป๋าเงินไป โดยจำเลยไม่รู้ว่าเป็นของใคร ไม่รู้ว่าเจ้าของกำลังติดตามหา กรณีนี้ถ้าจำเลยไม่หยิบไป ผู้เสียหายก็มีโอกาสได้กระเป๋าเงินคืน จึงเป็นเหตุชั่วคราว ดังนั้น ผู้เสียหายจึงมีการครอบครองอยู่ และกรณีนี้ไม่ใช่ทรัพย์สินหาย ตามมาตรา 352 วรรคสอง แต่ศาลลงโทษจำเลยตามมาตรา 352 วรรคสอง เนื่องจากมีข้อเท็จจริงเพิ่มเติม ว่าจำเลยไม่รู้ว่าเป็นของใคร และไม่รู้ว่าเจ้าของติดตามอยู่ จำเลยอ้างมาตรา 62 สำคัญผิด ศาลจึงลงโทษตามความสำคัญผิดของจำเลย

ตัวอย่าง ผู้เสียหายทำถุงเงินตก เดินออกไป 4 วา รู้ตัวจึงเดินกลับไปตาม แม่ค้าบอกว่าจำเลยเอาไป กรณีนี้ความครอบครองยังอยู่ที่ผู้เสียหาย แต่มีข้อเท็จจริงเพิ่มเติมว่า จำเลยไม่รู้ว่าเป็นของใครและไม่รู้ว่าเจ้าของติดตามอยู่ จึงผิดมาตรา 352 วรรคสอง ลงโทษตามที่สำคัญผิด

แต่การจะอ้างว่าสำคัญผิด ต้องดูข้อเท็จจริงว่า จำเลยรู้หรือไม่ว่าเจ้าของกำลังติดตาม เช่น ไปทำบุญที่วัด ลูกหยิบกระเป๋าเงินที่คนอื่นทำตกไปให้แม่ แม่ได้กระเป่าเิงนแล้วจึงรีบออกจากวัดไป แสดงให้เห็นว่า แม่กลัวว่าเจ้าของจะมาเจอ

กรณีศาลเห็นว่าเป็นทรัพย์สินหาย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 775/2506 ผู้เสียหายทำนาฬิกาข้อมือหล่น โดยไม่รู้ว่าทำหล่นที่ใด จึงเป็นไปได้ยากที่จะติดตามคืน การครอบครองจึงขาดจากผู้เสียหายแล้ว จึงเป็นทรัพย์สินหาย ต่อมาผู้เสียหายรู้ว่าเอ เก็บได้ แล้วเอาไปให้บี ผู้เสียหายจึงไปตามขอคืนจากบี แต่บีเอานาฬิกาเรือนอื่นมาแล้วแสดงว่าเป็นเรือนที่เก็บได้ เช่นนี้ บีไม่ผิดลักทรัพย์ เพราะการครอบครองไม่ได้อยู่ที่ผู้เสียหายแล้ว และบีก็ไม่ผิดมาตรา 352 วรรคสอง เนื่องจากผู้ที่จะทำผิดมาตรา 352 วรรคสอง จะต้องเป็นคนเก็บได้เท่านั้น แต่กรณีนี้บีไม่ใช่ผู้ที่เก็บได้ บีจึงผิดเพียงมาตรา 352 วรรคหนึ่ง 

2. ผู้กระทำต้องมีเจตนาเข้าครอบครองทรัพย์ด้วย คือ ต้องยึดถือเพื่อตนเอง จึงจะผิดฐานลักทรัพย์
ตัวอย่าง เอแก้ไขมิเตอร์ไฟฟ้าให้วิ่งช้าลง โดยต่อพ่วงสายไฟไปใช้ในบ้าน เพื่อให้จ่ายเงินค่าไฟฟ้าน้อยลง เป็นการเข้าครอบครองแล้ว ถือเป็นการลักกระแสไฟฟ้า

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3830/2550 จำเลยเมาหลับบนรถโดยสาร เมื่อสิ้นสถานี พนักงานเก็บค่าโดยสารได้ปลุกจำเลย และเกิดการทะเลาะกัน พนักงานใช้กระบอกเก็บเงินตีจำเลย จำเลยหนีและแย่งกระบอกเก็บเงินไปด้วย กรณีนี้จำเลยแย่งกระบอกไป โดยไม่มีเจตนาเอาเงินในกระบอกหรือเอากระบอกไปเป็นของตนเอง แต่เอาไปเพราะไม่ต้องการให้พนักงานเอากระบอกตีตนเองอีก จึงไม่ใช่เรื่องแย่งการครอบครอง ไม่ใช่เรื่องเอาไป จึงไม่ผิดลักทรัพย์

เจตนาเข้าครอบครองทรัพย์เป็นการแบ่งแยกระหว่าง ความผิดฐานลักทรัพย์ กับ ฐานทำให้เสียทรัพย์***
ตัวอย่าง เอเข้าบ้านบี อุ้มไก่ไปต้มทำกับข้าว เอมีเจตนาเข้าแย่งการครอบครองทรัพย์ จึงผิดลักทรัพย์ และเมื่อผิดฐานลักทรัพย์แล้ว แม้จะทำอะไรกับทรัพย์ ทำให้ทรัพย์นั้นเสียหาย ก็ไม่เป็นความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์แต่อย่างใด

ตัวอย่าง เอเอารถจักรยานยนต์ของบีไปแล้วถอดชิ้นส่วนขาย ผิดลักทรัพย์ ไม่ผิดทำให้เสียทรัพย์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 112/2554 ผู้เสียหายเป็นแฟนกับจำเลย จำเลยเห็นผู้เสียหายคุยโทรศัพท์กับคนอื่น จึงหึงหวง หยิบโทรศัพท์ของผู้เสียหายแล้วขว้างทิ้ง แต่โทรศัพท์ไม่เสียหาย กรณีนี้ จำเลยต้องการทำลายโทรศัพท์ ไม่มีเจตนาครอบครองเป็นของตน ไม่ผิดลักทรัพย์

ตัวอย่าง จำเลยล้วงเอาโทรศัพท์ของผู้เสียหาย เมื่อหยิบมาได้แล้ว พบว่าเป็นโทรศัพท์ปลอม จึงขว้างทิ้งแตกเสียหาย ผิดลักทรัพย์ 

3. การเข้าครอบครองตัวทรัพย์ ต้องเป็นการแย่งการครอบครอง คือ เอาไปโดยเจ้าของไม่ยินยอมหรือไม่อนุญาต
ตัวอย่าง เอและบี ร่วมกันเลี้ยงหอยแครง บีให้ดำไปตักหอยมา บีไม่ผิดลักทรัพย์ (บีครอบครอง ก็เป็นการครอบครองแทนเอด้วย) ส่วนดำก็ไม่ผิดลักทรัพย์ เพราะได้รับความยินยอมจากเจ้าของรวมคนหนึ่ง อย่างไรก็ตาม บีเบียดบังเอาไป จึงผิดยักยอก ดำก็ผิดฐานเป็นตัวการร่วมในการยักยอกนี้

การยินยอมโดยปริยายก็ได้ เช่น คนงานก่อสร้างในวัด เจ้าอาวาสบอกมีอะไรขาด ก็ใช้ของวัดได้ คนงานจึงจับปลาในบ่อมาทำอาหาร ถือเป็นการกระทำโดยเจ้าของยินยอม ไม่ใช่เรื่องแย่งการครอบครอง ไม่ผิดลักทรัพย์

กรณีการครอบครองอยู่กับผู้กระทำโดยสำคัญผิด ก็ไม่ใช่เรื่องแย่งการครอบครอง
ตัวอย่าง ซื้ออาหาร 50 บาท ให้เงิน 100 บาท ได้เงินทอน 450 บาท เกินมา 400 บาท กรณีนี้แม่ค้าสำคัญผิด โดยส่งมอบเงิน 400 บาท ให้ ลูกค้าเอาเงินไปไม่ผิดลักทรัพย์ (แต่ผิดมาตรา 352 วรรคสอง)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2135/2539 ธนาคารเอาเงินเข้าบัญชีผิดบัญชี จำเลยเห็นเงินเข้าผิด จึงกดเงินไปใช้ จำเลยไม่ได้แย่งการครอบครอง ไม่ผิดลักทรัพย์ เพราะธนาคารส่งมอบให้โดยสำคัญผิด จำเลยจึงผิดมาตรา 352 วรรคสอง

ดังนั้น การทอนเงินเกิน แม้เพียง 1 บาท ก็เป็นการส่งมอบโดยสำคัญผิด หากไม่คืน ผิดยักยอกมาตรา 352 วรรคสอง

การหลอก ก็เป็นจุดแบ่งแยกว่าเป็นความผิดฐานลักทรัพย์ หรือ ฉ้อโกง***
หลอก เพื่อให้ได้การครอบครอง เป็นการแย่งการครอบครอง ผิดลักทรัพย์
หลอก เพื่อให้ได้กรรมสิทธิ์ เป็นฉ้อโกง

ตัวอย่าง เอไปเที่ยวงาน จึงฝากรถไว้กับร้านรับฝาก จะเห็นได้ว่า กรรมสิทธิ์อยูกับเอ แต่การครอบครองอยู่กับผู้รับฝาก ต่อมาบี มาหลอกผู้รับฝาก ว่าเป็นเพื่อนกับเอ และ เอใช้ให้มารับรถคืน ผู้รับฝากจึงมอบรถให้บีไป กรณีนี้ บีหลอกผู้รับฝาก ซึ่งมีเพียงการครอบครอง (ไม่มีกรรมสิทธิ์) บีจึงผิดลักทรัพย์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8490/2552 เอ ประกาศขายที่ดิน บีแกล้งทำเป็นสนใจที่ดิน จึงหลอกเอ ขอยืมโฉนดไปถ่ายเอกสาร เพื่อจะเอาไปทำการประเมินราคาที่ดินต่อไป บีได้รับโฉนดแล้วเอาไป แล้วสับเปลี่ยนโฉนดปลอมคืนให้เอ กรณีนี้ เอไม่ได้มอบกรรมสิทธิ์ เพียงแต่ให้บีครอบครองโฉนดที่ดินเท่านั้น บีผิดลักทรัพย์

ตัวอย่าง เอเอาสุราไปใส่ในลังน้ำปลา พนักงานส่งมอบกรรมสิทธิ์ในลังน้ำปลา (เข้าใจว่าเป็นน้ำปลา) ถือว่าเอหลอกเอาการครอบครองเท่านั้น ไม่ได้หลอกกรรมสิทธิ์ ผิดลักทรัพย์

ตัวอย่าง เอสลับป้ายราคาลังสุราที่มีราคาถูกกับราคาแพง แล้วนำลังสุราแพงที่มีป้ายราคาถูกไปจ่ายเงิน พนักงานเข้าใจว่าเป็นสุราตามราคาป้าย พนักงานมอบกรรมสิทธิ์สุราตามป้าย เป็นการหลอกเพื่อให้ได้กรรมสิทธิ์ ผิดฉ้อโกง

ตัวอย่าง เอเข้าโชว์รูมรถยนต์ บอกพนักงานขายว่าจะซื้อรถ จนต่อมาได้ทำสัญญาเช่าซื้อ แล้วเอเอารถไปขายต่างประเทศ กรณีนี้ เอไม่มีเจตนาผูกพันตามสัญญาเช่าซื้อ เป็นเพียงอุบายหลอกให้ส่งมอบกรรมสิทธิ์รถ ผิดฉ้อโกง

ตัวอย่าง เอขอลองขับรถยนต์ พนักงานให้ลองขับ เอขับรถไป ไม่คืน กรณีนี้ พนักงานมอบการครอบครอง เป็นการหลอกให้ได้การครอบครอง ผิดลักทรัพย์

4. เอาไป โดยพาทรัพย์เคลื่อนที่ในลักษณะตัดกรรมสิทธิ์เจ้าของตลอดไป โดยไม่ได้พิจารณาว่าผู้กระทำจะได้ทรัพย์ไปในท้ายที่สุดหรือไม่ กรณีนี้ยังเป็นการแบ่งว่าจะผิดพยายามลักทรัพย์ หรือ ผิดลักทรัพย์สำเร็จ*** 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 854/2507 จำเลยเข้าบ้านผู้เสียหาย โดยเจตนาลักทรัพย์ แต่ยังไม่ได้แตะต้องทรัพย์ใดเลย เห็นผู้เสียหายมา ตกใจจึงหนีไป ถือว่า ใกล้ชิดกับทรัพย์ในลักษณะที่จะเอาไปได้ คือ ลงมือกระทำความผิดแล้ว จึงผิดฐานพยายามลักทรัพย์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 121/2537 จำเลยเข้าบ้าน นั่งคร่อมรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหาย ถือว่ามีการแย่งการครอบครองแล้ว แต่เมื่อเห็นผู้เสียหาย จึงหนีไป โดยไม่ได้เคลื่อนทรัพย์ จึงผิดฐานพยายามลักทรัพย์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3011/2551 จำเลยนั่งคร่อมรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหาย แล้วเข็นออกจากจุดที่จอด 1 เมตร ผู้เสียหายมาเห็น จำเลยจึงทิ้งรถแล้วหนีไป ถือว่าจำเลยนั่งคร่อมโดยแย่งการครอบครอง แล้วเข็นพาทรัพย์เคลื่อนที่ไปแล้ว จึงเป็นความผิดลักทรัพย์สำเร็จ (แม้จะไม่ได้ทรัพย์ไปก็ตาม)

ตัวอย่าง จำเลยเข้าบ้านผู้เสียหาย ยกทีวีจากชั้นวาง มาวางที่กลางห้อง ผู้เสียหายมาพบ จำเลยตกใจหนี ถือว่า การยกทีวีเป็นการเข้าครอบครองโดยแย่งการครอบครอง และได้พาทรัพย์เคลื่อนที่แล้ว จึงผิดลักทรัพย์

ตัวอย่าง ถ้ายกทีวีเคลื่อนที่ไปทุกจุด ก็ผิดสำเร็จแล้ว แม้จะวางกลับที่เดิม ก็ไม่ทำให้ความผิดสำเร็จ กลายเป็นพยายามกระทำความผิดไปได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2421/2532 จำเลยล้วงมือผ่านช่องลม เข้าไปในร้านขายของชำ แล้วหยิบแผงผงชูรสออกจากจุดเดิม ยังไม่ทันชักมือออก ผู้เสียหายเห็นเอามีดฟันมือ จึงปล่องแผงผงชูรส ถือว่า มีการครอบครองโดยเจตนาแย่งการครอบครองแล้ว และทรัพย์เคลื่อนที่จากจุดเดิม จึงผิดสำเร็จ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 413/2552 จำเลยเข้าไปในห้าง เอาเตาอบไฟฟ้า เดินผ่านจุดชำระเงินโดยไม่ชำระเงิน แต่ยังไม่ได้ออกจากห้างก็ถูกจับได้ กรณีนี้เป็นความผิดสำเร็จตั้งแต่เดินผ่านจุดชำระเงินโดยไม่ชำระแล้ว แม้จะยังไม่ออกจากห้างก็ตาม

แต่มีทรัพย์บางประเภท เช่น ผลมะพร้าวบนต้นมะพร้าว หรือสร้อยที่ใส่ในบนคอ จะต้องมีการแยกตัวทรัพย์ก่อน 

*****จบคำบรรยาย ครั้งที่ 3*****

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมประจำสัปดาห์

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 (55 ข้อ)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. 2566 (30 ข้อ)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539

สาระสำคัญ พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. 2566 (ฉบับเตรียมสอบ)

กฎกระทรวงกำหนดกรณีอื่นที่เจ้าหน้าที่จะทำการพิจารณาทางปกครองไม่ได้ พ.ศ. 2566

การส่งเด็กเข้าเรียนตามกฎหมาย

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 (ชุดที่ 1)

แนวข้อสอบ ระเบียบฯ พนักงานราชการ

แนวข้อสอบ ระเบียบฯ สารบรรณ (ชุดที่ 3)