สรุปคำบรรยาย กฎหมายล้มละลาย (ครั้งที่ 3)


สรุปคำบรรยาย
วิชากฎหมายล้มละลาย LAW3010
ครั้งที่ 3 :: วันที่ 17 เมษายน 2562 ภาคเรียน summer/2561
บรรยายโดยท่านอาจารย์นันทรัตน์ เตชะมา  คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง

- อาจารย์ทบทวนเนื้อหาที่บรรยายครั้งที่แล้ว มาตรา 8-10 และบทบัญญัติที่เกี่ยวข้อง 
- คำถาม ถ้าเราเป็นเจ้าหนี้ไม่มีประกันหรือเจ้าหนี้มีประกัน จะฟ้องคดีล้มละลายจะใช้หลักเกณฑ์ใด
(เจ้าหนี้ไม่มีประกัน หลักเกณฑ์ตามมาตรา 7 , 8, 9 ส่วนเจ้าหนี้มีประกัน หลักเกณฑ์ตามมาตรา 7 , 8 , 9 , 10 ต้องใส่ในคำฟ้องให้ครบถ้วน)

หน้าที่ของเจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์
   มาตรา 11 เจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์ต้องวางเงินประกันค่าใช้จ่ายไว้ต่อศาลเป็นจำนวนห้าพันบาทในขณะยื่นคำฟ้องคดีล้มละลาย และจะถอนคำฟ้องนั้นไม่ได้ เว้นแต่ศาลจะอนุญาต
   - ระวัง คำว่า "เจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์" ไม่ใช้คำว่า "โจทก์" เฉยๆ คำว่าเจ้าหนี้ คือเป็นเจ้าหนี้แต่ไม่ได้ฟ้อง คนฟ้องคือเจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์
   - ต้องวางค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีล้มละลาย 5,000 บาท ซึ่งเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะนำไปใช้จ่ายในการดำเนินการต่างๆ เมื่อใช้จ่ายไม่พอ เจ้าพนักงานจะเรียกให้วางค่าใช้จ่ายเพิ่ม หากไม่วาง เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะขอให้ศาลยกเลิกคดีล้มละลาย
   - ค่าธรรมเนียมศาล 500 บาท วางพร้อมกับค่าใช้จ่าย รวม 5,500 บาท
   - ฟ้องแล้วจะถอนฟ้องไม่ได้ เว้นแต่ศาลจะอนุญาต เหตุที่ต้องให้ถอนฟ้องยาก เพราะคดีล้มละลายฟ้องแล้วจะได้ประโยชน์แก่เจ้าหนี้คนอื่น โดยมีหลักเกณฑ์การถอนฟ้องดังนี้
      -- ขอถอนฟ้องต่อศาลชั้นต้นเท่านั้น (ปัจจุบันศาลล้มละลายมี 3 ชั้นศาล ชั้นต้น อุทธรณ์ ฎีกา)
      -- ขอก่อนศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด (ถ้ามีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดแล้ว จะถอนฟ้องไม่ได้)
         (ถ้าศาลมีเพียงคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ชั่วคราว ถอนฟ้องได้ ดูมาตรา 154 ในคดีที่ศาลได้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้ชั่วคราวแล้ว ถ้าเจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์ทิ้งฟ้อง ถอนฟ้องหรือขาดนัดพิจารณา ก่อนที่ศาลจะสั่งจำหน่ายคดี ให้โฆษณาในหนังสือพิมพ์รายวันอย่างน้อยหนึ่งฉบับ เพื่อให้เจ้าหนี้ทั้งหลายทราบ ล่วงหน้าไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน)

หน้าที่ของศาล (เมื่อตรวจคำฟ้อง และรับฟ้องแล้ว) 
   มาตรา 13 เมื่อศาลสั่งรับฟ้องคดีล้มละลายไว้แล้ว ให้กำหนดวันนั่งพิจารณาเป็นการด่วน และให้ออกหมายเรียกและส่งสำเนาคำฟ้องไปยังลูกหนี้ให้ทราบก่อนวัน นั่งพิจารณาไม่น้อยกว่า 7 วัน
   - ศาลต้องกำหนดวันนั่งพิจารณาเป็นการด่วน เพราะคำสั่งศาลมีผลกระทบต่อบุคคลภายนอก
   - ออกหมายเรียก
   - ส่งสำเนาคำฟ้องไปยังลูกหนี้ให้ทราบ
   - ส่งก่อนวันนั่งพิจารณาไม่น้อยกว่า 7 วัน ***สำคัญมาก ถ้าส่งน้อยกว่า 7 วัน ถือว่าเป็นกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบ ศาลสูงจะเพิกถอน และสั่งให้ศาลต้นส่งใหม่
   - ลูกหนี้จะยื่นคำให้การหรือไม่ยื่นก็ได้*** หลักเกณฑ์นี้แตกต่างจะประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง เนื่องจากกฎหมายไม่ได้บัญญัติให้เป็นหน้าที่ของลูกหนี้
      -- ถ้าลูกหนี้ไม่ยื่นคำให้การ ศาลจะสั่งว่าขาดนัดยื่นคำให้การ (คดีล้มละลาย ไม่มีขาดนัดยื่นคำให้การ ถ้าศาลสั่งว่าขาดนัดยื่นคำให้การ คำสั่งย่อมไม่ชอบด้วยกฎหมาย)
      -- ถ้าลูกหนี้ยื่นคำให้การ ต้องยื่นไม่น้อยกว่า 7 วัน ก่อนวันนั่งพิจารณา (ไม่ใช้กำหนดเวลาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง)

   เมื่อฟ้องแล้ว ศาลแจ้งคำฟ้องให้ลูกหนี้แล้ว ก็จะถึงขั้นตอนการสืบพยานว่าเป็นความจริงหรือไม่ ซึ่งต้องใช้ระยะเวลาช่วงหนึ่ง หากลูกหนี้ยักย้ายถ่ายเททรัพย์สิน จะต้องขอวิธีการคุ้มครองชั่วคราว ตามมาตรา 17
วิธีการคุ้มครองชั่วคราว
   มาตรา 17 ก่อนศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาด เจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์จะยื่นคำขอฝ่ายเดียวโดยทำเป็นคำร้องขอให้พิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้ชั่วคราวก็ได้ เมื่อศาลได้รับคำร้องนี้แล้ว ให้ดำเนินการไต่สวนต่อไปโดยทันที ถ้าศาลเห็นว่าคดีมีมูล ก็ให้สั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้ชั่วคราว แต่ก่อนจะสั่งดังว่านี้ จะให้เจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์ให้ประกันค่าเสียหายของลูกหนี้ตามจำนวนที่เห็นสมควรก็ได้
   - เจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์ร้องขอให้ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ชั่วคราว 
   - ขอได้ในศาลชั้นต้นเท่านั้น และต้องขอก่อนที่ศาลจะมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด
   - มาตรา 17 ต้องยื่นคำร้อง ถ้าไม่ยื่นคำร้อง ศาลจะสั่งพิทักษ์ทรัพย์ชั่วคราวเองไม่ได้ 
   - เมื่อยื่นคำร้องแล้ว ศาลจะไต่สวน ถ้ามีมูล ศาลจะมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ชั่วคราว มีผลทำให้ลูกหนี้หมดอำนาจในการจัดการทรัพย์สินของตนเอง ทำนิติกรรมไม่ได้ ยักย้ายถ่ายเททรัพย์สินไม่ได้ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะเข้ามาจัดการทรัพย์สินแทนลูกหนี้ (แต่กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินยังเป็นของลูกหนี้อยู่เช่นเดิม)
   - แต่ถ้าคำร้องไม่มีมูล ศาลจะยกคำร้อง (ไม่ใช่ยกฟ้อง)

การสืบพยานตามคำฟ้อง 
   - ถ้าได้ความจริงตามที่ฟ้อง (เจ้าหนี้ไม่มีประกัน มาตรา 7-9 , เจ้าหนี้มีประกัน มาตรา 7-10) ศาลจะมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด (เพื่อต้องการให้ลูกหนี้ยื่นขอประนอมหนี้ ยังไม่พิพากษาให้ล้มละลาย***) "คำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ไม่ว่าชั่วคราวหรือเด็ดขาด ลูกหนี้ยังไม่ล้มละลายจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาให้ล้มละลาย"
   - ถ้าสืบพยานแล้วไม่ได้ความจริงตามฟ้อง ศาลจะมีคำพิพากษายกฟ้อง
   
การพิจารณาคดีล้มละลาย
   มาตรา 14 ในการพิจารณาคดีล้มละลายตามคำฟ้องของเจ้าหนี้นั้น ศาลต้องพิจารณาเอาความจริงตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 9 หรือมาตรา 10 ถ้าศาลพิจารณาได้ความจริง ให้ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาด แต่ถ้าไม่ได้ความจริง หรือลูกหนี้นำสืบได้ว่าอาจชำระหนี้ได้ทั้งหมดหรือมีเหตุอื่นที่ไม่ควรให้ลูกหนี้ล้มละลาย ให้ศาลยกฟ้อง
   - การสืบพยานแล้วไม่ได้ความจริง คือ ไม่มีมูล ศาลต้องยกฟ้อง
   - ลูกหนี้มีพยานว่าอาจชำระหนี้ได้ ศาลต้องยกฟ้อง
   - เหตุอื่นที่ไม่ควรให้ลูกหนี้ล้มละลาย ศาลต้องยกฟ้อง ได้แก่
      -- หนี้ขาดอายุความ ถ้าเข้าหลักเกณฑ์การฟ้อง สามารถฟ้องได้ แต่ในระหว่างการสืบพยาน ถ้าลูกหนี้ไม่ได้ยกขึ้นโต้แย้ง ศาลล้มละลายมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ เนื่องจากเป็นเหตุอื่นที่ไม่ควรให้ลูกหนี้ล้มละลาย ศาลจะพิพากษายกฟ้อง (ถ้าเป็นคดีแพ่ง ลูกหนี้ไม่โต้แย้ง ศาลจะยกขึ้นวินิจฉัยเองไม่ได้) 
      -- หนี้ตามคำพิพากษาของศาลแพ่งซึ่งยังไม่ถึงที่สุด ศาลจะยกฟ้อง
      -- เจ้าหนี้มีประกันแกล้งตีราคาหลักประกันต่ำเกินความจริง เพราะหากตีราคาหลักประกันตามความเป็นจริง หนี้ที่เหลืออาจไม่ถึงเกณฑ์ 1 ล้านบาท (บุคคลธรรมดา)/2 ล้านบาท (นิติบุคคล) ซึ่งจะนำมาฟ้องคดีล้มละลายไม่ได้ แต่เจ้าหนี้แกล้งตีราคาหลักประกันให้ต่ำเกินความจริง เพื่อฟ้องคดีล้มละลาย ศาลจะถือว่าเป็นเหตุอื่นที่ไม่ควรให้ลูกหนี้ล้มละลาย และพิพากษายกฟ้อง
   - เมื่อสืบพยานเสร็จ ศาลจะสั่งได้เพียง 2 อย่าง คือ คำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด หรือพิพากษายกฟ้อง เท่านั้น

คำถาม คำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ชั่วคราว (มาตรา 17) กับคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด (มาตรา 14) เหมือนกันหรือต่างกัน
   1. เหมือนกัน
      - ผล คือ ลูกหนี้หมดอำนาจในการจัดการทรัพย์สินของตนเอง อำนาจเป็นของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์
   2. ต่างกัน
      - คำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ชั่วคราว เป็นเพียงแค่วิธีการคุ้มครองชั่วคราว ถ้าข้อเท็จจริงเปลี่ยนไป ศาลสามารถมีคำสั่งเปลี่ยนแปลงได้ แต่คำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดมีผลอย่างคำพิพากษา (สั่งแล้วสั่งเลย เปลี่ยนแปลงแก้ไขคำสั่งไม่ได้)

   มาตรา 15 ตราบใดที่ลูกหนี้ยังมิได้ถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด เจ้าหนี้คนหนึ่งคนใดจะฟ้องลูกหนี้นั้นเป็นคดีล้มละลายอีกก็ได้ แต่เมื่อศาลได้สั่งในคดีหนึ่งคดีใดให้พิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาดแล้ว ให้จำหน่ายคดีล้มละลายซึ่งเจ้าหนี้อื่นฟ้องลูกหนี้คนเดียวกันนั้น
   - ถ้าเป็นเจ้าหนี้คนเดียวกัน อาจเป็นฟ้องซ้อน
   - ถ้าเจ้าหนี้หลายคนฟ้องลูกหนี้ ศาลล้มละลายอาจใช้ดุลพินิจให้รวมการพิจารณาคดีได้ โดยเจ้าหนี้ไม่ต้องร้องขอ (มาตรา 12 ถ้ามีคำฟ้องหลายรายให้ลูกหนี้ คนเดียวกันล้มละลายก็ดี หรือให้ลูกหนี้ร่วมกันแต่ละคนล้มละลายก็ดี ศาลมีอำนาจสั่งให้รวมการพิจารณาได้)
   - ถ้าศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดแล้ว ศาลจะสั่งจำหน่ายคดีอื่น (ให้เหลือคดีเดียว) เจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์ที่ถูกจำหน่ายคดีหรือเจ้าหนี้อื่นๆ ที่ไม่ได้ฟ้อง มีสิทธิยื่นคำขอรับชำระหนี้ในคดีที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดนั้นได้ เพื่อบริหารจัดการให้แก่เจ้าหนี้ทุกคน

เมื่อศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ จะเกิดหน้าที่ของบุคคลดังต่อไปนี้
   1. หน้าที่ของเจ้าหนี้ 
       ยื่นคำขอรับชำระหนี้ ตามมาตรา 27 + มาตรา 91 (พิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด)
   2. หน้าที่ของลูกหนี้ 
       หน้าที่ 1 ส่งมอบทรัพย์สิน ตามมาตรา 23 (พิทักษ์ทรัพย์)
       หน้าที่ 2 ยื่นคำชี้แจง ตามมาตรา 30 (พิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด)
       หน้าที่ 3 เสนอคำขอประนอมหนี้ ตามมาตรา 45 (พิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด)
   3. หน้าที่ของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์
       หน้าที่ 1
          - โฆษณาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ ตามมาตรา 28 วรรคแรก (พิทักษ์ทรัพย์)
          - กำหนดเวลาให้เจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ ตามมาตรา 28 วรรคสอง (พิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด)
       หน้าที่ 2 เข้ายึดทรัพย์สิน ตามมาตรา 19 (พิทักษ์ทรัพย์)
       หน้าที่ 3 เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แต่ผู้เดียวมีอำนาจตามมาตรา 22 (พิทักษ์ทรัพย์)
       หน้าที่ 4 เข้าไปว่าคดีแพ่งทั้งปวงอันเกี่ยวกับทรัพย์สินของลูกหนี้ ตามมาตรา 25 (พิทักษ์ทรัพย์)
       หน้าที่ 5 เรียกประชุมเจ้าหนี้ครั้งแรก ตามมาตรา 31 (พิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด)
ครั้งต่อไปจะมาดูหน้าที่ของบุคคลทั้งสามดังกล่าว

---จบคำบรรยาย ครั้งที่ 3---
#นักเรียนกฎหมาย
20 เมษายน 2562

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมประจำสัปดาห์

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. 2566 (30 ข้อ)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 (55 ข้อ)

แนวข้อสอบ ระเบียบฯ พนักงานราชการ

สาระสำคัญ พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. 2566 (ฉบับเตรียมสอบ)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561 (ชุดที่ 1)

การส่งเด็กเข้าเรียนตามกฎหมาย

สาระสำคัญ กฎกระทรวงการประกันคุณภาพการศึกษา พ.ศ. 2561

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.ผู้สูงอายุ พ.ศ. 2546 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (44 ข้อ)