คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีอำนาจไต่สวนและวินิจฉัยความผิดที่เกิดขึ้นนอกราชอาณาจักร (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4176/2566)

คณะกรรมการ ป.ป.ช. โจทก์ มีฐานะเป็นองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561

บริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทมหาชน จำกัด มีกระทรวงการคลังเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่เกินกว่าร้อยละ 50 มีฐานะเป็นรัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงคมนาคม มีวัตถุประสงค์ทำการขนส่งคน สิ่งของและไปรษณียภัณฑ์ทางอากาศและกิจการอื่นที่เกี่ยวเนื่องกัน มีคณะกรรมการบริษัทเป็นผู้มีอำนาจดำเนินกิจการและมีอำนาจแต่งตั้งบุคคลอื่นใดให้ดำเนินกิจการของบริษัทภายใต้การควบคุมของคณะกรรมการหรือมอบอำนาจ เพื่อให้บุคคลดังกล่าวมีอำนาจตามที่คณะกรรมการเห็นสมควรเพื่อแบ่งเบาภาระหน้าที่ของคณะกรรมการ

ขณะเกิดเหตุคดีนี้ จำเลยดำรงตำแหน่งกรรมการบริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) และได้รับแต่งตั้งจากประธานกรรมการบริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) ให้ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการบริหารบริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน)

จำเลย และภริยาจำเลยเดินทางโดยสารเครื่องบินของบริษัท ซึ่งมีนาง พ. เดินทางโดยสารเครื่องบินเที่ยวเดียวกันนี้มาด้วย พนักงานรับแจ้งการเดินทางออกใบขนสัมภาระของจำเลย ภริยาจำเลย และนาง พ. รวมเข้าด้วยกันในนามของภริยาจำเลย โดยระบุจำนวนสัมภาระ 30 ชิ้น น้ำหนักรวม 398 กิโลกรัม

ต่อมามีผู้ร้องเรียนเรื่องดังกล่าว โจทก์มีคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนเพื่อดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริงกรณีที่มีการกล่าวหาว่าจำเลยใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่โดยทุจริต ขนสัมภาระเกินสิทธิขึ้นเครื่องบิน ณ สนามบินนาริตะ ประเทศญี่ปุ่น โดยสั่งการให้นาย ก. แก้ไขตัวเลขน้ำหนักสัมภาระ ทำให้บริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) ได้รับความเสียหาย

คณะอนุกรรมการไต่สวนแล้วเห็นว่า การกระทำของจำเลยมีมูลความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 มาตรา 11

โจทก์มีมติเห็นชอบตามความเห็นของคณะอนุกรรมการไต่สวนดังกล่าว จึงส่งรายงานสำนวนการไต่สวนและเอกสารหลักฐานเพื่อให้อัยการสูงสุดยื่นฟ้องจำเลย

แต่อัยการสูงสุดเห็นว่าสำนวนการไต่สวนยังไม่สมบูรณ์พอที่จะดำเนินคดีแก่จำเลยได้

หลังจากมีการตั้งคณะกรรมการพิจารณาร่วมกันแล้ว ไม่อาจหาข้อยุติได้ โจทก์จึงยื่นฟ้องคดีเอง

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 มาตรา 11 ลงโทษจำคุก 2 ปี

จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์แผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบพิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง

โจทก์ฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา

จำเลยแก้ฎีกาว่า การกระทำที่โจทก์กล่าวอ้างว่าจำเลยกระทำความผิดคดีนี้ เป็นการกระทำที่เกิดขึ้นนอกราชอาณาจักร การสอบสวนจึงต้องอยู่ภายใต้บังคับประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 20 ที่บัญญัติให้อัยการสูงสุดหรือผู้รักษาการแทนเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ เมื่อโจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้ด้วยตนเอง โดยอัยการสูงสุดหรือผู้รักษาการแทนไม่ได้เป็นพนักงานสอบสวน โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลย

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 19 (4/2) ซึ่งเป็นกฎหมายพิเศษบัญญัติให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีอำนาจไต่สวนและวินิจฉัยการกระทำความผิดที่อยู่ในอำนาจของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ที่ได้กระทำลงนอกราชอาณาจักรไทย อันเป็นการขัดหรือแย้งกับประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 20 ซึ่งเป็นกฎหมายทั่วไป จึงทำให้โจทก์มีอำนาจไต่สวนและวินิจฉัยความผิดที่เกิดขึ้นนอกราชอาณาจักรได้

ทั้งตามพระราชบัญญัติดังกล่าวได้กำหนดวิธีการดำเนินคดีที่แตกต่างจากการดำเนินคดีอาญาโดยทั่วไป เมื่อโจทก์ส่งรายงาน เอกสารและความเห็นไปยังอัยการสูงสุดเพื่อให้ฟ้องคดี แต่อัยการสูงสุดเห็นว่าสำนวนการไต่สวนยังไม่สมบูรณ์พอที่จะดำเนินคดีแก่จำเลยได้ หลังจากมีการตั้งคณะกรรมการพิจารณาร่วมกันแล้ว ไม่อาจหาข้อยุติได้ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องคดีนี้ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 192 วรรคสาม

ที่มา
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4176/2566 , ระบบสืบค้นคำพิพากษา คำสั่งคำร้องและคำวินิจฉัยศาลฎีกา

- พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542

  มาตรา 19 "คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้
  (4/2) ไต่สวนและวินิจฉัยการกระทําความผิดที่อยู่ในอํานาจของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ซึ่งได้กระทําลงนอกราชอาณาจักรไทย ทั้งนี้ การประสานความร่วมมือเพื่อประโยชน์แห่งการไต่สวนและวินิจฉัยให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น"

- พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561
  มาตรา 192 วรรคสาม "เพื่อประโยชน์ในการดําเนินคดีในกรณีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติได้มีมติให้ยื่นคําร้อง คําฟ้องต่อศาล หรือมอบอํานาจให้พนักงานไต่สวนหรือแต่งตั้งทนายความให้ฟ้องคดีแทน หรืออยู่ระหว่างการดําเนินการส่งเรื่องให้อัยการสูงสุดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ไว้แล้วในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับ ให้เป็นอันใช้ได้และให้ดําเนินการต่อไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้"

- ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
  มาตรา 20 "ถ้าความผิดซึ่งมีโทษตามกฎหมายไทยได้กระทําลงนอกราชอาณาจักรไทย ให้อัยการสูงสุดหรือผู้รักษาการแทนเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ หรือจะมอบหมายหน้าที่นั้นให้พนักงานอัยการหรือพนักงานสอบสวนคนใดเป็นผู้รับผิดชอบทําการสอบสวนแทนก็ได้..."

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมประจำสัปดาห์

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 (55 ข้อ)

การส่งเด็กเข้าเรียนตามกฎหมาย

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. 2566 (30 ข้อ)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 (ชุดที่ 1)

สาระสำคัญ พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. 2566 (ฉบับเตรียมสอบ)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539

แนวข้อสอบ ระเบียบฯ พนักงานราชการ

แนวข้อสอบ ระเบียบฯ สารบรรณ (ชุดที่ 3)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 (ชุดที่ 5)