บทบังคับให้ผู้บังคับบัญชาสั่งลงโทษตามมติคณะกรรมการ ป.ป.ช. ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ พร้อมข้อสังเกต (คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 17/2566)

คดีนี้มีการโต้แย้งว่า พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 100 วรรคหนึ่ง ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 26 มาตรา 27 วรรคหนึ่ง และมาตรา 29 วรรคสอง เนื่องจากบทบัญญัติดังกล่าวมีผลให้ผู้บังคับบัญชาหรือผู้มีอำนาจแต่งตั้งถอดถอนถูกบังคับว่า หากไม่ดำเนินการลงโทษตามมาตรา 98 จะถือว่ากระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง โดยไม่มีอิสระในการใช้ดุลพินิจวินิจฉัยว่าข้าราชการในสังกัดมีความผิดทางวินัยหรือไม่ ซึ่งทำให้ข้าราชการที่ถูกวินิจฉัยฐานความผิดจากคณะกรรมการ ป.ป.ช. ไม่ได้รับการพิจารณาวินจิฉัยและลงโทษด้วยหลักคุณธรรมจากผู้บังคับบัญชาตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2535 (กฎหมายเดิม) เช่นเดียวกับข้าราชการทั่วไป

ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาแล้ว เห็นว่าบทบัญญัติมาตรา 100 วรรคหนึ่ง เป็นบทบัญญัติเกี่ยวกับความผิดของผู้บังคับบัญชาหรือผู้มีอำนาจแต่งตั้งถอดถอนหรือผู้ใดที่ไม่ดำเนินการตามมาตรา 98 โดยไม่มีเหตุอันสมควร ซึ่งบทบัญญัติดังกล่าวเป็นกระบวนการต่อเนื่องจากการพิจารณาโทษทางวินัยตามมาตรา 98 ให้ผู้บังคับบัญชาหรือผู้มีอำนาจแต่งตั้งถอดถอนต้องดำเนินการตามมติของคณะกรรมการ ป.ป.ช. โดยเร็ว เพื่อให้มติของคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีสภาพบังคับและมีผลทางกฎหมายต่อการดำเนินการทางวินัยอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น อันจะส่งผลให้การป้องกันและปราบปรามการทุจริตสัมฤทธิ์ผล และสามารถที่จะระงับยับยั้งและขจัดการทุจริตและประพฤติมิชอบได้อย่างเข้มงวดเด็ดขาดตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญที่มุ่งป้องกันมิให้ผู้บังคับบัญชาหรือผู้มีอำนาจแต่งตั้งถอดถอนประวิงเวลาเพื่อช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกกับผู้กระทำความผิด 

ดังนั้น พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 100 วรรคหนึ่ง เป็นบทบัญญัติที่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญที่มุ่งเน้นให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. เป็นกลไกในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตซึ่งเป็นปัญหาสำคัญของประเทศ ไม่ขัดต่อหลักนิติธรรม ไม่เพิ่มภาระหรือจำกัดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลเกินสมควรแก่เหตุ ไม่กระทบต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ มีผลใช้บังคับเป็นการทั่วไป ไม่มุ่งหมายให้ใช้บังคับแก่กรณีใดกรณีหนึ่งหรือแก่บุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็นการเจาะจง ไม่ขัดต่อหลักความเสมอภาค และไม่ขัดต่อหลักให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิดหรือเป็นการปฏิบัติต่อบุคคลเสมือนเป็นผู้กระทำความผิดก่อนที่จะมีคำพิพากษาอันถึงที่สุดแสดงว่าได้กระทำความผิด ไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 26 มาตรา 27 วรรคหนึ่ง และมาตรา 29 วรรคสอง

แต่อย่างไรก็ดี การพิจารณาไต่สวนและชี้มูลความผิดทางวินัยเจ้าหน้าที่ของรัฐของคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีผลกระทบต่อสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ของเจ้าหน้าที่ของรัฐเป็นอย่างยิ่ง ทั้งสิทธิที่จะได้รับสวัสดิการต่าง ๆ และสิทธิที่จะได้เลื่อนตำแหน่งตามศักยภาพของตน รวมถึงเกิดความเสียหายด้านชื่อเสียง สภาพครอบครัวและสังคมซึ่งยากแก่การเยียวยาหากศาลพิพากษาว่าไม่มีความผิดตามที่ถูกกล่าวหาในภายหลัง คณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงต้องดำเนินการด้วยความรอบคอบและระมัดระวังเป็นอย่างยิ่ง ตั้งแต่ชั้นการแต่งตั้งอนุกรรมการไต่สวนกับผู้ถูกร้องเรียนหรือผู้ถูกกล่าวหาจนถึงการชี้มูลความผิด โดยคำนึงถึงกฎเกณฑ์แห่งกฎหมาย ตลอดจนการแยกชี้มูลความผิดให้ชัดเจนระหว่างการทุจริตหรือปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบต่อผู้ถูกกล่าวหาว่าเป็นความผิดกรณีเดียวหรือทั้งสองกรณี ทั้งนี้ เพื่อรักษาประโยชน์ของสาธารณะและประโยชน์ของเอกชนมิให้เสียไปอันจะสอดคล้องกับหลักนิติธรรมตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 3 วรรคสอง

ที่มา / คลิกดาวน์โหลดไฟล์ คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 17/2566

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมประจำสัปดาห์

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 (ชุดที่ 1)

แนวข้อสอบ ระเบียบฯ พนักงานราชการ

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 (55 ข้อ)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542

การส่งเด็กเข้าเรียนตามกฎหมาย

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.มาตรฐานทางจริยธรรม พ.ศ. 2562

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 (ชุดที่ 2)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 (ชุดที่ 5)

แนวข้อสอบ ระเบียบฯ การลาของข้าราชการ (ชุดที่ 2)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 (ชุดที่ 6)