สัญญาจ้างแรงงานไม่ต้องทำเป็นหนังสือ (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1983/2564)


สัญญาจ้างแรงงาน กฎหมายไม่ได้บัญญัติให้ต้องทำเป็นหนังสือเท่านั้น ซึ่งคดีนี้ศาลฎีกาได้อธิบายความหมายของสัญญาจ้างแรงงาน และพฤติการณ์ที่ก่อให้เกิดสัญญาขึ้น โดยวินิจฉัยว่า

ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 575 และพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 5 ไม่ได้บัญญัติว่า สัญญาจ้างแรงงานต้องทำเป็นหนังสือเท่านั้น สัญญาจ้างแรงงานย่อมเกิดขึ้นได้ เมื่อมีการแสดงเจตนาทำคำเสนอคำสนองถูกต้องตรงกัน โดยฝ่ายหนึ่งตกลงทำงานและอีกฝ่ายหนึ่งตกลงจ่ายสินจ้างหรือค่าตอบแทนการทำงานตลอดระยะเวลาที่ทำงานให้

เมื่อปรากฏว่า โจทก์ยื่นใบสมัครงานต่อจำเลย ตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายทรัพยากรบุคคล และระบุเงินเดือนที่ต้องการ ใบสมัครงานเป็นการแสดงเจตนาทำคำเสนอ

ส่วนการที่จำเลยสัมภาษณ์งานโจทก์ โดยมีผู้จัดการฝ่ายทรัพยากรบุคคลของจำเลยร่วมสัมภาษณ์ เมื่อโจทก์ผ่านการสัมภาษณ์รอบแรก และได้รับแบบทดสอบจากจำเลย เมื่อโจทก์ทำแบบทดสอบเสร็จแล้ว ผู้จัดการฝ่ายทรัพยากรบุคคลนำแบบทดสอบไปให้ ภ. กรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลย แล้วนำโจทก์ไปที่ห้องสัมภาษณ์อีกครั้งหน่ง มี ภ. กับผู้จัดการโรงงานในเครือของจำเลยเข้าร่วมรับฟังอยู่ด้วย จนกระทั่ง ภ. เขียนข้อความในใบสมัครงานของโจทก์ด้วยตนเอง ระบุรายละเอียดเรื่องตำแหน่งงาน อัตราค่าจ้าง ค่าน้ำมัน ค่าทางด่วนที่เอาใบเสร็จมาเบิกตามจริง ค่าโทรศัพท์ ค่าสึกหรอกรณีใช้รถยนต์ส่วนตัว และวันเริ่มทำงาน ทั้งมีการลงลายมือชื่อ ภ. กรรมการผู้จัดการผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยในช่องผู้มีอำนาจอนุมัติ ย่อมแสดงให้เห็นเจตนาของจำเลย ที่สนองรับโจทก์เข้าทำงาน และตกลงจะให้สินจ้างตลอดระยะเวลาการทำงานแล้ว ถือได้ว่าเป็นคำสนองของจำเลยที่ถูกต้องตรงกับคำเสนอของโจทก์ ก่อให้เกิดสัญญาจ้างแรงงานระหว่างโจทก์กับจำเลย และมีผลบังคับตั้งแต่วันที่จำเลยสัมภาษณ์งานโจทก์แล้ว 

ที่มา 
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1983/2564. เนติบัณฑิตยสภา, หนังสือคำพิพากษาฎีกา ประจำพุทธศักราช 2564 ตอนที่ 3, หน้า 671 - 683

- ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
   มาตรา 575 บัญญัติว่า "อันว่าจ้างแรงงานนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่าลูกจ้าง ตกลงจะทำงานให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่งเรียกว่านายจ้าง และนายจ้างตกลงจะให้สินจ้างตลอดเวลาที่ทำงานให้"

- พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541
   มาตรา 5 บัญญัติว่า "ในพระราชบัญญัตินี้
   "สัญญาจ้าง" หมายความว่า สัญญาไม่ว่าเป็นหนังสือหรือด้วยวาจาระบุชัดเจน หรือเป็นที่เข้าใจโดยปริยาย ซึ่งบุคคลหนึ่งเรียกว่าลูกจ้างตกลงจะทํางานให้แก่บุคคลอีกบุคคลหนึ่งเรียกว่านายจ้าง และนายจ้างตกลงจะให้ค่าจ้างตลอดเวลาที่ทํางานให้

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมประจำสัปดาห์

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 (55 ข้อ)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. 2566 (30 ข้อ)

สาระสำคัญ พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. 2566 (ฉบับเตรียมสอบ)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539

กฎกระทรวงกำหนดกรณีอื่นที่เจ้าหน้าที่จะทำการพิจารณาทางปกครองไม่ได้ พ.ศ. 2566

การส่งเด็กเข้าเรียนตามกฎหมาย

แนวข้อสอบ ระเบียบฯ พนักงานราชการ

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 (ชุดที่ 1)

แนวข้อสอบ ระเบียบฯ สารบรรณ (ชุดที่ 3)