สาระสำคัญ พ.ร.บ.สถิติ พ.ศ. 2550 (ฉบับเตรียมสอบ)


1. พระราชบัญญัติสถิติแห่งชาติ พ.ศ. 2550 ตราขึ้นโดยคำแนะนำและยินยอมของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เพื่อปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยสถิติฉบับเดิม ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2550 โดยมี พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี เป็นผู้สนองพระบรมราชโองการ

2. พ.ร.บ.นี้ ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป (หรือตั้งแต่วันที่ 13 กันยายน 2550 เป็นต้นไป) และมีผลเป็นการยกเลิก พ.ร.บ.สถิติ พ.ศ. 2508 

3. มีบทบัญญัติทั้งสิ้น 22 มาตรา

4. บทนิยาม
  “สถิติ” หมายความว่า ข้อความหรือตัวเลขที่แสดงผล ที่ประมวลจากข้อมูลที่เก็บรวบรวมได้ 
  (เก็บรวบรวม ==> ประมวลผล ==> แสดงผล)

  “การสำรวจ” หมายความว่า การเก็บรวบรวมข้อมูลที่เป็นอยู่จริงเพื่อให้ได้มาซึ่งสถิติ

  “สำมะโน” หมายความว่า การสำรวจโดยการแจงนับจากทุกหน่วยที่เกี่ยวกับข้อมูลนั้น ๆ

  “การสำรวจตัวอย่าง” หมายความว่า การสำรวจโดยการแจงนับจากหน่วยที่เกี่ยวกับข้อมูลนั้น ๆ เพียงบางหน่วยที่เลือกเป็นตัวอย่าง

  “หน่วยงาน” หมายความว่า ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานอื่นของรัฐ

  “ผู้อำนวยการ” หมายความว่า ผู้อำนวยการสำนักงานสถิติแห่งชาติ (ผอ.สสช.)

  “พนักงานเจ้าหน้าที่” หมายความว่า ผู้ซึ่งผู้อำนวยการแต่งตั้งให้ปฏิบัติการตาม พ.ร.บ. นี้

5. สำนักงานสถิติแห่งชาติ (สสช.) เป็นหน่วยงานกลางของรัฐในการดำเนินการเกี่ยวกับสถิติตามหลักวิชาการ มีอำนาจหน้าที่ ดังนี้
  (1) จัดทำแผนแม่บทเกี่ยวกับการดำเนินงานทางสถิติของรัฐ
  โดยให้ สสช. ประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และจัดทำแผนฯ ให้สอดคล้องกับนโยบายและแผนการพัฒนาประเทศ และเมื่อ ครม. เห็นชอบแล้ว ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องปฏิบัติให้เป็นไปตามแผนแม่บทนั้น
  (2) จัดทำมาตรฐานสถิติ เสนอ ครม. เพื่อให้ความเห็นชอบ
  (3) ส่งเสริมและพัฒนางานสถิติของรัฐและเอกชน
  (4) จัดทำสำมะโนหรือการสำรวจตัวอย่าง หรืออำนวยการให้มีการสำรวจด้านต่าง ๆ ของประเทศ
  (5) ประสานงานและหารือร่วมกับหน่วยงาน เพื่อจัดทำแผนกำหนดความรับผิดชอบในการดำเนินงานทางสถิติตามแผนแม่บทตาม (1)
  หน่วยงานต้องจัดทำสถิติให้เป็นไปตามแผนกำหนดความรับผิดชอบ และดำเนินการให้ถูกต้องตามมาตรฐานสถิติ หากไม่ปฏิบัติตาม ให้ สสช. รายงาน ครม. เพื่อสั่งการตามที่เห็นสมควร
  (6) แนะนำ ให้คำปรึกษา หรือความช่วยเหลือแก่หน่วยงานเกี่ยวกับการจัดทำแผนงาน และระเบียบวิธีใน การจัดเก็บข้อมูล ตลอดจนการประมวลผล และการวิเคราะห์ผลสถิติ
  (7) ประสานกับหน่วยงานในการสร้างเครือข่ายสถิติ เพื่อให้ได้มาซึ่งฐานข้อมูลสถิติที่สำคัญและเป็นปัจจุบัน ของประเทศ
  (8) ให้บริการสถิติแก่หน่วยงาน องค์กรเอกชน และบุคคลทั่วไป
  (9) เผยแพร่สถิติ และจัดให้มีการศึกษาอบรมวิชาความรู้เกี่ยวกับสถิติ
  (10) ร่วมมือและประสานงานกับ ต่างประเทศและองค์การระหว่างประเทศในงานเกี่ยวกับสถิติ
  (11) ปฏิบัติการอื่นตามที่มีกฎหมายกำหนด และตามที่ ครม. มอบหมาย

7. (มาตรา 9) เมื่อหน่วยงานจะมีการจัดทำสำมะโนหรือการสำรวจตัวอย่าง ที่ประสงค์จะกำหนดให้เป็นหน้าที่ของประชาชนที่จะต้องให้ข้อมูล ให้กำหนดโดยกฎกระทรวง ซึ่งอย่างน้อยต้องมีสาระสำคัญดังนี้
  (1) วัตถุประสงค์
  (2) ระยะเวลา
  (3) เขตท้องที่
  (4) บุคคลซึ่งจะต้องให้ข้อมูลและวิธีการให้ข้อมูล
  (5) หน่วยงานที่รับผิดชอบ

8. (มาตรา 10) เมื่อมีการออกกฎกระทรวง (ตามมาตรา 9) ดังกล่าวแล้ว ให้ ผอ.สสช. ประกาศรายละเอียดเกี่ยวกับวิธีดำเนินการในการจัดทำสำมะโนหรือการสำรวจตัวอย่าง ในเรื่องดังต่อไปนี้ โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา และ ระบบเครือข่ายอิเล็กทรอนิกส์หรือสื่อประเภทอื่น
  (1) วิธีการเก็บรวบรวม
  (2) คำถามที่บุคคลจะต้องให้ข้อมูล หรือรายละเอียดของแบบสอบถามที่บุคคลจะต้องกรอกข้อมูล และวิธีการกรอกข้อมูลในแบบสอบถาม
  (3) ระยะเวลาที่พนักงานเจ้าหน้าที่จะออกสอบถามหรือส่งแบบสอบถาม
  (4) ระยะเวลาที่บุคคลซึ่งต้องกรอกแบบสอบถาม จะต้องส่งคืนแบบสอบถามที่ได้กรอกรายการแล้วแก่พนักงานเจ้าหน้าที่
  (5) ข้อมูลอื่นที่ประชาชนสมควรทราบ
  ผู้ที่ไม่ให้ข้อมูล หรือไม่กรอกแบบสอบถามตามวิธีการที่กำหนดในประกาศตามมาตรา 10 หรือไม่ส่งคืนแบบสอบถามที่ได้กรอกรายการแล้วแก่พนักงานเจ้าหน้าที่หรือหน่วยงานภายในระยะเวลาที่กำหนดในประกาศ ตามมาตรา 10 (4) ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 3,000 บาท

9. (มาตรา 11) เมื่อมีประกาศ (ตามมาตรา 10) แล้ว บุคคลซึ่งจะต้องให้ข้อมูล มีหน้าที่ให้ข้อมูลหรือ กรอกแบบสอบถามตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 10 (2) ให้ถูกต้องตามความเป็นจริง
  ผู้ที่จงใจให้ข้อมูลเท็จ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับไม่เกิน 5,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

10. (มาตรา 12) เมื่อมีประกาศ (ตามมาตรา 10) แล้ว พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจเข้าไปในอาคารหรือที่ทำการของบุคคลซึ่งจะต้องให้ข้อมูลหรือกรอกแบบสอบถาม ในระหว่างเวลาพระอาทิตย์ขึ้นถึงพระอาทิตย์ตก หรือ ในเวลาอื่นใดที่บุคคลนั้นได้แจ้งให้ทราบ โดยต้องแสดงบัตรประจำตัว (ตามแบบที่กำหนดในกฎกระทรวง) ต่อบุคคลที่เกี่ยวข้องด้วย เพื่อสอบถามข้อมูลหรือกรอกแบบสอบถาม หรือเพื่อตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูล ในการนี้บุคคลดังกล่าวต้องอำนวยความสะดวกแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ตามสมควร หากไม่ให้ความสะดวกแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 3,000 บาท

11. กรณีพนักงานเจ้าหน้าที่ไม่พบบุคคลผู้ซึ่งจะให้ข้อมูลหรือกรอกแบบสอบถาม ให้ดำเนินการตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และระยะเวลาที่กำหนดในกฎกระทรวง เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูล

12. ให้หน่วยงานมีหน้าที่ให้ความร่วมมือแก่ สสช. เพื่อประโยชน์ในการจัดสร้างเครือข่ายสถิติและพัฒนาฐานข้อมูลที่สำคัญและเป็นปัจจุบันของประเทศ
  กรณี สสช. จำเป็นต้องใช้ข้อมูลจากการสำรวจ หรือข้อมูลจากบันทึกทะเบียน รายงาน หรือเอกสารอื่นใดที่อยู่ในความครอบครองของหน่วยงานใด เพื่อการจัดทำสถิติที่สำคัญและจำเป็นต่อการพัฒนาประเทศ ให้หน่วยงานนั้นจัดส่งข้อมูลดังกล่าวให้สำนักงานสถิติแห่งชาติภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งจาก สสช.
  ข้อมูลที่หน่วยงานต้องจัดส่งให้ดังกล่าว ต้องไม่ระบุหรือเปิดเผยว่าเป็นข้อมูลของบุคคลใด เว้นแต่บุคคลนั้นจะให้ความยินยอมเป็นหนังสือ หรือเป็นข้อมูลที่เปิดเผยต่อประชาชนหรือประชาชนสามารถเข้าตรวจสอบได้อยู่แล้ว

13. (มาตรา 15) บรรดาข้อมูลเฉพาะบุคคลหรือเฉพาะรายที่ได้มาตาม พ.ร.บ.นี้ ต้องถือเป็นความลับโดยเคร่งครัด ห้ามมิให้ผู้ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ตาม พ.ร.บ.นี้หรือผู้มีหน้าที่เก็บรักษา เปิดเผยข้อมูลนั้นแก่บุคคลใด ซึ่งไม่มีหน้าที่ตาม พ.ร.บ.นี้ เว้นแต่
  (1) เป็นการเปิดเผยเพื่อประโยชน์แก่การสอบสวน หรือการพิจารณาคดีที่ต้องหาว่ากระทำความผิดตาม พ.ร.บ.นี้
  (2) เป็นการเปิดเผยต่อหน่วยงาน เพื่อใช้ประโยชน์ในการจัดทำสถิติ วิเคราะห์หรือวิจัย ทั้งนี้เท่าที่ไม่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่เจ้าของข้อมูล และต้องไม่ระบุหรือเปิดเผยถึงเจ้าของข้อมูล
  ผู้ฝ่าฝืน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

14. (มาตรา 16) ผู้ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ในหน่วยงาน หรือ สสช. ต้องไม่นำบรรดาข้อมูลเฉพาะบุคคลหรือเฉพาะรายที่เจ้าของข้อมูลได้ให้ไว้หรือกรอกแบบสอบถาม ไปใช้ในกิจการอื่นนอกเหนือจากการจัดทำสถิติ วิเคราะห์หรือวิจัย
  ผู้ฝ่าฝืน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

15. บรรดาข้อมูลที่อาจเปิดเผยได้ สสช. อาจให้บริการข้อมูลนั้นต่อบุคคลทั่วไปได้ โดยอาจเรียกเก็บค่าใช้จ่ายเท่าที่จำเป็นในการให้บริการข้อมูลนั้น ตามหลักเกณฑ์และอัตราที่ สสช. กำหนด

16. บรรดาพระราชกฤษฎีกา กฎกระทรวง ประกาศ หรือระเบียบที่ออกตาม พ.ร.บ.สถิติ พ.ศ. 2508 และมีผล ใช้บังคับอยู่ในวันที่ พ.ร.บ.นี้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ให้คงมีผลใช้บังคับต่อไปเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้ง กับบทบัญญัติแห่ง พ.ร.บ.นี้ จนกว่าจะมีกฎกระทรวง ประกาศหรือระเบียบตาม พ.ร.บ.นี้

17. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เป็นผู้รักษาการตาม พ.ร.บ.นี้ และมีอำนาจ ออกกฎกระทรวง เพื่อปฏิบัติการตาม พ.ร.บ. นี้ (กฎกระทรวงเมื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ให้ใช้บังคับได้)

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมประจำสัปดาห์

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. 2566 (30 ข้อ)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 (55 ข้อ)

สาระสำคัญ พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. 2566 (ฉบับเตรียมสอบ)

แนวข้อสอบ ระเบียบฯ พนักงานราชการ

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539

กฎกระทรวงกำหนดกรณีอื่นที่เจ้าหน้าที่จะทำการพิจารณาทางปกครองไม่ได้ พ.ศ. 2566

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 (ชุดที่ 1)

แนวข้อสอบ ระเบียบฯ สารบรรณ (ชุดที่ 3)

การส่งเด็กเข้าเรียนตามกฎหมาย