การส่งเด็กเข้าเรียนตามกฎหมาย


การส่งเด็กเข้าเรียนในการศึกษาภาคบังคับ เป็นไปตาม "ประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง การส่งเด็กเข้าเรียนในสถานศึกษา พ.ศ. 2546" และ "ประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการปฏิบัติสำหรับผู้ที่มิใช่ผู้ปกครองซึ่งมีเด็กที่มีอายุในเกณฑ์การศึกษาภาคบังคับอาศัยอยู่" ออกตามความในพระราชบัญญัติการศึกษาภาคบังคับ พ.ศ. 2545 ซึ่งเป็นกฎหมายที่มีโทษทางอาญา โดยมีสาระสำคัญดังนี้

1. คำว่า "เด็ก" หมายถึง เด็กซึ่งมีอายุย่างเข้าปีที่ 7 จนถึงอายุย่างเข้าปีที่ 16 เว้นแต่เด็กที่สอบได้ชั้นปีที่ 9 ของการศึกษาภาคบังคับแล้ว

2. ผู้ปกครอง คือ 
    2.1 บิดามารดา 
    2.2 บิดาหรือมารดา ซึ่งเป็นผู้ใช้อำนาจปกครอง 
    2.3 ผู้ปกครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ 
    2.4 บุคคลที่เด็กอยู่ด้วยเป็นประจำหรือที่เด็กอยู่รับใช้การงาน

3. ผู้ปกครองดังกล่าว มีหน้าที่ส่งเด็กเข้าเรียนในสถานศึกษาในวันแรกของการเปิดเรียนภาคต้น (ภาคเรียนที่ 1)

4. กรณีผู้ปกครองยังไม่ได้ส่งเด็กเข้าเรียนภายใน 7 วัน นับแต่วันแรกของการเปิดเรียนภาคต้น ถ้าสถานศึกษายังมิได้รับเด็กเข้าเรียน 
    4.1 สถานศึกษามีหน้าที่จะต้องแจ้งเตือนให้ผู้ปกครองทราบเพื่อให้นำเด็กมาเข้าเรียน และจะต้องรายงานให้คณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทราบ 
    4.2 ให้ กศจ. หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทำหนังสือแจ้งเตือนให้ผู้ปกครองส่งเด็กเข้าเรียนในสถานศึกษาทันที พร้อมแจ้งเตือนว่าถ้าไม่ส่งเด็กเข้าเรียน จะมีความผิดตามมาตรา 13 แห่งพระราชบัญญัติการศึกษาภาคบังคับ พ.ศ. 2545 คือ ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 1,000 บาท

5. การผ่อนผันเด็กเข้าเรียนก่อนหรือหลังอายุตามเกณฑ์การศึกษาภาคบังคับ 
    5.1 ผู้ปกครองจะต้องส่งคำร้องต่อสถานศึกษาโดยตรง เพื่อให้สถานศึกษาพิจารณา 
    5.2 การพิจารณาต้องเป็นไปตามประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการผ่อนผันให้เด็กเข้าเรียน ก่อนหรือหลังอายุตามเกณฑ์การศึกษาภาคบังคับ พ.ศ. 2546 ซึ่งประกาศ ณ วันที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2546

6. เด็กจะหยุดเรียนเกินกว่าที่กำหนดไว้ดังต่อไปนี้ไม่ได้ เว้นแต่มีเหตุผลอันสมควร
    6.1 ถ้าหยุดเรียนเกิน 7 วันในหนึ่งเดือน ให้สถานศึกษามีหนังสือแจ้งให้ผู้ปกครองส่งเด็กเข้าเรียนโดยพลัน
    6.2 ถ้าหยุดเรียนติดต่อกันเกิน 5 วัน ให้สถานศึกษามีหนังสือแจ้งให้ผู้ปกครองส่งเด็กเข้าเรียนโดยพลัน
    กรณีผู้ปกครองไม่ส่งเด็กเข้าเรียนตามที่ได้รับแจ้ง (ตามข้อ 6.1 และ 6.2) สถานศึกษาจะต้องรายงานให้ กศจ. หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทราบ แล้วแต่กรณี เพื่อดำเนินการให้เด็กเข้าเรียนหรือดำเนินการตามมาตรา 15 แห่งพระราชบัญญัติการศึกษาภาคบังคับ พ.ศ. 2545 ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท

7. กรณีย้ายเด็กไปเรียนในสถานศึกษาอีกแห่งหนึ่ง 
    7.1 ผู้ปกครองต้องแจ้งย้ายต่อสถานศึกษา เพื่อนำหลักฐานการเรียนไปแสดงต่อสถานศึกษาที่รับย้ายเด็ก 
    7.2 ให้สถานศึกษาที่รับย้ายเด็กแจ้งการรับย้ายเด็กไปให้สถานศึกษาเดิมทราบ พร้อมทั้งรายงานต่อสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่สังกัด 
    7.3 ให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น แจ้งไปยังสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในเขตท้องที่ที่ย้ายเด็กออกได้ทราบ เพื่อจำหน่ายออกจากทะเบียน

8. ให้สถานศึกษารายงานจำนวนเด็กในเกณฑ์บังคับที่มาเข้าเรียนเป็นประจำทุกปี ในวันทำการแรกของเดือนมิถุนายน ต่อ กศจ. หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

9. ผู้ใดที่มีเด็กอายุย่างเข้าปีที่ 7 ถึงอายุย่างเข้าปีที่ 16 มาอาศัยอยู่ด้วย และยังมิได้เข้าเรียนในสถานศึกษา ในระดับประถมศึกษาปีที่ 1 ถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ต้องแจ้งให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทราบ แล้วแต่กรณี (เว้นแต่เรียนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3) ดังนี้
    9.1 ให้แจ้งภายใน 1 เดือน นับแต่วันที่เด็กอาศัยอยู่ด้วย โดยแจ้งเป็นลายลักษณ์อักษรตามแบบที่กำหนดหรือแจ้งด้วยวาจาโดยตรงต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
    ผู้ที่ไม่แจ้งภายในเวลากำหนดหรือแจ้งข้อมูลอันเป็นเท็จ ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท
    9.2 แนบหลักฐานทะเบียนหรือสูติบัตร หรือหลักฐานทางการศึกษา หรือหลักฐานอื่นที่เกี่ยวข้อง (ถ้ามี) ด้วย และให้ระบุจำนวนเด็กและสถานที่อยู่อาศัยที่สามารถติดต่อได้

ที่มา : 
4. คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 10/2559 เรื่อง การขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการในภูมิภาค

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมประจำสัปดาห์

แนวข้อสอบ ระเบียบฯ พนักงานราชการ

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 (ชุดที่ 1)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539

แนวข้อสอบ ระเบียบฯ สารบรรณ (ชุดที่ 3)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 (ชุดที่ 3)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ. 2546 (20 ข้อ)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 (ชุดที่ 1)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 (ชุดที่ 5)