ข้อกำหนดความประพฤติของนักเรียนและนักศึกษา


พระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 มาตรา 64 บัญญัติให้นักเรียนและนักศึกษาต้องประพฤติตนตามระเบียบของโรงเรียนหรือสถานศึกษาและตามที่กำหนดในกฎกระทรวง เมื่อปี พ.ศ. 2548 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการจึงออกกฎกระทรวงเพื่อกำหนดความประพฤติของนักเรียนและนักศึกษา ไว้ 9 ข้อ ซึ่งต่อมาในปี พ.ศ. 2562 มีการแก้ไขเพิ่มเติม โดยกำหนดพฤติการณ์ให้มีความชัดเจนยิ่งขึ้น ว่านักเรียนและนักศึกษาจะต้องไม่ประพฤติตนดังนี้

1. หนีเรียน หรือออกนอกสถานศึกษาโดยไม่ได้รับอนุญาตในช่วงเวลาเรียน
2. เล่นการพนัน จัดให้มีการเล่นการพนัน หรือมั่วสุมในวงการพนัน
3. พกพาอาวุธหรือวัตถุระเบิด
4. ซื้อ จำหน่าย แลกเปลี่ยน เสพสุราหรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สิ่งมึนเมา บุหรี่ หรือยาเสพติด
5. ลักทรัพย์ กรรโชกทรัพย์ ข่มขู่ หรือบังคับขืนใจเพื่อเอาทรัพย์บุคคลอื่น
6. ก่อเหตุทะเลาะวิวาท ทำร้ายร่างกายผู้อื่น เตรียมการหรือกระทำการใด ๆ อันน่าจะก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยหรือขัดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือรวมกลุ่มหรือมั่วสุมเพื่อกระทำการดังกล่าว
    (กฎกระทรวงฉบับแรก กำหนดความประพฤติไว้แต่เพียง การก่อเหตุทะเลาะวิวาท ทำร้ายร่างกายผู้อื่น เตรียมการหรือกระทำการใด ๆ อันน่าจะก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยหรือขัดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชน โดยกฎกระทรวงฉบับที่ 2 แก้ไขเพิ่มเติมถึงกรณีการรวมกลุ่มหรือมั่วสุมเพื่อกระทำการดังกล่าวด้วย)
7. แสดงพฤติกรรมทางชู้สาวอันไม่เหมาะสม กระทำการลามกอนาจาร แต่งกายล่อแหลมหรือไม่เรียบร้อยในโรงเรียนหรือสถานศึกษา หรือแต่งเครื่องแบบนักเรียนหรือนักศึกษาไม่เรียบร้อย
    (แต่เดิมกำหนดความประพฤติในข้อนี้ โดย "แสดงพฤติกรรมทางชู้สาวซึ่งไม่เหมาะสมในที่สาธารณะ" แต่ปัจจุบันการแสดงพฤติกรรมทางชู้สาวอันไม่เหมาะสมนี้ กำหนดขอบเขตไว้ภายในโรงเรียนหรือสถานศึกษาเท่านั้น ไม่รวมถึงในที่สาธารณะ นอกจากนี้ได้เพิ่มเติมพฤติกรรมลามกอนาจารและการแต่งกายล่อแหลมหรือไม่เรียบร้อยในโรงเรียนหรือสถานศึกษา หรือแต่งเครื่องแบบไม่เรียบร้อย)
8. เกี่ยวข้องกับการค้าประเวณี
9. เที่ยวเตร่นอกสถานที่พัก รวมกลุ่ม หรือมั่วสุมอันเป็นการสร้างความเดือดร้อนให้แก่ตนเองหรือผู้อื่น

    (กฎกระทรวงฉบับแรก กำหนดการออกนอกสถานที่พักเวลากลางคืน เพื่อเที่ยวเตร่หรือรวมกลุ่ม อันเป็นการสร้างความเดือดร้อนให้แก่ตนเองหรือผู้อื่น ปัจจุบันจึงรวมทั้งเวลากลางวันและกลางคืน)

นอกจากข้อกำหนดความประพฤติทั้ง 9 ข้อนี้แล้ว โรงเรียนหรือสถานศึกษามีอำนาจกำหนดระเบียบว่าด้วยความประพฤติของนักเรียนและนักศึกษาเพิ่มเติมได้เท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับกฎกระทรวงนี้

นักเรียนและนักศึกษาจะต้องปฏิบัติตามระเบียบของโรงเรียนหรือสถานศึกษา หากฝ่าฝืนพนักงานเจ้าหน้าที่ต้องดำเนินการตามระเบียบและนำตัวไปมอบแก่ผู้บริหารโรงเรียนหรือสถานศึกษา เพื่อสอบถามและอบรมสั่งสอนหรือลงโทษตามระเบียบ และแจ้งผู้ปกครองว่ากล่าวตักเตือนหรือสั่งสอนเด็กอีกครั้ง นอกจากนี้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจสอบถามครู อาจารย์ หรือหัวหน้าสถานศึกษาเกี่ยวกับความประพฤติ การศึกษา นิสัยและสติปัญญาของเด็กหรือเรียกผู้ปกครองมาว่ากล่าวตักเตือน หรือทำทัณฑ์บนว่าจะปกครองดูแลมิให้นักเรียนฝ่าฝืนข้อกำหนดความประพฤติได้ และกรณีที่บุคคลใดยุยง ส่งเสริม ช่วยเหลือ หรือสนับสนุนให้นักเรียนหรือนักศึกษาฝ่าฝืนมาตรา 64 จะต้องรับผิดทางอาญา ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับไม่เกิน 30,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ที่มา / ดาวน์โหลดไฟล์
- พระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546
- กฎกระทรวงกำหนดความประพฤติของนักเรียนและนักศึกษา พ.ศ. 2548
- กฎกระทรวงกำหนดความประพฤติของนักเรียนและนักศึกษา (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2562

ความคิดเห็น

  1. ไม่ระบุชื่อ28 พฤษภาคม 2565 เวลา 10:00

    มันนอกเวลาเรียนก็ควรปล่อยเถอะโลกมันไปถึงไหนแล้ว

    ตอบลบ
    คำตอบ
    1. ขอบคุณครับ ข้อกำหนดบางข้อ ต้องมีการแก้ไขปรับปรุงให้เหมาะสมต่อไปครับ

      ลบ
  2. ไม่ระบุชื่อ1 พฤษภาคม 2566 เวลา 14:33

    อยู่เอกชนจะไม่มีปัญหาเรื่องนี้เลย

    ตอบลบ

แสดงความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมประจำสัปดาห์

แนวข้อสอบ ระเบียบฯ พนักงานราชการ

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 (ชุดที่ 1)

การส่งเด็กเข้าเรียนตามกฎหมาย

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539

แนวข้อสอบ พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ. 2546

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542

แนวข้อสอบ ระเบียบฯ สารบรรณ (ชุดที่ 3)

สาระสำคัญ พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. 2566 (ฉบับเตรียมสอบ)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 (55 ข้อ)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 (ชุดที่ 5)