ผู้พิพากษามีคำสั่งไม่ชอบ ในคดีที่ต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4257/2566)

คดีที่ต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคหนึ่ง หากจำเลยประสงค์จะฎีกาในปัญหาดังกล่าว จำเลยชอบที่จะยื่นคำร้องขอให้ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาหรือลงชื่อในคำพิพากษาในศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิจารณาว่าข้อความที่ตัดสินนั้นเป็นปัญหาสำคัญอันควรสู่ศาลสูงสุดและอนุญาตให้ฎีกาหรือไม่ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 221 

แต่จำเลยกลับยื่นคำร้องขอให้ศาลฎีกามีคำสั่งอนุญาตให้จำเลยฎีกาในปัญหาดังกล่าวโดยตรง และรับฎีกาของจำเลยไว้พิจารณา ซึ่งไม่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดอนุญาตให้กระทำเช่นนั้นได้ 

ดังนั้น การที่ผู้พิพากษาศาลชั้นต้นซึ่งมิใช่ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาหรือลงชื่อในคำพิพากษาในศาลชั้นต้น มีคำสั่งในคำร้องดังกล่าวว่า "สั่งในฎีกา" และมีคำสั่งในฎีกาของจำเลยว่า "จำเลยยื่นฎีกาภายในกำหนดเวลาที่ศาลขยายให้โดยมาแสดงตนต่อศาล รับฎีกาจำเลย สำเนาให้โจทก์แก้ภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับสำเนาฎีกา ปิดได้" จึงไม่ชอบ 

ศาลฎีกาเห็นสมควรเพิกถอนคำสั่งของศาลชั้นต้นดังกล่าวเสีย และมีคำสั่งเสียใหม่ให้ถูกต้องโดยไม่จำต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นพิจารณาสั่ง 

ทั้งนี้ แม้คำร้องของจำเลยจะมีใจความทำนองว่าข้อความที่ตัดสินนั้นเป็นปัญหาสำคัญอันควรสู่ศาลสูงสุดก็ตาม ก็ไม่มีบทกฎหมายใดให้อำนาจแก่ศาลฎีกาที่จะก้าวล่วงมีคำสั่งรับฎีกาของจำเลยไว้พิจารณาได้ จึงให้ยกคำร้อง และเมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยได้ยื่นคำขอให้ผู้พิพากษาคนใดซึ่งพิจารณาลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์ภาค 6 อนุญาตให้ฎีกาหรืออัยการสูงสุดลงลายมือชื่อรับรองให้ฎีกา ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 221 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

ที่มา 
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4257/2566 , ระบบสืบค้นคำพิพากษา คำสั่งคำร้องและคำวินิจฉัยศาลฎีกา

- ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
  มาตรา 218 วรรคหนึ่ง
 "ในคดีที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลล่างหรือเพียงแต่แก้ไขเล็กน้อย และให้ลงโทษจําคุกจําเลยไม่เกินห้าปี หรือปรับหรือทั้งจําทั้งปรับ แต่โทษจําคุกไม่เกินห้าปีห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง"
  มาตรา 221 "ในคดีซึ่งห้ามฎีกาไว้โดยมาตรา 218, 219 และ 220 แห่งประมวลกฎหมายนี้ ถ้าผู้พิพากษาคนใดซึ่งพิจารณา หรือลงชื่อในคําพิพากษาหรือทําความเห็นแย้งในศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์พิเคราะห์เห็นว่าข้อความที่ตัดสินนั้นเป็นปัญหาสําคัญอันควรสู่ศาลสูงสุดและอนุญาตให้ฎีกา หรืออธิบดีกรมอัยการลงลายมือชื่อรับรองในฎีกาว่ามีเหตุอันควรที่ศาลสูงสุดจะได้วินิจฉัย ก็ให้รับฎีกานั้นไว้พิจารณาต่อไป"

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมประจำสัปดาห์

แนวข้อสอบ ระเบียบฯ พนักงานราชการ

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 (ชุดที่ 1)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 (55 ข้อ)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539

การส่งเด็กเข้าเรียนตามกฎหมาย

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. 2566 (30 ข้อ)

สาระสำคัญ พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. 2566 (ฉบับเตรียมสอบ)

แนวข้อสอบ ระเบียบฯ การลาของข้าราชการ (ชุดที่ 2)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 (ชุดที่ 2)