ระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยการควบคุมดูแลการใช้รถโรงเรียน พ.ศ. 2562



ระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยการควบคุมดูแลการใช้รถโรงเรียน พ.ศ. 2562 ฉบับใหม่นี้ ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2562 มีสาระสำคัญดังนี้

ข้อ 1 ระเบียบนี้เรียกว่า "ระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยการควบคุมดูแลการใช้รถโรงเรียน พ.ศ. 2562"

ข้อ 2 ระเบียบนี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด 60 วัน นับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป ระเบียบนี้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 136 ตอนพิเศษ 300 ง หน้า 2 วันที่ 6 ธันวาคม 2562 ซึ่งจะมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2563 เป็นต้นไป 

ข้อ 3 ยกเลิกระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยการควบคุมดูแลการใช้รถโรงเรียน พ.ศ. 2536

ข้อ 4 จำกัดคำนิยามต่างๆ ที่ใช้บังคับ ประกอบด้วย
   "โรงเรียน" หมายความว่า สถานศึกษาที่อยู่ในสังกัดหรืออยู่ในความควบคุมดูแลของกระทรวงศึกษาธิการ 
   "รถโรงเรียน" หมายความว่า รถของโรงเรียนหรือรถของบุคคลที่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางบกหรือกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ให้นำมาใช้รับ-ส่งนักเรียน 
   "ผู้ดำเนินกิจการรถโรงเรียน" หมายความว่า บุคคลหรือนิติบุคคลที่ให้บริการรับ-ส่งนักเรียนโดยอยู่ในการกำกับดูแลของโรงเรียน 
   "นักเรียน" หมายความว่า บุคคลซึ่งกำลังรับการศึกษาในโรงเรียน 
   "ผู้โดยสาร" หมายความว่า นักเรียน ผู้ควบคุมดูแลนักเรียน ผู้ปกครองนักเรียน และหมายความรวมถึงครูหรือบุคลากรของโรงเรียนนั้นๆ 

ข้อ 5 รถโรงเรียนที่จะนำมารับ-ส่งนักเรียน ต้องมีลักษณะ ดังนี้
   (1) มีเครื่องหมายเป็นแผ่นป้ายพื้นสีส้มสะท้องแสง ขนาดกว้างอย่างน้อย 35 เซนติเมตร และยาวอย่างน้อย 85 เซนติเมตร มีข้อความว่า "รถโรงเรียน" เป็นตัวอักษรสีดำความสูงไม่น้อยกว่า 15 เซนติเมตร ติดอยู่ที่ด้านหน้าและด้านท้ายของตัวรถ ให้สามารถมองเห็นได้ชัดเจนในระยะไม่น้อยกว่า 50 เมตร และมีชื่อโรงเรียนติดอยู่ด้านข้างทั้งสองข้างของตัวรถ พร้อมทั้งหมายเลขโทรศัพท์ (ถ้ามี)
   (2) กระจกรถต้องมีลักษณะโปร่งใส สามารถมองเห็นสภาพภายในรถและสภาพการจราจรภายนอกรถได้ชัดเจน หากมีการติดฟิล์มกรองแสง เมื่อวัดการผ่านของแสงแล้ว แสงต้องผ่านทั้งกระจกกันลมและฟิล์มกรองแสงได้ไม่น้อยกว่าระดับที่กรมการขนส่งทางบกกำหนด และมิให้นำวัสดุอื่นใดมาติดหรือบดบังส่วนหนึ่งส่วนใดของกระจก เว้นแต่เป็นการติดเครื่องหมายหรือเอกสารตามที่กฎหมายกำหนด และไม่เป็นเหตุให้บังทัศนวิสัยในการขับขี่
   (3) มีเครื่องมือเครื่องใช้ที่จำเป็นเพื่อช่วยเหลือนักเรียนเมื่อมีอุบัติเหตุหรือมีเหตุฉุกเฉินเกิดขึ้นดังนี้ 
       (ก) เครื่องดับเพลิง สำหรับรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารที่มีจำนวนที่นั่งไม่เกิน 20 ที่นั่ง ต้องมีเครื่องดับเพลิงไม่น้อยกว่า 1 เครื่อง รถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารที่มีจำนวนที่นั่งเกิน 20 ที่นั่ง ต้องมีเครื่องดับเพลิงไม่น้อยกว่า 2 เครื่อง เครื่องดับเพลิงต้องมีขนาดพอสมควร และติดตั้งไว้ภายในรถในที่ที่เหมาะสมพร้อมที่จะใช้การได้ทุกขณะ 
       (ข) ค้อนทุบกระจกและเหล็กชะแลง ไม่น้อยกว่า 1 อัน ต้องเก็บไว้ในที่ปลอดภัยและสามารถนำไปใช้งานได้โดยสะดวก 
       (ค) มีแผ่นป้ายแสดงข้อความเตือนเรื่องความปลอดภัยในการโดยสาร ตามที่กรมการขนส่งทางบกประกาศกำหนดหรือตามที่กรมการขนส่งทางบกให้ความเห็นชอบติดไว้ภายในตัวรถในตำแหน่งที่สามารถมองเห็นได้ง่าย 
   (4) สีของรถต้องใช้สีตามที่กรมการขนส่งทางบกกำหนด

ข้อ 6 ผู้ดำเนินกิจการรถโรงเรียนมีหน้าที่ ดังนี้
   (1) ควบคุมดูแลและเอาใจใส่เรื่องความปลอดภัยในการรับ-ส่งนักเรียน
   (2) จัดให้มีผู้ควบคุมดูแลนักเรียนประจำรถ 
   (3) จัดให้ผู้ควบคุมดูแลนักเรียนและพนักงานขับรถ มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการรับ-ส่งนักเรียน 
   (4) รายงานผลการจัดรถโรงเรียนให้โรงเรียนทราบทุกเดือน 
   (5) รายงานให้ทางโรงเรียนทราบโดยทันทีที่เกิดเหตุหรือมีกรณีฉุกเฉินเกิดขึ้น 
   (6) แจ้งผลการตรวจสภาพรถประจำปีให้โรงเรียนทราบทุกปี

ข้อ 7 โรงเรียนมีหน้าที่ ดังนี้
   (1) ควบคุมดูแลและเอาใจใส่เรื่องความปลอดภัยในการรับ-ส่งนักเรียน
   (2) จัดให้มีผู้ควบคุมดูแลนักเรียนประจำรถ
   (3) จัดให้ผู้ควบคุมดูแลนักเรียนและพนักงานขับรถ มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการรับ-ส่งนักเรียน
   (4) กำกับดูแลการจัดรถโรงเรียนของผู้ดำเนินกิจการรถโรงเรียนให้เป็นไปตามข้อ 6 
   (5) จัดให้มีทะเบียนรถโรงเรียน ทะเบียนประวัติ ของพนักงานขับรถและผู้ควบคุมดูแลนักเรียนตามแบบที่กำหนดท้ายระเบียบนี้ 
   (6) ออกหนังสือรับรองการรับส่งนักเรียนของโรงเรียนหรือสถานศึกษาตามที่กำหนดเพื่อนำไปใช้ยื่นเป็นรถรับ-ส่งนักเรียนต่อกรมการขนส่งทางบก
   (7) เมื่อปรากฏว่ารถโรงเรียนเกิดอุบัติเหตุที่เป็นอันตรายต่อความปลอดภัยในชีวิตและร่างกายของผู้โดยสารรถโรงเรียน ให้ดำเนินการรายงานต่อผู้บังคับบัญชาหรือผู้กำกับดูแลระดับเหนือขึ้นไปอีกชั้นหนึ่งให้ทราบโดยเร็ว เพื่อให้ความช่วยเหลือเป็นไปด้วยความรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ
   สำหรับรถโรงเรียนที่มิใช่รถที่โรงเรียนใช้รับ-ส่งนักเรียนหรือที่โรงเรียนให้บุคคลภายนอกมารับ-ส่งนักเรียน เมื่อปรากฏว่ามีการขับรถในลักษณะไม่คำนึงถึงความปลอดภัยของผู้อื่น ประมาทหรือน่าหวาดเสียวอันอาจเกิดอันตรายแก่บุคคลหรือทรัพย์สินให้ผู้อำนวยการโรงเรียนรายงานไปยังผู้ดำเนินกิจการรถโรงเรียนและขนส่งจังหวัด
   (8) จัดให้มีมาตรการความปลอดภัยในการกำกับดูแลการใช้รถโรงเรียนให้สอดคล้องกับระเบียบนี้

ข้อ 8 พนักงานขับรถโรงเรียนต้องมีคุณสมบัติ ดังนี้
   (1) มีอายุไม่ต่ำกว่า 25 ปี
   (2) มีใบอนุญาตขับรถยนต์มาไม่น้อยกว่า 3 ปี
   (3) เป็นผู้มีสุขภาพดี แต่งกายสุภาพและมารยาทสุภาพเรียบร้อย
   (4) มีประวัติความประพฤติดี มีความชำนาญ สุขุมรอบคอบ และรู้เส้นทางที่ใช้รับ-ส่งนักเรียนเป็นอย่างดี
   (5) มีความสามารถตรวจสอบดูแลอุปกรณ์ เครื่องมือ เครื่องใช้และสัญญาณต่างๆ ภายในรถโรงเรียนให้อยู่ในสภาพที่ใช้การได้ตลอดเวลา

ข้อ 9 พนักงานขับรถโรงเรียนมีหน้าที่ ดังนี้
   (1) ต้องขับรถด้วยความปลอดภัย
   (2) ต้องตรวจสอบสภาพรถและอุปกรณ์ต่างๆ ให้อยู่ในสภาพดี และพร้อมที่จะใช้การได้ตลอดเวลา
   (3) ต้องให้นักเรียนขึ้นนั่งประจำที่ให้พร้อมก่อนเคลื่อนรถ
   (4) ต้องกำกับดูแลให้นักเรียนรัดร่างกายด้วยเข็มขัดนิรภัยไว้กับที่นั่งเพื่อป้องกันอันตรายในขณะโดยสาร ตามกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางบก
   (5) ต้องดูแลนักเรียนให้ได้รับความปลอดภัยตลอดเวลาที่อยู่ระหว่างการโดยสาร และในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุจะต้องให้ความช่วยเหลือ
   (6) ต้องไม่ขับรถในลักษณะประมาทหรือน่าหวาดเสียวอันน่าจะเป็นอันตรายแก่บุคคลหรือทรัพย์สิน
   (7) ต้องไม่ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ในขณะขับรถ เว้นแต่การใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่โดยใช้อุปกรณ์เสริมสำหรับการสนทนาโดยพนักงานขับรถไม่ต้องถือหรือจับโทรศัพท์เคลื่อนที่นั้น
   (8) ไม่ขับรถในขณะที่มีอาการมึนเมาหรือเสพสุราหรือวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิดและประสาทระหว่างการขับรถโรงเรียน
   (9) รายงานให้ทางโรงเรียนทราบทันทีเมื่อเกิดอุบัติเหตุหรือมีกรณีฉุกเฉินเกิดขึ้น
   (10) ต้องประพฤติปฏิบัติตามกฎหมาย กฎ และระเบียบว่าด้วยการนั้นโดยเคร่งครัด
   (11) เข้ารับการอบรมตามที่โรงเรียนหรือผู้ดำเนินกิจการรถโรงเรียนกำหนด

ข้อ 10 ผู้ควบคุมดูแลนักเรียนต้องมีคุณสมบัติ ดังนี้
   (1) มีอายุไม่ต่ำกว่า 18 ปี
   (2) เป็นผู้มีสุขภาพดี แต่งกายสุภาพ และมารยาทสุภาพเรียบร้อย

ข้อ 11 ผู้ควบคุมดูแลนักเรียนมีหน้าที่ ดังนี้
   (1) ตรวจสอบจำนวนนักเรียนที่รับ-ส่ง แต่ละเที่ยวให้ถูกต้องครบถ้วนตรงตามบัญชีรายชื่อนักเรียน พร้อมทั้งจัดทำบัญชีรายชื่อนักเรียนที่ใช้บริการตามแบบที่กำหนดท้ายระเบียบนี้
   (2) ประจำอยู่กับรถโรงเรียนตลอดเวลาที่รับ-ส่งนักเรียน เพื่อควบคุมดูแล และช่วยเหลือนักเรียนให้เกิดความปลอดภัยตลอดการเดินทาง
   (3) รายงานให้ทางโรงเรียนทราบทันทีที่เกิดอุบัติเหตุหรือมีกรณีฉุกเฉินเกิดขึ้น
   (4) เข้ารับการอบรมตามที่โรงเรียนหรือผู็ดำเนินกิจการรถโรงเรียนกำหนด

ข้อ 12 การเดินทางไปให้รถโรงเรียนรับนักเรียนจากที่อยู่อาศัยหรือสถานที่ที่นัดหมาย และส่งนักเรียนในบริเวณโรงเรียนหรือสถานที่ที่ตกลงกันไว้
   การเดินทางกลับ ให้รถโรงเรียนรับนักเรียนจากโรงเรียนหรือสถานที่นัดหมาย และส่งนักเรียนถึงที่อยู่อาศัยหรือสถานที่ที่ได้ตกลงกันไว้

ข้อ 13 ให้ผู้ดำเนินกิจการรถโรงเรียนจัดให้มีการประกันการคุ้มครองผู้ประสบภายจากรถตลอดระยะเวลาที่มีการใช้รถโรงเรียนรับ-ส่งนักเรียน

ข้อ 14 จัดให้มีระบบหรือช่องทางที่สามารถติดต่อสื่อสารกับพนักงานขับรถโรงเรียน หรือผู้ควบคุมดูแลนักเรียนได้ตลอดเวลาในขณะรับ-ส่งนักเรียน

ข้อ 15 ให้ปลัดกระทรวงศึกษาธิการรักษาการตามระเบียบนี้ และมีอำนาจตีความกับวินิจฉัยชี้ขาดปัญหา รวมทั้งกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการเพื่อปฏิบัติให้เป็นไปตามระเบียบนี้






อ้างอิง ระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยการควบคุมดูแลการใช้รถโรงเรียน พ.ศ. 2562 (คลิกดาวน์โหลดไฟล์ระเบียบและแบบฟอร์มที่กำหนด)
#นักเรียนกฎหมาย
7 ธันวาคม 2562

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมประจำสัปดาห์

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 (55 ข้อ)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. 2566 (30 ข้อ)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539

สาระสำคัญ พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. 2566 (ฉบับเตรียมสอบ)

การส่งเด็กเข้าเรียนตามกฎหมาย

กฎกระทรวงกำหนดกรณีอื่นที่เจ้าหน้าที่จะทำการพิจารณาทางปกครองไม่ได้ พ.ศ. 2566

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 (ชุดที่ 1)

แนวข้อสอบ ระเบียบฯ สารบรรณ (ชุดที่ 3)

แนวข้อสอบ ระเบียบฯ พนักงานราชการ