แนวทางพิจารณาการปฏิบัติทางการค้าที่อาจเกิดความเสียหายแก่ผู้รับสิทธิในการประกอบธุรกิจแฟรนไชส์ ตามพระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2560


   พระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2560 มาตรา 57 บัญญัติห้ามมิให้ผู้ประกอบธุรกิจกระทำการใดๆ อันเป็นผลให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ประกอบธุรกิจรายอื่นในลักษณะอย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้ 
   (1) กีดกันการประกอบธุรกิจของผู้ประกอบธุรกิจรายอื่นอย่างไม่เป็นธรรม
   (2) ใช้อำนาจตลาดหรืออำนาจต่อรองที่เหนือกว่าอย่างไม่เป็นธรรม
   (3) กำหนดเงื่อนไขทางการค้าอันเป็นการจำกัดหรือขัดขวางการประกอบธุรกิจของผู้อื่นอย่างไม่เป็นธรรม
   (4) กระทำการในลักษณะอื่นตามที่คณะกรรมการประกาศกำหนด

   โดยคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าได้ออกประกาศกำหนดแนวทางในการพิจารณาเกี่ยวกับการการปฏิบัติทางการค้าของ "แฟรนไชส์ซอร์" (Franchisor ผู้ให้สิทธิในการประกอบธุรกิจแฟรนไชส์) ที่อาจส่งผลให้เกิดความเสียหายแก่แฟรนไชส์ซี (Franchisee ผู้รับสิทธิในการประกอบธุรกิจแฟรนไชส์) ซึ่งจะมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2563 เป็นต้นไป ดังนี้

   1. การกำหนดเงื่อนไขที่เป็นการจำกัดสิทธิของแฟรนไชส์ซี โดยไม่มีเหตุผลอันสมควร เช่น
       (1) การกำหนดให้แฟรนไชส์ซี ต้องซื้อสินค้าหรือบริการอื่นที่ไม่มีความเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการแฟรนไชส์หรือสินค้าหรือบริการประกอบแฟรนไชส์จากแฟรนไชส์ซอร์ หรือจากผู้ผลิต ผู้จำหน่ายหรือผู้ให้บริการที่แฟรนไชส์ซอร์กำหนดเท่านั้น
       (2) การกำหนดโควตาให้แฟรนไชส์ซี ต้องซื้อสินค้าหรือวัตถุดิบในปริมาณที่สูงกว่าความต้องการใช้จริงและห้ามคืนสินค้าหรือวัตถุดิบส่วนเกิน

   2. การกำหนดเงื่อนไขเพิ่มเติมให้แฟรนไชส์ซี ต้องปฏิบัติภายหลังการลงนามในสัญญาร่วมกันแล้ว เช่น กำหนดให้แฟรนไชส์ซี ซื้อสินค้าหรือบริการอื่น หรือกระทำการอย่างอื่นนอกเหนือจากที่ได้กำหนดไว้ในสัญญาแฟรนไชส์ เป็นต้น เว้นแต่มีเหตุผลอันสมควรทางธุรกิจ หรือมีความจำเป็นในการรักษาไว้ซึ่งชื่อเสียง คุณภาพ และมาตรฐานของธุรกิจแฟรนไชส์ ทั้งนี้การกำหนดเงื่อนไขเพิ่มเติมดังกล่าวจะต้องทำเป็นลายลักษณ์อักษร

   3. การห้ามแฟรนไชส์ซีซื้อสินค้าหรือบริการจากผู้ผลิต ผู้จำหน่าย หรือผู้ให้บริการรายอื่นที่ขายสินค้าหรือบริการที่มีคุณภาพเท่าเทียมกันและราคาถูกกว่า โดยให้ซื้อจากแฟรนไชส์ซอร์หรือจากผู้ผลิต ผู้จำหน่ายหรือผู้ให้บริการที่แฟรนไชส์ซอร์ กำหนดเท่านั้น ทั้งนี้โดยไม่มีเหตุผลอันสมควร 

   4. การห้ามแฟรนไชส์ซีขายลดราคาสำหรับสินค้าที่เน่าเสียง่าย (Perishable Goods) หรือใกล้หมดอายุโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร

   5. การกำหนดเงื่อนไขที่แตกต่างกันระหว่างแฟรนไชส์ซี โดยไม่มีเหตุผลอันสมควร และนำไปสู่การเลือกปฏิบัติทางการค้าที่ไม่เป็นธรรม (Discrimination)

   6. การกำหนดเงื่อนไขที่ไม่เหมาะสมอื่นใดที่มีวัตถุประสงค์นอกเหนือจากการรักษาไว้ซึ่งชื่อเสียง คุณภาพ และมาตรฐานของแฟรนไชส์ซอร์ตามสัญญา

อ้างอิง 
ประกาศคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า เรื่อง แนวทางพิจารณาการปฏิบัติทางการค้าที่ไม่เป็นธรรมในธุรกิจแฟรนไชส์ (คลิกดาวน์โหลดไฟล์)
#นักเรียนกฎหมาย
7 ธันวาคม 2562

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมประจำสัปดาห์

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 (ชุดที่ 1)

แนวข้อสอบ ระเบียบฯ พนักงานราชการ

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 (55 ข้อ)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539

การส่งเด็กเข้าเรียนตามกฎหมาย

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. 2566 (30 ข้อ)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 (ชุดที่ 2)

สาระสำคัญ พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. 2566 (ฉบับเตรียมสอบ)

แนวข้อสอบ ระเบียบฯ สารบรรณ (ชุดที่ 3)