หน้าที่พิเศษของนิติกร : การจัดสอบเพื่อเป็นข้าราชการ

          เมื่อวันเสาร์-อาทิตย์ที่ผ่านมา ผู้เขียนได้มีโอกาสทำหน้าที่กรรมการรับ-ส่งข้อสอบ ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) รวมทั้งได้รับมอบหมายจากผู้บังคับบัญชาให้ปฏิบัติหน้าที่อื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง จึงอยากแชร์ประสบการณ์สำหรับรุ่นน้องๆ ที่จะต้องทำงานในอนาคต เพื่อเตรียมพร้อมทำงานให้สัมฤทธิ์ผล แม้จะต้องทำงานในวันหยุดก็ตาม 

          โดยทั่วไปแล้ว หน่วยงานของรัฐหลายๆ แห่งที่จัดสอบแข่งขันเพื่อบรรจุและแต่งตั้งบุคคลเข้ารับราชการ ก็มักจะใช้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับบริหารทรัพยากรมนุษย์ ตั้งแต่ผู้บริหาร ผู้อำนวยการสำนัก/กอง ผู้อำนวยการกลุ่ม/ส่วน/ฝ่าย นักทรัพยากรบุคคล/เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้แล้ว หลายหน่วยงานที่กำหนดมาตรการพิเศษ ก็มักจะแต่งตั้งนิติกร ให้ร่วมปฏิบัติหน้าที่ในการจัดสอบแต่ละครั้งด้วย

          ในการสอบแข่งขันของ สพฐ. ในปี พ.ศ. 2561 ได้เปิดรับสมัครสอบ จำนวน 10 ตำแหน่ง บรรจุครั้งแรกเดือนพฤศจิกายน 2561 ประมาณ 50 อัตรา ผู้เขียนดำรงตำแหน่ง นิติกรชำนาญการ ของ สพฐ. ได้รับโอกาสจากผู้ใหญ่ ที่เล็งเห็นผลการทำงาน จึงให้โอกาสปฏิบัติหน้าที่ต่างๆ ในการจัดสอบครั้งนี้ ซึ่งถือเป็นภารกิจพิเศษนอกเหนือจากการปฏิบัติหน้าที่นิติกรทั่วไป คือ


กำหนดสิ่งของที่อนุญาต และไม่อนุญาตให้นำเข้าห้องสอบ

          1. เป็นกรรมการตรวจรับพัสดุ ในการจัดสอบครั้งนี้ สพฐ. ได้ดำเนินการจ้างมหาวิทยาลัยให้เป็นผู้ดำเนินการสอบ เช่น การผลิตและการออกข้อสอบ การประมวลผลคะแนนสอบ ในแต่ละขั้นตอนผู้รับจ้างมีหน้าที่ส่งมอบงานตามที่กำหนดไว้ในสัญญาจ้าง เช่น เมื่อปิดรับสมัครแล้ว ผู้รับจ้างจะต้องส่งมอบรายชื่อผู้สมัครสอบ โดยแยกแต่ละตำแหน่ง ตลอดจนการจัดทำผังห้องสอบของแต่ละตำแหน่งแต่ละห้องสอบ เพื่อให้ สพฐ. นำไปประกาศให้ผู้สมัครรับทราบและเข้าใจในการสอบ ซึ่งผู้เขียนก็ต้องตรวจรับงานในขั้นตอนต่างๆ จนกระทั่งส่งมอบงานงวดสุดท้ายเมื่อเสร็จสิ้นภารกิจการสอบในครั้งนี้ให้เป็นไปตามสัญญาและข้อตกลงที่กำหนดไว้

          2. เป็นกรรมการตรวจเยี่ยมสนามสอบ แม้การตรวจเยี่ยมสนามสอบมักจะเป็นภารกิจพิเศษสำหรับข้าราชการระดับสูง แต่ในครั้งนี้ สพฐ. ให้โอกาสผู้เขียนร่วมเป็นกรรมการตรวจเยี่ยมสนามสอบกับผู้บริหารของหน่วยงานในวันที่มีการสอบข้อเขียน (ภาค ข.) เมื่อวันอาทิตย์ที่ 26 สิงหาคม 2561 ณ มหาวิทยาลัยรังสิต หน้าที่โดยทั่วไป จะสังเกตการณ์แวดล้อมต่างๆ ดูความเรียบร้อยของการจัดสอบให้เป็นไปตามมาตรการรักษาความลับ ความปลอดภัยของการจัดสอบ

          3. เป็นกรรมการรับ-ส่ง ผลคะแนนสอบสัมภาษณ์ (ภาค ค.) ซึ่ง สพฐ. ได้มอบหมายให้ผู้บริหาร ผู้อำนวยการสำนัก ที่ปรึกษา ผู้เชี่ยวชาญ ผู้อำนวยการกลุ่ม ทำการสัมภาษณ์ผู้เข้าสอบด้วยตนเอง เพื่อคัดเลือกบุคคลที่จะเข้ามาทำงานตรงกับหน้าที่ในแต่ละตำแหน่งและความต้องการของ สพฐ. โดยมีกรรมการสัมภาษณ์ประมาณ 20 โต๊ะ ใช้เวลาสัมภาษณ์ 2 วัน คือ วันเสาร์ที่ 15 และวันอาทิตย์ที่ 16 กันยายน 2561 ที่ผ่านมา ณ โรงเรียนสันติราษฎร์วิทยาลัย เมื่อทำการสอบสัมภาษณ์เสร็จในแต่ละวัน ผู้เขียนได้ทำหน้าที่ร่วมกับพี่ๆ ใน สพฐ. จัดส่งผลคะแนนทั้งหมด ให้แก่มหาวิทยาลัยผู้รับจ้าง เพื่อนำไปประมวลผลคะแนนสอบ รวมกับคะแนน ภาค ข. เพื่อจัดทำบัญชีรายชื่อผู้ผ่านการสอบแข่งขันต่อไป

          การดำเนินการจัดสอบแข่งขันแต่ละครั้ง ใช้งบประมาณจำนวนไม่น้อย มีขั้นตอนต่างๆ ที่รัดกุม มีมาตรการรักษาความปลอดภัยและความลับของทางราชการ และป้องกันการทุจริตในการสอบ ในแต่ละขั้นตอนมีการกำหนดตัวบุคคลผู้รับผิดชอบไว้ชัดเจน ให้การสอบเป็นไปด้วยความโปร่งใส ยุติธรรม เพื่อให้ได้ข้าราชการที่มีความรู้ความสามารถเข้ามาร่วมทำงานกับ สพฐ. ถือเป็นภารกิจที่สำคัญของหน่วยงานซึ่งได้มอบหมายให้กับนิติกรร่วมปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าว นิติกรและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องผู้ได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติงานนี้ (หรืองานอื่นๆ) จะต้องปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มความรู้ความสามารถ เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ภารกิจของหน่วยงาน ตลอดจนสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บังคับบัญชาและเพื่อนร่วมงานในทุกครั้งที่ปฏิบัติหน้าที่


#นักเรียนกฎหมาย
18 กันยายน 2561


ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมประจำสัปดาห์

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 (ชุดที่ 1)

แนวข้อสอบ ระเบียบฯ พนักงานราชการ

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 (55 ข้อ)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539

การส่งเด็กเข้าเรียนตามกฎหมาย

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. 2566 (30 ข้อ)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 (ชุดที่ 2)

สาระสำคัญ พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. 2566 (ฉบับเตรียมสอบ)

แนวข้อสอบ ระเบียบฯ สารบรรณ (ชุดที่ 3)