เจ้าหน้าที่เรียกรับเงิน เพื่อช่วยเหลือไม่ให้รับโทษหนัก หรือไม่ตรวจสอบการกระทำผิด ไม่ใช่การขู่เข็ญ ไม่ผิดกรรโชก (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3123/2564)


การที่จำเลยบอกผู้เสียหายว่า ผู้เสียหายกระทำความผิดที่มีอัตราโทษหนัก ต้องจำคุกหลายปีและมีโทษปรับเป็นเงินหลายแสนบาท จำเลยสามารถช่วยเหลือผู้เสียหายให้ไม่ต้องรับโทษหนักและจะดำเนินคดีในความผิดที่มีอัตราโทษน้อย แต่ผู้เสียหายต้องชำระเงินให้จำเลย มิใช่การขู่เข็ญว่าจะทำอันตรายต่อเสรีภาพ ชื่อเสียง หรือทรัพย์สินของผู้เสียหาย เพราะผู้เสียหายถูกเจ้าพนักงานจับกุมดำเนินคดีอาญาตามกฎหมายในความผิดตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 ซึ่งการถูกจับกุมดำเนินคดีย่อมส่งผลกระทบต่อเสรีภาพ ชื่อเสียง หรือทรัพย์สินของผู้เสียหาย

จำเลยเพียงแต่บอกให้ผู้เสียหายทราบถึงโทษทัณฑ์ที่จะได้รับตามกฎหมาย และการเรียกเงินก็เพื่อช่วยเหลือในการดำเนินคดีมิให้ผู้เสียหายได้รับโทษหนัก ซึ่งหากผู้เสียหายไม่ให้เงินตามที่จำเลยเรียกร้อง ก็ต้องถูกดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป เมื่อการกระทำของจำเลยมิใช่เป็นการขู่เข็ญ คำฟ้องของโจทก์จึงขาดองค์ประกอบของการกระทำความผิดฐานกรรโชก ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 337 วรรคหนึ่ง

ส่วนคำฟ้องที่ว่า จำเลยขู่เข็ญอีกว่าจำเลยจะมาตรวจสอบที่ร้านค้าของผู้เสียหายทุกเดือน และหากพบการกระทำความผิดก็จะดำเนินคดีกับผู้เสียหาย แต่หากผู้เสียหายชำระเงินให้แก่จำเลยทุกเดือน จำเลยจะไม่มาตรวจสอบร้านค้าของผู้เสียหายในแต่ละเดือนที่ชำระเงิน มิใช่เป็นการขู่เข็ญว่าจะทำอันตรายต่อเสรีภาพ ชื่อเสียง หรือทรัพย์สินของผู้เสียหาย เพราะผู้เสียหายจะถูกดำเนินคดีตามที่จำเลยอ้างก็ต่อเมื่อมีการตรวจสอบร้านค้าของผู้เสียหายแล้วพบว่ามีการกระทำความผิดจริง การเรียกเงินของจำเลยเพียงเพื่อไม่ให้มีการตรวจสอบร้านค้าของผู้เสียหาย แต่หากผู้เสียหายไม่ให้เงินจำเลยก็จะมาตรวจสอบ แต่มิได้ข่มขู่ว่าจะดำเนินคดีแก่ผู้เสียหายแม้ไม่พบการกระทำความผิด การกระทำของจำเลยตามที่บรรยายฟ้อง มิใช่การขู่เข็ญอันเป็นองค์ประกอบความผิดฐานกรรโชกเช่นกัน

ที่มา
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3123/2564. เนติบัณฑิตยสภา, หนังสือคำพิพากษาฎีกา ประจำพุทธศักราช 2564 ตอนที่ 6, หน้า 1467 - 1473


- ประมวลกฎหมายอาญา
  มาตรา 337 บัญญัติว่า "ผู้ใดข่มขืนใจผู้อื่นให้ ยอมให้ หรือยอมจะให้ตนหรือผู้อื่นได้ประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สิน โดยใช้กำลังประทุษร้าย หรือโดยขู่เข็ญว่าจะทำอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย เสรีภาพ ชื่อเสียงหรือทรัพย์สินของผู้ถูกขู่เข็ญหรือของบุคคลที่สาม จนผู้ถูกข่มขืนใจยอมเช่นว่านั้น ผู้นั้นกระทำความผิดฐานกรรโชก ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี และปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท
  ถ้าความผิดฐานกรรโชกได้กระทำโดย
  (1) ขู่ว่าจะฆ่า ขู่ว่าจะทำร้ายร่างกายให้ผู้ถูกข่มขืนใจ หรือผู้อื่นให้ได้รับอันตรายสาหัส หรือขู่ว่าจะทำให้เกิดเพลิงไหม้แก่ทรัพย์ของผู้ถูกข่มขืนใจหรือผู้อื่น หรือ
  (2) มีอาวุธติดตัวมาขู่เข็ญ
  ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงเจ็ดปี และปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนสี่หมื่นบาท"

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมประจำสัปดาห์

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. 2566 (30 ข้อ)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 (55 ข้อ)

แนวข้อสอบ ระเบียบฯ พนักงานราชการ

สาระสำคัญ พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. 2566 (ฉบับเตรียมสอบ)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561 (ชุดที่ 1)

การส่งเด็กเข้าเรียนตามกฎหมาย

สาระสำคัญ กฎกระทรวงการประกันคุณภาพการศึกษา พ.ศ. 2561

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.ผู้สูงอายุ พ.ศ. 2546 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (44 ข้อ)