กฎหมายใหม่ เดือนพฤศจิกายน 2561

          รวมพระราชบัญญัติที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ประจำเดือนพฤศจิกายน 2561 รวม 12 ฉบับ (อัพเดตทุกวันในหน้านี้ครับ)

     หมายเหตุ  โดยที่เป็นการสมควรปรับปรุงการจัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ให้เหมาะสมแก่การบริหารจัดการยิ่งขึ้น โดยถวายเป็นพระราชอำนาจในการจัดการทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ให้เป็นไปตามพระราชอัธยาศัย เพื่อให้การใช้ประโยชน์ทรัพย์สินนั้น เป็นไปโดยเหมาะสมตามที่จะทรงมีพระบรมราชวินิจฉัยตามโบราณราชประเพณี จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

2. พระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561
     หมายเหตุ  โดยที่กฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณได้ใช้บังคับมาเป็นเวลานาน สมควรปรับปรุงหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการจัดทำงบประมาณ การบริหารงบประมาณรายจ่าย การควบคุมงบประมาณ รวมถึงการประเมินผลและการรายงานการใช้จ่ายงบประมาณ เพื่อให้กระบวนการจัดสรรงบประมาณของประเทศมีลักษณะที่มุ่งเป้าหมายและผลสัมฤทธิ์ของงบประมาณเป็นสำคัญ และเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและความคุ้มค่าในการใช้จ่ายงบประมาณยิ่งขึ้น จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

3. พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2561
     หมายเหตุ  โดยที่ประเทศไทยจะเข้าเป็นภาคีแห่งสนธิสัญญามาร์ราเคช เพื่ออำนวยความสะดวกในการเข้าถึงงานที่มีการโฆษณาแล้ว สำหรับคนตาบอด คนพิการทางการเห็น หรือคนพิการทางสื่อสิ่งพิมพ์ (Marrakesh Treaty to Facilitate Access to Published Works for Persons Who Are Blind, Visually Impaired, or Otherwise Print Disabled) โดยสนธิสัญญาดังกล่าว กำหนดให้รัฐภาคีบัญญัติกฎหมายภายในเพื่อรองรับข้อยกเว้นการละเมิดลิขสิทธิ์เพื่อให้คนตาบอด คนพิการทางการเห็น และคนพิการทางสื่อสิ่งพิมพ์ ได้รับโอกาสอย่างเท่าเทียมกับบุคคลอื่นในการเข้าถึงงานอันมีลิขสิทธิ์ สมควรแก้ไขเพิ่มเติมข้อยกเว้นการละเมิดลิขสิทธิ์เพื่อประโยชน์ของคนพิการตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 เพื่อให้สอดคล้องกับสนธิสัญญาดังกล่าว จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

4. พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 46) พ.ศ. 2561
     หมายเหตุ  โดยที่ประเทศไทยมีอัตราการเกิดของประชากรลดลง ทำให้มีประชากรวัยแรงงานลดลง และอัตราส่วนของผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้น ดังนั้น เพื่อเป็นการจูงใจให้ผู้มีเงินได้มีบุตรมากกว่าหนึ่งคน อันจะส่งผลให้โครงสร้างประชากรของประเทศมีความเหมาะสมกับการพัฒนาประเทศต่อไปในอนาคต สมควรปรับปรุงหลักเกณฑ์การหักลดหย่อนสำหรับบุตร จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

5. พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2561
     หมายเหตุ  โดยที่มาตรา 188 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้ผู้พิพากษาและตุลาการย่อมมีอิสระในการพิจารณาพิพากษาอรรถคดี สมควรกำหนดความคุ้มครองผู้พิพากษาในการพิจารณาพิพากษาอรรถคดีซึ่งได้กระทำโดยสุจริต ประกอบกับมาตรา 196 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ได้กำหนดหลักการใหม่ในเรื่ององค์ประกอบของคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรมและการได้มาซึ่งกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม สมควรแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติของกฎหมายให้สอดคล้องกับหลักการใหม่ดังกล่าว จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

6. พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2561
     หมายเหตุ  โดยที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 190 บัญญัติให้พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งและให้ตุลาการพ้นจากตำแหน่ง แต่ในกรณีที่พ้นจากตำแหน่งเพราะความตายหรือเกษียณอายุ พ้นจากตำแหน่งตามวาระ หรือพ้นจากราชการเพราะถูกลงโทษ ให้นำความกราบบังคับทูลเพื่อทรงทราบ มาตรา 198 บัญญัติให้การบริหารงานบุคคลเกี่ยวกับตุลาการศาลปกครองต้องดำเนินการโดยคณะกรรมการตุลาการศาลปกครองซึ่งประกอบด้วยประธานศาลปกครองสูงสุดเป็นประธาน และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งเป็นตุลาการในศาลปกครอง และผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งไม่เป็นหรือเคยเป็นตุลาการในศาลปกครองไม่เกินสองคน บรรดาที่ได้รับเลือกจากข้าราชการตุลาการศาลปกครอง ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ และมาตรา 231 บัญญัติให้ผู้ตรวจการแผ่นดินอาจเสนอเรื่องต่อศาลปกครองได้เมื่อเห็นว่ามีกรณีกฎ คำสั่ง หรือการกระทำใดของหน่วยงานของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย สมควรแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 ในเรื่องดังกล่าว ให้สอดคล้องกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ประกอบกับมาตรา 188 วรรคสอง บัญญัติให้ผู้พิพากษาและตุลาการย่อมมีอิสระในการพิจารณาพิพากษาอรรถคดี สมควรกำหนดความคุ้มครองตุลาการในการพิจารณาพิพากษาอรรถคดีซึ่งได้กระทำโดยสุจริต นอกจากนั้นสมควรปรับปรุงการพิจารณาพิพากษาคดีและการบริหารจัดการคดีของศาลปกครองให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยกำหนดให้สามารถยื่นคำฟ้องโดยส่งทางไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ สื่อดิจิทัลอื่นใด หรือโทรสาร รวมทั้งกำหนดกระบวนพิจารณาโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์หรือระบบการประชุมทางจอภาพ ตลอดจนแก้ไขเพิ่มเติมกระบวนพิจารณาในการพิจารณาคำขอยกเว้นค่าธรรมเนียมศาล การนั่งพิจารณาคดีในกรณีที่มีความจำเป็นเร่งด่วน และการไม่จัดให้มีการนั่งพิจารณาคดีสำหรับคดีที่อุทธรณ์คำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้น จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

7. พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายอัยการ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2561
     หมายเหตุ  โดยที่มาตรา 248 วรรคสาม ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ได้กำหนดหลัการในเรื่ององค์ประกอบของคณะกรรมการอัยการและการได้มาซึ่งกรรมการอัยการ นอกจากนี้มาตรา 248 วรรคสี่ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย กำหนดให้ต้องมีมาตรการป้องกันมิให้พนักงานอัยการกระทำการหรือดำรงตำแหน่งใดอันอาจมีผลให้การสั่งคดีหรือการปฏิบัติหน้าที่ไม่เป็นไปโดยรวดเร็ว เที่ยงธรรม และปราศจากอคติทั้งปวง หรืออาจทำให้มีการขัดกันแห่งผลประโยชน์ สมควรต้องปรับปรุงองค์ประกอบของคณะกรรมการอัยการและกำหนดห้ามพนักงานอัยการกระทำการหรือดำรงตำแหน่งอื่นใดที่มีผลต่อการปฏิบัติหน้าที่ เพื่อให้สอดคล้องกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

8. พระราชบัญญัติเอกสิทธิ์และความคุ้มกันสำหรับองค์การระหว่างประเทศและการประชุมระหว่างประเทศในประเทศไทย พ.ศ. 2561
     หมายเหตุ  โดยที่ประเทศไทยมีศักยภาพในการเป็นศูนย์กลางสำหรับการดำเนินงานขององค์การระหว่างประเทศและการจัดการประชุมระหว่างประเทศ รัฐบาลจึงมีนโยบายที่จะส่งเสริมการจัดตั้งสำนักงานขององค์การระหว่างประเทศ การเข้ามาเพื่อดำเนินงานขององค์การระหว่างประเทศและการเข้ามาจัดประชุมระหว่างประเทศทั้งภาครัฐและภาคเอกชนในประเทศไทย และเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ในการเข้ามาดำเนินการดังกล่าวในประเทศไทย องค์การระหว่างประเทศ บุคลากรขององค์การระหว่างประเทศ ผู้จัดการประชุมระหว่างประเทศ ผู้เข้าร่วมการประชุมระหว่างประเทศ จำเป็นต้องได้รับเอกสิทธิ์และความคุ้มกัน หรือสิทธิประโยชน์ระหว่างที่เข้ามาดำเนินการดังกล่าว ดังนั้น สมควรมีกฎหมายเพื่อกำหนดกรอบการให้เอกสิทธิ์และความคุ้มกันสำหรับการดำเนินงานขององค์การระหว่างประเทศและการประชุมระหว่างประเทศภาครัฐ และการให้สิทธิประโยชน์สำหรับการประชุมระหว่างประเทศภาคเอกชน ทั้งนี้ เพื่อเสริมสร้างบทบาทของประเทศไทยในวงการระหว่างประเทศ และสร้างความเชื่อมั่นให้กับองค์การระหว่างประเทศและผู้จัดการประชุมระหว่างประเทศ จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

9. พระราชบัญญัติธุรกิจสถาบันการเงิน (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2561
     หมายเหตุ  โดยที่เป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติธุรกิจสถาบันการเงิน พ.ศ. 2551 เพื่อกำหนดให้ธนาคารแห่งประเทศไทยมีอำนาจประกาศกำหนดหลักเกณฑ์ให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจถือปฏิบัติหรือปฏิบัติเพิ่มเติมและแต่งตั้งผู้ตรวจการสถาบันการเงินเฉพาะกิจเพื่อตรวจสอบสถาบันการเงินเฉพาะกิจ และแก้ไขเพิ่มเติมบทกำหนดโทษกรณีที่มีการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด เพื่อให้การกำกับดูแลสถาบันการเงินเฉพาะกิจเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจมีความมั่นคงทางการเงินและป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นกับสถาบันการเงินเฉพาะกิจ อันจะเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจของประเทศ จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

10. พระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม (ฉบับที่ 8) พ.ศ. 2561
     หมายเหตุ  เนื่องจากกฎหมายว่าด้วยภาษีเงินได้ปิโตรเลียมได้ใช้บังคับมาเป็นเวลานาน มีบทบัญญัติบางประการที่ไม่เหมาะสม สมควรแก้ไขปรับปรุงหลักเกณฑ์ในการจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้และการขอคืนภาษีเงินได้ปิโตรเลียมให้มีความชัดเจนและเป็นไปตามมาตรฐานเดียวกับการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้ตามประมวลรัษฎากร จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

11. พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 47) พ.ศ. 2561
     หมายเหตุ  โดยที่ในปัจจุบันบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลขนาดใหญ่หลายแห่งที่มีความสัมพันธ์กันในด้านทุน การจัดการ หรือการควบคุม มีข้อกำหนดทางด้านการพาณิชย์หรือการเงินในการทำธุรกรรมระหว่างกันแตกต่างจากที่ควรกำหนด หากบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลดังกล่าวได้ดำเนินการโดยอิสระ ทำให้สามารถถ่ายโอนกำไรระหว่างกันเพื่อหลีกเลี่ยงภาษีที่พึงต้องเสียและมีแนวโน้มที่จะใช้วิธีการดังกล่าวเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนอาจส่งผลกระทบต่อการจัดเก็บภาษีเงินได้และสถานะทางการคลังของรัฐ เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาดังกล่าว สมควรกำหนดหลักเกณฑ์การจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับกรณีดังกล่าว ให้สอดคล้องกับหลักการและแนวปฏิบัติที่เป็นสากล จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

12. พระราชบัญญัติความมั่นคงด้านวัคซีนแห่งชาติ พ.ศ. 2561
     หมายเหตุ  โดยที่ปัจจุบันกลไกการบริหารจัดการด้านวัคซีนของประเทศไทยยังขาดความเป็นเอกภาพ ขาดความต่อเนื่องในการบูรณาการนโยบายและแผนยุทธศาสตร์ด้านวัคซีน จึงมีความจำเป็นที่จะต้องดำเนินการส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการวิจัย การพัฒนา การผลิต การกระจายวัคซีนที่มีคุณภาพและมีปริมาณเพียงพอสำหรับการใช้วัคซีนเพื่อสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคให้แก่ประชาชนและสัตว์ที่เป็นพาหะนำโรคสู่คน ทั้งในสถานการณ์ปกติและในสถานการณ์ฉุกเฉิน ตลอดจนการสร้างเครือข่ายผู้เชี่ยวชาญด้านวัคซีนและการประสานความร่วมมือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดังนั้น สมควรกำหนดให้มีกลไกที่เป็นระบบในการส่งเสริมและสนับสนุนเพื่อให้มีการวิจัย การพัฒนา การผลิต การประกัน การควบคุมคุณภาพ การจัดหา และการกระจายวัคซีนที่เหมาะสมและเพียงพอ โดยมีคณะกรรมการที่กำหนดนโยบายและแผนยุทธศาสตร์ความมั่นคงด้านวัคซีนแห่งชาติ มีองค์กรและคณะกรรมการบริหารซึ่งทำหน้าที่ขับเคลื่อนนโยบายและแผนยุทธศาสตร์ดังกล่าว เพื่อให้การบริหารจัดการด้านวัคซีนมีความเป็นเอกภาพ มีความต่อเนื่อง และมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น สามารถป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคที่ควบคุมได้ด้วยวัคซีนให้อยู่ในเขตจำกัดให้น้อยที่สุด หรือหมดไปจากประเทศไทย อันจะนำไปสู่การพึ่งตนเองและความมั่นคงด้านวัคซีนของประเทศ ตลอดจนมีการกำหนดโทษอาญาเพื่อให้การบังคับใช้กฎหมายมีประสิทธิภาพ จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

#นักเรียนกฎหมาย
พฤศจิกายน 2561

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมประจำสัปดาห์

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. 2566 (30 ข้อ)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 (55 ข้อ)

สาระสำคัญ พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. 2566 (ฉบับเตรียมสอบ)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539

แนวข้อสอบ ระเบียบฯ พนักงานราชการ

การส่งเด็กเข้าเรียนตามกฎหมาย

กฎกระทรวงกำหนดกรณีอื่นที่เจ้าหน้าที่จะทำการพิจารณาทางปกครองไม่ได้ พ.ศ. 2566

แนวข้อสอบ ระเบียบฯ สารบรรณ (ชุดที่ 3)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 (ชุดที่ 1)