สรุปคำบรรยาย กฎหมายล้มละลาย (ครั้งที่ 2)


สรุปคำบรรยาย
วิชากฎหมายล้มละลาย  LAW3010
ครั้งที่ 2 :: วันที่ 10 เมษายน 2562 ภาคเรียน summer/2561
บรรยายโดยท่านอาจารย์ นันทรัตน์ เตชะมา  คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง

ข้อสันนิษฐานว่าลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัว
   มาตรา 8 ถ้ามีเหตุอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้เกิดขึ้น ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัว
   (1) ถ้าลูกหนี้โอนทรัพย์สินหรือสิทธิจัดการทรัพย์สินของตนให้แก่บุคคลอื่น เพื่อประโยชน์แห่งเจ้าหนี้ทั้งหลายของตน ไม่ว่าได้กระทำการนั้นในหรือนอกราชอาณาจักร

   (2) ถ้าลูกหนี้โอนหรือส่งมอบทรัพย์สินของตนไป โดยการแสดงเจตนาลวงหรือโดยการฉ้อฉล ไม่ว่าได้กระทำการนั้นในหรือนอกราชอาณาจักร 
   - เป็นการโอนให้แก่บุคคลภายนอก
   - การโอนโดยเจตนาลวง ไม่มีเจตนาในการโอนทรัพย์สินกัน การโอนจึงเป็นโมฆะ 
   - การโอนโดยฉ้อฉล มีเจตนาในการโอนทรัพย์สินกัน แต่โอนไปเพื่อให้เจ้าหนี้เสียเปรียบ

   (3) ถ้าลูกหนี้โอนทรัพย์สินของตนหรือก่อให้เกิดทรัพย์สิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดขึ้นเหนือทรัพย์สินนั้น ซึ่งถ้าลูกหนี้ล้มละลายแล้ว จะต้องถือว่าเป็นการให้เปรียบ ไม่ว่าได้กระทำการนั้นในหรือนอกราชอาณาจักร
   - เป็นการโอนให้แก่เจ้าหนี้รายหนึ่งรายใด เป็นการให้เปรียบแก่เจ้าหนี้คนอื่น

   (4) ถ้าลูกหนี้กระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้ เพื่อประวิงการชำระหนี้หรือมิให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้
      ก. ออกไปเสียนอกราชอาณาจักร หรือได้ออกไปก่อนแล้วและคงอยู่นอกราชอาณาจักร
   - ถ้าลูกหนี้มีธุระออกไปทำนอกราชอาณาจักร และทำธุระเสร็จแล้วกลับเข้ามาในราชอาณาจักร ไม่ถือว่าเป็นการออกไปเสียนอกราชอาณาจักร

      ข. ไปเสียจากเคหะสถานที่เคยอยู่ หรือซ่อนตัวอยู่ในเคหะสถานหรือหลบไป หรือวิธีอื่น หรือปิดสถานที่ประกอบธุรกิจ

      ค. ยักย้ายทรัพย์ไปให้พ้นอำนาจศาล
   - เป็นการเปลี่ยนที่อยู่ของทรัพย์ ทำให้เจ้าหนี้หรือศาลไม่ทราบว่าตัวทรัพย์มีอยู่ จึงติดตามนำทรัพย์มาบังคับชำระไม่ได้

      ง. ยอมตนให้ต้องคำพิพากษาซึ่งบังคับให้ชำระเงินซึ่งตนไม่ควรต้องชำระ
   - เป็นกรณีลูกหนี้ถูกฟ้องเป็นคดี มีทางต่อสู้คดีให้ชนะโดยสุจริต แต่ไม่ต่อสู้คดี ทำให้ศาลพิพากษาให้ลูกหนี้ชำระเงิน
   - ข้อนี้อาจนำสืบยากหน่อย

   (5) ถ้าลูกหนี้ถูกยึดทรัพย์ตามหมายบังคับคดี หรือไม่มีทรัพย์สินอย่างหนึ่งอย่างใดที่จะพึงยึดมาชำระหนี้ได้
   - ลูกหนี้ถูกยึดทรัพย์ตามหมายบังคับคดี พอมีทรัพย์ให้ยึดบ้าง แต่ไม่พอชำระหนี้
   - กรณีไม่มีทรัพย์สินที่จะพึงยึดมาชำระหนี้ได้ คือไม่มีทรัพย์ให้ยึดเลย


   (6) ถ้าลูกหนี้แถลงต่อศาลในคดีใดๆ ว่าไม่สามารถชำระหนี้ได้
   - คดีอะไรก็ได้ คดีแพ่ง คดีอาญา เป็นต้น การที่ลูกหนี้แถลงต่อศาลไม่ว่าจะพูดความจริงหรือโกหก เพราะมีการสาบานต่อหน้าศาลตามกฎหมาย น่าเชื่อว่าเป็นความจริง

   (7) ถ้าลูกหนี้แจ้งให้เจ้าหนี้คนหนึ่งคนใดของตนทราบว่าไม่สามารถชำระหนี้ได้
   - เป็นกรณีลูกหนี้มีเจ้าหนี้หลายคน

   (8) ถ้าลูกหนี้เสนอคำขอประนอมหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ตั้งแต่สองคนขึ้นไป
   - คำขอประนอมหนี้ คือ การขอชำระหนี้แค่เพียงบางส่วน หรือเป็นการขอชำระหนี้โดยวิธีอื่น (วิธีอื่น รวมถึงการขอผ่อนชำระหนี้ด้วย)
   - กรณีที่อาจารย์หักคะแนนในการสอบ คือ คำขอประนอมหนี้ คือ ข้อเสนอของลูกหนี้แต่ฝ่ายเดียว ส่วนสัญญาประนีประนอมยอมความ เป็นข้อตกลงของคู่กรณีทั้งสองฝ่าย แต่คำทั้งสอง มีที่ใช้ตามกฎหมายล้มละลาย อยู่ที่ว่ากำลังทำอะไร ถ้าเป็นเรื่องคำขอประนอมหนี้ ห้ามใช้คำว่าสัญญาประนีประนอมยอมความ ใช้แทนกันไม่ได้ 

   (9) ถ้าลูกหนี้ได้รับหนังสือทวงถามจากเจ้าหนี้ให้ชำระหนี้แล้วไม่น้อยกว่าสองครั้งซึ่งมีระยะเวลาห่างกันไม่น้อยกว่าสามสิบวัน และลูกหนี้ไม่ชำระหนี้
   - หนี้ถึงกำหนดชำระ ต้องทวง ต้องทวงไม่น้อยกว่า 2 ครั้ง โดยแต่ละครั้งต้องมีระยะเวลาห่างหันไม่น้อยกว่า 30 วัน ดูวันที่ลูกหนี้ได้รับหนังสือทวงถามครั้งที่ 1 กับครั้งที่ 2 ต้องห่างกันไม่น้อยกว่า 30 วัน (เวลาทำงาน ให้ส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับ จะทราบวันที่ลูกหนี้ได้รับหนังสือ)
   - มีคำพิพากษาศาลฎีกาว่า ถ้าส่งไปรษณีย์แล้ว ลูกหนี้หรือคนในบ้านไม่เซ็นรับ ให้ถือว่าได้รับแล้ว 
   - มาตรา 8 เป็นข้อสันนิษฐานของกฎหมาย (ที่ไม่เด็ดขาด) ลูกหนี้สามารถนำพยานหลักฐานมาสืบหักล้างได้ เป็นหน้าที่ของลูกหนี้ที่จะต้องนำสืบหักล้าง หากลูกหนี้ไม่เข้ามาต่อสู้ในคดีหรือไม่สามารถนำสืบหักล้างได้ ก็จะเข้าบทสันนิษฐานของกฎหมายว่า ลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัว
   - ในคำฟ้องอ้างอนุมาตราใดตาม (1) - (9) ก็สืบเฉพาะอนุมาตรานั้น

หลักเกณฑ์การฟ้องคดีล้มละลายของเจ้าหนี้ไม่มีประกัน
   มาตรา 9 เจ้าหนี้จะฟ้องลูกหนี้ให้ล้มละลายได้ ก็ต่อเมื่อ
   (1) ลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัว
   - พิสูจน์ตามความเป็นจริง ว่าลูกหนี้มีหนี้สินมากกว่าทรัพย์สิน ถ้าสามารถพิสูจน์ได้ ก็จะเป็นประโยชน์ในคดี ถ้าพิสูจน์ตามความเป็นจริงไม่ได้ ให้ใช้มาตรา 8 ข้อสันนิษฐานมาใช้ (***มาตรา 9 (1) + มาตรา 8)

   (2) ลูกหนี้ซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาเป็นหนี้เจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์คนเดียวหรือหลายคนเป็นจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งล้านบาท หรือลูกหนี้ซึ่งเป็นนิติบุคคลเป็นหนี้เจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์คนเดียวหรือหลายคน เป็นจำนวนไม่น้อยกว่าสองล้านบาท และ
   - อนุมาตรานี้เป็นจำนวนหนี้ขั้นต่ำ ให้อำนาจนำหนี้ของเจ้าหนี้คนอื่นๆ มารวมให้ถึงเกณฑ์ขั้นต่ำ ก็ฟ้องได้ โดยไม่ต้องดูว่าเป็นมูลหนี้อะไร เช่น เจ้าหนี้คนแรกมูลหนี้ซื้อขาย เจ้าหนี้คนที่สองมูลหนี้สัญญาเช่า เจ้าหน้าคนที่สามมูลหนี้สัญญากู้ยืมเงิน ดูเพียงจำนวนหนี้ขั้นต่ำต้องถึงเกณฑ์เท่านั้น สำคัญมาก***

   (3) หนี้นั้นอาจกำหนดจำนวนได้โดยแน่นอน ไม่ว่าหนี้นั้นจะถึงกำหนดชำระโดยพลันหรือในอนาคตก็ตาม
   - ถ้าหนี้กำหนดจำนวนไม่ได้ ก็จะไม่รู้ว่าเป็นหนี้เท่าไร ไม่รู้ว่าถึงหนึ่งล้านหรือสองล้านบาทหรือไม่
   - หนี้ที่กำหนดจำนวนไม่ได้ คือ
      1) หนี้ละเมิด เช่น ขาขาด 1 ข้าง กำหนดจำนวนแน่นอนไม่ได้ แต่ค่ารักษาพยาบาลกำหนดจำนวนแน่นอนได้
      2) หนี้ค่าเสียหายจากการผิดสัญญา   
   - การทำให้หนี้ที่กำหนดจำนวนไม่ได้ เป็นหนี้ที่กำหนดจำนวนได้ มี 2 วิธี คือ
      1) สัญญาประนีประนอมยอมความ เช่น ขาขาด 1 ข้าง ผู้ทำละเมิดทำสัญญาประนีประนอมยอมความ ยอมจ่ายเงิน 3 ล้านบาท
      2) ฟ้องคดีแพ่ง เช่น ฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนที่ต้องเสียขาขาด 1 ข้าง และศาลมีคำพิพากษา (ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง คำพิพากษาของศาลมีผลผูกพันคู่ความ เกิดสิทธิและหน้าที่ต่อกันตามคำพิพากษา จึงเป็นหนี้ที่กำหนดจำนวนแน่นอนได้)
   - เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาในคดีแพ่ง จะนำมาฟ้องเป็นคดีล้มละลายได้หรือไม่ จะเป็นฟ้องซ้ำฟ้องซ้อนหรือไม่ กฎหมายล้มละลายเป็นกฎหมายพิเศษ แต่วิธีพิจารณาต้องนำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับด้วย
      ฟ้องซ้อน 
         1) โจทก์คนเดียวกัน 
         2) คดีก่อนยังอยู่ในระหว่างการพิจารณา
         3) มูลความเดียวกัน
      ฟ้องซ้ำ
         1) คู่ความเดียวกัน (ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา จำเลยเป็นคนเดียวกัน)
         2) คดีก่อนศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุด
         3) มูลความเดียวกัน เช่น คดีแพ่งฟ้องละเมิดจากการขับรถชน แต่การฟ้องคดีล้มละลาย เนื่องจากลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัว มาตรา 7 (ไม่ได้นำมูลละเมิดมาฟ้อง)
   - สามารถนำหนี้ในอนาคตมาฟ้องได้ ตามมาตรา 9 (3) เนื่องจากมีมูลหนี้ต่อกันและลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัวอยู่แล้วจึงไม่จำเป็นต้องรอให้หนี้ถึงกำหนดชำระแต่อย่างใด อีกทั้งกฎหมายล้มละลายเป็นไปเพื่อเจ้าหนี้ทุกคน
   - มาตรา 9 (3) หนี้ที่นำมาฟ้องล้มละลายเป็นหนี้ที่กำหนดจำนวนได้โดยแน่นอนหรือไม่ เป็นปัญหาความสงบเรียบร้อย ศาลมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้   
   - มาตรา 9 เจ้าหนี้ไม่มีประกันจะฟ้องคดีล้มละลาย ต้องครบเงื่อนไขทั้ง 3 ข้อ

หลักเกณฑ์การฟ้องคดีล้มละลายของเจ้าหนี้มีประกัน
   มาตรา 10 ภายใต้บังคับมาตรา 9 เจ้าหนี้มีประกัน จะฟ้องลูกหนี้ให้ล้มละลายได้ก็ต่อเมื่อ
   (1) มิได้เป็นผู้ต้องห้ามมิให้บังคับการชำระหนี้เอาแก่ทรัพย์สินของลูกหนี้เกินกว่าตัวทรัพย์ที่เป็นหลักประกัน และ
   - อยู่ภายใต้บังคับมาตรา 9 คือ จะต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ตามมาตรา 9 (1) - (3) ก่อน
   - เจ้าหนี้มีประกัน ต้องครบหลักเกณฑ์ตามมาตรา 9 และมาตรา 10
   - มาตรา 10 (1) สามารถบังคับเกินกว่าหลักประกันได้ คือ เจ้าหนี้มีประกัน เมื่อนำหลักประกันไปขายทอดตลาดแล้ว เงินที่ได้รับยังไม่พอชำระ จึงสามารถยึดทรัพย์สินอื่นได้อีก (ทรัพย์สินอื่นนี้ เป็นกรณีที่สามารถบังคับเกินกว่าหลักประกันได้)
   - กรณีสัญญาจำนอง ดูประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 733 ลูกหนี้ไม่ต้องรับผิดส่วนที่เกินกว่าหลักประกัน เจ้าหนี้จำนองจึงถูกห้ามมิให้บังคับเกินกว่าหลักประกัน จึงฟ้องลูกหนี้ให้ล้มละลายไม่ได้
   - แต่ถ้าสัญญาจำนอง ถ้ามีข้อตกลงพิเศษ นอกเหนือจากมาตรา 733 ว่าส่วนที่ขาด ลูกหนี้จะต้องรับผิด กรณีนี้ถือว่า ข้อตกลงในสัญญาขัดแย้งกับกฎหมาย แต่ไม่ใช่ข้อกฎหมายว่าด้วยความสงบเรียบร้อย ข้อตกลงในสัญญาจึงสามารถใช้บังคับกันได้ ดังนั้น ส่วนที่ยังขาดอยู่ ลูกหนี้จึงต้องรับผิด ทำให้เจ้าหนี้จำนองที่มีข้อตกลงพิเศษนี้ สามารถยึดทรัพย์สินอื่นเกินกว่าหลักประกันได้
   - เจ้าหนี้มีประกัน 3 ประเภท (จำนำ , สิทธิยึดหน่วง , บุริมสิทธิที่บังคับได้ทำนองเดียวกับจำนำ) ไม่มีกฎหมายใดๆ ห้ามตามมาตรา 10 (1) ถ้ายึดหลักประกันแล้วยังไม่พอชำระหนี้ สามารถยึดทรัพย์สินอื่นได้อีก จึงไม่ต้องห้ามตามมาตรา 10 (1) นี้

   (2) กล่าวในฟ้องว่า ถ้าลูกหนี้ล้มละลายแล้ว จะยอมสละหลักประกันเพื่อประโยชน์แก่เจ้าหนี้ทั้งหลาย หรือตีราคาหลักประกันมาในฟ้องซึ่งเมื่อหักกับจำนวนหนี้ของตนแล้ว เงินยังขาดอยู่สำหรับลูกหนี้ซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาเป็นจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งล้านบาท หรือลูกหนี้ซึ่งเป็นนิติบุคคลเป็นจำนวนไม่น้อยกว่าสองล้านบาท
   - บังคับให้เลือก อย่างใดอย่างหนึ่ง โดยระบุในคำฟ้อง
      1) สละหลักประกัน 
      เจ้าหนี้ส่วนมากจะไม่สละหลักประกัน เนื่องจากมีผลเวลาได้รับชำระหนี้ หลักประกันเป็นของเจ้าหนี้มีประกันคนไหน เงินที่ได้จากการขายทอดตลาด จะเป็นของเจ้าหนี้ที่เป็นเจ้าของหลักประกันคนนั้นคนเดียว ไม่เกี่ยวกับเจ้าหนี้คนอื่น หรือหากเจ้าหนี้สละหลักประกันก็เนื่องจากเป็นของขายยาก 
      2) ตีราคาหลักประกัน เมื่อตีหลักประกันแล้ว หักออกจากจำนวนหนี้ แล้วเหลือหนี้ไม่น้อยกว่าหนึ่งล้านบาทหรือสองล้านบาท แล้วแต่กรณี

---จบคำบรรยาย ครั้งที่ 2---
#นักเรียนกฎหมาย
19 เมษายน 2562

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมประจำสัปดาห์

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 (55 ข้อ)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. 2566 (30 ข้อ)

สาระสำคัญ พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. 2566 (ฉบับเตรียมสอบ)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539

การส่งเด็กเข้าเรียนตามกฎหมาย

แนวข้อสอบ ระเบียบฯ พนักงานราชการ

กฎกระทรวงกำหนดกรณีอื่นที่เจ้าหน้าที่จะทำการพิจารณาทางปกครองไม่ได้ พ.ศ. 2566

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 (ชุดที่ 1)

แนวข้อสอบ ระเบียบฯ สารบรรณ (ชุดที่ 3)