ผู้มีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งลงโทษทางวินัย ตามกฎหมายต่างๆ

          การอุทธรณ์คำสั่งลงโทษทางวินัย คือ การโต้แย้งหรือคัดค้านคำสั่งลงโทษ เพื่อให้ผู้มีอำนาจได้พิจารณาทบทวนอีกครั้ง ซึ่งหลักเกณฑ์และวิธีการอุทธรณ์ของข้าราชการแต่ละประเภท ย่อมเป็นไปตามกฎหมายของข้าราชการแต่ละประเภท ซึ่งกฎหมายแต่ละประเภทกำหนดผู้มีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งลงโทษทางวินัยไว้แตกต่างกัน เช่น
          1. ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา* กฎหมายกำหนดให้ข้าราชการผู้ถูกคำสั่งลงโทษทางวินัยเท่านั้นที่มีสิทธิอุทธรณ์
          2. ข้าราชการตำรวจ** กฎหมายกำหนดให้ข้าราชการตำรวจผู้ถูกคำสั่งลงโทษทางวินัยมีสิทธิอุทธรณ์ได้ และหากถึงแก่ความตายก่อนใช้สิทธิอุทธรณ์ทายาทก็มีสิทธิอุทธรณ์แทนได้
          3. ข้าราชการพลเรือนสามัญ*** กฎหมายกำหนดให้ข้าราชการผู้ถูกคำสั่งลงโทษทางวินัยมีสิทธิอุทธรณ์ได้ นอกจากนี้อาจมอบหมายให้ทนายความหรือบุคคลอื่นอุทธรณ์แทน หรือหากถึงแก่ความตายก่อนใช้สิทธิอุทธรณ์ ทายาทผู้มีสิทธิรับบำเหน็จตกทอดก็มีสิทธิอุทธรณ์แทนได้
          4. ข้าราชการกรุงเทพมหานครและบุคลากรกรุงเทพมหานคร**** ผู้มีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งลงโทษทางวินัยมีลักษณะเช่นเดียวกับข้าราชการพลเรือนสามัญ ได้แก่ ข้าราชการผู้ถูกคำสั่งลงโทษ, ทนายความหรือบุคคลอื่น หรือทายาท

          จะเห็นได้ว่า กฎหมายของข้าราชการแต่ละประเภทกำหนดตัวผู้มีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งลงโทษทางวินัยไม่เหมือนกัน ก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำ ไม่เป็นธรรมของข้าราชการประเภทต่างๆ อย่างไรก็ตาม กฎหมายในระยะหลังจะเพิ่มสิทธิมากยิ่งขึ้นแก่ข้าราชการพลเรือนสามัญในปี 2551 และข้าราชการกรุงเทพมหานครและบุคลากรกรุงเทพมหานคร ปี 2555

#นักเรียนกฎหมาย


------------------------------
* กฎ ก.ค.ศ. ว่าด้วยการอุทธรณ์และการพิจารณาอุทธรณ์ พ.ศ. 2550 
"ข้อ 4 การอุทธรณ์คําสั่งลงโทษทางวินัย ให้อุทธรณ์ได้สําหรับตนเองเท่านั้น จะอุทธรณ์แทนผู้อื่นหรือมอบหมายให้ผู้อื่นอุทธรณ์แทนไม่ได้"

** กฎ ก.ตร. ว่าด้วยการอุทธรณ์และการพิจารณาอุทธรณ์ พ.ศ. 2547
"ข้อ 3 ข้าราชการตํารวจผู้ถูกสั่งลงโทษทางวินัยหรือถูกสั่งให้ออกจากราชการมีสิทธิอุทธรณ์คําสั่งได้ภายในสามสิบวันนับแต่วันทราบคําสั่ง
          ในกรณีที่ผู้ถูกสั่งลงโทษทางวินัยหรือผู้ถูกสั่งให้ออกจากราชการถึงแก่ความตายไปก่อนที่จะใช้สิทธิอุทธรณ์ ทายาทผู้มีสิทธิรับบําเหน็จตกทอดของผู้นั้นมีสิทธิที่จะอุทธรณ์คําสั่งแทนได้ ภายใต้กําหนดเวลาตามวรรคหนึ่ง..."

*** กฎ ก.พ.ค. ว่าด้วยการอุทธรณ์และการพิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์ พ.ศ. 2551 
"ข้อ 23 กรณีที่ผู้มีสิทธิอุทธรณ์ต่อ ก.พ.ค. ตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการพลเรือนถึงแก่ความตายก่อนที่จะใช้สิทธิอุทธรณ์ ทายาทผู้มีสิทธิรับบำเหน็จตกทอดของผู้นั้น มีสิทธิอุทธรณ์แทนได้..."
"ข้อ 24 ผู้มีสิทธิอุทธรณ์จะมอบหมายให้ทนายความ หรือบุคคลอื่นซึ่งบรรลุนิติภาวะแล้วทำการอุทธรณ์แทนได้ ด้วยเหตุจำเป็นอย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้
(1) เจ็บป่วยจนไม่สามารถอุทธรณ์ด้วยตนเองได้
(2) อยู่ในต่างประเทศและคาดหมายได้ว่าไม่อาจอุทธรณ์ด้วยตนเองได้ทันเวลาที่กำหนด
(3) มีเหตุจำเป็นอย่างอื่นที่ ก.พ.ค. หรือองค์คณะวินิจฉัยอุทธรณ์เห็นสมควร"

**** กฎ ก.พ.ค. กรุงเทพมหานคร ว่าด้วยการอุทธรณ์และการพิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์ พ.ศ. 2555
"ข้อ 23 กรณีที่ผู้มีสิทธิอุทธรณ์ต่อ ก.พ.ค. กรุงเทพมหานคร ตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการกรุงเทพมหานครและบุคลากรกรุงเทพมหานคร ถึงแก่ความตายก่อนที่จะใช้สิทธิอุทธรณ์ทายาทผู้มีสิทธิรับบําเหน็จตกทอดของผู้นั้น มีสิทธิอุทธรณ์แทนได้..."
"ข้อ 24 ผู้มีสิทธิอุทธรณ์จะมอบหมายให้ทนายความ หรือบุคคลอื่นซึ่งบรรลุนิติภาวะแล้วทําการอุทธรณ์แทนได้ ด้วยเหตุจําเป็นอย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้
(1) เจ็บป่วยจนไม่สามารถอุทธรณ์ด้วยตนเองได้
(2) อยู่ในต่างประเทศและคาดหมายได้ว่าไม่อาจอุทธรณ์ด้วยตนเองได้ทันเวลาที่กําหนด
(3) มีเหตุจําเป็นอย่างอื่นที่ ก.พ.ค. กรุงเทพมหานคร หรือองค์คณะวินิจฉัยเห็นสมควร"



ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมประจำสัปดาห์

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. 2566 (30 ข้อ)

สาระสำคัญ พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. 2566 (ฉบับเตรียมสอบ)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.การบริหารงานและการให้บริการภาครัฐผ่านระบบดิจิทัล พ.ศ. 2562 (20 ข้อ)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 (55 ข้อ)

แนวข้อสอบ ระเบียบฯ การลาของข้าราชการ (ชุดที่ 2)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ. 2546 (20 ข้อ)

การส่งเด็กเข้าเรียนตามกฎหมาย

แนวข้อสอบ ระเบียบฯ พนักงานราชการ

แนวข้อสอบ ระเบียบฯ การลาของข้าราชการ (ชุดที่ 1)