การประพฤติเสื่อมเสียหรือบกพร่องในศีลธรรมอันดีของข้าราชการครู (คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 6/2566)

คดีนี้สื่บเนื่องมาจากศึกษาธิการจังหวัด ได้มีคำสั่งให้ นาย ศ. ข้าราชการครู ออกจากราชการ เนื่องจากเป็นผู้ขาดคุณสมบัติทั่วไป ตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. 2547 มาตรา 30 (7) กรณีเป็นผู้บกพร่องในศีลธรรมอันดีสำหรับการเป็นผู้ประกอบวิชาชีพครูและบุคลากรทางการศึกษา เนื่องจากเคยถูกจับกุมและถูกดำเนินคดีอาญา 2 คดี ดังนี้
  ครั้งที่ 1 ถูกจับเมื่อวันที่ 17 ธ.ค. 2543 ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษาว่ามีความผิดฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต และฐานเสพเมทแอมเฟตามีน
  ครั้งที่ 2 ถูกจับเมื่อวันที่ 3 มี.ค. 2549 ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษาว่ามีความผิดฐานเสพยาเสพติดให้โทษประเภท 5 (กัญชา) 
นาย ศ. จึงยื่นฟ้องคดีปกครองขอให้เพิกถอนคำสั่ง ศาลปกครองชั้นต้นยกฟ้อง 

นาย ศ. อุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด ระหว่างการพิจารณาคดี นาย ศ. โต้แย้งว่า พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. 2547 มาตรา 30 (7) ไม่ได้กำหนดให้การกระทำเช่นใดถือเป็นการประพฤติเสื่อมเสียหรือบกพร่องในศีลธรรมอันดี ซึ่งกรณีของนาย ศ. เป็นความผิดเล็กน้อย มิใช่การประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง และไม่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อรัฐ หรือกระทบกระเทือนต่อประโยชน์สาธารณะ และบทบัญญัติดังกล่าวไม่ได้กำหนดระยะเวลาการจำกัดสิทธิไว้ จึงเป็นการจำกัดสิทธิการมีส่วนร่วมในการเข้ารับราชการตลอดชีวิต กระทบต่อสิทธิขั้นพื้นฐานอย่างร้ายแรงเกินเหตุ ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 26 ขอให้ศาลปกครองสูงสุดส่งคำโต้แย้งต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณา ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 212

ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาคำโต้แย้ง ความเห็นของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และเอกสารประกอบแล้ว กำหนดประเด็นที่ต้องพิจารณาวินิจฉัยว่า พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. 2547 มาตรา 30 (7) ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 26 หรือไม่

ศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่า พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. 2547 มาตรา 30 บัญญัติว่า ภายใต้บังคับกฎหมายว่าด้วยสภาครูและบุคลากรทางการศึกษาสำหรับการเป็นผู้ประกอบวิชาชีพครูและบุคลากรทางการศึกษา ผู้ซึ่งจะเข้ารับราชการเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาได้ ต้องมีคุณสมบัติทั่วไป ดังต่อไปนี้ .... (7) ไม่เป็นผู้บกพร่องในศีลธรรมอันดีสำหรับการเป็นผู้ประกอบวิชาชีพครูและบุคลากรทางการศึกษา ...." โดยมีความมุ่งหมายในการกำหนดคุณสมบัติทั่วไปของผู้ที่จะเข้ารับราชการเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ว่าจะต้องไม่เป็นผู้บกพร่องในศีลธรรมอันดีสำหรับการเป็นผู้ประกอบวิชาชีพครูและบุคลากรทางการศึกษา เพื่อให้ได้มาซึ่งบุคคลที่มีคุณภาพและมาตรฐานที่เหมาะสมแก่การเป็นผู้ประกอบวิชาชีพชั้นสูงในการร่วมจัดทำบริการสาธารณะด้านการศึกษา 

ซึ่งสอดคล้องกับพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 มาตรา 52 วรรคหนึ่ง ที่บัญญัติว่า "ให้กระทรวงส่งเสริมให้มีระบบ กระบวนการผลิต การพัฒนาครู คณาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษา ให้มีคุณภาพและมาตรฐานที่เหมาะสมกับการเป็นวิชาชีพชั้นสูง โดยการกำกับและประสานให้สถาบันที่ทำหน้าที่ผลิตและพัฒนาครู คณาจารย์ รวมทั้งบุคลากรทางการศึกษา ให้มีความพร้อมและมีความเข้มแข็งในการเตรียมบุคลากรใหม่และการพัฒนาบุคลากรประจำการอย่างต่อเนื่อง"

โดยมาตรา 30 เป็นบทบัญญัติที่กำหนดคุณสมบัติทั่วไปของผู้จะเข้ารับราชการเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ซึ่งข้าราชการครูคือผู้ประกอบวิชาชีพ ทำหน้าที่หลักทางด้านการเรียนการสอนและส่งเสริมการเรียนรู้ของผู้เรียนด้วยวิธีการต่าง ๆ ในสถานศึกษาของรัฐ ส่วนบุคลากรทางการศึกษานั้นคือผู้บริหารสถานศึกษา ผู้บริหารการศกึษา รวมทั้งผู้สนับสนุนการศึกษา ซึ่งเป็นผู้ทำหน้าที่ให้บริการหรือปฏิบัติงานเกี่ยวเนื่องกับการจัดกระบวนการเรียนการสอน การนิเทศ การบริหารการศึกษา และปฏิบัติงานอื่นในหน่วยงานการศึกษา อันแสดงให้เห็นถึงลักษณะหน้าที่เฉพาะของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาที่แตกต่างจากอาชีพอื่น ต้องมีคุณสมบัติที่เหมาะสมกับการเป็นผู้ประกอบวิชาชีพชั้นสูง นอกจากเป็นผู้มีความรู้ความสามารถที่ดีแล้ว ยังต้องมีความประพฤติดี มีคุณธรรม จริยธรรม ไม่กระทำการใด ๆ อันเป็นการดูหมิ่นเหยียดหยามในเกียรติของอาชีพ ต้องครองตนให้อยู่ในศีลธรรมอันดี ประพฤติตนเป็นแบบอย่างที่ดีในการวางตน และยึดมั่นในมาตรฐานจรรยาบรรณวิชาชีพขององค์กร ให้เป็นที่เชื่อถือศรัทธาแก่ผู้เรียน ชุมชน และสังคม 

พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. 2547 มาตรา 30 (7) เป็นมาตรการเพื่อคัดกรองและป้องกันบุคคลที่มีพฤติกรรมเสื่อมเสียบกพร่องในศีลธรรมอันดี ไม่ให้เข้ามารับราชการเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของกฎหมาย 

แม้โดยสภาพหรือลักษณะของบทบัญญัติดังกล่าว ไม่อาจกำหนดได้ว่าข้อเท็จจริงใดหรือการกระทำใดที่จะถือเป็นการบกพร่องในศีลธรรมอันดี เนื่องจากศีลธรรมอันดีเป็นกฎเกณฑ์ที่คนในสังคมส่วนใหญ่ถือปฏิบัติตามความเชื่อ ตามธรรมเนียมประเพณีที่ดีงามของสังคมหรือศาสนา อันเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้สังคมดำรงอยู่ได้อย่างสงบสุข และถือเป็นเครื่องวินิจฉัยความประพฤติของคนในสังคม แต่กฎเกณฑ์ดังกล่าวมีลักษณะเป็นพลวัต มีความผันแปรไปตามบริบทของสังคม ต้องพิจารณาให้สอดคล้องเหมาะสมกับยุคสมัย สภาพสังคม เศรษฐกิจ การเมืองการปกครอง วัฒนธรรม และประเพณีที่เปลี่ยนแปลงไป 

ฝ่ายนิติบัญญัติจึงตรากฎหมายโดยใช้ถ้อยคำที่ไม่มีคำจำกัดความเจาะจง เพื่อให้อำนาจแก่ฝ่ายปกครองในการบังคับใช้กฎหมายให้เป็นไปอย่างยืดหยุ่นและสอดคล้องเหมาะสมกับข้อเท็จจริงตามพฤติการณ์ของผู้กระทำและผลของการกระทำ เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของกฎหมาย และเพื่อให้เกิดความยุติธรรมเฉพาะเรื่องเฉพาะกรณี 

และโดยที่กำหนดลักษณะดังกล่าวให้เป็นเรื่องของคุณสมบัติทั่วไป ดังนั้น คุณสมบัติของบุคคลดังกล่าวจะต้องมีอยู่ตลอดเวลาที่ประกอบวิชาชีพครูและบุคลากรทางการศึกษา จึงไม่อาจกำหนดระยะเวลาจำกัดสิทธิได้ 

อย่างไรก็ดี การพิจารณาว่าบุคคลใดจะเป็นผู้บกพร่องในศีลธรรมอันดี ตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. 2547 มาตรา 30 (7) จะต้องพิจารณาจากข้อเท็จจริงและพฤติการณ์แห่งการกระทำหรือเคยกระทำในอดีตในแต่ละกรณีเป็นเรื่อง ๆ ไป โดยคำนึงถึงเกียรติของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ประกอบกับพฤติกรรมที่เกิดขึ้นในขณะนั้น มีคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ซึ่งเป็นองค์กรกลางบริหารงานบุคคลของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษามีหน้าที่และอำนาจกำหนดมาตรฐาน พิจารณา และให้คำแนะนำเกี่ยวกับการดำเนินการทางวินัย การออกจากราชการ การอุทธรณ์และการร้องทุกข์ รวมทั้งกำกับ ดูแล ติดตาม ตรวจสอบและประเมินผลการบริหารงานบุคคลของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา เพื่อรักษาความเป็นธรรมและมาตรฐานด้านการบริหารงานบุคคล ทั้งนี้ ในการปฏิบัติหน้าที่ของ ก.ค.ศ. ถูกตรวจสอบได้โดยองค์กรฝ่ายตุลาการหรือศาล อันเป็นการควบคุมการใช้อำนาจให้เป็นไปโดยรอบคอบ รัดกุม และอยู่บนพื้นฐานของการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมาย เพื่อเป็นหลักประกันสิทธิและเสรีภาพของบุคคล 

บทบัญญัติดังกล่าวแม้จะจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลอยู่บ้าง แต่เมื่อชั่งน้ำหนักระหว่างผลกระทบจากการจำกัดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลกับประโยชน์สาธารณะที่จะได้รับตามวัตถุประสงค์ของกฎหมาย เพื่อให้ได้มาซึ่งบุคคลที่เป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาที่มีคุณภาพและมาตรฐานที่เหมาะสมกับการเป็นผู้ประกอบวิชาชีพดังกล่าวแล้ว กรณีเป็นไปตามหลักความได้สัดส่วน ไม่ขัดต่อหลักนิติธรรม ไม่เพิ่มภาระหรือจำกัดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลเกินสมควรแก่เหตุ และไม่กระทบต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ทั้งได้ระบุเหตุผลความจำเป็นในการจำกัดสิทธิหรือเสรีภาพไว้แล้ว บทบัญญัติดังกล่าวมีผลใช้บังคับเป็นการทั่วไป ไม่มุ่งหมายให้ใช้บังคับแก่กรณีใดกรณีหนึ่งหรือแก่บุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็นการเจาะจง ไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 26 จึงวินิจฉัยว่า พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. 2547มาตรา 30 (7) ไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 26

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมประจำสัปดาห์

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. 2566 (30 ข้อ)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 (55 ข้อ)

สาระสำคัญ พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. 2566 (ฉบับเตรียมสอบ)

แนวข้อสอบ ระเบียบฯ พนักงานราชการ

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539

การส่งเด็กเข้าเรียนตามกฎหมาย

กฎกระทรวงกำหนดกรณีอื่นที่เจ้าหน้าที่จะทำการพิจารณาทางปกครองไม่ได้ พ.ศ. 2566

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 (ชุดที่ 1)

แนวข้อสอบ ระเบียบฯ สารบรรณ (ชุดที่ 3)