การฉ้อโกงโดยแสดงตนเป็นคนอื่นหรืออาศัยความเบาปัญญา

          การฉ้อโกงโดยแสดงตนเป็นคนอื่น หรืออาศัยความเบาปัญญาของผู้ถูกหลอกลวง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 342 เป็นการสรุปสาระสำคัญโดยยึดหนังสือของท่านอาจารย์วิเชียร ดิเรกอุดมศักดิ์ กฎหมายอาญาพิสดาร เล่ม 2 (ฉบับปรับปรุงใหม่ปี 2560) เป็นหลัก ประกอบกับตัวอย่างคำพิพากษาศาลฎีกาจากเว็บไซต์ศาลฎีกา



          


หลักเกณฑ์ตามข้อ 1 
          การแสดงตนเป็นคนอื่น นั้น ต้องเป็นการแสดงว่าตนเองเป็นบุคคลอื่น แม้จะไม่มีตัวตนอยู่จริง ก็เป็นความผิดตามมาตรานี้ และเมื่อปรับบทความผิดตามมาตรา 342 แล้ว ก็ไม่ต้องปรับบทตามมาตรา 341 อีก
          แต่ถ้าแสดงตนเองว่ามีฐานะใดฐานะหนึ่งอันเป็นเท็จ ก็ไม่ใช่การแสดงตนเองเป็นคนอื่น ไม่ผิดมาตรา 342 เช่น แสดงตนว่าเป็นผู้จัดการบริษัท หรือแสดงตนว่าเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ก็ไม่ผิด 342 (1) แต่อาจผิด 341

ตัวอย่างคำพิพากษา
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 20/2546  การที่จำเลยนำ น.ส.3 ก. ที่ระบุชื่อ ส. และสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของ ส. ซึ่งเลอะเลือนมองเห็นไม่ชัดเจนมาแสดงต่อผู้เสียหายเพื่อขอกู้ยืมเงิน ทำให้ผู้เสียหายหลงเชื่อว่าจำเลยคือ ส. เจ้าของที่ดินตาม น.ส.3 ก. ที่แท้จริง จึงตกลงให้จำเลยกู้ยืมเงินไปนั้น เป็นความผิดฐานฉ้อโกงผู้อื่นโดยการแสดงตนเป็นคนอื่นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 342 (1)
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10552/2553  แม้ตามคำฟ้องโจทก์จะบรรยายว่า จำเลยโดยเจตนาทุจริตหลอกลวงผู้เสียหายที่ 2 ด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จและด้วยการแสดงตนเป็นบุคคลอื่น แต่ตามทางพิจารณาที่ได้ความนั้น เป็นเรื่องที่จำเลยหลอกลวง ส. มารดาผู้เสียหายที่ 2 มิใช่หลอกลวงผู้เสียหายที่ 2 ซึ่งเป็นเจ้าของเงินก็ตาม แต่เมื่อผู้เสียหายที่ 2 เป็นเจ้าของเงินที่ให้กู้ และเป็นผู้ทำสัญญากู้ในฐานะผู้ให้กู้เงินที่จำเลยผู้กู้นำโฉนดที่ดินของบุคคลอื่นมาหลอกลวงดังกล่าว เพื่อให้ได้เงินที่กู้ยืมไป ผู้เสียหายที่ 2 ได้รับความเสียหายเนื่องจากการกระทำความผิดของจำเลยแล้ว
          จำเลยหลอกลวงด้วยการทำให้ผู้อื่นเข้าใจว่าตนเป็นบุคคลเดียวกับ ป. ผู้มีชื่อในโฉนดที่ดินที่จำเลยนำมาเป็นหลักประกันในการกู้เงินจากผู้เสียหายที่ 2 จากการหลอกลวงดังกล่าวทำให้ได้ไปซึ่งเงินจากผู้เสียหายที่ 2 การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานฉ้อโกง


ส่วนหลักเกณฑ์ตามข้อ 2 
          อาศัยความเบาปัญญาของผู้ถูกหลอกลวงซึ่งเป็นเด็ก ตามพจนานุกรม ได้ให้ความหมายของความเบาปัญญา คือ การหย่อนความคิด หย่อนสติปัญญา หรือรู้ไม่เท่าทัน เนื่องจากเด็กคงมีวุฒิภาวะไม่เท่าผู้ใหญ่ กฎหมายจึงมุ่งคุ้มครองเหตุดังกล่าว
          สำหรับการฉ้อโกงโดยอาศัยความอ่อนแอแห่งจิตของผู้ถูกหลอกลวง คือ บุคคลที่มีความนึกคิดอ่อนแอไม่เข้มแข็ง หรือป่วยทางจิต ซึ่งอาจถูกหลอกลวงได้ง่าย

ตัวอย่างคำพิพากษา 
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 274/2559  การที่จำเลยที่ 1 หลอกลวงเอาทรัพย์ไปจากผู้เสียหายที่ 1 ในขณะที่ผู้เสียหายที่ 1 มีอาการป่วยทางจิต ซึ่งเป็นบุคคลที่มีภาวะแห่งจิตต่ำกว่าปกติ และย่อมถูกหลอกลวงได้โดยง่ายกว่าคนปกติทั่วไปนั้น ถือเป็นการกระทำความผิดฐานฉ้อโกงโดยอาศัยความอ่อนแอแห่งจิตของผู้เสียหายที่ 1 ผู้ถูกหลอกลวง จึงเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 342 (2) หาใช่เป็นเพียงความผิดตาม ป.อ. มาตรา 341 ดังที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยไม่ 
          แต่เมื่อโจทก์และโจทก์ร่วมมิได้ฎีกา ศาลฎีกาจึงเพียงแก้ไขปรับบทลงโทษจำเลยทั้งสี่เสียใหม่ให้ถูกต้อง แต่ก็ไม่อาจเพิ่มเติมโทษจำเลยทั้งสี่ได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 212 ประกอบมาตรา 225
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3839/2526  โจทก์นอกจากจะได้กล่าวในฟ้องในตอนต้นและตอนท้ายว่า จำเลยหลอกลวงโจทก์อาศัยความโง่เขลาเบาปัญญาและความอ่อนแอแห่งจิตของโจทก์แล้ว โจทก์ยังบรรยายข้อความที่จำเลยหลอกลวงโจทก์อีกว่า เหล็กไหลสามารถรักษาโรคภัยไข้เจ็บที่โจทก์กำลังเป็นอยู่นั้นให้หายขาดได้ ซึ่งพอเป็นที่เข้าใจได้ว่า ความอ่อนแอแห่งจิตของโจทก์เนื่องมาจากความเจ็บป่วย และคำว่าโง่เขลาเบาปัญญาก็แสดงอยู่ว่าโจทก์นั้นถูกหลอกลวงให้หลงเชื่อได้ง่ายกว่าคนมีจิตปกติ ฟ้องโจทก์จึงสมบูรณ์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 342(2) และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5) แล้ว

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมประจำสัปดาห์

แนวข้อสอบ ระเบียบฯ พนักงานราชการ

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 (ชุดที่ 1)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 (55 ข้อ)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539

การส่งเด็กเข้าเรียนตามกฎหมาย

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. 2566 (30 ข้อ)

สาระสำคัญ พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. 2566 (ฉบับเตรียมสอบ)

แนวข้อสอบ ระเบียบฯ การลาของข้าราชการ (ชุดที่ 2)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 (ชุดที่ 2)