สรุปความรู้จากการสัมมนา เรื่อง การนำกระบวนการไกล่เกลี่ยระงับข้อพิพาทมาใช้ในคดีปกครอง


เมื่อวันที่ 7 กันยายน 2564 ผมได้มีโอกาสเข้าร่วมประชุมสัมมนา เรื่อง การนำกระบวนการไกล่เกลี่ยระงับข้อพิพาทมาใช้ในคดีปกครอง จัดโดยสำนักงานศาลปกครอง โดยท่านวิทยากรที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในเรื่องนี้ 2 ท่าน คือ ท่านบุญอนันต์ วรรณพานิชย์ ตุลาการหัวหน้าคณะศาลปกครองสูงสุด และท่านเอกณัฐ จิณเสน ตุลาการหัวหน้าคณะศาลปกครองกลาง ผมจึงได้สรุปความรู้ที่ได้จากการสัมมนาดังกล่าว เพื่อเป็นแนวทางต่อยอดความรู้ด้านการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทในคดีปกครองสำหรับผู้ที่สนใจครับ

**********************************
สรุปความรู้จากการสัมมนา
เรื่อง การนำกระบวนการไกล่เกลี่ยระงับข้อพิพาทมาใช้ในคดีปกครอง ครั้งที่ 2
วิทยากร ท่านบุญอนันต์ วรรณพานิชย์ ตุลาการหัวหน้าคณะศาลปกครองสูงสุด และ
ท่านเอกณัฐ จิณเสน ตุลาการหัวหน้าคณะศาลปกครองกลาง
จัดโดยสำนักงานศาลปกครอง เมื่อวันอังคารที่ 7 กันยายน 2564 เวลา 08.30 - 12.00 น. 
ผ่านระบบการประชุมออนไลน์ โปรแกรม Cisci Webx Meetings

**********************************

ระบบศาลยุติธรรม มีการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทมาเป็นเวลานาน ทั้งคดีแพ่ง และคดีอาญาบางประเภท แต่สำหรับคดีปกครอง ถือเป็นเรื่องใหม่ โดยเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2562 พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจาราคดีปกครอง (ฉบับที่ 12) พ.ศ. 2562 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เพื่อให้การบริหารจัดการคดีของศาลปกครองมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลเพิ่มขึ้นด้วยกระบวนการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท และต่อมาได้มีการประกาศใช้ ระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ว่าด้วยการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทในคดีปกครอง พ.ศ. 2562 

การสัมมนาวันนี้ ประกอบด้วยหัวข้อสำคัญ 5 ข้อ ได้แก่
    1. การไกล่เกลี่ยข้อพิพาทในคดีปกครอง คืออะไร
    2. ทำไมต้องไกล่เกลี่ยข้อพิพาทคดีปกครอง
    3. หลักการสำคัญของการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทคดีปกครอง
    4. ประเภทคดีที่ยอมรับให้มีการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท
    5. กระบวนการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท

1. การไกล่เกลี่ยข้อพิพาทในคดีปกครอง คืออะไร
การไกล่เกลี่ยข้อพิพาทในคดีปกครอง เป็นวิธีการระงับข้อพิพาทในชั้นศาลปกครองด้วยความสมัครใจของคู่กรณี โดยผู้ไกล่เกลี่ยที่เป็นกลาง ภายใต้กรอบของกฎหมาย

2. ทำไมต้องไกล่เกลี่ยข้อพิพาทคดีปกครอง
เหตุผลที่ต้องนำวิธีการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทมาใช้ในคดีปกครอง เนื่องจากการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทคดีปกครอง มีวิธีการที่เรียบง่าย ภายในระยะเวลาที่รวดเร็ว ซึ่งปกติการดำเนินคดีในชั้นจะใช้เวลานาน บางคดีอาจเป็นเวลาหลายปี เป็นไปตามความต้องการที่แท้จริงของคู่กรณี มีผลบังคับทางกฎหมายได้จริง และเป็นการรักษาความสัมพันธ์อันดีระหว่างคดีกรณี

3. หลักการสำคัญของการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทคดีปกครอง
    3.1 การไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภายใต้หลักความชอบด้วยกฎหมาย ประกอบด้วย 
          1) มีกฎหมายรับรองอย่างชัดแจ้ง ซึ่งเป็นไปตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจาราคดีปกครอง (ฉบับที่ 12) พ.ศ. 2562 และระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ว่าด้วยการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทในคดีปกครอง พ.ศ. 2562
          2) กำหนดหลักการรองรับให้ฝ่ายปกครองเข้าร่วมกระบวนการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทได้ (มาตรา 66/2 วรรคสอง) คณะรัฐมนตรีอาจกำหนดหลักเกณฑ์ให้หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เป็นคู่กรณี ต้องได้รับความเห็นชอบจากกระทรวงการคลังหรือหน่วยงานที่มีอำนาจกำกับดูแลตามกฎหมายก็ได้ในกรณีที่เป็นการไกล่เกลี่ยเกี่ยวกับเงินหรือทรัพย์สิน
          3) ผลของการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท มีผลบังคับทางกฎหมาย โดยคำพิพากษาของศาล (มาตรา 66/10 และระเบียบฯ ข้อ 32) กำหนดให้ศาลมีคำพิพากษาทั้งกรณีที่ไกล่เกลี่ยสำเร็จทั้งหมดและสำเร็จบางส่วน  
          4) มีบทบัญญัติที่กำหนดกรอบของการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท เพื่อให้เป็นไปตามหลักความชอบด้วยกฎหมาย (มาตรา 66/3) เช่น ต้องไม่มีลักษณะเป็นการฝ่าฝืนหรือต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย หรือเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน
          5) การกำหนดกลไกกลั่นกรอง เพื่อให้การไกล่เกลี่ยข้อพิพาทเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมาย (ระเบียบฯ ข้อ 13 ข้อ 14 ข้อ 15 ข้อ 32 และข้อ 33) มีการตรวจสำนวนและคำขอให้มีการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทซึ่งจะต้องไม่มีลักษณะต้องห้าม และผู้รับผิดชอบราชการศาลเห็นว่าเป็นกรณีที่สมควรให้มีการไกล่เกลี่ยได้ ตลอดจนมีการตรวจสอบผลการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทซึ่งคู่กรณีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งต้องไม่มีการฉ้อฉล เป็นต้น

    3.2 ความสมัครใจของคู่กรณี
          1) ความสมัครใจที่จะริเริ่มให้มีการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท (มาตรา 66/4 วรรคหนึ่ง ระเบียบฯ ข้อ 12 ข้อ 13 วรรคหนึ่ง) คู่กรณีอาจร่วมกันยื่นคำขอต่อศาล หรือคู่กรณีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอาจยื่นคำขอให้มีการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทได้ ตั้งแต่มีการฟ้องคดีต่อศาลปกครองจนถึงวันสิ้นสุดการแสวงหาข้อเท็จจริง
          2) ความสมัครใจที่จะเข้าร่วมกระบวนการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท (ระเบียบฯ ข้อ 14 วรคหนึ่ง) คู่กรณีที่พิพาทกันมากกว่าหนึ่งฝ่าย แสดงความตกลงหรือยินยอมให้มีการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท
          3) ความสมัครใจที่จะไม่ให้มีการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทต่อไป (มาตรา 66/9 (3)) หากคู่กรณีฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดไม่ประสงค์ให้มีการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทต่อไป มีผลทำให้การไกล่เกลี่ยข้อพิพาทสิ้นสุดลง
          4) ความสมัครใจที่จะยอมรับผลของการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท (มาตรา 66/10 ระเบียบฯ ข้อ 31 วรรคหนึ่งและวรรคสอง) คู่กรณีร่วมกันทำบันทึกข้อตกลงหรือสัญญาประนีประนอมยอมความเป็นหนังสือ โดยลงลายมือชื่อต่อหน้าผู้ไกล่เกลี่ยข้อพิพาท

    3.3 ความไว้วางใจของคู่กรณี
          1) การยึดถือความไว้วางใจของคู่กรณีที่มีต่อกัน (ระเบียบฯ ข้อ 7) การไกล่เกลี่ยข้อพิพาท ต้องดำเนินการโดยยึดถือความสมัครใจและความไว้วางใจของคู่กรณีที่มีต่อกัน
          2) การคุ้มครองไม่ให้เปิดเผยหรืออ้างอิงข้อมูลที่เกิดขึ้นในกระบวนการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท (มาตรา 66/8) เป็นมาตราสำคัญ*** ที่ให้การคุ้มครองมิให้มีการเปิดเผยหรืออ้างอิงข้อมูลกระบวนการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท 
          3) การให้คู่กรณีร่วมไกล่เกลี่ยข้อพิพาทด้วยตนเอง (ระเบียบฯ ข้อ 27) เว้นแต่มีเหตุสุดวิสัยหรือเหตุจำเป็นอื่น คู่กรณีอาจมอบตัวแทนหรือผู้แทนที่มีอำนาจตัดสินใจและมีอำนาจทำความตกลงร่วมการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทแทนได้
          4) การไกล่เกลี่ยข้อพิพาทต่อหน้าคู่กรณี (ระเบีบบฯ ข้อ 28) ผู้ไกล่เกลี่ยต้องดำเนินการต่อหน้าคู่กรณีทุกฝ่าย เว้นแต่เพื่อประโยชน์ในการไกล่เกลี่ย อาจกำหนดให้เฉพาะคู่กรณีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรือคนใดคนหนึ่ง อยู่ในการไกล่เกลี่ยในช่วงเวลาหนึ่งเป็นการชั่วคราวก็ได้

    3.4 หลักความเป็นกลางในการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท
          1) ความเป็นกลางของศาล (ระเบียบฯ ข้อ 10) ศาลต้องดำเนินการด้วยความเป็นกลาง และปราศจากอคติในการปฏิบัติหน้าที่
          2) บุคคลที่ทำหน้าที่เป็นผู้ไกล่เกลี่ยข้อพิพาท 
              2.1) คุณสมบัติของผู้ไกล่เกลี่ยข้อพิพาท (มาตรา 66/4) ผู้ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทจะต้องเป็นตุลาการศาลปกครองซึ่งไม่มีหน้าที่รับผิดชอบคดีในสำนวนคดีนั้น
              2.2) การคัดค้านและการถอนตัว (มาตรา 66/6 ระเบียบฯ ข้อ 19 วรรคสอง ข้อ 20 ข้อ 21 และข้อ 22)
          3) การทำหน้าที่ของผู้ไกล่เกลี่ยข้อพิพาท (มาตรา 66/6 วรรคหนึ่ง ระเบียบฯ ข้อ 8 ข้อ 26 ข้อ 28 ข้อ 31 วรรคสอง มาตรา 66/9 (4) ข้อ 34) ผู้ไกล่เกลี่ยต้องวางตนเป็นกลาง และปราศจากอคติในการปฏิบัติหน้าที่ การไกล่เกลี่ยจะต้องไม่เป็นการสร้างหรือเพิ่มความขัดแย้งหรือความเป็นปฏิปักษ์ระหว่างคู่กรณี ก่อนเริ่มทำการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท ผู้ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทจะต้องแจ้งคู่กรณีให้ทราบแนวทาง ขั้นตอน ระยะเวลา สิทธิและหน้าที่ของคู่กรณี และบทบาทหน้าที่ของผู้ไกล่เกลี่ยข้อพิพาท

    3.5 ความมีประสิทธิภาพของการพิจารณาคดีและการบริหารจัดการคดี
          1) การส่งเสริมให้ฝ่ายปกครองเข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทในคดีปกครอง (มาตรา 66/2) กฎหมายกำหนดให้คณะรัฐมนตรีอาจกำหนดหลักเกณฑ์เพิ่มเติมได้
          2) การให้การไกล่เกลี่ยข้อพิพาทมีระยะเวลาที่กระชับและชัดเจน (มาตรา 66/5 ระเบียบฯ ข้อ 9 ข้อ 24) ซึ่งต้องไม่เกิน 90 วัน นับแต่วันนัดไกล่เกลี่ยข้อพิพาทครั้งแรก
          3) การไม่ให้กระทบในทางเสียหายต่อการพิจารณาพิพากษาคดี (มาตรา 66/5 ระเบียบฯ ข้อ 9 ข้อ 11 มาตรา 66/9 ข้อ 34 มาตรา 66/7 มาตรา 66/11) การไกล่เกลี่ยข้อพิพาท ต้องไม่ทำให้การพิจารณาพิพากษาคดีล่าช้าออกไปโดยไม่สมควร ไม่ให้มีการประวิงหรือเป็นอุปสรรคต่อการพิจารณาพิพากษาคดี และโดยหลักไม่อาจอุทธรณ์แนวทาง ความเห็นชอบ คำสั่ง หรือการกระทำใดที่กระทำลงในการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทได้
          4) การให้การไกล่เกลี่ยข้อพิพาทดำเนินไปโดยเรียบร้อย (ระเบียบฯ ข้อ 30) ผู้รับผิดชอบราชการศาล อาจออกข้อกำหนดทั่วไปเกี่ยวกับวิธีปฏิบัติในการดำเนินการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทในศาลนั้น

4. ประเภทคดีที่ยอมรับให้มีการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท คดีปกครองที่สามารถไกล่เกลี่ยข้อพิพาทได้มี 4 ประเภท คือ
    4.1 คดีพิพาทเกี่ยวกับหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ ละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ หรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร
    4.2 คดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดหรือความรับผิดอย่างอื่น ของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ
    4.3 คดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง
    4.4 คดีพิพาทอื่นตามที่กำหนดในระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด

กรณีที่ห้ามมิให้มีการไกล่เกลี่ย 8 ลักษณะ
    1) การไกล่เกลี่ยข้อพิพาทที่เป็นการฝ่าฝืนหรือต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย
    2) การไกล่เกลี่ยข้อพิพาทที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน
    3) การไกล่เกลี่ยข้อพิพาทที่มีผลกระทบต่อสถานะของบุคคลหรือมีผลกระทบในทางเสียหายต่อประโยชน์สาธารณะ
    4) การไกล่เกลี่ยข้อพิพาทที่มีผลกระทบร้ายแรงต่อการบังคับใช้กฎหมาย
    5) การไกล่เกลี่ยข้อพิพาทที่อยู่นอกเหนือสิทธิ อำนาจหน้าที่ หรือความสามารถของคู่กรณี
    6) การไกล่เกลี่ยข้อพิพาทที่เกี่ยวกับคำวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยข้อพิพาท ตามมาตรา 11 (1)
    7) การไกล่เกลี่ยข้อพิพาทที่เกี่ยวกับคำวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยข้อพิพาทที่กฎหมายกำหนดให้ฟ้องคดีต่อศาลปกครองสูงสุด
    8) การไกล่เกลี่ยข้อพิพาทที่มีลักษณะอื่นตามที่กำหนดในระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด

5. กระบวนการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท
กระบวนการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทในคดีปกครอง ไม่เคร่งครัดในรูปแบบหรือพิธีการ รวดเร็วและต่อเนื่อง มีการกลั่นกรองให้เกิดความมั่นใจและถูกต้อง และการกระทำในกระบวนการไกล่เกลี่ยไม่อาจอุทธรณ์ได้ 

การริเริ่มให้มีการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท อาจริเริ่มโดยคู่กรณียื่นคำขอ หรือศาลเห็นเองก็ได้ และเมื่อผู้รับผิดชอบราชการศาล เห็นชอบให้มีการไกล่เกลี่ย ก็จะมีการแต่งตั้งผู้ไกล่เกลี่ย ซึ่งคือตุลาการศาลปกครองที่ไม่มีหน้าที่รับผิดชอบในสำนวนคดีนั้น

ผลของการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท
    1) ไกล่เกลี่ยสำเร็จ
          1.1) สำเร็จทั้งหมด มีการทำบันทึกข้อตกลงหรือสัญญาประนีประนอม และศาลมีคำพิพากษาตามยอม
          1.2) สำเร็จบางส่วน มีการทำบันทึกข้อตกลงหรือสัญญาประนีประนอม และศาลมีคำพิพากษาในคดี รวมทั้งผลของการไกล่เกลี่ยด้วย
    2) ไกล่เกลี่ยไม่สำเร็จ ศาลจะพิจารณาคดีต่อไปและมีคำพิพากษาตามกระบวนพิจารณาปกติ

ที่มา / คลิกดาวน์โหลดไฟล์

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมประจำสัปดาห์

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. 2566 (30 ข้อ)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 (55 ข้อ)

แนวข้อสอบ ระเบียบฯ พนักงานราชการ

สาระสำคัญ พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. 2566 (ฉบับเตรียมสอบ)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561 (ชุดที่ 1)

การส่งเด็กเข้าเรียนตามกฎหมาย

สาระสำคัญ กฎกระทรวงการประกันคุณภาพการศึกษา พ.ศ. 2561

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.ผู้สูงอายุ พ.ศ. 2546 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (44 ข้อ)