เสาโทรคมนาคมฯ สาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานอันจำเป็นต่อการดำรงชีวิต


          คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 1) ได้มีความเห็นเรื่องเสร็จที่ 334/2561 เรื่อง เสาโทรคมนาคมและสายไฟเบอร์ของบริษัท กสท. โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) เป็นสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานอันจำเป็นต่อการดำรงชีวิตของประชาชน ตามมาตรา 56 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชการอาณาจักรไทย หรือไม่

          โดยมีความเห็นว่า กิจการใดจะเป็นสาธารณูปโภคหรือไม่ ต้องพิจารณาจากลักษณะของกิจการ ว่าเป็นกิจการเพื่อประโยชน์แก่ประชาชนเป็นการทั่วไป
          เมื่อเสาโทรคมนาคมและสายไฟเบอร์ เป็นปัจจัยพื้นฐาน เป็นอุปกรณ์ที่ทำให้ประชาชนผู้ใช้บริการ สามารถติดต่อหรือสื่อสารถึงกันได้ทางโทรศัพท์หรือทางเทคโนโลยีอื่น จึงต้องถือว่าเสาโทรคมนาคมและสายไฟเบอร์เป็นโครงสร้างหรือโครงข่ายขั้นพื้นฐาน 
          ประกอบกับในปัจจุบันการติดต่อสื่อสารระหว่างกันของประชาชน ตลอดจนการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารและการใช้เทคโนโลยีในการทำธุรกรรมเป็นสิ่งจำเป็นที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ 
          ดังนั้น กิจการโทรศัพท์และการใช้เทคโนโลยีเพื่อการติดต่อสื่อสารถึงกัน จึงเป็นสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตของประชาชนที่รัฐมีหน้าที่ต้องจัดให้มีหรือดำเนินการให้มี ตามมาตรา 56 วรรคหนึ่ง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และอยู่ในบังคับของมาตรา 56 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 
          บทบัญญัติดังกล่าวใช้เฉพาะกับทรัพย์สินที่เป็นของรัฐ โดยไม่กระทบถึงทรัพย์อย่างเดียวกันที่เป็นของเอกชน ซึ่งการที่เอกชนได้รับสัมปทานและสร้างโครงข่ายหรือจัดให้มีสายไฟเบอร์เป็นของตนเอง ย่อมทำได้ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง 
          เมื่อเสาโทรคมนาคมและสายไฟเบอร์ซึ่งบริษัท TAC ได้โอนให้เป็นกรรมสิทธิ์ของ บริษัท กสท. โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) จึงเป็นทรัพย์สินของรัฐที่เป็นโครงสร้างหรือโครงข่ายขั้นพื้นฐานของกิจการสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตของประชาชน และไม่อาจตกเป็นกรรมสิทธิ์ของเอกชนหรือทำให้รัฐเป็นเจ้าของน้อยกว่าร้อยละ 51 ได้ 
          ดังนั้น การขายกรรมสิทธิ์ในเสาโทรคมนาคมและสายไฟเบอร์ของบริษัท กสท.ฯ ให้แก่บริษัท เสาโทรคมนาคม และบริษัทสายไฟเบอร์ ซึ่งมีสัดส่วนการถือหุ้นของบริษัท กสท.ฯ น้อยกว่าร้อยละ 51 จึงไม่สอดคล้องกับบทบัญญัติมาตรา 56 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
          อนึ่ง คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 1) มีข้อสังเกตว่า บริษัท กสท.ฯ มีหน้าที่ติดตามให้ได้คืนมาโดยรีบด่วน การละเลยปล่อยเวลาให้เนิ่นนานไปหรือไม่ดำเนินการอย่างเข้มงวด ผู้ที่เกี่ยวข้องอาจต้องรับผิดทั้งทางแพ่งและทางอาญาได้

หมายเหตุ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 
          มาตรา 56 บัญญัติว่า "รัฐต้องจัดหรือดำเนินการให้มีสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตของประชาชนอย่างทั่วถึงตามหลักการพัฒนาอย่างยั่งยืน
          โครงสร้างหรือโครงข่ายขั้นพื้นฐานของกิจการสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานของรัฐอันจำเป็นต่อการดำรงชีวิตของประชาชนหรือเพื่อความมั่นคงของรัฐ รัฐจะกระทำด้วยประการใดให้ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของเอกชนหรือทำให้รัฐเป็นเจ้าของน้อยกว่าร้อยละห้าสิบเอ็ดมิได้
          การจัดหรือดำเนินการให้มีสาธารณูปโภคตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสอง รัฐต้องดูแลมิให้มีการเรียกเก็บค่าบริการจนเป็นภาระแก่ประชาชนเกินสมควร
          การนำสาธารณูปโภคของรัฐไปให้เอกชนดำเนินการทางธุรกิจไม่ว่าด้วยประการใดๆ รัฐต้องได้รับประโยชน์ตอบแทนอย่างเป็นธรรม โดยคำนึงถึงการลงทุนของรัฐ ประโยชน์ที่รัฐและเอกชนจะได้รับและค่าบริการที่จะเรียกเก็บจากประชาชนประกอบกัน"

ที่มา เว็บไซต์กฤษฎีกา

#นักเรียนกฎหมาย
12 ตุลาคม 2561


ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมประจำสัปดาห์

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 (ชุดที่ 1)

แนวข้อสอบ ระเบียบฯ พนักงานราชการ

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 (55 ข้อ)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539

การส่งเด็กเข้าเรียนตามกฎหมาย

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. 2566 (30 ข้อ)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 (ชุดที่ 2)

สาระสำคัญ พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. 2566 (ฉบับเตรียมสอบ)

แนวข้อสอบ ระเบียบฯ สารบรรณ (ชุดที่ 3)