ความรับผิดทางอาญาของผู้แทนนิติบุคคล


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2813/2562 วินิจฉัยว่า
   แม้จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคล ซึ่งเป็นเพียงบุคคลสมมติโดยอำนาจของกฎหมาย ต้องดำเนินหรือปฏิบัติงานตามวัตถุประสงค์ของบริษัทผู้แทนนิติบุคคลก็ตาม 


   แต่ความรับผิดทางอาญาของผู้แทนนิติบุคคล ยังคงต้องพิจารณาตามหลักทั่วไป โดยต้องปรากฏว่าผู้แทนนิติบุคคลนั้นได้กระทำผิดโดยเจตนา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 59 เป็นองค์ประกอบสำคัญ 

   คดีนี้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 ประกาศเลิกกิจการและเลิกจ้างก่อนที่จำเลยที่ 2 มีชื่อเป็นกรรมการ ทั้งจำเลยที่ 2 ไม่เคยแสดงตัวและเจตนาเข้าดำเนินงานจัดการแทนจำเลยที่ 1 เชื่อว่าจำเลยที่ 2 ถูกใช้ชื่อจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงให้เป็นกรรมการแทน ก. กรรมการคนก่อนระหว่างรอให้การเลิกกิจการและเลิกจ้างมีผลในวันที่ 1 เมษายน 2557 เท่านั้น 

   พยานหลักฐานโจทก์ไม่มีน้ำหนักให้รับฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 มีเจตนาเป็นกรรมการผู้มีอำนาจของจำเลยที่ 1 และร่วมกับจำเลยที่ 1 ไม่จ่ายค่าชดเชยและค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีในปีที่มีการเลิกจ้างให้ลูกจ้าง ฝ่าฝืนคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงาน 

   โจทก์จึงต้องอุทธรณ์ว่า มีข้อเท็จจริงหรือพฤติการณ์อย่างไรที่แสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 2 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจและมีเจตนาร่วมกับจำเลยที่ 1 กระทำความผิดตามฟ้อง 

   การที่โจทก์อุทธรณ์เพียงว่า จำเลยที่ 1 กระทำความผิดตามฟ้อง ถือได้ว่าจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 1 ร่วมกระทำความผิดด้วย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 7 นั้น ยังไม่อาจถือได้ว่าโจทก์ได้โต้แย้งคำพิพากษาศาลชั้นต้นว่าจำเลยที่ 2 มีเจตนาเป็นกรรมการผู้มีอำนาจและร่วมกับจำเลยที่ 1 กระทำความผิดตามฟ้องอย่างไร

อ้างอิง
ประมวลกฎหมายอาญา

   มาตรา 59 บัญญัติว่า "บุคคลจะต้องรับผิดในทางอาญาก็ต่อเมื่อได้กระทำโดยเจตนา เว้นแต่จะได้กระทำโดยประมาท ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ต้องรับผิดเมื่อได้กระทำโดยประมาท หรือเว้นแต่ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติไว้โดยแจ้งชัดให้ต้องรับผิดแม้ได้กระทำโดยไม่มีเจตนา
   กระทำโดยเจตนา ได้แก่กระทำโดยรู้สำนึกในการที่กระทำ และในขณะเดียวกันผู้กระทำประสงค์ต่อผล หรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำนั้น
   ถ้าผู้กระทำมิได้รู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิด จะถือว่าผู้กระทำประสงค์ต่อผล หรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำนั้นมิได้
   กระทำโดยประมาท ได้แก่กระทำความผิดมิใช่โดยเจตนา แต่กระทำโดยปราศจากความระมัดระวังซึ่งบุคคลในภาวะเช่นนั้น จักต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์ และผู้กระทำอาจใช้ความระมัดระวังเช่นว่านั้นได้ แต่หาได้ใช้ให้เพียงพอไม่
   การกระทำ ให้หมายความรวมถึงการให้เกิดผลอันหนึ่งอันใดขึ้นโดยงดเว้นการที่จักต้องกระทำเพื่อป้องกันผลนั้นด้วย"

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
   มาตรา 7 บัญญัติว่า "ในการสอบสวน ไต่สวนมูลฟ้อง หรือพิจารณาคดีที่นิติบุคคลเป็นผู้ต้องหาหรือจำเลย ให้ออกหมายเรียกผู้จัดการหรือผู้แทนอื่นๆ ของนิติบุคคลนั้น ให้ไปยังพนักงานสอบสวนหรือศาล แล้วแต่กรณี
   ถ้าผู้จัดการหรือผู้แทนของนิติบุคคลนั้นไม่ปฏิบัติตามหมายเรียก จะออกหมายจับผู้นั้นมาก็ได้ แต่ห้ามมิให้ใช้บทบัญญัติว่าด้วยปล่อยชั่วคราว ขังหรือจำคุกแก่ผู้จัดการหรือผู้แทนนิติบุคคล ในคดีที่นิติบุคคลนั้นเป็นผู้ต้องหาหรือจำเลย"
#นักเรียนกฎหมาย
9 ธันวาคม 2562

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมประจำสัปดาห์

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 (55 ข้อ)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. 2566 (30 ข้อ)

สาระสำคัญ พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. 2566 (ฉบับเตรียมสอบ)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539

การส่งเด็กเข้าเรียนตามกฎหมาย

แนวข้อสอบ ระเบียบฯ พนักงานราชการ

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 (ชุดที่ 1)

แนวข้อสอบ ระเบียบฯ สารบรรณ (ชุดที่ 3)

กฎกระทรวงกำหนดกรณีอื่นที่เจ้าหน้าที่จะทำการพิจารณาทางปกครองไม่ได้ พ.ศ. 2566