หลักการ วัตถุประสงค์ และเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540

          พระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 เป็นกฎหมายที่ให้การรับรองสิทธิของประชาชนได้รับรู้ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการดำเนินการต่างๆ ของรัฐ โดยไม่จำต้องเป็นผู้มีส่วนได้เสีย นอกจากนี้กฎหมายังให้ความคุ้มครองข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคลที่อยู่ในความครอบครองหรือควบคุมดูแลของรัฐ โดยมีหลักการพื้นฐานดังนี้

หลักการสำคัญของกฎหมาย
          1. ประชาชนมีโอกาสรับรู้ข้อมูลข่าวสารต่างๆ ของรัฐ ประชาชนทุกคนมีสิทธิได้รู้ข้อมูลข่าวสารได้โดยไม่จำเป็นต้องมีส่วนได้เสีย เพื่อการมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายและตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐให้เป็นไปอย่างโปร่งใส
          2. ข้อมูลข่าวสารของราชการส่วนใหญ่เปิดเผยได้ ภายใต้หลักการ "เปิดเผยเป็นหลัก ปกปิดเป็นข้อยกเว้น" โดยข้อยกเว้นเฉพาะกรณีที่กฎหมายกำหนดว่าไม่ต้องเปิดเผยเท่านั้น เช่น ข้อมูลข่าวสารที่หากเปิดเผยแล้วจะเกิดความเสียหายต่อประเทศชาติ เป็นต้น
          3. คุ้มครองข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคลที่อยู่ในความควบคุมดูแลของหน่วยงานของรัฐ ซึ่งหน่วยงานจะเปิดเผยข้อมูลต่อหน่วยงานของรัฐแห่งอื่นหรือผู้อื่นโดยปราศจากความยินยอมเป็นหนังสือจากเจ้าของข้อมูลไม่ได้ เว้นแต่ที่กฎหมายกำหนดไว้

วัตถุประสงค์ของกฎหมาย
          1. รับรองสิทธิได้รู้หรือได้รับทราบของประชาชน (Right to Know) ภายใต้หลักการ "เปิดเผยเป็นหลัก ปกปิดเป็นข้อยกเว้น" เมื่อประชาชนได้รู้ข้อมูลข่าวสารแล้ว ก็อาจนำไปใช้ประโยชน์ได้ตามความต้องการ เพื่อปกป้องประโยชน์ส่วนตน ประโยชน์สาธารณะ และการมีส่วนร่วมในการปกครองตามระบอบประชาธิปไตย
          2. คุ้มครองข้อมูลข่าวสารสำคัญ ภายใต้หลักการ "ความจำเป็นในการคุ้มครอง" ดังนี้
              2.1 คุ้มครองความลับของทางราชการ โดยมีระเบียบกำหนดไว้แน่ชัดว่าข้อมูลข่าวสารใดจะกำหนดชั้นความลับได้อย่างไรบ้าง
              2.2 คุ้มครองประโยชน์ที่สำคัญของเอกชน เช่น ความลับทางธุรกิจการค้า เป็นต้น
          3. คุ้มครองข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคล ภายใต้หลักการ "ปกปิดเป็นหลัก เปิดเผยเป็นข้อยกเว้น" ไม่ให้มีการละเมิด ซึ่งจะกระทบต่อสิทธิประโยชน์ส่วนบุคคลและความเป็นส่วนตัว (Privacy)

เจตนารมณ์ของกฎหมาย
          1. เพื่อให้ประชาชนได้รับรู้หรือได้ทราบข้อมูลข่าวสารการดำเนินงานต่างๆ ของรัฐ เพื่อแสดงความคิดเห็นและใช้สิทธิทางการเมืองได้อย่างถูกต้อง รวมทั้งมีส่วนร่วมในกระบวนการบริหารและตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ อันจะเป็นการส่งเสริมให้มีรัฐบาลที่บริหารบ้านเมืองอย่างมีประสิทธิภาพ โปร่งใส เป็นไปเพื่อประโยชน์ของประชาชนมากยิ่งขึ้น
          2. เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับข้อมูลข่าวสารของราชการที่หน่วยงานของรัฐ ไม่ต้องเปิดเผย หรืออาจไม่เปิดเผยเพื่อให้ชัดเจนต่อการปฏิบัติ โดยจำกัดเฉพาะข้อมูลข่าวสารที่หากเปิดเผยแล้วจะเกิดความเสียหายต่อประเทศชาติหรือต่อประโยชน์ที่สำคัญของเอกชน
          3. เพื่อคุ้มครองการรุกล้ำสิทธิส่วนบุคคลในส่วนที่เกี่ยวข้องกับข้อมูลส่วนบุคคลที่อยู่ในความครอบครองของหน่วยงานของรัฐ




ที่มา  สำนักงานคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการ, คู่มือสิทธิประชาชนในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของราชการ, (กรุงเทพฯ : บริษัท สหมิตรพริ้นติ้งแอนด์พับลิสชิ่ง จำกัด, 2557)


#นักเรียนกฎหมาย
24 ตุลาคม 2561

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมประจำสัปดาห์

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 (55 ข้อ)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. 2566 (30 ข้อ)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539

สาระสำคัญ พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. 2566 (ฉบับเตรียมสอบ)

การส่งเด็กเข้าเรียนตามกฎหมาย

แนวข้อสอบ ระเบียบฯ พนักงานราชการ

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 (ชุดที่ 1)

แนวข้อสอบ ระเบียบฯ สารบรรณ (ชุดที่ 3)

กฎกระทรวงกำหนดกรณีอื่นที่เจ้าหน้าที่จะทำการพิจารณาทางปกครองไม่ได้ พ.ศ. 2566