การขออนุญาตฎีกา ในคดียาเสพติด


ตัวอย่างคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2869/2561 จากเว็บไซต์ศาลฎีกา
           ในชั้นตรวจคำฟ้อง ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องในคดีความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด โจทก์ยื่นอุทธรณ์ขอให้ศาลชั้นต้นรับชำระคดี ถือว่าเป็นการอุทธรณ์ในคดีความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ย่อมเป็นที่สุด ตามพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ. 2550 มาตรา 18 วรรคหนึ่ง และมาตรา 19 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า หากโจทก์จะฎีกาต้องยื่นคำร้องขออนุญาตฎีกาต่อศาลฎีกาซึ่งเป็นกฎหมายเฉพาะ 
          ไม่อาจนำบทบัญญัติหรือวิธีพิจารณาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ซึ่งเป็นกฎหมายทั่วไปมาใช้บังคับได้ 
          การที่อัยการสูงสุดลงลายมือชื่อรับรองฎีกาของโจทก์ ว่ามีเหตุอันสมควรที่ศาลฎีกาจะได้วินิจฉัย เป็นการรับรองให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 221 มิใช่การยื่นคำร้องขออนุญาตฎีกาต่อศาลฎีกา 
          เมื่อโจทก์ยื่นฎีกาโดยมิได้ยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาเพื่อขอให้พิจารณารับฎีกาของโจทก์ไว้วินิจฉัย จึงเป็นการไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ. 2550 มาตรา 19 วรรคหนึ่ง เป็นฎีกาที่ไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย


#นักเรียนกฎหมาย
25 กันยายน 2561

หมายเหตุ
พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ. 2550
          มาตรา 18 บัญญัติว่า "ให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งโดยมิชักช้า และภายใต้บังคับแห่งบทบัญญัติมาตรา 16 และมาตรา 19 คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์เฉพาะการกระทำซึ่งเป็นความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ให้เป็นที่สุด
          คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์ในการกระทำกรรมอื่นซึ่งมิใช่ความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด คู่ความอาจฎีกาได้ภายใต้บทบัญญัติว่าด้วยการฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา"

          มาตรา 19 บัญญัติว่า "ในกรณีที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาหรือมีคำสั่งในคดีความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดตามมาตรา 18 วรรคหนึ่งแล้ว คู่ความอาจยื่นคำขอโดยทำเป็นคำร้องไปพร้อมกับฎีกาต่อศาลฎีกา ภายในกำหนดหนึ่งเดือนนับแต่วันอ่านหรือถือว่าได้อ่านคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลนั้นให้คู่ความฝ่ายที่ขออนุญาตฎีกาฟัง เพื่อขอให้พิจารณารับฎีกาไว้วินิจฉัยคดีก็ได้
          เมื่อมีคำร้องขอตามวรรคหนึ่ง ศาลฎีกาอาจพิจารณารับฎีกาในปัญหาเรื่องหนึ่งเรื่องใดไว้วินิจฉัยก็ได้ หากเห็นว่าเป็นปัญหาสำคัญที่ศาลฎีกาควรจะได้วินิจฉัย
          คดีที่ศาลฎีกามีคำสั่งไม่รับฎีกาไว้วินิจฉัย ให้เป็นที่สุดตั้งแต่วันที่ได้อ่านหรือถือว่าได้อ่านคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์
          หลักเกณฑ์และวิธีการยื่นคำขอ ตลอดจนการพิจารณาและมีคำสั่งอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้ฎีกาตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามระเบียบที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา ทั้งนี้ ในระเบียบดังกล่าวอย่างน้อยต้องระบุเงื่อนเวลาของการสั่งไม่อนุญาตที่ไม่ขัดหรือแย้งต่อการปฏิบัติตามมาตรา 262 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
          ระเบียบตามวรรคสี่ เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ให้ใช้บังคับได้"

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
          มาตรา 221 บัญญัติว่า "ในคดีซึ่งห้ามฎีกาไว้โดยมาตรา 218, 219 และ 220 แห่งประมวลกฎหมายนี้ ถ้าผู้พิพากษาคนใดซึ่งพิจารณาหรือลงชื่อในคำพิพากษาหรือทำความเห็นแย้งในศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์ พิเคราะห์เห็นว่าข้อความที่ตัดสินนั้น เป็นปัญหาสำคัญอันควรสู่ศาลสูงสุดและอนุญาตให้ฎีกา หรืออธิบดีกรมอัยการลงลายมือชื่อรับรองในฎีกาว่ามีเหตุอันสมควรที่ศาลสูงสุดจะได้วินิจฉัย ก็ให้รับฎีกานั้นไว้พิจารณาต่อไป"


ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมประจำสัปดาห์

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. 2566 (30 ข้อ)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542

สาระสำคัญ พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. 2566 (ฉบับเตรียมสอบ)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.การบริหารงานและการให้บริการภาครัฐผ่านระบบดิจิทัล พ.ศ. 2562 (20 ข้อ)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 (55 ข้อ)

แนวข้อสอบ ระเบียบฯ การลาของข้าราชการ (ชุดที่ 2)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ. 2546 (20 ข้อ)

การส่งเด็กเข้าเรียนตามกฎหมาย

แนวข้อสอบ ระเบียบฯ พนักงานราชการ

แนวข้อสอบ ระเบียบฯ การลาของข้าราชการ (ชุดที่ 1)