คุณสมบัติพนักงานเจ้าหน้าที่ ตามกฎหมายว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์


พนักงานเจ้าหน้าที่ ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 ต้องมีคุณสมบัติ ตามที่กำหนดไว้ใน ประกาศกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เรื่อง หลักเกณฑ์เกี่ยวกับคุณสมบัติของพนักงานเจ้าหน้าที่ ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 ดังนี้

1. มีความรู้และความชำนาญเกี่ยวกับระบบคอมพิวเตอร์

2. สำเร็จการศึกษาไม่น้อยกว่าระดับปริญญาตรีทางวิศวกรรมศาสตร์ วิทยาศาสตร์ วิทยาการคอมพิวเตอร์ เทคโนโลยีสารสนเทศ สถิติศาสตร์ นิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ หรือรัฐประศาสนศาสตร์

3. ผ่านการอบรมทางด้านความมั่นคงปลอดภัยของระบบสารสนเทศ (Information Security) สืบสวน สอบสวน และการพิสูจน์หลักฐานทางคอมพิวเตอร์ (Computer Forensics) ตามภาคผนวกท้ายประกาศ (ดาวน์โหลดด้านล่าง) และ

4. มีคุณสมบัติอื่นอย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้
    ก. รับราชการหรือเคยรับราชการไม่น้อยกว่า 2 ปี ในตำแหน่งเจ้าหน้าที่ตรวจพิสูจน์พยานหลักฐานที่เป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์หรือพยานหลักฐานอิเล็กทรอนิกส์

    ข. สำเร็จการศึกษาตามข้อ 2 (2) ในระดับปริญญาตรี และมีประสบการณ์ที่เป็นประโยชน์ต่อการปฏิบัติงานตามพระราชบัญญัตินี้นับตั้งแต่สำเร็จการศึกษาดังกล่าวไม่น้อยกว่า 4 ปี

    ค. สำเร็จการศึกษาตามข้อ 2 (2) ในระดับปริญญาโท หรือสอบไล่ได้เป็นเนติบัณฑิตตามหลักสูตรของสำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา และมีประสบการณ์ที่เป็นประโยชน์ต่อการปฏิบัติงานตามพระราชบัญญัตินี้นับแต่สำเร็จการศึกษาดังกล่าวไม่น้อยกว่า 3 ปี

    ง. สำเร็จการศึกษาตามข้อ 2 (2) ในระดับปริญญาเอก หรือมีประสบการณ์ที่เป็นประโยชน์ต่อการปฏิบัติงานตามพระราชบัญญัตินี้นับแต่สำเร็จการศึกษาดังกล่าวไม่น้อยกว่า 2 ปี

    จ. เป็นบุคคลที่ทำงานเกี่ยวกับความมั่นคงปลอดภัยของระบบสารสนเทศ การตรวจพิสูจน์หลักฐานทางคอมพิวเตอร์ หรือมีประสบการณ์ในการดำเนินคดีเกี่ยวกับการกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์ไม่น้อยกว่า 2 ปี

ทั้งนี้ ในกรณีที่มีความจำเป็นเพื่อประโยชน์ของทางราชการ ในการสืบสวนและสอบสวนการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ จำเป็นต้องมีบุคลากรซึ่งมีความรู้ ความชำนาญ หรือประสบการณ์สูง เพื่อดำเนินการสืบสวนและสอบสวนการกระทำผิดหรือคดีเช่นว่านั้น หรือเป็นบุคลากรในสาขาที่ขาดแคลน รัฐมนตรีอาจยกเว้นคุณสมบัติดังกล่าวไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน สำหรับการบรรจุและแต่งตั้งบุคคลใดเป็นการเฉพาะก็ได้

นอกจากนี้ พนักงานเจ้าหน้าที่ต้องไม่มีลักษณะต้องห้าม ดังต่อไปนี้ด้วย
    (1) เป็นบุคคลล้มละลาย บุคคลไร้ความสามารถ หรือบุคคลเสมือนไร้ความสามารถ

    (2) เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา ข้าราชการการเมือง สมาชิกสภาท้องถิ่น ผู้บริหารท้องถิ่น กรรมการหรือผู้ดำรงตำแหน่งที่รับผิดชอบในการบริหารพรรคการเมือง ที่ปรึกษาพรรคการเมือง หรือเจ้าหน้าที่ในพรรคการเมือง

    (3) เป็นผู้อยู่ระหว่างถูกสั่งให้พักราชการ หรือถูกสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อน

    (4) ถูกไล่ออก ปลดออก หรือให้ออกจากราชการ หน่วยงานของรัฐหรือรัฐวิสาหกิจ เพราะทำผิดวินัย หรือรัฐมนตรีให้ออกจากการเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ เพราะมีความประพฤติเสื่อมเสีย บกพร่องหรือไม่สุจริตต่อหน้าที่ หรือหย่อนความสามารถ

    (5) ได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ

    (6) ต้องคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาล ให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน เพราะร่ำรวยผิดปกติ หรือมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นผิดปกติ

ที่มา / ดาวน์โหลด

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมประจำสัปดาห์

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. 2566 (30 ข้อ)

สาระสำคัญ พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. 2566 (ฉบับเตรียมสอบ)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.การบริหารงานและการให้บริการภาครัฐผ่านระบบดิจิทัล พ.ศ. 2562 (20 ข้อ)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 (55 ข้อ)

แนวข้อสอบ ระเบียบฯ การลาของข้าราชการ (ชุดที่ 2)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ. 2546 (20 ข้อ)

การส่งเด็กเข้าเรียนตามกฎหมาย

แนวข้อสอบ ระเบียบฯ การลาของข้าราชการ (ชุดที่ 1)

แนวข้อสอบ ระเบียบฯ พนักงานราชการ