การขออนุญาตฎีกา ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ (คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 12/2565)

คดีนี้สืบเนื่องมาจาก มีการโต้แย้งว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 247 ที่กำหนดให้การฎีกาคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์ กระทำได้เมื่อได้รับอนุญาตจากศาลฎีกาโดยองค์คณะผู้พิพากษาที่ประธานศาลฎีกาแต่งตั้งตามมาตรา 248 ซึ่งการพิจารณาอนุญาตให้ฎีกาได้ต้องเป็นไปตามมาตรา 249 เท่านั้น เป็นการจำกัดสิทธิการเข้าถึงความยุติธรรม การนำระบบอนุญาตมาใช้แทนระบบสิทธิ ทำให้คำพิพากษาของศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ขาดการตรวจสอบและถ่วงดุลจากศาลสูง ขาดประสิทธิภาพ สร้างความไม่เป็นธรรม ความไม่สะดวก ทำให้ล่าช้า เสียค่าใช้จ่ายสูง จำกัดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลและสร้างภาระแก่ประชาชนเกินสมควรแก่เหตุ ขัดต่อหลักนิติธรรม เป็นการเลือกปฏิบัติในคดีแพ่ง ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 26 มาตรา 68 และมาตรา 77 วรรคสาม และการแต่งตั้งองค์คณะผู้พิพากษาโดยประธานศาลฎีกาแทนศาลฎีกาไม่สามารถกระทำได้ ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 189

ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 247 มาตรา 248 และมาตรา 249 กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการฎีกาคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ 27) พ.ศ. 2558 เนื่องจากบทบัญญัติในส่วนการฎีกาไม่สามารถกลั่นกรองคดีที่ไม่เป็นสาระอันควรแก่การวินิจฉัยของศาลฎีกาได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้การพิจารณาพิพากษาคดีของศาลฎีกาเกิดความล่าช้า กระทบต่อความเชื่อมั่นศรัทธาที่มีต่อระบบศาลยุติธรรม จึงกำหนดให้ศาลฎีกามีอำนาจพิจารณาว่าคดีใดสมควรอนุญาตให้ขึ้นสู่การพิจารณาของศาลฎีกา เพื่อให้การพิจารณาพิพากษาคดีของศาลฎีกามีประสิทธิภาพ ให้ความเป็นธรรมอย่างแท้จริงและรวดเร็วแก่บุคคลที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย 

มาตรา 247 กำหนดให้การฎีกาคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์ในคดีแพ่งจะกระทำได้ต่อเมื่อได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา เป็นการเปลี่ยนแปลงหลักการสำคัญในเรื่องการฎีกาจากระบบสิทธิ (Appeal as of Right) เป็นระบบอนุญาต (Discretionary Appeal) เพื่อให้ศาลฎีกาพิจารณาคดีที่มีความสำคัญโดยไม่ต้องคำนึงถึงปัญหาข้อเท็จจริงหรือปัญหาข้อกฎหมายและจำนวนทุนทรัพย์ ซึ่งแตกต่างจากประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งฉบับเดิม สิทธิในการฎีกาของคู่ความขึ้นอยู่กับจำนวนราคาทรัพย์สินหรือจำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาท 

ขณะที่การฎีกาในระบบอนุญาต ทำให้คู่ความได้รับความยุติธรรมในชั้นศาลฎีกาได้มากยิ่งขึ้น ไม่ว่าคู่ความที่ยื่นคำร้องขออนุญาตฎีกาจะมีฐานะทางเศรษฐกิจอย่างไร และจำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันเท่าไร สามารถยื่นคำร้องขออนุญาตฎีกาทั้งปัญหาข้อเท็จจริงและปัญหาข้อกฎหมายได้เท่าเทียมกันภายใต้การพิจารณาวินิจฉัยของศาล 

อีกทั้งการดำเนินกระบวนวิธีพิจารณาความแพ่งเป็นไปตามหลักความประสงค์ของคู่ความอันเป็นข้อพิพาทระหว่างเอกชน การกำหนดให้ศาลอุทธรณ์ทำหน้าที่ตรวจสอบ ทบทวน และกลั่นกรองคำพิพากษาศาลชั้นต้นมีความเหมาะสมเพียงพอสอดคล้องกับหลักการตรวจสอบการพิจารณาคดี (Double Degree of Jurisdiction) 

มาตรา 248 กำหนดให้การพิจารณาและวินิจฉัยคำร้องตามมาตรา 247 กระทำโดยองค์คณะผู้พิพากษาที่ประธานศาลฎีกาแต่งตั้ง ประกอบด้วยรองประธานศาลฎีกาและผู้พิพากษาในศาลฎีกาซึ่งดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าผู้พิพากษาศาลฎีกาอีกอย่างน้อยสามคน เป็นผู้มีประสบการณืในการพิจารณาพิพากษาคดี ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณากลั่นกรองคดี 

มาตรา 249 วรรคหนึ่ง กำหนดให้ศาลฎีกาพิจารณาอนุญาตให้ฎีกาได้เมื่อเห็นว่าปัญหาตามฎีกานั้นเป็นปัญหาสำคัญที่ควรวินิจฉัย และวรรคสองได้กำหนดกรณีปัญหาสำคัญสำหรับการพิจารณาคำร้องขออนุญาตฎีกาไว้ตาม (1) ถึง (6) หากคำร้องขออนุญาตฎีกาใดมีลักษณะเป็นกรณีปัญหาสำคัญย่อมได้รับการอนุญาตให้ฎีกา อย่างไรก็ดี ระบบวิธีพิจารณาความแพ่งและระบบวิธีพิจารณาความอาญามีวัตถุประสงค์พื้นฐานที่แตกต่างกัน การนำระบบอนุญาตฎีกามาใช้เฉพาะคดีแพ่ง จึงมิใช่เป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคล 

ดังนั้น ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 247 มาตรา 248 และมาตรา 249 จึงไม่เป็นการจำกัดสิทธิในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมของคู่ความ หากแต่คู่ความยังสามารถขออนุญาตฎีกาในปัญหาสำคัญที่ศาลฎีกาควรวินิจฉัยได้ เมื่อชั่งน้ำหนักระหว่างการจำกัดสิทธิหรือเสรีภาพของประชาชน กับประโยชน์ส่วนรวมที่ได้รับตามวัตถุประสงค์ของกฎหมายที่มุ่งให้การพิจารณาพิพากษาคดีของศาลฎีกาเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และให้ความเป็นธรรมแก่บุคคลที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายได้อย่างแท้จริงและรวดเร็วขึ้น เป็นไปตามหลักความได้สัดส่วน ไม่ขัดต่อหลักนิติธรรม ไม่เพิ่มภาระหรือจำกัดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลเกินสมควรแก่เหตุ ไม่กระทบต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ มีผลใช้บังคับเป็นการทั่วไป และไม่มุ่งหมายให้ใช้บังคับแก่กรณีใดกรณีหนึ่งหรือแก่บุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็นการเจาะจง ไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 26 และการที่กฎหมายกำหนดให้องค์คณะผู้พิพากษาที่ประธานศาลฎีกาแต่งตั้งเพื่อพิจารณาและวินิจฉัยคำร้องขออนุญาตฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารรษความแพ่ง มาตรา 248 เป็นเพียงการแต่งตั้งองค์คระผู้พิพากษาศาลฎีกา เพื่อพิจารณากลั่นกรองคดีที่เป็นปัญหาสำคัญที่ศาลฎีกาควรวินิจฉัย มิใช่การจัดตั้งศาลขึ้นใหม่หรือกำหนดวิธีพิจารณาเพื่อพิจารณาพิพากษาคดีแทนศาลฎีกาแต่อย่างใด ไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 189

ที่มา / ดาวน์โหลดไฟล์ สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ. สรุปคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 12/2565. หน้า 292-294ที่มา / ดาวน์โหลดไฟล์ สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ. สรุปคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 12/2565. หน้า 292-294

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมประจำสัปดาห์

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 (ชุดที่ 1)

แนวข้อสอบ ระเบียบฯ พนักงานราชการ

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 (55 ข้อ)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539

การส่งเด็กเข้าเรียนตามกฎหมาย

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. 2566 (30 ข้อ)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 (ชุดที่ 2)

สาระสำคัญ พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. 2566 (ฉบับเตรียมสอบ)

แนวข้อสอบ ระเบียบฯ สารบรรณ (ชุดที่ 3)