อำนาจหน้าที่พนักงานคุมประพฤติ ตาม พ.ร.บ.คุมประพฤติ พ.ศ. 2559

พนักงานคุมประพฤติ มีอำนาจหน้าที่หลักตามมาตรา 14 และมาตรา 15 แห่งพระราชบัญญัติคุมประพฤติ พ.ศ. 2559 ดังนี้

มาตรา 14 บัญญัติให้พนักงานคุมประพฤติมีอำนาจหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้และกฎหมายอื่น และโดยเฉพาะให้มีอำนาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้

(1) การสืบเสาะและพินิจเกี่ยวกับอายุ ประวัติ ความประพฤติ สติปัญญา การศึกษาอบรม สุขภาพ ภาวะแห่งจิต นิสัย อาชีพ สิ่งแวดล้อม สภาพความผิด และเรื่องอื่นใดที่เกี่ยวกับผู้ถูกสืบเสาะและพินิจ รวมทั้งข้อเท็จจริงที่เกี่ยวกับความเสียหายและความเห็นของผู้เสียหายหรือบุคคลที่เกี่ยวข้อง และจัดทำรายงานและความเห็นเกี่ยวกับความสามารถในการแก้ไขปรับปรุงตนเอง และวิธีการคุมความประพฤติ

(2) สอดส่อง ติดตาม สอบถาม แนะนำ ช่วยเหลือ ตักเตือน หรือดำเนินการใด ๆ เพื่อให้ผู้ถูกคุมความประพฤติปฏิบัติตามเงื่อนไขและสามารถแก้ไขปรับปรุงตนเองได้ เพื่อประโยชน์ในการป้องกันอาชญากรรมและแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำผิด

(3) ให้การสงเคราะห์ตามพระราชบัญญัตินี้

(4) กำหนดรายละเอียดในการปฏิบัติตามเงื่อนไขตามที่ได้ตกลงกับผู้ถูกคุมความประพฤติ เพื่อประโยชน์ในการคุมความประพฤติ

(5) ส่งตัวผู้ถูกสืบเสาะและพินิจ ผู้ถูกคุมความประพฤติ หรือผู้ได้รับการสงเคราะห์ตามมาตรา 41 ให้แพทย์ตรวจสุขภาพทั้งทางร่างกายและจิตใจ หรือส่งตัวไปบำบัดรักษาการติดยาเสพติด ความบกพร่องทางกายหรือจิตใจ หรือความเจ็บป่วยอย่างอื่นตามที่เห็นสมควร

(6) จัดการหรือดำเนินการเกี่ยวกับตัวผู้ถูกสืบเสาะและพินิจ หรือผู้ถูกคุมความประพฤติ เช่น ถ่ายภาพ พิมพ์ลายนิ้วมือ ตรวจร่างกาย เก็บตัวอย่างปัสสาวะ เส้นผม หรือขน เพื่อประโยชน์ในการพิสูจน์บุคคลและเป็นฐานข้อมูลเพื่อประโยชน์ในการแก้ไขฟื้นฟู รวมทั้งสั่งหรือจัดให้ผู้ถูกสืบเสาะและพินิจหรือผู้ถูกคุมความประพฤติในคดีที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด หรือในกรณีที่มีหลักฐานอันควรเชื่อว่าบุคคลดังกล่าวเกี่ยวข้องกับยาเสพติด รับการตรวจหรือทดสอบว่ามียาเสพติดอยู่ในร่างกายหรือไม่ ทั้งนี้ การตรวจหรือทดสอบเกี่ยวกับยาเสพติดให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด

(7) ใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์หรืออุปกรณ์อื่นใด ในการติดตามตัวผู้ถูกคุมความประพฤติตามเงื่อนไขที่ศาลหรือเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสั่ง ทั้งนี้ หลักเกณฑ์และวิธีการใช้อุปกรณ์ ให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

(8) เรียกผู้ถูกคุมความประพฤติหรือผู้ได้รับการสงเคราะห์ตามมาตรา 41 เข้ารับการอบรมความรู้และทักษะต่าง ๆ เพื่อประโยชน์ในการแก้ไขฟื้นฟูและป้องกันการกระทำความผิดซ้ำ โดยอาจเชิญบุคคลในครอบครัวของบุคคลดังกล่าวเข้าร่วมการอบรมด้วยก็ได้

(9) จัดให้ผู้ถูกคุมความประพฤติ ทำงานบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์

(10) ในกรณีที่ผู้ถูกสืบเสาะและพินิจ ผู้ถูกคุมความประพฤติ หรือผู้ได้รับการสงเคราะห์ตามมาตรา 41 เป็นเด็กหรือเยาวชน ให้มีการให้คำแนะนำแก่บิดามารดา ผู้ปกครอง หรือบุคคลที่เด็กหรือเยาวชนดังกล่าวพักอาศัยอยู่ด้วย เกี่ยวกับการเลี้ยงดู การอบรมสั่งสอน และการใด ๆ ที่จำเป็นและเหมาะสม รวมถึงการปรับปรุงตนเองของบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือบุคคลที่เด็กหรือเยาวชนดังกล่าวพักอาศัยอยู่ด้วย

(11) มอบหมายและกำกับดูแลให้อาสาสมัครคุมประพฤติดำเนินการให้เป็นไปตามระเบียบที่รัฐมนตรีกำหนด

(12) ทำรายงานและความเห็นเกี่ยวกับความประพฤติ การประกอบอาชีพ และพฤติการณ์ของผู้ถูกคุมความประพฤติ

(13) รายงานให้ผู้มีอำนาจเกี่ยวกับการพักการลงโทษหรือการลดวันต้องโทษจำคุกตามกฎหมายว่าด้วยราชทัณฑ์หรือกฎหมายว่าด้วยเรือนจำทหารซึ่งมีคำสั่งทราบ เมื่อนักโทษเด็ดขาดไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไข เพื่อให้ผู้มีอำนาจดังกล่าวดำเนินการต่อไป

(14) ปฏิบัติหน้าที่อื่นตามพระราชบัญญัตินี้ ตามที่รัฐมนตรีหรืออธิบดีมอบหมาย หรือตามคำสั่งศาล

สำหรับมาตรา 15 บัญญัติ
ให้พนักงานคุมประพฤติมีอำนาจดังต่อไปนี้ด้วย 

(1) ในกรณีมีความจำเป็นอย่างยิ่ง เข้าไปในเคหสถานหรือสถานที่ใด ๆ ที่ผู้ถูกสืบเสาะและพินิจหรือผู้ถูกคุมความประพฤติอาศัยหรือทำงานหรือมีความเกี่ยวข้องด้วย และสอบถามบุคคลซึ่งอยู่ในสถานที่นั้นเกี่ยวกับกรณีที่ระบุไว้ในมาตรา 14 (1) หรือ (2) เพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติงาน ในระหว่างพระอาทิตย์ขึ้นถึงพระอาทิตย์ตก

(2) เรียกบุคคลที่สามารถให้ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับกรณีที่ระบุไว้ในมาตรา 14 (1) หรือ (2) มาพบและให้ถ้อยคำ

(3) สั่งให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองส่งวัตถุหรือเอกสารอันอาจใช้เป็นพยานหลักฐานเกี่ยวกับกรณีที่ระบุไว้ในมาตรา 14 (1) หรือ (2) ได้

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมประจำสัปดาห์

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 (55 ข้อ)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. 2566 (30 ข้อ)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539

สาระสำคัญ พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. 2566 (ฉบับเตรียมสอบ)

แนวข้อสอบ ระเบียบฯ พนักงานราชการ

การส่งเด็กเข้าเรียนตามกฎหมาย

แนวข้อสอบ ระเบียบฯ สารบรรณ (ชุดที่ 3)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 (ชุดที่ 1)

กฎกระทรวงกำหนดกรณีอื่นที่เจ้าหน้าที่จะทำการพิจารณาทางปกครองไม่ได้ พ.ศ. 2566