อดีต-ปัจจุบัน โรคต้องห้ามของการเป็นข้าราชการ
ในอดีต กฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการพลเรือน ได้ให้อำนาจ คณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) กำหนดโรคที่เป็นลักษณะต้องห้ามสำหรับผู้ที่จะเข้ารับราชการเป็นข้าราชการพลเรือน โดยในยุคนั้นได้มีการออก กฎ ก.พ. ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2497) ออกตามความในพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2497 ว่าด้วยโรค กำหนดห้ามบุคคลที่เป็นโรค 4 ชนิด เข้ารับราชการเป็นข้าราชการพลเรือน ได้แก่
1. โรคเรื้อน
2. วัณโรคในระยะอันตราย
3. โรคยาเสพติดให้โทษอย่างร้ายแรง
4. โรคพิษสุราเรื้อรัง
ต่อมา ได้มีการยกเลิกกฎ ก.พ. ฉบับนี้ และให้ใช้ กฎ ก.พ. ฉบับที่ 155 (พ.ศ. 2500) ออกตามความในพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2497 ว่าด้วยโรค ซึ่งได้แก้ไขเพิ่มเติม โรคเท้าช้างในระยะที่ปรากฏอาการเป็นที่รังเกียจแก่สังคม เป็นโรคที่ต้องห้ามอีก 1 โรค รวมกับโรค 4 ชนิดเดิม เป็น 5 ชนิด
ภายหลังมีการประกาศใช้พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2518 คณะกรรมการข้าราชการพลเรือนจึงได้ออก กฎ ก.พ. เพื่อกำหนดโรคที่ต้องห้ามสำหรับการเป็นข้าราชการพลเรือนขึ้น คือ กฎ ก.พ. ฉบับที่ 1 (พ.ศ. 2518) ออกตามความในพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2518 ว่าด้วยโรค และกำหนดให้โรค 5 ชนิด ตามกฎหมายเดิม เป็นโรคต้องห้ามตามกฎหมายฉบับนี้ ซึ่งต่อมาในปี พ.ศ. 2526 ได้มีการแก้ไขเพิ่มเติม โรคเรื้อน และ โรคยาเสพติดให้โทษอย่างร้ายแรง พร้อมกับกำหนดโรคต้องห้ามการเป็นข้าราชการพลเรือน ดังนี้
1. โรคเรื้อนในระยะติดต่อ หรือในระยะที่ปรากฏอาการเป็นที่รังเกียจของสังคม
2. วัณโรคในระยะอันตราย
3. โรคเท้าช้างในระยะที่ปรากฏอาการเป็นที่รังเกียจของสังคม
4. โรคติดยาเสพติดให้โทษ
5. โรคพิษสุราเรื้อรัง
การจัดระเบียบข้าราชการพลเรือนในสมัยพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2535 ก็ได้กำหนดโรค 5 ชนิด ดังกล่าว เป็นโรคต้องห้ามในการเป็นข้าราชการพลเรือนเช่นกัน ตาม กฎ ก.พ. ฉบับที่ 3 (พ.ศ. 2535) ออกตามความในพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2535 ว่าด้วยโรค
ลักษณะต้องห้ามของการเป็นโรคดังกล่าว ได้ใช้บังคับต่อเนื่องมาหลายปี จนกระทั่งมีการจัดระเบียบข้าราชการพลเรือนขึ้นอีกครั้งตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 ซึ่ง ก.พ. โดยได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี ได้ออกกฎ ก.พ. ว่าด้วยโรค พ.ศ. 2553 ขึ้น กำหนดให้โรค 5 ชนิด เป็นโรคต้องห้ามสำหรับการเป็นข้าราชการพลเรือน และใช้บังคับจนถึงปัจจุบัน ได้แก่
1. วัณโรคในระยะแพร่กระจาย
2. โรคเท้าช้างในระยะที่ปรากฏอาการเป็นที่รังเกียจของสังคม
3. โรคติดยาเสพติดให้โทษ
4. โรคพิษสุราเรื้อรัง
5. โรคติดต่ออย่างร้ายแรงหรือโรคเรื้อรัง ที่ปรากฏอาการเด่นชัดหรือรุนแรง และเป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติงานในหน้าที่ตามที่ ก.พ. กำหนด
ข้อสังเกตของผู้เขียน
1. ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ถือว่า ผู้ที่ติดยาเสพติด/ผู้เสพยาเสพติด ถือเป็นผู้ป่วยและเป็นโรค ที่สมควรได้รับการบำบัด รักษา และฟื้นฟูสมรรถภาพ ตามกฎหมายเกี่ยวกับยาเสพติด
2. กฎ ก.พ. ว่าด้วยโรค พ.ศ. 2553 ข้อ 5 กำหนดโรคที่ต้องห้ามบุคคลเข้ารับราชการ คือ โรคติดต่ออย่างร้ายแรงหรือโรคเรื้อรัง ที่ปรากฏอาการเด่นชัดหรือรุนแรง และเป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติงานในหน้าที่ตามที่ ก.พ. กำหนด เป็นการให้อำนาจ ก.พ. เป็นผู้กำหนดเพิ่มเติมโรคติดต่อร้ายแรง/เรื้อรัง ที่เป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติงาน โดยไม่ต้องไม่รับความยินยอมจากคณะรัฐมนตรี
อย่างไรก็ดี การจะกำหนดโรคเพื่อห้ามบุคคลเข้ารับราชการ/ประกอบอาชีพ ถือเป็นการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลประการหนึ่ง ซึ่งจะกระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย กรณีดังกล่าวจึงอาจเป็นประเด็นสุ่มเสี่ยงต่อการละเมิดสิทธิเสรีภาพของบุคคลตามที่รัฐธรรมนูญให้การรับรองและคุ้มครองได้
#นักเรียนกฎหมาย
24 สิงหาคม 2561
อ้างอิง
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น