การฎีกาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบของพนักงานอัยการโจทก์กับจำเลยที่แตกต่างกัน ขัดต่อรัฐธรรมนูญ (คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 22/2565)

คดีนี้สืบเนื่องมาจาก ในคดีอาญา พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องคดีต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง โดยฟ้องนาย ว. จำเลยที่ 1 ฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต และนาย ส. จำเลยที่ 2 ฐานเป็นผู้สนับสนุนเจ้าพนักงานในความผิดดังกล่าว

ต่อมาศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง พิพากษาว่าจำเลยมีความผิด ให้จำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 3 ปี จำเลยที่ 2 กำหนด 2 ปี จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ ต่อมาศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ จำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 2 ปี ปรับ 10,000 บาท รอการลงโทษ 2 ปี และคุมความประพฤติไว้ 1 ปี และให้ยกฟ้องจำเลยที่ 2

โจทก์ยื่นคำร้องขออนุญาตฎีกาโดยอัยการสูงสุดรับรอง และโจทก์ยื่นคำฟ้องฎีกา ศาลฎีกามีคำสั่งรับฎีกาของโจทก์

จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขออนุญาตฎีกา และยื่นคำฟ้องฎีกา ศาลฎีกาเห็นว่าไม่เป็นปัญหาสำคัญที่ศาลฎีกาควรวินิจฉัย มีคำสั่งไม่อนุญาต ยกคำร้อง และไม่รับฎีกา


จำเลยที่ 1 โต้แย้งว่า พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พ.ศ. 2559 มาตรา 46 วรรคสี่ ที่บัญญัติให้อัยการสูงสุดลงลายมือชื่อรับรองในฎีกาของพนักงานอัยการว่ามีเหตุอันควรที่ศาลฎีกาจะได้วินิจฉัย ให้ถือว่าเป็นปัญหาสำคัญและให้ศาลฎีการับฎีกานั้น เป็นกฎหมายที่ไม่เป็นธรรมต่อจำเลยที่ 1 ที่ต้องร้องขออนุญาตฎีกาและอยู่ในอำนาจการวินิจฉัยของศาลฎีกาว่ามีเหตุผลจะให้ฎีกาหรือไม่ จำเลยที่ 1 ไม่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายเท่าเทียมกับพนักงานอัยการโจทก์ ขอให้ศาลฎีกาส่งคำโต้แย้งดังกล่าวต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 212

ศาลรัฐธรรมนูญกำหนดประเด็นที่ต้องพิจารณาวินิจฉัยว่า พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พ.ศ. 2559 มาตรา 46 วรรคสี่ ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 27 วรรคหนึ่ง หรือไม่

ศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่า รัฐธรรมนูญ มาตรา 27 เป็นบทบัญญัติในหมวด 3 สิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย โดยมาตรา 27 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "บุคคลย่อมเสมอกันในกฎหมาย มีสิทธิและเสรีภาพ และได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายเท่าเทียมกัน"

พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พ.ศ. 2559 มาตรา 46 วรรคสี่ บัญญัติว่า "ในกรณีที่อัยการสูงสุดลงลายมือชื่อรับรองในฎีกาของพนักงานอัยการ ว่ามีเหตุอันควรที่ศาลฎีกาจะได้วินิจฉัย ให้ถือว่าเป็นปัญหาสำคัญและให้ศาลฎีการับฎีกา"

การฎีกาคือ การพิจารณาตรวจสอบคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ อันเป็นหลักประกันสิทธิของคู่ความในคดีให้ได้รับความเป็นธรรม ตามเจตนารมณ์ของกฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาความ โดยเมื่อ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พ.ศ. 2559 กำหนดให้มีการพิจารณาคดีเพียงสองชั้นศาล เมื่อศาลอุทธรณ์แผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเป็นประการใด คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลย่อมเป็นที่สุด 

สำหรับการฎีกาของคู่ความ ให้นำระบบอนุญาตฎีกามาใช้บังคับกับกรณีของการฎีกาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ซึ่งมีความแตกต่างจากการฎีการะบบสิทธิ ที่กำหนดให้การฎีกาเป็นสิทธิของคู่ความที่ไม่ต้องขออนุญาตต่อศาลฎีกา

โดยมาตรา 44 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้การฎีกาคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์แผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ให้ผู้ฎีกายื่นคำร้องแสดงเหตุที่ศาลฎีกาควรรับฎีกาไว้พิจารณาตามมาตรา 46 พร้อมกับคำฟ้องฎีกาต่อศาลชั้นต้นที่มีคำพิพากษาหรือคำสั่งในคดีนั้นภายในกำหนด 1 เดือน

และมาตรา 46 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้ศาลฎีกามีอำนาจรับฎีกาตามมาตรา 44 ไว้พิจารณาได้ เมื่อเห็นว่าปัญหาตามฎีกานั้น เป็นปัญหาสำคัญที่ศาลฎีกาควรวินิจฉัย บทบัญญัติดังกล่าวมีลักษณะเป็นการบัญญัติให้อำนาจศาลฎีกาในการพิจารณาและวินิจฉัยว่าจะรับหรือไม่รับฎีกาเรื่องใดไว้พิจารณา


เมื่อพนักงานอัยการถือเป็นคู่ความฝ่ายหนึ่งเหมือนกับจำเลยซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐเช่นกัน เมื่อคดีถึงที่สุดตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์แผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบแล้ว คู่ความควรมีสิทธิในการฎีกาเท่าเทียมกัน โดยให้อยู่ในอำนาจการพิจารณาของศาลฎีกา ว่าเป็นปัญหาสำคัญที่ศาลฎีกาควรวินิจฉัยหรือไม่

การที่มาตรา 46 วรรคสี่ กำหนดให้อัยการสูงสุดลงลายมือชื่อรับรองในฎีกาของพนักงานอัยการว่ามีเหตุอันควรที่ศาลฎีกาจะได้วินิจฉัย จึงเป็นการบัญญัติให้อัยการสูงสุดมีอำนาจรับรองฎีกาของโจทก์ซึ่งเป็นพนักงานอัยการที่มีสถานะเป็นคู่ความฝ่ายหนึ่งไม่ต่างจากจำเลย ในการอ้างเหตุอื่นนอกเหนือจากที่บัญญัติไว้ในมาตรา 46 ทำให้อำนาจในการวินิจฉัยว่าจะรับฎีกาหรือไม่นั้น หาได้เป็นอำนาจขององค์คณะผู้พิพากษาที่ประธานศาลฎีกาแต่งตั้งไม่ ส่งผลให้การนำคดีขึ้นสู่ศาลฎีกาของพนักงานอัยการแตกต่างไปจากของจำเลย

ดังนั้น เมื่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 27 วรรคหนึ่ง บัญญัติรับรองว่าบุคคลย่อมเสมอกันในกฎหมาย มีสิทธิและเสรีภาพ และได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายเท่าเทียมกัน ซึ่งบุคคลทุกคนย่อมมีสิทธิในกระบวนการยุติธรรมที่จะได้รับการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรม โดยให้โอกาสแก่โจทก์และจำเลยสามารถเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมอย่างเท่าเทียมกันในฐานะคู่ความในกระบวนการยุติธรรมทางอาญาอย่างแท้จริง และบรรลุถึงหลักนิติธรรมที่บุคคลทุกคนจะต้องได้รับความเสมอภาคและได้รับความคุ้มครองอย่างเท่าเทียมกันตามกฎหมาย รวมทั้งไม่ถูกเลือกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมด้วยเหตุผลของความแตกต่างในสถานะของบุคคล

การที่ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พ.ศ. 2559 มาตรา 46 วรรคสี่ บัญญัติหลักเกณฑ์ในการฎีกาคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ระหว่างพนักงานอัยการกับจำเลยไว้แตกต่างกัน และกำหนดให้ศาลฎีการับฎีกาโดยไม่สามารถใช้ดุลพินิจสั่งเป็นประการอื่นได้ ย่อมทำให้หลักประกันสิทธิในการฎีกาของคู่ความในคดีทุจริตและประพฤติมิชอบระหว่างพนักงานอัยการกับจำเลยได้รับการคุ้มครองที่แตกต่างกัน ไม่เสมอภาคกันในกฎหมาย ไม่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายอย่างเท่าเทียมกัน เป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคลด้วยเหตุแห่งความแตกต่างในเรื่องสถานะของบุคคล และขัดต่อหลักความเสมอภาค จึงขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 27 วรรคหนึ่ง

จึงวินิจฉัยว่า พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พ.ศ. 2559 มาตรา 46 วรรคสี่ ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 27 วรรคหนึ่ง และกำหนดคำบังคับให้คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญมีผลเมื่อพ้นสามร้อยหกสิบวันนับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย

ที่มา / ดาวน์โหลด คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 22/2565

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมประจำสัปดาห์

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 (ชุดที่ 1)

แนวข้อสอบ ระเบียบฯ พนักงานราชการ

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 (55 ข้อ)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539

การส่งเด็กเข้าเรียนตามกฎหมาย

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. 2566 (30 ข้อ)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 (ชุดที่ 2)

สาระสำคัญ พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. 2566 (ฉบับเตรียมสอบ)

แนวข้อสอบ ระเบียบฯ สารบรรณ (ชุดที่ 3)