การเรียกประกันหรือหลักประกันการปล่อยชั่วคราว ในชั้นศาลและชั้นสอบสวน


          หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข เกี่ยวกับการเรียกประกันหรือหลักประกัน ในการปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีอาญา แบ่งออกเป็น 2 กรณี คือ ในชั้นศาล และชั้นสอบสวน ดังนี้

          ในชั้นศาล เป็นไปตามข้อบังคับของประธานศาลฎีกา ว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับการเรียกประกันหรือหลักประกัน ในการปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีอาญา พ.ศ. 2548

          1. เมื่อศาลพิจารณาคำร้องขอให้ปล่อยชั่วคราวแล้ว เห็นว่าสมควรให้ปล่อยชั่วคราวตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 108 ก็ให้ศาลพิจารณาว่าจะให้ปล่อยชั่วคราวโดยมีประกันหรือไม่มีประกัน 
          โดยให้ศาลพิจารณาถึงความร้ายแรงแห่งข้อหา สาเหตุและพฤติการณ์การกระทำความผิด รวมทั้งบุคลิกลักษณะ นิสัย สภาพทางร่างกายและจิตใจ การศึกษา การประกอบอาชีพการงาน ประวัติการกระทำความผิดอาญา สภาพและฐานะของครอบครัว และความสัมพันธ์กับบุคคลอื่นในสังคม
หากศาลพิจารณาแล้ว เห็นว่ามีเหตุจำเป็นและสมควรที่จะปล่อยชั่วคราวโดยต้องมีประกัน ก็ให้กำหนดวงเงินประกันให้เหมาะสมแก่ข้อหาและสภาพแห่งคดี รวมทั้งแนวโน้มที่ผู้ต้องหาหรือจำเลยจะหลบหนีหากพฤติการณ์แห่งคดีเปลี่ยนแปลงไป
          ในกรณีที่จำเป็นต้องเรียกหลักประกัน ก็ให้พิจารณาว่าหลักประกันนั้น คุ้มกับวงเงินประกันที่กำหนดหรือไม่ โดยให้คำนึงถึงความน่าเชื่อถือของผู้ขอประกัน หลักประกัน และฐานะของผู้ต้องหาหรือจำเลยประกอบด้วย

          2. การกำหนดวงเงินประกัน ให้พิจารณาดังนี้
              2.1 คดีความผิดลหุโทษหรือที่มีโทษปรับสถานเดียว ให้ปล่อยชั่วคราวโดยไม่ต้องมีประกัน หากมีเหตุจำเป็นต้องมีประกัน ให้กำหนดวงเงินไม่เกินกึ่งหนึ่งของอัตราโทษปรับขั้นสูงสำหรับความผิดนั้น
              2.2 ถ้าไม่มีกฎหมายเฉพาะบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น ในคดีความผิดที่มีผลกระทบทางเศรษฐกิจซึ่งมีอัตราโทษปรับสูง ไม่ว่าจะมีโทษจำคุกด้วยหรือไม่ก็ตาม จะปล่อยชั่วคราวโดยมีประกันหรือหลักประกันก็ได้ แต่ไม่ควรกำหนดวงเงินให้เกินกึ่งหนึ่งของอัตราโทษปรับขั้นสูงสำหรับความผิดนั้น และไม่ว่ากรณีใดต้องไม่กำหนดวงเงินประกันหรือหลักประกันให้สูงเกินอัตราโทษปรับขั้นสูง
              2.3 คดีที่มีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงไม่เกิน 5 ปี ให้ศาลใช้ดุลพินิจอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวได้โดยไม่ต้องมีประกัน หากมีเหตุจำเป็นต้องมีประกัน ให้กำหนดวงเงินไม่เกิน 100,000 บาท เว้นแต่มีเหตุสมควรที่จะสั่งเป็นอย่างอื่น ก็ให้ระบุเหตุนั้นไว้โดยชัดแจ้ง
              2.4 คดีที่มีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงเกิน 5 ปีขึ้นไป การอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวต้องมีประกัน และจะมีหลักประกันหรือไม่ก็ได้ แต่วงเงินประกันต้องไม่สูงเกินควรแก่กรณี
              ในกรณีที่พฤติการณ์แห่งคดี มิได้มีลักษณะเป็นพิเศษอย่างอื่น การกำหนดวงเงินประกันในกรณีนี้ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังนี้
                    2.4.1 คดีที่มีโทษจำคุก แต่ไม่มีโทษสถานอื่นที่หนักกว่าโทษจำคุกรวมอยู่ด้วย ให้กำหนดวงเงินประกันโดยถือเกณฑ์ไม่เกิน 20,000 บาท ต่อระวงโทษจำคุก 1 ปี ทั้งในส่วนที่เป็นอัตราโทษขั้นสูงและขั้นต่ำ
                    2.4.2 คดีที่มีโทษจำคุกตลอดชีวิต ให้กำหนดวงเงินประกันไม่เกิน 600,000 บาท
                    2.4.3 คดีที่มีโทษประหารชีวิต ให้กำหนดวงเงินประกันไม่เกิน 800,000 บาท
              2.5 คดีที่มีหลายข้อหา ไม่ว่าจะเป็นความผิดกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท หรือความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ถือข้อหาที่มีอัตราโทษหนักที่สุดเป็นเกณฑ์ในการกำหนดวงเงินประกัน
              กรณีจำเลยถูกฟ้องหลายคดีต่อศาลเดียวกัน ไม่ว่าจะถูกฟ้องพร้อมกันหรือต่างเวลากัน ศาลอาจกำหนดวงเงินประกันในแต่ละคดี ให้ต่ำกว่าเกณฑ์ปกติ โดยให้ใช้หลักประกันร่วมกันก็ได้ แต่วงเงินประกันรวมสำหรับทุกคดี ต้องไม่น้อยกว่าเกณฑ์ตามวรรคหนึ่ง

          3.กรณีที่ศาลพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกิน 3 ปี ไม่ว่าจะเป็นคดีที่ต้องห้ามอุทธรณ์ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงหรือไม่ก็ตาม ให้ศาลใช้ดุลพินิจอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวในระหว่างอุทธรณ์ฎีกาได้ โดยมีประกันและหลักประกัน แต่วงเงินประกันไม่ควรสูงเกินกว่า 100,000 บาท
          กรณีที่ศาลพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยเกิน 3 ปี และศาลเห็นสมควรอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวในระหว่างอุทธรณ์ฎีกาได้ โดยมีประกันและหลักประกัน หากศาลเห็นว่าสมควรกำหนดวงเงินประกันให้สูงขั้นจากที่ศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์กำหนดไว้ ก็ให้กำหนดวงเงินประกันเพิ่มขึ้นได้แต่ไม่ควรเพิ่มเกินกึ่งหนึ่ง 

          4. กรณีผู้ขอประกันเป็นญาติพี่น้อง หรือมีความเกี่ยวพันโดยทางสมรส หรือผู้ขอประกันใช้หลักทรัพย์มีค่าอย่างอื่นที่กำหนดราคามูลค่าที่แน่นอนและสะดวกแก่การบังคับคดีเป็นหลักประกัน หรือกรณีความผิดที่ผู้ต้องหาหรือจำเลยกระทำด้วยความจำใจหรือด้วยความยากจน ศาลจะกำหนดวงเงินประกันให้ต่ำกว่าเกณฑ์ปกติก็ได้
          หากผู้ขอประกันซึ่งเป็นญาตพี่น้อง หรือมีความเกี่ยวพันโดยทางสมรส เป็นผู้ใช้เงินสดหรือหลักทรัพย์มีค่าอย่างอื่นของผู้ขอประกันที่กำหนดราคามูลค่าที่แน่นอนและสะดวกแก่การบังคับคดีเป็นหลักประกันในการปล่อยชั่วคราว ศาลจะอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวโดยให้ผู้ขอประกันวางเงินสดหรือหลักทรัพย์นั้น เพียงจำนวนร้อยละ 20 จากจำนวนวงเงินประกันที่ศาลกำหนดก็ได้
          
          5. กรณีผู้ต้องหาหรือจำเลยเป็นหญิงมีครรภ์หรือมีบุตรอายุไม่เกิน 3 ปี อยู่ในความดูแล หรือเป็นผู้เจ็บป่วยซึ่งถ้าต้องขังจะเป็นอันตรายอย่างร้ายแรงต่อสุขภาพ หรือเป็นผู้พิการหรือสูงอายุซึ่งโดยสภาพร่างกายหรือจิตใจอาจจะเกิดความทุกข์ยากลำบากเกินกว่าปกติในระหว่างต้องขัง ให้ศาลใช้ดุลพินิจอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวโดยไม่ต้องมีประกันหรือกำหนดวงเงินประกันให้ต่ำกว่าเกณฑ์ปกติ

          6. กรณีผู้ต้องหาหรือจำเลยเป็นเด็กหรือเยาวชน ให้ศาลที่มีอำนาจพิจารณาคดีเด็กและเยาวชนใช้ดุลพินิจกำหนดวงเงินประกันตามที่ศาลเห็นสมควร แต่ต้องไม่สูงกว่าหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในข้อบังคับนี้

          7. การปล่อยชั่วคราวโดยมีหลักทรัพย์เป็นประกัน อาจใช้หลักทรัพย์ดังต่อไปนี้
              7.1 ที่ดินมีโฉนด ที่ดินมีหนังสือรับรองการทำประโยชน์ หรือห้องชุดโดยมีโฉนดที่ดิน หนังสือรับรองการทำประโยชน์ หรือหนังสือกรรมสิทธิ์ห้องชุด และหนังสือรับรองราคาประเมินของสำนักงานที่ดินมาแสดง หากจะนำสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินมาเป็นประกันด้วย ก็จะต้องแสดงสำเนาทะเบียนบ้าน และหนังสือประเมินราคาสิ่งปลูกสร้างที่น่าเชื่อถือประกอบด้วย
              7.2 หลักทรัพย์มีค่าอย่างอื่นที่กำหนดราคามูลค่าที่แน่นอนได้ เช่น พันธบัตรรัฐบาล สลากออมสิน บัตรหรือสลากออมทรัพย์ทวีสินของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ใบรับเงินฝากประจำธนาคาร ตั๋วแลกเงินที่ธฯาคารเป็นผู้จ่าย และธฯาคารผู้จ่ายได้รับรองตลอดไปแล้ว ตั๋วสัญญาใช้เงินที่ธนาคารเป็นผู้ออกตั๋ว เช็คที่ธนาคารเป็นผู้สั่งจ่ายหรือรับรองซึ่งสามารถเรียกเก็บเงินได้ในวันที่ทำสัญญาประกัน และหนังสือรับรองของธนาคารหรือบริษัทประกันภัย เพื่อชำระเบี้ยปรับแทนในกรณีผิดสัญญาประกัน เป็นต้น ทั้งนี้ ในกรณีที่มีข้อสงสัย ให้ศาลตรวจสอบเพื่อขอคำยืนยันจากธนาคารหรือบริษัทประกันภัยที่ออกหนังสือรับรองนั้น
              เมื่อทำสัญญาประกันแล้ว ให้ศาลมีหนังสือแจ้งอายัดไปยังสำนักงานที่ดิน สำนักงานเขตหรืออำเภอ หรือธนาคาร แล้วแต่กรณี ทันที และเมื่อสัญญาประกันสิ้นสุดลง ให้รีบคืนหลักประกันและแจ้งยกเลิกการอายัดโดยเร็ว ในกรณีที่ใช้หนังสือรับรองของบริษัทประกันภัยเป็นหลักประกัน ให้ศาลแจ้งจำนวนวงเงินประกันในสัญญาประกันให้บริษัทประกันภัยทราบด้วย

          8. การใช้บุคคลเป็นประกันหรือหลักประกันตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 114 วรรคสอง (3) ให้พิจารณาหลักเกณฑ์ดังนี้
              8.1 บุคคลผู้ขอประกันจะต้องเป็นผู้มีตำแหน่งหน้าที่การงานหรือมีรายได้แน่นอน เช่น เป็นข้าราชการ ข้าราชการบำนาญ สมาชิกรัฐสภา ผู้บริหารราชการส่วนท้องถิ่น สมาชิกสภาท้องถิ่น พนักงานองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น พนักงานรัฐวิสาหกิจ พนักงานของรัฐประเภทอื่นๆ ลูกจ้างของทางราชการหรือรัฐวิสาหกิจ ผู้บริหารพรรคการเมือง หรือทนายความ และเป็นผู้มีความสัมพันธ์กับผู้ต้องหาหรือจำเลย เช่น เป็นบุพกากรี ผู้สืบสันดาน สามี ภริยา ญาติพี่น้อง ผู้บังคับบัญชา นายจ้าง บุคคลที่เกี่ยวพันโดยทางสมรส หรือบุคคลที่ศาลเห็นว่ามีความสัมพันธ์ใกล้ชิดเสมือนเป็นญาตพี่น้องหรือมีความสัมพันธ์ในทางอื่นที่ศาลเห็นสมควรให้ประกันได้ โดยมีหลักเกณฑ์ดังนี้
                    8.1.1 ให้ยื่นคำร้องด้วยตนเอง และเสนอหนังสือรับรองจากต้นสังกัดหรือนายจ้างตามแบบท้ายข้อบังคับนี้ หรือหลักฐานอื่นที่เชื่อถือได้ และหากผู้ขอประกันมีคู่สมรส ให้แสดงหลักฐานการยินยอมของคู่สมรสด้วย ในกรณีฉุกเฉินไม่อาจเสนอหนังสือรับรองได้ทัน ให้ผ่อนผันโดยแสดงหลักฐานอื่น เช่น บัตรประจำตัวที่แสดงฐานะเช่นนั้น และให้นำหนังสือรับรองหรือหนังสือยินยอมมาแสดงภายหลัง
                    8.1.2 ให้ทำสัญญาประกันได้ในวงเงินไม่เกิน 10 เท่า ของอัตราเงินเดือนหรือรายได้เฉลี่ยต่อเดือน
                    8.1.3 การอนุญาต ให้พิจารณาจากเงินเดือนหรือรายได้ แต่หากวงเงินประกันมียอดสูงกว่าวงเงินที่ผู้นั้นมีสิทธิประกันได้ ศาลอาจกำหนดให้ผู้ขอประกันวงเงินหรือหลักทรัพย์อื่นเพิ่มเติมให้เพียงพอกับวงเงินประกันนั้นได้ หรืออาจให้มีผู้ขอประกันหลายคนร่วมกันทำสัญญาประกันโดยใช้วงเงินของแต่ละคนรวมกันได้
                    8.1.4 หากผู้ประกันพ้นจากตำแหน่งหน้าที่การงาน ก็ให้คงมีสิทธิประกันต่อไปโดยศาลอาจใช้ดุลพินิจสั่งให้หาหลักประกันเพิ่มหรือดีกว่าเดิมได้
              8.2 นิติบุคคลอาจเป็นผู้ขอประกันได้ ในกรณีที่กรรมการ ผู้แทน ตัวแทน หุ้นส่วน พนักงานหรือลูกจ้างของนิติบุคคลนั้นตกเป็นผู้ต้องหาหรือจำเลย ให้ทำสัญญาประกันได้ในวงเงินตามที่ศาลเห็นสมควรเป็นกรณีๆ ไป และศาลอาจกำหนดให้ผู้ขอประกันวางเงินหรือหลักทรัพย์อื่นตามจำนวนที่เห็นสมควรเพิ่มเติมด้วยก็ได้ โดยจะต้องแสดงหนังสือรับรองการจดทะเบียนและหลักฐานแสดงฐานะการเงินและผู้มีอำนาจทำการแทน ในกรณีฉุกเฉินไม่สามารถนำต้นฉบับเอกสารมาแสดงได้ทัน ให้ผ่อนผันโดยแสดงสำเนาเอกสารดังกล่าวและให้นำต้นฉบับเอกสารมาแสดงภายหลัง
              8.3 กรณีส่วนราชการ ตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการช่วยเหลือข้าราชการหรือลูกจ้างของทางราชการที่ต้องหาคดีอาญา เป็นผู้ร้องขอให้ปล่อยชั่วคราว หากจำนวนเงินที่ระบุไว้ในหนังสือรับรองหรือคำร้องขอให้ปล่อยชั่วคราวเพียงพอแล้ว ควรถือว่าหนังสือรับรองหรือคำร้องนั้นเป็นหลักประกันที่น่าเชื่อถือได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 108 (4)

          9. ผู้ต้องหาหรือจำเลยอาจทำสัญญาประกันตนเองได้ และให้นำหลักเกณฑ์ในข้อ 8.1 มาใช้บังคับโดยอนุโลม 
          การทำสํญญาประกันดังกล่าว หากผู้ต้องหาหรือจำเลยเป็นพนักงานหรือผู้ประกอบวิชาชีพ เช่น แพทย์ เภสัชกร พยาบาล วิศวกร สถาปนิก ทนายความ ผู้สอบบัญชี ครู ผู้ประกอบวิชาชีพด้านสื่มมวลชน หรือผู้ประกอบวิชาชีพอื่นที่ศาลเห็นสมควรให้ประกันได้ และการกระทำที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นความผิดเกิดจากการปฏิบัติหน้าที่หรือการปฏิบัติงานในการประกอบวิชาชีพนั้น ให้ผู้ต้องหาหรือจำเลยทำสัญญาประกันตนเองได้ในวงเงินไม่เกิน 15 เท่าของอัตราเงินเดือนหรือรายได้เฉลี่ยต่อเดือน

          10. ให้ศาลกำหนดแนวทางปฏิบัติของศาลได้เท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับข้อบังคับนี้ เพื่อให้การปฏิบัติตามข้อบังคับเป็นไปด้วยความเรียบร้อย

          11. ให้ศาลประกาศและเผยแพร่ข้อบังคับและแนวทางปฏิบัติในการเรียกประกันหรือหลักประกันให้ผู้ที่มาติดต่อและประชาชนได้ทราบโดยทั่วกัน

          12. ในกรณีจำเป็นต้องมีวิธีการใดในทางธุรการ เพื่อให้ปฏิบัติตามข้อบังคับนี้ไปได้โดยเรียบร้อย ให้เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรมเป็นผู้กำหนดวิธีการนั้น

          ในชั้นสอบสวน เป็นไปตาม กฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการเรียกประกันหรือหลักประกัน การปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาในชั้นสอบสวน พ.ศ. 2549

          1. การเรียกประกันหรือหลักประกันในการปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาในชั้นสอบสวน ให้พนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการกำหนดวงเงินประกัน โดยนำหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในข้อบังคับของประธานศาลฎีกาดังกล่าวข้างต้น มาใช้บังคับโดยอนุโลม 
          ทั้งนี้ ห้ามมิให้พนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการกำหนดวงเงินประกันเกิน 3 ใน 4 ของวงเงินประกันที่กำหนดในข้อบังคับของประธานศาลฎีกาดังกล่าว

          2. การใช้บุคคลเป็นประกันหรือการกำหนดให้หลักทรัพย์ใดเป็นหลักประกันในการปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาในชั้นสอบสวน ให้พนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการ นำหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในข้อบังคับของประธานศาลฎีกาดังกล่าวมาใช้บังคับโดยอนุโลม

          3. ให้ส่วนราชการที่พนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการสังกัด ประกาศและเผยแพร่กฎกระทรวง รวมทั้งแนวทางปฏิบัติในการเรียกประกันหรือหลักประกันให้ผู้มีติดต่อและประชาชนได้ทราบโดยทั่วกัน

ที่มา / ดาวน์โหลดไฟล์
ข้อบังคับของประธานศาลฎีกา ว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับการเรียกประกันหรือหลักประกัน ในการปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีอาญา พ.ศ. 2548
#นักเรียนกฎหมาย
22 ตุลาคม 2561

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมประจำสัปดาห์

การส่งเด็กเข้าเรียนตามกฎหมาย

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 (ชุดที่ 1)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542

แนวข้อสอบ ระเบียบฯ สารบรรณ (ชุดที่ 3)

แนวข้อสอบ พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ. 2546

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 (ชุดที่ 1)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ. 2546 (20 ข้อ)

สาระสำคัญ พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 (ฉบับเตรียมสอบ)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.มาตรฐานทางจริยธรรม พ.ศ. 2562