สรุปขั้นตอนและวิธีการแบ่งเขตเลือกตั้ง ส.ส.

          คณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ ก.ก.ต. ได้ออก ระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้ง ว่าด้วยการแบ่งเขตเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 18 กันยายน 2561 และมีผลใช้บังคับทันที โดยระเบียบ ก.ก.ต. ดังกล่าว กำหนดวิธีดำเนินการ ดังนี้


          1. การกำหนดจำนวน ส.ส. แต่ละจังหวัด จะต้องทำให้แล้วเสร็จ ภายใน 30 วัน นับจากวันที่ระเบียบนี้ใช้บังคับ (ให้เสร็จภายในวันที่ 18 ตุลาคม 2561)
              1.1 ให้ใช้จำนวนราษฎรทั้งประเทศ ตามหลักฐานการทะเบียนราษฎรถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2560 เฉลี่ยนด้วยจำนวน ส.ส. 350 คน ให้ถือว่าจำนวนราษฎรที่ได้รับต่อ ส.ส. 1 คน
              1.2 จังหวัดที่มีราษฎรไม่ถึงเกณฑ์จำนวนราษฎรต่อ ส.ส. 1 คน ก็ให้มี ส.ส. ได้ 1 คน
              1.3 จังหวัดที่มีราษฎรเกินจำนวนราษฎรต่อ ส.ส. 1 คน ให้มี ส.ส. เพิ่มขึ้นอีก 1 คน ทุกจำนวนราษฎรที่ถึงเกณฑ์จำนวนราษฎรต่อ ส.ส. 1 คน
              1.4 เมื่อได้จำนวน ส.ส. แต่ละจังหวัดแล้ว ถ้าจำนวน ส.ส. ยังไม่ครบ 350 คน ให้จังหวัดที่มีเศษเหลือจากการคำนวณมากที่สุด มี ส.ส. เพิ่มขึ้นอีก 1 คน และให้เพิ่มจำนวน ส.ส. แก่จังหวัดที่มีเศษเหลือในลำดับรองลงมาตามลำดับ จนครบจำนวน 350 คน

          2. การแบ่งเขตจังหวัดออกเป็นเขตเลือกตั้ง จะต้องทำให้แล้วเสร็จ ภายใน 14 วัน นับแต่วันที่มีประกาศกำหนดจำนวน ส.ส. แต่ละจังหวัด (กรณีช้าสุด ภายในวันที่ 31 ตุลาคม 2561)
              2.1 จังหวัดที่มี ส.ส. 1 คน ให้ถือเขตจังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง
              2.2 จังหวัดที่มี ส.ส. เกิน 1 คน ให้แบ่งเขตจังหวัดออกเป็นเขตเลือกตั้ง เท่าจำนวน ส.ส. (เช่น จังหวัดที่มี ส.ส. 3 คน ก็มี 3 เขตเลือกตั้ง) โดยผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัดมีหน้าที่พิจารณาแบ่งพื้นที่ของเขตเลือกตั้งให้ติดต่อกันและให้มีจำนวนราษฎรในแต่ละเขตใกล้เคียงกัน ดังนี้
              2.2.1 รวมอำเภอต่างๆ เป็นเขตเลือกตั้ง โดยคำนึงถึงพื้นที่ที่ติดต่อใกล้ชิดกัน ความสะดวกในการคมนาคมระหว่างกัน และการเคยอยู่ในเขตเลือกตั้งเดียวกัน ถ้าทำให้จำนวนราษฎรมากหรือน้อยเกินไป ให้แยกตำบลของอำเภอออก เพื่อให้ได้จำนวนราษฎรพอเพียงสำหรับเขตเลือกตั้ง แต่ห้ามแยกหรือรวมเฉพาะพื้นที่บางส่วนของตำบล (ต้องแยก/รวมทั้งตำบล)
              2.2.2 ถ้ากำหนดพื้นที่ตาม 2.2.1 ทำให้จำนวนราษฎรในแต่ละเขตเลือกตั้งมีจำนวนไม่ใกล้เคียงกันหรือไม่มีสภาพเป็นชุมชนเดียวกัน ให้แบ่งเขตเลือกตั้งตามสภาพของชุมชนที่ราษฎรมีการติดต่อกันเป็นประจำในลักษณะที่เป็นชุมชนเดียวกันหรือใกล้เคียงกัน และสามารถเดินทางติดต่อกันได้โดยสะดวก โดยจะต้องทำให้จำนวนราษฎรใกล้เคียงกันมากที่สุด

          3. การรับฟังความคิดเห็นของพรรคการเมืองและประชาชนในจังหวัด
              3.1 ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัด ประกาศรูปแบบการแบ่งเขตเลือกตั้งตามข้อ 2 อย่างน้อย 3 รูปแบบ ในแต่ละรูปแบบประกอบด้วย รายละเอียดเกี่ยวกับอำเภอหรือตำบล หรือเขตพื้นที่ที่อยู่ในเขตเลือกตั้งแต่ละเขต จำนวนราษฎรของแต่ละเขตเลือกตั้ง และผลต่างของจำนวนราษฎรในแต่ละเขตเลือกตั้ง จากจำนวนเฉลี่ยนราษฎรต่อ ส.ส. 1 คน ในจังหวัดนั้น เหตุผลประกอบการเสนอแนะการแบ่งเขตเลือกตั้ง แผนที่แสดงรายละเอียดของพื้นที่ที่ประกอบเป็นเขตเลือกตั้ง โดยปิดประกาศ ณ สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัด ศาลากลางจังหวัด ที่ว่าการอำเภอ สำนักงานเทศบาล ที่ทำการองค์การบริหารส่วนตำบล และประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อมวลชนต่างๆ ในจังหวัด เป็นเวลา 10 วัน นับแต่วันปิดประกาศ เพื่อรับฟังความคิดเห็นของพรรคการเมืองและประชาชนในจังหวัด
              กรณีพรรคการเมือง ส่วนราชการ หรือบุคคลใดต้องการรูปแบบการแบ่งเขตเลือกตั้งที่ปิดประกาศไว้ ให้ขอคัดสำเนาจากสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัด โดยเสียค่าใช้จ่ายเองตามวิธีการที่กำหนด
              3.2 ภายใน 3 วัน นับแต่สิ้นสุดระยะเวลาการรับฟังความคิดเห็นของพรรคการเมืองและประชาชนในจังหวัดแล้ว ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัดต้องนำความเห็นและข้อเสนอแนะ ประกอบการพิจารณาการแบ่งเขตเลือกตั้งอีกครั้ง แล้วเสนอผลการพิจารณา รวบรวมสรุปความเห็นและข้อเสนอแนะ พร้อมผลการพิจารณาข้อเสนอแนะการแบ่งเขตเลือกตั้งอย่างน้อย 3 รูปแบบ เรียงตามลำดับความเหมาะสม ต่อ ก.ก.ต. ในวันถัดไป

          4. การพิจารณาและกำหนดรูปแบบการแบ่งเขตเลือกตั้ง
          ก.ก.ต. ต้องประชุมพิจารณารูปแบบการแบ่งเขตเลือกตั้งให้แล้วเสร็จ ภายใน 20 วัน นับแต่วันที่ได้รับรูปแบบการแบ่งเขตจากผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัด และเมื่อ ก.ก.ต. ได้ดำเนินการแบ่งเขตเลือกตั้งแล้ว ให้ประกาศการแบ่งเขตเลือกตั้งในราชกิจจานุเบกษา
          เมื่อมีพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้ง ส.ส. เป็นการทั่วไป ให้ ก.ก.ต. ประกาศจำนวน ส.ส. แบบแบ่งเขตเลือกตั้งที่แต่ละจังหวัดจะพึงมี และจำนวนเขตเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งของแต่ละจังหวัด พร้อมรายละเอียดเกี่ยวกับอำเภอหรือเขตพื้นที่ที่อยู่ในเขตเลือกตั้งในคราวนั้น โดยถือเขตเลือกตั้งที่มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษาดังกล่าว

ข้อสังเกตุของผู้เขียน
          การกำหนดให้มีการปิดประกาศรูปแบบการแบ่งเขตเลือกตั้งตามสถานที่ต่างๆ และการกำหนดให้คัดสำเนาจากสำนักงาน ก.ก.ต. ประจำจังหวัดโดยเสียค่าใช้จ่ายเองในขั้นตอนการรับฟังความคิดเห็นของพรรคการเมืองและประชาชนในจังหวัด ซึ่งไม่ได้กำหนดช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ในปัจจุบันที่มีหลายช่องทาง ทั้งปัจจุบันข้อมูลข่าวสารของราชการหลายๆ อย่าง มีการเผยแพร่ทางอินเตอร์เน็ต ทำให้ผู้ที่สนใจสามารถดาว์นโหลดได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย และบรรลุวัตถุประสงค์ของการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนมากขึ้น การกำหนดให้ปิดประกาศตามสถานที่ดังกล่าว ถือเป็นเรื่องที่ล้าสมัยและสร้างภาระเกินสมควร 

#นักเรียนกฎหมาย
19 กันยายน 2561

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมประจำสัปดาห์

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. 2566 (30 ข้อ)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 (55 ข้อ)

สาระสำคัญ พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. 2566 (ฉบับเตรียมสอบ)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539

แนวข้อสอบ ระเบียบฯ พนักงานราชการ

กฎกระทรวงกำหนดกรณีอื่นที่เจ้าหน้าที่จะทำการพิจารณาทางปกครองไม่ได้ พ.ศ. 2566

การส่งเด็กเข้าเรียนตามกฎหมาย

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 (ชุดที่ 1)

แนวข้อสอบ ระเบียบฯ สารบรรณ (ชุดที่ 3)