อุทธรณ์คำพิพากษา ตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2/2565)
ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอน คำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ สถาบันอนุญาโตตุลาการ สำนักอนุญาโตตุลาการ สำนักงานศาลยุติธรรม ต่อมาศาลชั้นต้นพิพากษาให้ยกคำร้อง
ผู้ร้องอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า พระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2545 มีวัตถุประสงค์เพื่อให้การระงับข้อพิพาทโดยการอนุญาโตตุลาการเป็นไปด้วยความรวดเร็ว จึงบัญญัติให้คำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการจะได้รับการพิจารณาจากศาลเพียงชั้นเดียว ยกเว้นเป็นคำสั่งหรือคำพิพากษาตามกรณีมาตรา 45 (1) ถึง (5) จึงจะอุทธรณ์ต่อศาลฎีกาได้
ผู้ร้องอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า พระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2545 มีวัตถุประสงค์เพื่อให้การระงับข้อพิพาทโดยการอนุญาโตตุลาการเป็นไปด้วยความรวดเร็ว จึงบัญญัติให้คำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการจะได้รับการพิจารณาจากศาลเพียงชั้นเดียว ยกเว้นเป็นคำสั่งหรือคำพิพากษาตามกรณีมาตรา 45 (1) ถึง (5) จึงจะอุทธรณ์ต่อศาลฎีกาได้
การที่ผู้ร้องอุทธรณ์ทำนองว่า คณะอนุญาโตตุลาการวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทไม่เป็นไปตามเจตนาของคู่สัญญา โดยมิได้พิจารณาถึงเจตนาที่แท้จริง จึงเป็นการวินิจฉัยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย คำวินิจฉัยของคณะอนุญาโตตุลาการและคำพิพากษาศาลชั้นต้น จึงฝ่าฝืนต่อบทกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนนั้น แต่เนื้อหาตามอุทธรณ์ของผู้ร้องล้วนเป็นการยกข้อเท็จจริงขึ้นอ้างโต้แย้งการรับฟังพยานหลักฐานของคณะอนุญาโตตุลาการ โดยไม่ปรากฏว่ามีการวินิจฉัยคดีผิดจากวิธีพิจารณาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนแต่อย่างใด ข้ออ้างของผู้ร้องจึงเป็นอุทธรณ์ต้องห้ามตามพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2545 มาตรา 45 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ส่วนที่อุทธรณ์ทำนองว่า คณะอนุญาโตตุลาการไม่วินิจฉัยตามที่กำหนดประเด็นข้อพิพาท เป็นการใช้ดุลพินิจตามอำเภอใจ ศาลชั้นต้นไม่วินิจฉัยประเด็นอื่นต่อไปอีก คำวินิจฉัยของคณะอนุญาโตตุลาการและคำพิพากษาศาลชั้นต้นฝ่าฝืนต่อประมวลจริยธรรมอันเป็นกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนนั้น คณะอนุญาโตตุลาการมีอำนาจดำเนินกระบวนพิจารณาใด ๆ ได้ตามที่เห็นสมควร รวมทั้งอาจนำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ว่าด้วยพยานหลักฐานมาใช้ได้โดยอนุโลมตามมาตรา 25 วรรคสองและวรรคสาม คำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นจึงชอบแล้ว เพราะหากเห็นว่าประเด็นปัญหาใดแม้วินิจฉัยให้ก็ไม่ทำให้ผลแห่งคดีเปลี่ยนแปลงไป ก็อาจใช้ดุลพินิจไม่วินิจฉัยได้ อันเป็นอำนาจทั่วไป อุทธรณ์ของผู้ร้องจึงเป็นการโต้แย้งการวิเคราะห์พยานหลักฐานและดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของคณะอนุญาโตตุลาการและเหตุผลในการวินิจฉัยของศาลชั้นต้น โดยไม่ปรากฏว่ามีการวินิจฉัยผิดจากวิธีพิจารณาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายแต่อย่างใด อุทธรณ์ของผู้ร้องจึงต้องห้ามตามมาตรา 45 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยเช่นกัน
ที่มา
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2/2565 , ระบบสืบค้นคำพิพากษา คำสั่งคำร้องและคำวินิจฉัยศาลฎีกา
- พระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2545
มาตรา 25 บัญญัติว่า "ในการพิจารณาของคณะอนุญาโตตุลาการ ให้คู่พิพาทได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกัน และให้มีโอกาสนำสืบพยานหลักฐานและเสนอข้ออ้างข้อต่อสู้ของตนได้ตามพฤติการณ์แห่งข้อพิพาทนั้น
ในกรณีที่คู่พิพาทมิได้ตกลงกันหรือกฎหมายนี้มิได้บัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น ให้คณะอนุญาโตตุลาการมีอำนาจดำเนินกระบวนพิจารณาใด ๆ ได้ตามที่เห็นสมควร อำนาจของคณะอนุญาโตตุลาการนี้ให้รวมถึงอำนาจวินิจฉัยในเรื่องการรับฟังพยานหลักฐานและการชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานทั้งปวงด้วย
เพื่อประโยชน์แห่งหมวดนี้ คณะอนุญาโตตุลาการอาจนำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งว่าด้วยพยานหลักฐานมาใช้โดยอนุโลม"
มาตรา 45 บัญญัติว่า "ห้ามมิให้อุทธรณ์คำสั่งหรือคำพิพากษาของศาลตามพระราชบัญญัตินี้ เว้นแต่
(1) การยอมรับหรือการบังคับตามคำชี้ขาดนั้นจะเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน
(2) คำสั่งหรือคำพิพากษานั้นฝ่าฝืนต่อบทกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน
(3) คำสั่งหรือคำพิพากษานั้นไม่ตรงกับคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ
(4) ผู้พิพากษา หรือตุลาการซึ่งพิจารณาคดีนั้นได้ทำความเห็นแย้งไว้ในคำพิพากษา หรือ
(5) เป็นคำสั่งเกี่ยวด้วยการใช้วิธีการชั่วคราวเพื่อคุ้มครองประโยชน์ของคู่พิพาทตามมาตรา 16
การอุทธรณ์คำสั่งหรือคำพิพากษาของศาลตามพระราชบัญญัตินี้ ให้อุทธรณ์ต่อศาลฎีกาหรือศาลปกครองสูงสุด แล้วแต่กรณี"
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น